Saturday, August 13, 2011

44.ตำนานโมรปริตร

ตำนานโมรปริตร


บทขัดโมรปริตรเป็นการเชื้อเชิญให้สวดพระปริตรที่เรียกว่า “พรหมมนต์” ซึ่งเป็นพระ
ปริตรที่พระมหาสัตว์ ผู้เสวยชาติเป็นนกยูง กำลังบำเพ็ญโพธิสมภาร ใช้สาธยายรักษาตัว ทำให้พวกพรานไพรแม้จะพยายามอยู่เป็นเวลานาน ก็ไม่สามารถจะจับตัวได้
บทโมรปริตรเป็นบทที่ว่าด้วย มนต์ของพญานกยูงทอง กล่าวถึงความเคารพนอบน้อมต่อพระอาทิตย์ที่ทอแสงมายังโลก มีส่วนก่อให้เกิดสรรพสิ่งขึ้น นอบน้อมต่อท่านผู้หยั่งรู้สรรพสิ่ง คือพระพุทธเจ้า และพระโพธิญาณ ตลอดถึงนอบน้อมต่อความหลุดพ้นอันเป็นธรรมสูงสุดด้วย ผู้มีความนอบน้อมต่อสิ่งสูงสุดดังกล่าว จะแคล้วคลาดปลอดภัยเสมอ   โมรปริตรมีตำนานมาว่า

ในรัชสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนครพาราณสีครั้งอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกยูง มีสีเหมือนสีทอง งดงามน่ารัก มีริ้วสีแดงเป็นเส้นงามอยู่ใต้ปีกทั้งสอง อาศัยอยู่ ณ ที่ราบบนภูเขาทัณฑกหิรัญเทือกเขาลูกที่ ๔ ตั้งอยู่ในดงลึกเลยเทือกเขาอื่นเข้าไป ๓ ลูก นกยูงทองนั้นระวังรักษาชีวิตของตนเป็นอย่างดี และเพื่อคุ้มครองป้องกันตัวในขณะออกหาอาหารในกลางวัน ทุกๆ รุ่งเช้า นกยูงทองจะขึ้นไปบนยอดเขาสูง เฝ้ามองดูดวงอาทิตย์กำลังขึ้น แล้วผูกพระปริตรเป็นพรหมมนต์ขึ้นกล่าวนมัสการพระอาทิตย์กำลังอุทัย และกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งพระคุณของพระองค์ด้วย เสร็จแล้วจึงออกเที่ยวหาอาหาร เมื่อเที่ยวหาอาหารไปตลอดวัน ครั้นตกเย็น นกยูงทองนั้นจะกลับมาและขึ้นไปอยู่บนยอดเขาสูง เฝ้ามองดูดวงอาทิตย์กำลังตก แล้วผูกพรหมมนต์ขึ้นนมัสการพระอาทิตย์กำลังอัสดง และกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งพระคุณของพระองค์ด้วย แล้วก็เข้าพักนอน ด้วยอานุภาพพระปริตรที่กล่าวนมัสการอยู่ทุกเช้าทุกเย็นเช่นนี้ นกยูงทองก็อยู่เป็นสุขและปลอดภัยมาช้านาน
ครั้นภายหลัง มีนายพรานผู้หนึ่งอยู่ในหมู่บ้านพรานใกล้พระนครพาราณสี ท่องเที่ยวไปในป่าหิมพานต์ ได้ไปเห็นนกยูงทองบนภูเขาทัณฑกหิรัญนั้น เมื่อกลับมาบ้านจึงเล่าให้ลูกชายของตนฟัง ต่อมาพระนางเขมามเหสีของพระเจ้าพาราณสีทรงพระสุบินเห็นนกยูงทองแสดงธรมถวายแก่พระนาง ครั้นตื่นบรรทมก็กราบทูลพระเจ้าพาราณสีให้ทรงทราบ แล้วกราบทูลวิงวอนว่าพระนางปรารถนาจะได้สดับธรรมของนกยูงทองเหมือนดังในความฝัน
พระเจ้าพาราณสีจึงโปรดให้ประชุมหมู่อำมาตย์แล้วตรัสถาม พวกอำมาตย์กราบทูลว่า เรื่องนี้พวกพราหมณ์คงจะทราบ จึงตรัสถามพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ก็กราบทูลว่า เคยได้ยินว่านกยูงทองนั้นมีอยู่ แต่อยู่ที่ไหนนั้นพวกนายพรานคงจะทราบ
พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสสั่งให้เรียกพวกพรานมาประชุมแล้วทรงมีพระราชดำรัสถาม บุตรชายของนายพรานผู้ทราบเรื่องจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ นกยูงทองนั้นอาศัยอยู่บนภูเขาทัณฑกหิรัญพะยะค่ะ
พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสสั่งให้ไปจับเป็นมา อย่าฆ่าให้ตาย  นายพรานก็ไปทอดบ่วงดักตามสถานที่นกยูงทองออกหากิน แต่แม้ว่านกยูงทองจะเหยียบบ่วงที่นายพรานดักไว้ บ่วงก็ไม่คล้องเท้า นายพรานพยายามอยู่ถึง ๗ ปี ก็จับนกยูงทองไม่ได้ จนตัวเองตายอยู่ในป่า พระนางเขมาก็มิได้ทรงสดับพระธรรม จนสิ้นพระชนม์
พระเจ้าพาราณสีจึงทรงอาฆาตว่า พระมเหสีของพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์เพราะนกยูง จึงโปรดให้จารึกอักขระลงลานทองไว้ว่า  “ในประเทศป่าหิมพานต์ มีภูเขาชื่อทัณฑกหิรัญ มีนกยูงทองอาศัยอยู่ที่ภูเขานั้น ผู้ใดได้กินเนื้อของนกยูงทองผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตายและมีอายุยืนแล้วโปรดให้บรรจุลานทองจารึกนั้นใส่ในผอบสุวรรณเก็บรักษาไว้
เมื่อพระเจ้าพาราณสีพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว พระราชาองค์อื่นสืบราชสมบัติต่อมา ได้ทรงอ่านจารึกลานทองนั้น ก็มีพระราชประสงค์จักไม่แก่ไม่ตายบ้าง จึงโปรดให้ส่งนายพรานอีกคนหนึ่งไปจับนกยูงทอง พรานผู้นั้นไปพยายามจับอยู่หลายปี ก็จับไม่ได้ จนตัวตายอยู่ในป่า เป็นดังนี้สืบมาถึง ๖ ชั่วพระราชา ก็จับนกยูงทองไม่ได้
