Saturday, August 13, 2011

22.พระโสภิตะ

พระโสภิตะ


พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี  ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส ขอบวช ไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางบุพเพนิวาสานุสติญาณ

                                                                * * * * *

                คัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค ๑ อรรถกถาอังคุตตรนิกาย (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม 14) หน้า ๒๗๖ เล่าถึงประวัติพระโสภิตเถระไว้ดังต่อไปนี้

                ท่านพระโสภิตเถระเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้สามารถระลึกถึงขันธสันดาน (ความสืบต่อแห่งขันธ์) ที่อาศัยอยู่ในชาติก่อนๆ ได้ 
ได้ทราบว่าพระเถระนั้นเมื่อระลึกถึงขันธ์ในชาติก่อนๆ ไปตามลำดับ ก็ถือเอาโดยนัย คือคาดได้ถึงการที่เคยเกิดในอสัญญีภพ ๕๐๐ กัป เหมือนแสดงรอยเท้าในอากาศ  เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ระลึกชาติได้
                ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านพระโสภิตะถือกำเนิดในตระกูลหนึ่ง   กรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ได้บุพเพนิวาสญาณ  จึงบำเพ็ญกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น
ท่านบำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิตแล้วไปเกิดในสวรรค์บ้าง มาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ในพุทธุปบาทกาลนี้ (คือสมัยพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้) เกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ พระนครสาวัตถี  บิดามารดาขนานนามท่านว่า โสภิตะ  ต่อมาท่านฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เกิดศรัทธาจึงออกบวช เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้ช่ำชองชำนาญในบุพเพนิวาสญาณ
ท่านระลึกถึงสถานที่ตนบังเกิดไปตามลำดับ ได้เห็นจนถึงชาติที่ท่านไปเกิดในอสัญญีภพ  แต่ในระหว่างที่เกิดในอสัญญีภพ ๕๐๐ กัปนั้นท่านระลึกรายละเอียดไม่เห็น  มาเห็นอีกทีก็เฉพาะตอนที่ดับจิตชาติสุดท้ายในอสัญญีภพนั้น ท่านจึงมาคำนึงดูว่า นี่อย่างไรกัน  ก็ยุติได้ว่า อสัญญีภพมีได้โดยนัย คือคาดคะเน
พระศาสดาทรงยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นเหตุ จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือเลิศในทางระลึกชาติ


ประวัติของท่านพระโสภิตเถระที่คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย นำมาเล่าไว้ข้างต้นนั้นรวมอยู่ในกลุ่มพระมหาสาวกที่ได้รับเอตทัคคะ คือที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องว่าเลิศในทางใดทางหนึ่ง
แต่ยังมีคัมภีร์ที่เล่าประวัติท่านไว้อีก คือ คัมภีร์ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ อรรถกถาเถรคาถา (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม 32) หน้า ๔๔๔ ๔๔๘ เล่าประวัติของท่านแปลกไปจากคัมภีร์มโนรถปูรณีอยู่บ้าง แปลกอย่างไร โปรดสดับดังต่อไปนี้


อรรถกถาโสภิตเถรคาถา

                คาถาของท่านพระโสภิตเถระเริ่มต้นว่า  สติมา  ปญฺวา.   เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
                พระเถระรูปนี้เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ  สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ  เกิดในเรือนแห่งตระกูลในพระนครหงสวดีในกาลของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าปทุมุตตระ  เจริญวัยแล้วฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้บุพเพนิวาสญาณ จึงกระทำความปรารถนามุ่งตำแหน่งนั้นด้วยตนเองบ้าง ตั้งแต่นั้นมาก็เกิดในสุคติภพเท่านั้น
ในกาลของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าสุเมธะ ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์เมื่อเติบใหญ่แล้ว เรียนสำเร็จวิชาการและศิลปศาสตร์ทั้งหลายของพราหมณ์ มีใจน้อมไปในเนกขัมมะ ละฆราวาสวิสัยแล้วบวชเป็นดาบส ให้สร้างอาศรมไว้ที่ชัฏแห่งป่าใกล้ภูเขาหิมวันต์ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยมูลผลาผลในป่า  ได้สดับข่าวความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า จึงไปเฝ้าพระศาสดาที่ภัททวดีนคร พักอยู่ร่วมกันเพียงราตรีเดียวเท่านั้นก็มีใจเลื่อมใส ชมเชยพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ๖ คาถา มีอาทิว่า  ตุวํ  สตฺถา    เกตุ    พระองค์เป็นศาสดา เป็นจอมเกตุ  ดังนี้  และพระศาสดาก็ทรงประกาศยกย่องพระดาบส 
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาจึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง  ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี พวกญาติตั้งชื่อให้ว่า โสภิตะ  ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีจิตศรัทธา บวชแล้วเจริญวิปัสสนา ได้อภิญญา ๖  และมีความชำนาญพิเศษในบุพเพนิวาสญาณ  สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า .... (ขอข้ามข้อความในอปทานตรงนี้ไปก่อน เพราะมีเงื่อนแง่ที่น่าพิจารณาบางประการ ซึ่งจะได้ยกไปพิจารณาข้างหน้า)

                พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว เมื่อระลึกถึงชาติก่อนๆ ของตนโดยลำดับ ได้เห็นจนถึงไปปฏิสนธิในอสัญญีภพที่มีแต่รูป ไม่มีจิต  ต่อจากนั้นไปก็ไม่เห็นจิตของตัวเองว่าไปอยู่ที่ไหนอย่างไรเป็นเวลาถึง ๕๐๐ กัป มาเห็นเฉพาะในช่วงเวลาสุดท้ายที่จะจุติจากอสัญญีภพเท่านั้น  เมื่อท่านคำนึงดูว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้  ก็เข้าใจได้ว่า อสัญญีภพนั้นจะรู้เห็นได้โดยอำนาจแห่งนัย (คือวิธีคาดคะเน)
ความสามารถของท่านพระโสภิตเถระดังที่ว่ามานี้ เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาผู้มีอายุยืนชื่อว่าอสัญญสัตว์มีอยู่  โสภิตะจุติจากอสัญญีภพนั้นแล้วมาบังเกิดในภพนี้  เธอย่อมรู้ภพนั่น  โสภิตะย่อมระลึกได้ 
พระศาสดาทรงเห็นความเป็นผู้ฉลาดในการระลึกชาติของพระเถระผู้ระลึกชาติอยู่ด้วยวิธีการใช้นัยอย่างนี้ จึงทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ระลึกบุพเพนิวาสญาณ 
ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระโสภิตะพิจารณาบุพเพนิวาสานุสติญาณของตนพร้อมด้วยคุณพิเศษและข้อปฏิบัติอันเป็นปัจจัยแห่งบุพเพนิวาสานุสติญาณนั้น แล้วเกิดความโสมนัส เปล่งอุทานอันแสดงถึงเหตุทั้งสองนั้น เป็นคาถา ๒ บท ความว่า

สติมา  วา  ภิกฺขุ       อารทฺธพลวีริโย
                                ฺจ  กปฺปสตานาห        เอกรตฺตึ  อนุสฺสรึ.
เราเป็นภิกษุผู้มีสติ  มีปัญญา ปรารภความเพียรเป็นกำลัง
ระลึกชาติก่อนได้ ๕๐๐ กัป ดุจคืนเดียว

จตฺตาโร  สติปฏฺาเน     สตฺต  อฏฺ  ภาวย
                                ฺจ  กปฺปสตานาห        เอกรตฺตึ  อนุสฺสรึ.
เราเจริญสติปัฏฐาน ๔  โพชฌงค์ ๗  มรรค ๘
ระลึกชาติก่อนได้ ๕๐๐ กัป ดุจคืนเดียว.

- เถรคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๒๐๘


มีเรื่องน่าวิเคราะห์อยู่ในคำตรัสของพระผู้มีพระภาคที่อรรถกถานำมาอ้างไว้ที่ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาผู้มีอายุยืนชื่อว่าอสัญญสัตว์มีอยู่  
โสภิตะจุติจากอสัญญีภพนั้นแล้วมาบังเกิดในภพนี้  เธอย่อมรู้ภพนั่น 
โสภิตะย่อมระลึกได้   

คำตรัสของพระผู้มีพระภาคที่อรรถกถานำมาอ้างนี้ เป็นภาษาบาลีว่า

อตฺถิ  ภิกฺขเว  อสสตฺตา  นาม  ทีฆายุกา  เทวา,  ตโต  จุโต  
โสภิโต  อิธูปปนฺโน,  โส  เอต ภว ชานาติ,  โสภิโต  อนุสฺสรติ.

