Saturday, August 13, 2011

23.พระกุมารกัสสปะ


พระกุมารกัสสปะ


                มารดาของพระกุมารกัสสปะเป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ ขออนุญาตบิดามารดาเพื่อบรรพชาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย  แต่ไม่ได้รับอนุญาต  เมื่อเจริญวัยแล้วได้แต่งงานไปสู่ตระกูลสามี  ได้สามีเป็นผู้มีจิตใจดังเทวดา  ต่อมาไม่นานนักนางก็ตั้งครรภ์ แต่ไม่ทราบว่าตนตั้งครรภ์
เวลานั้นมีงานนักขัตฤกษ์ในพระนคร  ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันเล่นงานนักขัตฤกษ์  มีการประดับตกแต่งบ้านเมืองเหมือนดังเทพนคร  แม้จะมีการเล่นนักขัตฤกษ์ใหญ่ยิ่งเพียงนั้น นางก็ออกไปเที่ยวดูนักขัตฤกษ์ตามประเพณีโดยไม่แต่งเนื้อแต่งตัวให้สวยงามแต่อย่างใดทั้งสิ้น
สามีถามว่า  นางผู้เจริญ นครทั้งสิ้นเขาเล่นนักขัตฤกษ์กัน แต่เธอไม่ปฏิบัติร่างกาย  ไม่ทำการตกแต่ง เพราะเหตุไร 
ภรรยาเห็นเป็นโอกาสที่จะชี้ให้เห็นถึงความไม่งามของสรีระ จึงตอบว่า 

นายท่าน  ร่างกายเต็มด้วยซากศพ  ๓๒  ชนิดทีเดียว 
ประโยชน์อะไรด้วยร่างกายนี้ที่ประดับแล้ว 
กายนี้ เทวดา พรหมไม่ได้นิรมิต 
ไม่ใช่สำเร็จด้วยทอง  ด้วยแก้วมณี  ด้วยจันทน์เหลือง 
ไม่ใช่เกิดจากห้องแห่งดอกบุณฑริก  ดอกโกมุท  และดอกอุบลเขียว 
ไม่ใช่เต็มด้วยอมฤตโอสถ 
แต่เต็มไปด้วยคูถ  ไม่สะอาด 
โดยที่แท้เกิดในซากศพ  มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด 
ต้องขัดสีและนวดฟั้นปรนนิบัติอยู่เป็นนิตย์ 
และมีการแตกทำลายกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา 
รกเป็นป่าช้า 
อันตัณหายึดจับ 
เป็นเหตุแห่งความโศก 
เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความรํ่าไร 
เป็นที่อยู่อาศัยแห่งโรคทั้งปวง 
เป็นที่รับเครื่องกรรมกรณ์ คือทุกข์โทษสารพัน
มีของเสียภายใน ไหลออกภายนอกเป็นนิตย์ 
เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนหลายตระกูล 
จะต้องไปยังป่าช้า 
มีความตายเป็นที่สุด 
ชาวโลกทั้งปวงก็มองเห็นอยู่ว่าเปลี่ยนแปรไป

อฏฺินหารุสยุตฺโต              ตจมสวิเลปโน

                                ฉวิยา กาโย ปฏิจฺฉนฺโน   ยถาภูต    ทิสฺสติ.
กายประกอบด้วยกระดูกและเอ็น  ฉาบทาด้วยหนังและเนื้อ 
เป็นกายที่ถูกผิวหนังปกปิดไว้  ไม่ปรากฏตามความเป็นจริง

อนฺตปูโร  อุทรปูโร       ยกเปฬสฺส  วตฺถิโน
                                หทยสฺส  ปปฺผาสสฺส      วกฺกสฺส  ปิหกสฺส 
                                สิงฺฆาณิกาย  เขฬสฺส    เสทสฺส  เมทกสฺส 
                                โลหิตสฺส  ลสิกาย        ปิตฺตสฺส    วสาย  .
เต็มด้วยลำไส้ใหญ่  เต็มด้วยท้อง  ด้วยตับ  หัวไส้ 
เนื้อหัวใจ  ปอด  ไต  ม้าม 
นํ้ามูก  นํ้าลาย  เหงื่อ  มันข้น 
เลือด  ไขข้อ  ดี   และมันเหลว