ครั้นมาถึงรัชกาลของพระเจ้าพาราณสีองค์ที่ ๗ ก็โปรดส่งนายพรานอีกคนหนึ่งไปจับ นายพรานผู้นี้รู้เรื่องที่ว่านกยูงทองเหยียบบ่วงแล้วไม่คล้องขา และรู้ด้วยว่านกยูงทองร่ายพระปริตรป้องกันตัวก่อนออกหากิน นายพรานจึงจับนกยูงตัวเมียมาตัวหนึ่ง เอามาฝึกหัดให้ฟ้อนรำขับร้องชำนาญดีแล้วก็นำเอาไปด้วย พอรุ่งเช้าก่อนที่นกยูงทองจะร่ายพระปริตร นายพรานได้ปักหลักทอดบ่วงไว้เสร็จ แล้วให้นางนกยูงขับร้องขึ้น ฝ่ายนกยูงทองได้ยินเสียงมาตุคามก็มีใจเร่าร้อนด้วยกิเลส มิสามารถจะร่ายพระปริตรได้เช่นเคย แล่นถลันเข้าไปหา เลยติดบ่วง นายพรานจึงจับตัวได้ พาไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติก็ชอบพระทัย โปรดให้จัดอาสนะประทานแก่นกยูงทอง
พระโพธิสัตว์ขึ้นบนอาสานะที่จัดไว้แล้วทูลถามว่า “มหาราชะ เหตุไรพระองค์จึงตรัสสั่งให้จับข้าพเจ้ามา?”
พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า “เขาว่าผู้ใดได้กินเนื้อของท่าน ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย เพราะฉะนั้นฉันก็อยากจะกินเนื้อท่านแล้วไม่แก่ไม่ตายบ้าง จึงให้จับเอาท่านมา
นกยูงจึงทูลว่า “ผู้ที่กินเนื้อของข้าพเจ้าแล้วไม่แก่ไม่ตาย แต่ตัวข้าพเจ้าต้องตาย
พระราชาตรัสว่า “ถูกแล้ว ท่านต้องตาย
นกยูงทองจึงว่า “ก็เมื่อข้าพเจ้าเองยังตาย แล้วทำไมคนที่กินเนื้อข้าพเจ้าจักไม่ตาย?”
พระราชาตรัสว่า “เพราะท่านมีสีเหมือนทอง คนที่กินเนื้อท่านแล้วจักไม่ตาย
นกยูงทองทูลว่า “มหาราชะ การที่ข้าพเจ้าเกิดมามีสีเหมือนทองนั้นมิใช่จะไม่มีเหตุผล ในชาติก่อนข้าพเจ้าเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้แหละ ตัวข้าพเจ้าเองรักษาศีล ๕ และชักชวนประชาชนทั่วทั้งจักรวาลให้รักษาศีล ๕ ด้วย ครั้นตายแล้วข้าพเจ้าไปเกิดในภพดาวดึงส์จนตลอดอายุ จึงจุติจากนั้น ด้วยอกุศลกรรมบางอย่างจึงมาเกิดเป็นนกยูง แต่ด้วยอานุภาพของศีล ๕ ในครั้งก่อนจึงมีสีเหมือนสีทอง
พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสว่า “ที่ท่านพูดว่าท่านเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิรักษาศีล ๕ แล้วมาเกิดเป็นนกยูงมีสีเหมือนสีทองด้วยผลของศีล ๕ นั้น เราจะเชื่อได้อย่างไร? มีใครเป็นพยานบ้าง?”
นกยูงทองทูลว่า “มีสิมหาราชะ
คือใคร?”
มหาราชะ เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้นเคยนั่งรถประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการท่องเที่ยวไปในอากาศ รถคันนั้นเวลานี้ฝังอยู่ใต้สระมงคลโบกขรณี โปรดให้ขุดขึ้นมาจะได้เป็นสักขีพยานของข้าพเจ้า
พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสสั่งให้ไขน้ำออกจากสระแล้วให้นำเอารถนั้นขึ้นมา ครั้นพระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จึงแสดงธรรมถวายแก่พระเจ้าพาราณสีเป็นความว่า “ดูก่อนมหาราชะ นอกจากอมตมหานิพพานแล้ว สิ่งทั้งหลายนอกนั้นล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งขึ้น เป็นของไม่ยั่งยืนถาวร เพราะมีขึ้นแล้วก็หามีไม่ เป็นของสิ้นไปเสื่อมไปโดยธรรมชาติแล้วทูลให้พระเจ้าพาราณสีทรงรักษาศีล ๕
พระเจ้าพาราณสีจึงทรงยกราชสมบัติมอบให้แก่พระโพธิสัตว์ แล้วทรงทำสักการะแก่พระโพธิสัตว์เป็นการใหญ่ พระโพธิสัตว์รับราชสมบัติไว้แล้วกลับถวายคืนแก่พระเจ้าพาราณสี พักอยู่สองสามราตรีแล้วถวายโอวาทกำชับว่า “ขอพระองค์อย่าทรงประมาทแล้วบินขึ้นสู่อากาศกลับไปยังภูเขาทัณฑกหิรัญตามเดิม

No comments:

Post a Comment