และมีเชิงอรรถบอกไว้ว่า  วินย.มหาวิ. /๒๓๒/๑๖๕  ปาราชิกกณฺฑ (อตฺถโต สมาน) 
ข้อความที่เป็นเชิงอรรถนี้อ่านได้ความว่า  คำตรัสของพระผู้มีพระภาคนี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระวินัย  มหาวิภังค์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๓๒ หน้า ๑๖๕ อันเป็นตอนที่ว่าด้วยอาบัติปาราชิก
แต่เมื่อตามไปดูตามที่เชิงอรรถบอกไว้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความตามที่อ้างนี้แต่ประการใด ข้อความในหน้า ๑๖๕ นั้นเป็นตอนที่เริ่มเรื่องปาราชิกกัณฑ์ตรงตามที่อ้าง แต่ในหน้านั้นก็ไม่มีข้อ ๒๓๒ หากแต่เป็นข้อ ๒๒๗  ส่วนข้อ ๒๓๒ ตามที่อ้างนั้นไปมีอยู่ในหน้า ๑๗๑
ทีนี้ข้อความในเชิงอรรถมีบอกต่อไปในวงเล็บว่า  อตฺถโต สมานแปลตามศัพท์ว่า เสมอกัน (เหมือนกัน เท่ากัน ตรงกัน อย่างเดียวกัน) โดยอรรถ (คือโดยความหมาย หรือโดยใจความ) 
อตฺถโต สมานํ  ถือเอาความว่า ข้อความในข้อและหน้าตามที่อ้างนั้นพูดถึงเรื่องเดียวกันกับที่ปรากฏในคำตรัสของพระผู้มีพระภาคที่อรรถกถาเอ่ยถึงไว้
ก็เป็นอันมีแหล่งข้อมูลที่จะตรวจสอบอยู่ ๒ ที่ คือ ข้อความในข้อ ๒๒๗ ทั้งหมด และข้อความในหน้า ๑๖๕ ทั้งหน้า ของพระไตรปิฎกเล่ม ๑
แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งสองแห่งนั้น คือ ข้อ ๒๒๗ ทั้งหมด และหน้า ๑๖๕ ทั้งหน้าแล้ว ก็ไม่มีถ้อยคำหรือใจความอันใดที่จะตรงกันหรือเป็นเรื่องเดียวกันกับที่พระผู้มีพระภาคตรัสตามที่อรรถกถานำมาอ้างนั้นเลย เป็นการพูดถึงเรื่องอื่นโดยสิ้นเชิง
แต่เมื่อตรวจดูในปาราชิกกัณฑ์ทั้งหมดแล้วก็พบว่า มีเรื่องของท่านพระโสภิตเถระอยู่ด้วยจริง แต่ไปอยู่ในข้อ ๒๙๙ หน้า ๒๑๙

คัมภีร์มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๙๙ หน้า ๒๑๙) มีเรื่องพระโสภิตะอรหันต์ อยู่ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ ดังนี้

ครั้งนั้น ท่านพระโสภิตะเรียกภิกษุทั้งหลายมาบอกว่า  ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัป  ภิกษุทั้งหลายพากัน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระโสภิตะจึงกล่าวอย่างนี้ว่า  ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัป  ท่านพระโสภิตะกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชาติที่โสภิตะอ้างนั้นมีอยู่ แต่มีชาติเดียวเท่านั้นแล  โสภิตะพูดจริง ไม่ต้องอาบัติ

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ อรรถกถาพระวินัย (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม 1) หน้า ๖๒๗ อธิบายเรื่องนี้ว่า

