Saturday, August 13, 2011

45.ตำนานอาฏานาฏิยปริตร


ตำนานอาฏานาฏิยปริตร




                บทขัดอาฏานาฏิยปริตรเป็นบทเชื้อเชิญให้สวดพระปริตรที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นมหาบุรุษผู้แกล้วกล้าทรงแสดงไว้เพื่อคุ้มกันบริษัททั้งสี่ มิให้ถูกเบียดเบียนจากพวกอมนุษย์ที่ดุร้ายสันดานหยาบช้า ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาซึ่งวิญญูชนต่างยอมรับกันว่าดี
                อาฏานาฏิยปริตรเป็นบทที่ว่าด้วยพระนครที่มีพระพุทธคุณคุ้มครอง พระปริตรบทนี้เกิดขึ้นที่เมืองอาฏานาฏานคร จึงได้ชื่อว่าอาฏานาฏิยปริตร กล่าวถึงการนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีเป็นต้น กล่าวถึงพระพุทธคุณและอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ผู้ที่กราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นจะประสบแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อ อาฏานาฏิยปริตรมีคำขึ้นต้นว่า  วิปัสสิสสะ  นะมัตถุ  จักขุมันตัสสะ  สิรีมะโต ...” มีตำนานมาว่า
                ครั้งหนึ่ง ท้าวมหาราชทั้งสี่ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสวัณ ตั้งใจจะพากันไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ เขาคิฌชกูฏ เมืองราชคฤห์ แต่มหาหวนระลึกถึงดาวดึงสพิภพ เกรงไปว่าถ้าพวกอสูรรู้ว่าไม่มีใครอยู่ก็จะพากันมารบกวน ถ้ากลับไม่ทันก็จะเสียการ จึงจัดตั้งกองทหาร ๔ กองไว้รักษาทิศทั้ง ๔ ท้าวธตรฐตั้งคนธรรพ์แสนหนึ่งไว้รักษาทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกตั้งกุมภัณฑ์แสนหนึ่งไว้รักษาทิศใต้ ท้าววิรูปักข์ตั้งนาคแสนหนึ่งไว้รักษาทิศตะวันตก ท้าวเวสสวัณตั้งยักษ์แสนหนึ่งไว้รักษาทิศเหนือ
                เมื่อจัดกองทหารไว้ป้องกันเรียบร้อยแล้วจึงพากันไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก เหล่าบริวารที่มาเฝ้านั้นแสดงอาการต่างๆ กัน บางพวกถวายอภิวาท บางพวกประกาศชื่อของตน บางพวกก็นิ่งเสีย ท้าวเวสสวัณจึงประคองอัญชลีนอบน้อมกราบทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาผู้ที่มาประชุมเฝ้าพระองค์วันนี้ บางพวกก็เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บางพวกก็ไม่เลื่อมใส ผู้ที่เลื่อมใสมีน้อย ที่ไม่เลื่อมใสมีมาก เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมล้วนแต่จะให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ บางพวกก็ชอบใจ บางพวกก็ไม่ชอบใจ ทั้งนี้เป็นเหตุให้บรรดาสาวกของพระองค์ที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมตามป่าที่สงัดไม่มีความสบาย เพราะพวกยักษ์ผีปีศาจที่ไม่เลื่อมใสในพระศาสนาคอยเบียดเบียนหลอกหลอนให้เจ็บไข้เป็นอันตรายต่างๆ ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอพระองค์ทรงรับอาฏานาฏิยปริตรนี้ไว้ประทานแก่สาวกของพระองค์ และให้เจริญไว้เสมอๆ เถิด ยักษ์ผีปีศาจจักได้ไม่รบกวน อำนาจพระปริตรนี้สามารถป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวงได้