                                อถสฺส  นวหิ  โสเตหิ        อสูจิ  สวติ  สพฺพทา
                                อกฺขิมฺหา  อกฺขิคูถโก       กณฺณมฺหา  กณฺณคูถโก
                                สิงฺฆาณิกา    นาสาโต    มุเขน  วมติ  เอกทา
                                ปิตฺต  เสมฺหฺจ  วมติ        กายมฺหา  เสทชลฺลิกา.
ครั้นแล้ว ของไม่สะอาดย่อมไหลออก
จากช่องทั้ง ๙ ของกายนั้นทุกเมื่อ  คือ 
ขี้ตาไหลออกจากตา  ขี้หูไหลออกจากหู 
และนํ้ามูกไหลออกจากจมูก บางคราวออกทางปาก 

ดีและเสมหะย่อมไหลออกจากกายเป็นหยดเหงื่อ 


อถสฺส  สุสิร สีส                มตฺถลุงฺเคน  ปูริต
                                สุภโต  ตี  พาโล     อวิชฺชาย  ปุรกฺขโต.
ศีรษะของกายนั้นเป็นโพรง เต็มด้วยมันสมอง 
คนพาลถูกอวิชชาห่อหุ้ม จึงสำคัญว่าเป็นของงาม

อนนฺตาทีนโว  กาโย     วิสรุกฺขสมูปโม
                                อาวาโส  สพฺพโรคาน       ปฺุโช  ทุกฺขสฺส  เกวโล.
กายมีโทษอนันต์ เปรียบเสมอด้วยต้นไม้พิษ
เป็นที่อยู่ของสรรพโรค ล้วนเป็นกองทุกข์ 

สเจ  อิมสฺส  กายสฺส    อนฺโต  พาหิรโต  สิยา
                                ทณฺฑ  นูน  คเหตฺวาน    กากโสเณ  นิวารเย.

ถ้ากลับเอาภายในของกายนี้ออกข้างนอก 

ก็จะต้องถือท่อนไม้คอยไล่กาและสุนัขเป็นแน่

ทุคฺคนฺโธ  อสุจีกาโย     กุณโป  อุกฺกรูปโม

                                นินฺทิโต  จกฺขุภูเตหิ     กาโย  พาลาภินนฺทิโต
                                กายไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เป็นดังซากศพ เปรียบเหมือนส้วม 
ผู้มีจักษุติเตียน  แต่เป็นที่ยินดียิ่งของคนเขลา

อลฺลจมฺมปฏิจฺฉนฺโน         นวทฺวาโร  มหาวโณ
                                สมนฺตโต  ปคฺฆรติ        อสุจิปูติคนฺธิโย.
อันหนังสดปกปิดไว้  มี ๙ ทวาร มีแผลใหญ่ 
ของไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็นไหลออกรอบด้าน 

ยทา    โส  มโต  เสติ   อุทฺธุมาโต  วินีลโก
                                อปวิฏฺโ  สุสานสฺมึ        อนเปกฺขา  โหนฺติ  าตโย
เมื่อใด กายนั้นนอนตายขึ้นพอง มีสีเขียวคลํ้า ถูกทอดทิ้งไว้ในสุสาน
                                เมื่อนั้น ญาติทั้งหลายย่อมไม่ห่วงอาลัย 

ขาทนฺติ    สุวาณา      สิงฺคาลา    พกา  กิมิ
                                กากา คิชฺฌา จ ขาทนฺติ   เย  ฺเ  สพฺพปาณิโน.
สุนัขบ้าน  สุนัขจิ้งจอก ย่อมเคี้ยวกินกายนั้น 
นกตะกรุม  หนอน  กา  แร้ง และมวลสัตว์อื่นๆ ย่อมเคี้ยวกิน

                                สุตฺวาน  พุทฺธวจน             ภิกฺขุ    าณวา  อิธ
                                โส  โข    อภิชานาติ    ยถาภูต หิ  ปสฺสติ.
ภิกษุผู้มีญาณในศาสนานี้นั่นแล  ได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว 