คำที่ท่านพระโสภิตะกล่าวว่า  ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัปพระเถระกล่าวโดยหมายความว่า เราระลึกชาติได้ด้วยอาวัชชนจิตเดียว
โดยทั่วไปแล้ว  การที่พระสาวกทั้งหลายระลึกชาติต่างๆ ในอดีตไปตามลำดับ  ด้วยอาวัชชนจิตต่างๆ กัน (คือชาติหนึ่งก็ระลึกครั้งหนึ่ง อีกชาติหนึ่งก็ระลึกอีกครั้งหนึ่ง) ไม่น่าอัศจรรย์  เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่กล่าวโทษ  แต่พระโสภิตะนั้นบอกว่า  เราระลึกชาติได้ห้าร้อยกัปด้วยอาวัชชนจิตเดียว (เป็นทำนองว่าระลึกครั้งเดียวได้ห้าร้อยชาติ) เพราะฉะนั้นภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวโทษ
                คำตรัสของพระผู้มีพระภาคที่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชาติที่โสภิตะอ้างนั้นมีอยู่ แต่มีชาติเดียวเท่านั้นแลดังนี้ หมายความว่า ชาติของท่านพระโสภิตะที่บอกว่า เราระลึกชาติได้ดังนี้ มีอยู่ แต่ชาติที่ว่านั้นมีเพียงชาติเดียวเท่านั้น และท่านพระโสภิตะระลึกติดต่อกันไป มิได้ระลึกโดยข้ามลำดับ
                ถามว่า  พระโสภิตะนี้ระลึกชาติได้อย่างไร?
                แก้ว่า  ทราบกันว่าท่านพระโสภิตะนี้ในอดีตชาติบวชในลัทธิเดียรถีย์ ยังอสัญญีสมาบัติให้บังเกิดแล้ว เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อม ดับขันธ์ไปบังเกิดในอสัญญีภพกว่า ๕๐๐ กัป  ท่านอยู่ในอสัญญีภพนั้นจนสิ้นอายุ ในที่สุดมาอุบัติในมนุษยโลก แล้วบวชในพระศาสนา ได้ทำวิชา ๓ ให้แจ้ง 
                ตรงนี้คำของพระอรรถกถาจารย์ว่า
                ท่านเมื่อระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน เห็นปฏิสนธิในอัตภาพนี้   ต่อจากนั้นได้เห็นเฉพาะจุติในอัตภาพที่ ๓  ลำดับนั้นท่านไม่อาจระลึกถึงอัตภาพอันไม่มีจิตในระหว่างจุติและปฏิสนธิทั้ง ๒  ได้  จึงได้กำหนดโดยนัยว่า เราบังเกิดในอสัญญีภพแน่นอน