                เมื่อท้าวเวสสวัณกราบทูลขอประทานโอกาสให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเอาพระปริตรนี้แล้ว เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงเปิดโอกาสรับด้วยพระอาการนิ่งอยู่ จึงแสดงอาฏานาฏิยปริตรถวาย มีคำว่า วิปัสสิสสะ  นะมัตถุเป็นต้น อันมีเนื้อความสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ คือ พระวิปัสสี ๑ พระสิขี ๑ พระเวสสภู ๑ พระกกุสันธะ ๑ พระโกนาคมนะ ๑ พระกัสสปะ ๑ พระอังคีรสศากยบุตร (คือพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายในบัดนี้) ๑ และนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยวาจาและใจ ทั้งในเวลานอน เวลานั่ง เวลายืน และเวลาเดิน ขอให้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นคุ้มครองให้พ้นภัย ให้พ้นโรค ให้พ้นความเดือดร้อน หมดเวรหมดจัญไร มีแต่ความสุขตลอดไป
                จะเห็นได้ว่า อาฏานาฏิยปริตรนี้มีจุดมุ่งหมายในการสวดเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจที่ดุร้าย ไม่รักษาประชาชนและบ้านเมือง หรือพวกผีที่ให้โทษ ไม่ให้คุณ นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาณยักษ์ซึ่งแปลว่า ยักษ์กล่าวคือท้าวเวสสวัณได้กล่าวหรือได้สวดอาฏานาฏิยปริตรนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้า เพื่อให้พุทธบริษัทเรียนรู้ไว้นำไปป้องกันตนเอง ไม่ให้ถูกพวกยักษ์และภูตผีปีศาจเบียดเบียนในสถานที่ต่างๆ
                พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ) (อ้างในหนังสือ เจ็ดตำนานกับจริยธรรมไทย โดย มนต์ธานี. โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๔๒) อธิบายไว้ว่า ตามประเพณีไทยโบราณ นิยมสวดในพระราชพิธีตรุษหลวง (เป็นพระราชพิธีเดือน ๔ เรียกว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ คือตัดปี หรือสิ้นปี เป็นพระราชพิธีในปลายเดือน ๔ ขึ้นเดือน ๕ ซึ่งนับว่าเป็นต้นปี) ซึ่งมีพระราชนิยมจัดทำที่พระที่นังดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันพระราชพิธีนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว) พระสงฆ์สวดภาณยักษ์เป็นพระพิธี สำรับละ ๔ รูป ผลัดกันสวด พระพิธีนี้ถือว่าเป็นพระสมณศักดิ์ ดำรงตำแหน่งพระพิธีหลวง พระผู้ได้รับแต่งตั้งจะต้องมีคุณสมบัติเป็นพิเศษในการสวด เช่น มีเสียงเพราะ มีความรู้การสวดตามแบบทำนอง แปลว่าสวดเป็น เป็นศิษย์มีครู โดยได้รับการฝึกมาดีแล้ว
                พระพิธีสำหรับสวดภาณยักษ์ต้องมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มอีกประการหนึ่ง คือเสียงดัง พระพิธีนี้ไม่มีทุกวัด แม้จะเป็นพระอารามหลวง ปกติจะมีเฉพาะอารามหลวงที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการสวดภาณยักษ์ได้แพร่ไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นอารามหลวงหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นพระปริตรนี้จึงถือว่าถ้าผู้ใดหมั่นเจริญอยู่เป็นนิจ ยักษ์ผีปีศาจก็จะช่วยคุ้มครองให้มีแต่ความสุขความเจริญ
                ท้าวเวสสวัณได้กล่าวอาฏานาฏิยปริตรนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้าให้ทรงรับไว้เป็นพระปริตร ต่อมาภายหลังท่านได้ย่อมาเป็นบทสวดในเจ็ดตำนาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่คำว่า วิปัสสิสสะ  นะมัตถุ  ไปจนถึงคำว่า  พุทธัง  วันทามะ  โคตะมันติ แล้วข้ามไปสวดต่อตั้งแต่  เอเต  จัญเย  จะ  สัมพุทธา  อะเนกะสะตะโกฏะโย  ฯเปฯ  อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง
                ส่วนในสิบสองตำนานจะเริ่มตั้งแต่คำว่า วิปัสสิสสะ  นะมัตถุ ไปจนถึงคำว่า  วิชชาจะระณะสัมปันนัง  มะหันตัง  วีตะสาระทัง แล้วข้ามไปสวดต่อตั้งแต่  นะโม  เม  สัพพะพุทธานัง  อุปปันนานัง  ฯเปฯ  อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง อาฏานาฏิยปริตรในสิบสองตำนานนี้ส่วนหนึ่งเป็นบทที่ประพันธ์เพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งแสดงพระนามพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ อีกประการหนึ่ง ในคัมภีร์แสดงพระนามพระพุทธเจ้าซึ่งบังเกิดขึ้นในกัปต่างๆ หลายจำนวน เช่นในภาณยักษ์ ภาณพระ แสดงไว้ ๗ พระองค์ ในที่อื่นเช่นในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาแสดงย้อนหลังไปอีกมาก รวมกันถึง ๒๘ พระองค์ก็มี หรือที่ระบุจำนวนไว้มากยิ่งกว่านั้นก็มี ดังในบทสวด สัมพุทเธ มีมากถึง ๓,๕๘๔,๑๙๒ พระองค์ (แต่งตามคติของฝ่ายมหายาน)
                อาฏานาฏิยปริตรท่อนหลังมีบทที่ควรทำความเข้าใจอยู่หลายบท คือ
                บทว่า  นัตถิ  เม  สะระณัง  อัญญัง  ฯเปฯ  โหตุ  เต  ชะยะมังคะลัง บทนี้เป็นบทที่กล่าวสรรเสริญถึงคุณพระรัตนตรัยว่า เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกไม่มีสรณะอื่นจะยิ่งไปกว่า และเป็นบทที่สวดประกาศเพื่อปฏิญาณตนว่าเป็น พุทธมามกะ คือผู้น้อมรับเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต ผู้ที่สวดพระคาถานี้อยู่เป็นนิจจะบังเกิดชัยมงคลแก่ชีวิตตลอดไป
                บทว่า  ยังกิญจิ  ระตะนัง  โลเก ฯเปฯ  ตัสมา  โสตถี  ภะวันตุ เต บทนี้เป็นบทที่สวดประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในโลกนี้มีรัตนะมากมายหลายอย่าง แต่ไม่มีรัตนะอันใดเลยที่จะเสมอเทียบเท่ากับพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ผู้บูชาโดยการปฏิบัติตามย่อมเกิดความงอกงามไพบูลย์
                บทว่า  สักกัตวา  พุทธะระตะนัง  โอสะถัง  อุตตะมัง  วะรัง  ฯเปฯ  โรคา  วูปะสะเมนตุ  เต  บทนี้เป็นคาถาป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นพระคาถาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานให้เทพบุตรอุณหิสวิชัยได้เล่าบ่น จึงได้มีอายุอยู่ในสวรรค์ต่อไปได้อีก ผู้ใดหมั่นสวดพระคาถานี้จะระงับโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งอายุก็จะยืนยาว ใช้เสกยากินแก้โรคก็ได้ และถ้าหากผู้ใดสวดเจริญอยู่เป็นนิจนอกจากจะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บรบกวนแล้ว ยังแคล้วคลาดจากภัยต่างๆ เช่น ราชภัย โจรภัย เป็นต้น
                ข้อควรทราบอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการสวดอาฏานาฏิยปริตร คือ ในเจ็ดตำนานและสิบสองตำนานจะไม่เหมือนกัน ในเจ็ดตำนานมีจำนวนคาถาทั้งหมด ๑๙ คาถากึ่ง แต่ในสิบสองตำนานมีคาถาทั้งหมด ๔๕ คาถา ส่วนบทขัดทั้งในเจ็ดตำนานและสิบสองตำนานใช้บทเดียวกัน

No comments:

Post a Comment