ย่อมรู้แจ้งกายนั้น  ย่อมเห็นตามเป็นจริงแท้ ว่า

                               
ยถา  อิท  ตถา  เอต         ยถา  เอต  ตถา  อิท
อชฺฌตฺตฺจ พหิทฺธา จ กาเย  นนฺท  วิรชฺชหํ.
ร่างกายนี้ฉันใด  ร่างกายนั่นก็ฉันนั้น 

ร่างกายนั่นฉันใด  ร่างกายนี้ก็ฉันนั้น 

ข้าพเจ้าคายความเพลิดเพลินในกาย
ทั้งภายในและภายนอกเสียแล้ว

นายเอย  ข้าพเจ้าจะประดับประดาร่างกายนี้ทำอะไร 
ร่างกายที่ประดับตกแต่งนี้
ก็ไม่ต่างอะไรกับหม้อที่ข้างนอกเขียนลวดลายสวยงาม
แต่ข้างในเต็มไปด้วยคูถ

                                - วิชยสูตร อุรควรรค สุตตนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑๒
- อรรถกถานิโครธมิคชาดก  อรรถกถาชาดก ภาค ๑ หน้า ๒๒๒ (ฉบับ BUDSIR VI)  
   หน้า ๒๖๐๒๗๔ (ฉบับเรียนพระไตรปิฎก)

สามีผู้มีใจประเสริฐนั้นเห็นความน่าเกลียดของร่างกาย จึงยินยอมให้นางบวช  สามีนำนางไปสู่สำนักของภิกษุณี  ให้บวชในสำนักของภิกษุณีที่อยู่ในปกครองของพระเทวทัต
                ต่อมา เมื่อครรภ์แก่ขึ้น พวกภิกษุณีเห็นผิดปกติจึงสอบถามกันขึ้นว่า นี่อะไรกัน ?  ภิกษุณีสาวก็ตอบว่า  แม่เจ้า ดิฉันไม่ทราบว่านี่เป็นอย่างไร แต่ศีลของดิฉันไม่ด่างพร้อยเลย
                พวกภิกษุณีนำนางไปสู่สำนักของพระเทวทัตแล้วถามว่า  ภิกษุณีนี้บวชด้วยศรัทธา  พวกดิฉันไม่ทราบว่านางนี้ตั้งครรภ์ขึ้นตั้งแต่เมื่อไร บัดนี้จะทำอย่างไรดี ?
                พระเทวทัตคิดเห็นเพียงเท่านี้ว่า  ความเสียชื่อเสียงจงอย่าเกิดขึ้นแก่พวกภิกษุณีผู้ทำตามโอวาทของเรา  จึงกล่าวว่า  พวกเธอจงให้นางนั้นสึกเสีย
                ภิกษุณีสาวนั้นฟังคำนั้นแล้วกล่าวว่า  แม่เจ้า ขอแม่เจ้าทั้งหลายอย่าให้ดิฉันฉิบหายเสียเลย  ดิฉันมิได้บวชอุทิศพระเทวทัต แม่เจ้าทั้งหลายจงมาเถิด จงนำดิฉันไปสู่พระเชตวันซึ่งเป็นสำนักของพระศาสดา
ภิกษุณีเหล่านั้นพานางไปสู่พระเชตวัน กราบทูลแด่พระศาสดาแล้ว


พระกุมารกัสสปะเกิด

                พระศาสดาแม้ทรงทราบอยู่ว่านางตั้งครรภ์ตั้งแต่เวลาเป็นคฤหัสถ์ แต่เพื่อจะเปลื้องเสียซึ่งถ้อยคำตำหนิติฉิน จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล  ท่านมหาอนาถบิณฑิกะ  ท่านจุลอนาถบิณฑิกะ  นางวิสาขามหาอุบาสิกา  และสกุลใหญ่อื่นๆ มาแล้ว ทรงมีพุทธบัญชาแก่พระอุบาลีเถระว่า  เธอจงไปชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ให้หมดจดในท่ามกลางบริษัท ๔   
พระเถระให้เชิญนางวิสาขามา แล้วให้สอบสวนอธิกรณ์นั้นต่อพระพักตร์พระราชา
                นางวิสาขาให้กั้นม่าน  ตรวจดูมือ  เท้า  สะดือ  และที่สุดแห่งท้องของนางภิกษุณีนั้นภายในม่าน แล้วนับเดือนและวันดู  ก็ทราบได้ว่านางได้มีครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์  จึงบอกความนั้นแก่พระเถระ
                ครั้งนั้น พระเถระยังความที่นางเป็นผู้บริสุทธิ์ให้กลับตั้งขึ้นในท่ามกลางบริษัทแล้ว  พระศาสดาได้ทรงสดับเรื่องนั้นแล้วตรัสว่า  อุบาลีวินิจฉัยอธิกรณ์ถูกต้องดีแล้ว  จึงทรงประทานสาธุการแก่พระเถระ 
                ในกาลต่อมา นางคลอดบุตรรูปร่างงดงามดุจทองคำ มีอานุภาพมาก เป็นผู้ที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ


มีชื่อ กุมาร นำหน้าเพราะพระราชาทรงเลี้ยง

                อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไป   ที่ใกล้สำนักของนางภิกษุณี ทรงสดับเสียงทารกจึงตรัสถามว่า  นั่นเสียงอะไร ?  เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า  พระเจ้าข้า  บุตรของภิกษุณีนั้นเกิดแล้ว นั่นเป็นเสียงของบุตรภิกษุณีนั้น    
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระดำริว่า  การเลี้ยงดูทารกจะเป็นความกังวลใจแก่พวกภิกษุณี  จึงทรงนำกุมารนั้นไปสู่พระราชมนเทียรของพระองค์ ได้ประทานให้แก่แม่นมทั้งหลาย
                ในวันตั้งชื่อ ชนทั้งหลายตั้งชื่อกุมารนั้นว่า  กัสสปะ  แต่เพราะความที่กุมารนั้นเป็นผู้อันพระราชาทรงให้เจริญแล้วด้วยเครื่องบริหารของพระกุมาร  จึงรู้จักกันในนาม  กุมารกัสสปะ 
                กุมารนั้นทุบตีเด็กในสนามเล่น  เมื่อพวกเด็กกล่าวว่า พวกเราถูกคนไม่มีแม่ไม่มีพ่อทุบตีแล้ว  จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลถามว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพ  พวกเด็กย่อมว่าหม่อมฉันว่า ไม่มีมารดาและบิดา  ขอพระองค์จงตรัสบอกมารดาแก่หม่อมฉันเถิด  เมื่อพระราชาทรงชี้ไปที่หญิงแม่นมทั้งหลายตรัสว่า  หญิงเหล่านี้เป็นมารดาของเจ้า  จึงกราบทูลว่า  มารดาของหม่อมฉันไม่มีมากเท่านี้  อันมารดาของหม่อมฉันพึงมีคนเดียว  ขอพระองค์ตรัสบอกมารดาแก่หม่อมฉันเถิด
                พระราชาทรงเห็นว่า ไม่อาจจะปิดบังกุมารนี้ได้ต่อไป จึงตรัสว่า  พ่อ มารดาของเจ้าเป็นภิกษุณี  ตัวเจ้าเรานำมาแต่สำนักภิกษุณี