                ผู้เรียบเรียงขออธิบายให้ชัดเจนขึ้นดังต่อไปนี้

เมื่อท่านระลึกชาตินั้น ได้เห็นปฏิสนธิจิต คือตอนที่มาเกิดในชาติปัจจุบันนี้ (ในกรณีที่กำลังพูดถึงนี้นับเป็นเป็นชาติที่ ๑) เมื่อถอยขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นเฉพาะจุติจิต คือตอนดับขันธ์จากชาติที่บวชในลัทธิเดียรถีย์แล้วบำเพ็ญฌานจนได้อสัญญีสมาบัติ (เป็นชาติที่ ๓) ในระหว่างจุติ (จากชาติที่ ๓) กับปฏิสนธิ (มาเกิดชาติที่ ๑ คือชาติปัจจุบันนี้) จะต้องมีอีกชาติหนึ่ง เป็นชาติที่ ๒ ถัดขึ้นไปจากชาตินี้  ทั้งนี้เพราะผู้ได้ฌานสมาบัติจะต้องไปเกิดในพรหมโลกก่อน  จะมาเกิดเป็นมนุษย์อีกทันทีย่อมผิดหลักความจริง  ถ้าท่านไปเกิดในพรหมโลกทั่วไป ท่านก็จะต้องระลึกเห็นได้ว่าไปเกิดในชั้นไหน  จะว่าท่านระลึกชาติที่ไปเกิดในพรหมโลกนั้นไม่ได้ ก็ว่าไม่ได้ เพราะเป็นชาติที่อยู่ระหว่างกลาง คือถ้าระลึกชาติที่ ๑ และชาติที่ ๓ ได้ ก็ต้องระลึกชาติที่ ๒ ได้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เหมือนคนกระโดดสูงได้ ๑ เมตร แล้วก็กระโดดสูงขึ้นอีก ได้ ๓ เมตร จะพูดว่าคนคนนั้นกระโดดสูง ๒ เมตรไม่ได้ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้นั่นเอง  เมื่อท่านระลึกไม่เห็น จึงได้กำหนดโดยนัยว่า เราบังเกิดในอสัญญีภพแน่นอน
ที่ว่าต้องกำหนดรู้โดยนัย ก็เพราะผู้เกิดในอสัญญีภพนั้นไม่มีจิตที่จะรับรู้เรื่องราวใดๆ ได้ เมื่อระลึกชาติไปถึงตอนที่เกิดในภพนั้นจึงระลึกได้แต่เพียงว่าได้ไปเกิดที่นั่น และได้จุติจากที่นั่นในชาติสุดท้าย แต่รายละเอียดต่างๆ ในระหว่างที่ดำรงอยู่ในภพนั้นไม่สามารถจะรู้เห็นได้โดยตรง จึงต้องรู้โดยนัย คือคาดคะเน 
 ตรงนี้พระอรรถกถาจารย์ผู้อธิบายพระวินัยปิฎกอุปมาความสามารถของท่านพระโสภิตะว่า การระลึกชาติได้ในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เหมือนกับแยงปลายแห่งขนทรายที่ผ่าเป็น ๗ ส่วนเข้ากับปลาย  เหมือนกับการแสดงรอยเท้าในอากาศ
คือ ขนของเนื้อทรายนั้นปกติก็เส้นเล็กละเอียด ไม่มีรูที่จะให้เอาอะไรสอดแยงเข้าไปได้อยู่แล้ว แต่ยังผ่าออกเป็น ๗ ซีก นึกดูก็แล้วกันว่า แค่ผ่านี่จะผ่าอย่างไร ต่างว่าผ่าได้แล้ว เส้นจะเล็กลงไปอีกขนาดไหน แล้วเส้นเล็กขนาดนั้นยังมีรูอยู่ในเส้นนั้นอีก รูนั้นก็จะต้องเล็กเป็นที่สุด แล้วที่เป็นยอดยากของเรื่องนี้ก็คือ ต้องเอาปลายของเส้นนั้นนั่นเองมาแยงลงไปในรูของเส้นตัวเองนั้นแหละให้ได้ด้วย
และที่บอกว่าเหมือนแสดงรอยเท้าในอากาศ ก็คืออากาศนั้นเป็นที่เวิ้งว้าง ถ้ามีใครเดินย่ำไปในอากาศได้ หลังจากเดินผ่านเลยไปแล้ว ใครจะไปดูร่องรอยอะไรก็ย่อมจะไม่สามารถเห็นได้ว่าอากาศตรงนั้นเคยมีเท้าของใครเหยียบย่ำไปจริง จะให้มองเห็นเหมือนรอยเท้าที่เหยียบลงไปบนพื้นดินนั้นไม่ได้  ดังนั้นหากจะมีท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งสามารถชี้ให้เห็นรอยเท้าในอากาศได้ ก็ต้องนับว่าเป็น ยอดจริงๆ
ทั้งสองกรณีนี้เป็นการพูดถึงสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำไม่ได้แบบนี้แหละที่ท่านพระโสภิตเถระท่านทำได้

อรรถกถาพระวินัยสรุปท้ายเรื่องท่านพระโสภิตเถระว่า
.......
เพราะฉะนั้น  พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเพราะเรื่องนี้นั่นแหละว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยในกาลก่อนได้  โสภิตะนี้เป็นเลิศ ดังนี้


พระโสภิตะกับพระอภิธรรม


คัมภีร์อัฏฐสาลินี (อรรถกถาแห่งคัมภีร์ธัมมสังคณี พระอภิธรรมปิฎก) (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม 53) หน้า ๓๒ - ๓๓ มีคำถามคำตอบเรื่องพระอภิธรรม และออกชื่อท่านพระโสภิตะในฐานะเป็นผู้นำพระอภิธรรมสืบต่อกันมา ถ้าพระโสภิตะที่คัมภีร์อัฏฐสาลินีเอ่ยถึงนี้เป็นองค์เดียวกับท่านพระโสภิตเถระมหาสาวกในสมัยพุทธกาล ก็แสดงว่าท่านเป็นผู้ชำนาญในพระอภิธรรมปิฎกอีกด้วย
ข้อความในคัมภีร์อัฏฐสาลินี เป็นดังนี้

ถามว่า                    พระอภิธรรมนี้ ให้เจริญมาด้วยอะไร
ตอบว่า                   ให้เจริญมาด้วยศรัทธามุ่งไปสู่ปัญญาเครื่องตรัสรู้                                        …….                     ……..
ถามว่า                    แสดงที่ไหน                                        
ตอบว่า                   ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
…….                     …….
ถามว่า                    แสดงเพื่ออะไร                   
ตอบว่า                   เพื่อออกไปจากโอฆะ ๔
……...                   …….
ถามว่า                    ใครทรงไว้                                            
ตอบว่า                   เป็นไปแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นย่อมทรงจำไว้
ถามว่า                    เป็นถ้อยคำของใคร
ตอบว่า                   เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถามว่า                    ใครเป็นผู้นำมา
ตอบว่า                   อันอาจารย์นำสืบต่อกันมา
                จริงอยู่ พระอภิธรรมนี้อันพระเถระทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ  พระสารีบุตรเถระ  พระภัททชิ  พระโสภิต  พระปิยชาลี  พระปิยปาละ  พระปิยทัสสี  พระโกสิยบุตร  พระสิคควะ  พระสันเทหะ  พระโมคคลิบุตร  พระติสสทัตตะ  พระธัมมิยะ  พระทาสกะ  พระโสนกะ  พระเรวตะ เป็นผู้นำมาจนถึงกาลแห่งตติยสังคีติ  ต่อจากนั้นศิษยานุศิษย์ของพระเถระเหล่านั้นนั่นแหละนำมาแล้ว โดยสืบต่อกันมาตามอาจารย์ในชมพูทวีป ด้วยอาการอย่างนี้ก่อน 


เงื่อนแง่ที่น่าพิจารณา


คราวนี้ขอย้อนไปที่ข้อความในคัมภีร์อปทานที่ค้างไว้ข้างต้น ที่ผู้เรียบเรียงบอกว่ามีเงื่อนแง่ที่น่าพิจารณาบางประการ
เงื่อนแง่ที่น่าพิจารณาก็คือ ข้อความที่อรรถกถายกมาจากคัมภีร์อปทานเพื่อประกอบเรื่องประวัติของท่านพระโสภิตเถระนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๗๔ แต่ปรากฏเป็นชื่อของพระญาณถวิกเถระ  ไม่ใช่พระโสภิตเถระ และเรื่องราวของท่านก็แตกต่างไปเป็นคนละองค์  อันที่จริงประวัติตรงที่แตกต่างนั้นอรรถกถาเถรคาถาก็นำมาเล่าไว้เป็นประวัติของท่านพระโสภิตเถระดังที่ปรากฏข้างต้น
สรุปเป็นประเด็นไว้ก่อนทีหนึ่งว่า ประวัติท่านพระโสภิตเถระบางตอนที่ปรากฏในอรรถกถาเถรคาถาไปตรงกับประวัติของท่านพระญาณถวิกเถระที่ปรากฏในคัมภีร์อปทานราวกับจะเป็นองค์เดียวกัน
ประวัติท่านพระโสภิตเถระที่คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกายเล่าไว้ดังที่นำมาแสดงไว้เป็นตอนแรกนั้น บอกแต่เพียงว่าท่านตั้งความปรารถนาตั้งแต่สมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า จากนั้นก็เกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง จนมาเกิดเป็นพระโสภิตะ อรรถกถาพระวินัยให้รายละเอียดว่าก่อนมาเกิดเป็นพระโสภิตะท่านบวชเป็นเดียรถีย์ บำเพ็ญฌานจนได้อสัญญีสมาบัติ แล้วไปเกิดในอสัญญีภพ จุติจากอสัญญีภพก็มาเกิดเป็นพระโสภิตะ
แต่อรรถกถาเถรคาถาเล่าว่า ท่านตั้งความปรารถนาในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้าแล้ว ต่อมาในสมัยพระสุเมธพุทธเจ้า ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์แล้วออกบวชเป็นดาบส ไปปลูกอาศรมอยู่ข้างภูเขาหิมพานต์ ต่อมาได้สดับข่าวว่าพระสุเมธพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ภัททวดีนคร พักอยู่ร่วมกับพระพุทธเจ้าราตรีหนึ่งก็มีใจเลื่อมใส กล่าวคาถาชมเชยพระพุทธเจ้า และพระองค์ก็ทรงยกย่องท่านผู้เป็นดาบส ต่อจากนั้นท่านจึงมาเกิดเป็นพระโสภิตะ  แต่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่ท่านไปเกิดในอสัญญีภพก่อนที่จะมาเกิดเป็นพระโสภิตะ 
เรื่องตอนที่ท่านเป็นดาบสไปปลูกอาศรมอยู่ที่เขาหิมพานต์แล้วต่อมาได้ไปเฝ้าพระสุเมธพุทธเจ้านี้ ก็ไปตรงกับประวัติของท่านพระญาณถวิกเถระที่ปรากฏในคัมภีร์อปทาน  แต่ชื่อเมืองที่ไปเฝ้าพระสุเมธพุทธเจ้าเพี้ยนกันไป ในคัมภีร์อปทานชื่อ จันทวดี ในอรรถกถาเถรคาถาชื่อ ภัททวดี
แต่จุดเด่นที่ปรากฏในคัมภีร์อปทานก็คือบอกว่า ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ซึ่งอรรถกถาอังคุตตรนิกาย อรรถกถาเถรคาถา และอรรถกถาพระวินัย ที่เล่าเรื่องของท่านดังที่ยกมาข้างต้นนั้นไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นนี้เลย
ที่น่าแปลกยิ่งขึ้นก็คือ ในคัมภีร์อปทานนั่นเองก็มีชื่อพระโสภิตเถระปรากฏอยู่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง คือ โสภิตเถราปทาน คัมภีร์อปทาน ภาค๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๑๓๓ มีข้อความเพียง ๙ คาถา ดังต่อไปนี้

                               1 พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ
ทรงแสดงอมตบทแก่หมู่ชนเป็นอันมาก

                             2 เวลานั้นเราได้ฟังพระดำรัส
อาสภิวาจาที่พระองค์เปล่งแล้ว
ประนมกรอัญชลี
เป็นผู้มีใจเป็นอารมณ์เดียว (กล่าวว่า)

3 สมุทรเลิศกว่าแม่น้ำทั้งหลาย
เขาพระสุเมรุประเสริฐกว่าภูเขาทั้งหลาย ฉันใด
                           ชนเหล่าใดย่อมเป็นไปตามอำนาจจิต
ชนเหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงเสี้ยวแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้น

                             4 พระพุทธฤๅษี ผู้ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงหยุดการแสดงธรรม
ประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์แล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

5 ผู้ใดสรรเสริญญาณ
ของพระพุทธเจ้าผู้นำของโลก
ผู้นั้นจะต้องไม่ไปสู่ทุคติ
ตลอดแสนกัป

6 ผู้นั้นจักเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
เป็นผู้มีอารมณ์เดียว มีจิตมั่นคง
ได้เป็นสาวกของพระศาสดา
มีนามชื่อว่า โสภิตะ

                             7 เราเผากิเลสได้แล้ว
ถอนภพขึ้นได้หมดแล้ว
วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว
            
8 ในกับที่ห้าหมื่นแต่กัปนี้
ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ พระองค์
ทรงพระนามว่าสมุคคตะ
สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก

9 คุณวิเศษเหล่านี้ คือ
ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว

คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ภาค ๒ อรรถกถาอปทาน (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม 50) หน้า ๑๗๖ เล่าเรื่องท่านพระโสภิตเถระไว้ดังนี้

                พระเถระรูปนี้ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ทุกๆ ภพ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นประจำ  ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ท่านเกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง เจริญวัยแล้วดำรงเพศฆราวาส  วันหนึ่ง เมื่อพระศาสดากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ เกิดเลื่อมใสด้วยความโสมนัส จึงกล่าวสรรเสริญโดยประการต่างๆ
ท่านถึงแก่กรรมในขณะที่จิตใจกำลังโสมนัสนั่นเอง ได้ไปเกิดเสวยทิพยสุขในเทวโลก แล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้เสวยสุขในมนุษยโลก  ในสมัยพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ ได้มาเกิดในตระกูลแห่งหนึ่งในพระนครสาวัตถี  มีอายุได้เพียง ๗  ปีเท่านั้นก็บวช ไม่นานนักก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้อภิญญา ๖

                ประวัติของท่านพระโสภิตเถระตามที่อรรถกถาอปทานเล่าไว้นี้ กับประวัติของท่านพระญาณถวิกเถระที่ปรากฏในคัมภีร์อปทาน มีความเหมือนกันประการหนึ่งที่สำคัญมากคือ บวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

สรุปความเกี่ยวพันกันระหว่างท่านพระโสภิตเถระกับท่านพระญาณถวิกเถระตามที่ปรากฏในบาลีและอรรถกถาได้ดังนี้
1 ตั้งความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมมาตั้งแต่สมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า (พระโสภิตเถระตั้งความปรารถนาเป็นผู้เลิศทางระลึกชาติด้วย ตามอรรถกถาอังคุตตรนิกาย)
2 ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดโสมนัสกล่าวสรรเสริญโดยประการต่างๆ (พระโสภิตเถระ ตามอรรถกถาอปทาน)
3 ไปเกิดเป็นพราหมณ์ในสมัยพระสุเมธพุทธเจ้า แล้วบวชเป็นดาบส เมื่อได้เฝ้าพระพุทธเจ้าก็กล่าวคำสรรเสริญพระพุทธองค์เป็นอันมาก (พระญาณถวิกเถระ ตามคัมภีร์อปทาน)
4 ย้อนหลังไป ๕๐๐ กัป เคยบวชเป็นเดียรถีย์สำเร็จฌานไปเกิดเป็นพรหมในอสัญญีภพ (พระโสภิตเถระ ตามอรรถกถาพระวินัย)
5 ในสมัยพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้มาเกิดในพระนครสาวัตถี บวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ (พระโสภิตเถระ ตามอรรถกถาอปทาน และ  พระญาณถวิกเถระ ตามคัมภีร์อปทาน)

                ข้อคลางแคลงใจในประวัติของพระเถระทั้งสองนามนี้ก็คือ
                1 ทำไมในอรรถกถาพระวินัย อรรถกถาอังคุตตรนิกาย และอรรถกถาเถรคาถา เมื่อเล่าถึงประวัติของท่านพระโสภิตเถระ จึงไม่เอ่ยถึงเรื่องบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ? ทำไมจึงข้ามจุดเด่นตรงนี้ไปเสีย ?
                2 ในอรรถกถาเถรคาถา เมื่อเล่าประวัติของท่านพระโสภิตเถระและอ้างคัมภีร์อปทานมาประกอบเรื่อง ทำไมจึงไม่อ้างเรื่องพระโสภิตเถระ กลับไปอ้างเรื่องพระญาณถวิกเถระ ?
3 พระเถระ ๒ นามนี้ คือองค์เดียวกันใช่หรือไม่ ?

คำถาม ๓ ข้อนี้ ในเวลาที่เรียบเรียงนี้ยังค้นคำตอบที่แน่นอนไม่พบ แต่อยากจะสรุปเป็นความเห็นส่วนตัวไว้ทีหนึ่งก่อนว่า พระเถระ ๒ นามนี้ น่าจะเป็นองค์เดียวกัน
อนึ่ง เมื่อดูตามรายชื่อพระเถระผู้นำพระอภิธรรมสืบต่อกันมาดังที่ปรากฏในคัมภีร์อัฏฐสาลินี ก็น่าสันนิษฐานว่า ท่านพระโสภิตเถระคงจะปรินิพพานหลังพระพุทธองค์

No comments:

Post a Comment