                                                กุมารกัสสปะออกบวชบรรลุพระอรหัต

                กุมารนั้นเกิดความสังเวชด้วยเหตุเพียงเท่านั้นนั่นแหละ กราบทูลว่า  ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงให้หม่อมฉันบวชเถิด  พระราชาทรงรับว่า  ดีละพ่อ  แล้วยังกุมารนั้นให้บวชในสำนักของพระศาสดาด้วยสักการะเป็นอันมาก 
เพราะท่านบวชตั้งแต่เป็นเด็ก และมีภิกษุสามเณรที่ชื่อกัสสปะอยู่หลายองค์  เวลาพระผู้มีพระภาคตรัสว่า  พวกเธอจงเรียกกัสสปะมา  พวกเธอจงให้ผลไม้หรือของที่ควรเคี้ยวนี้แก่กัสสปะ  พวกภิกษุมักจะต้องทูลถามว่า กัสสปะไหน  ดังนั้น เมื่อมีการเรียกชื่อท่าน จึงต้องระบุว่า กุมารกัสสปะ (= กัสสปะที่เป็นกุมาร คือกัสสปะเด็ก) เพื่อให้ต่างจากกัสสปะอื่น  จนแม้ท่านได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้วก็ยังเรียกกันว่า  พระกุมารกัสสปะ 
ท่านเรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดา เข้าไปสู่ป่า บำเพ็ญเพียร แต่ไม่สามารถจะให้คุณวิเศษบังเกิดได้  ครั้งนั้นภิกษุผู้บำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า  บรรลุอนาคามิผลแล้วบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส  มาจากพรหมโลก  ถามปัญหา ๑๕ ข้อ และบอกว่า นอกจากพระศาสดาแล้วไม่มีคนอื่นที่จะสามารถพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ได้  ท่านจงไปศึกษาเนื้อความของปัญหาเหล่านี้ในสำนักของพระศาสดาเถิด
                ท่านได้ทำตามคำของเพื่อนพรหมของท่าน และบรรลุพระอรหัตผลในเวลาที่พระศาสดาทรงแก้ปัญหาจบ 
ปัญหาและคำแก้ปัญหาปรากฏอยู่ใน วัมมิกสูตร ดังต่อไปนี้

                ครั้งนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะ เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เมื่อถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง   ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อคืนนี้เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณะงามยิ่ง ราตรีล่วงปฐมยามไปแล้ว ยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่างแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ให้ข้าพระองค์ทูลถามปัญหา ๑๕ ข้อ และขอให้พระองค์ทรงพยากรณ์
                ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อะไรหนอแลชื่อว่าจอมปลวก  อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน  อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน  อะไรชื่อว่าพราหมณ์  อะไรชื่อว่าสุเมธะ   อะไรชื่อว่าศาสตรา  อย่างไรชื่อว่าการขุด  อะไรชื่อว่าลิ่มสลัก  อะไรชื่อว่าอึ่ง  อะไรชื่อว่าทาง ๒ แพร่ง  อะไรชื่อว่าหม้อกรองน้ำด่าง  อะไรชื่อว่าเต่า  อะไรชื่อว่าเขียงหั่นเนื้อ   อะไรชื่อว่าชิ้นเนื้อ  อะไรชื่อว่านาค  ดังนี้


พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหา ๑๕ ข้อ

                พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า  ดูก่อนภิกษุ
                ๑. คำว่า จอมปลวก นั่นเป็นชื่อของกายนี้ อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส  ไม่เที่ยง  ต้องอบรม  ต้องนวดฟั้น  มีอันทำลายและกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา (สรีระเป็นเช่นกับจอมปลวก  ร่างกายนี้มีช่องอยู่ ๙ ช่อง ซึ่งไหลเข้าออกอยู่เป็นนิตย์  เปรียบเหมือนจอมปลวกมีช่องเล็กช่องใหญ่ข้างโน้นข้างนี้  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เช่น มอดและตัวปลวกเป็นต้น ฉันนั้นเหมือนกัน)
                ๒. ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน นั้น ได้แก่การที่บุคคลปรารภการงานในกลางวัน แล้วตรึกถึง ตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน
                ๓. ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน นั้น ได้แก่การที่บุคคลตรึกตรองถึงการงานในกลางคืน แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน
                ๔. คำว่า พราหมณ์ นั้น เป็นชื่อของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                ๕. คำว่า สุเมธะ  นั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ (คือผู้ที่ยังจะต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลเบื้องสูงต่อไปอีก)
                ๖. คำว่า ศาสตรา นั้นเป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ
                ๗. คำว่า จงขุด นั้น เป็นชื่อของการระดมความเพียร
                ๘. คำว่า ลิ่มสลัก นั้น เป็นชื่อของอวิชชา 
คำนี้มีอธิบายว่า  พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาสตรายกลิ่มสลักขึ้น  คือจงละอวิชชาเสีย  จงขุดมันขึ้นเสีย
                ๙. คำว่า อึ่ง นั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้นด้วยความโกรธ 
คำนี้มีอธิบายว่า  พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาสตรายกอึ่งขึ้นเสีย  คือจงละความคับแค้นด้วยความโกรธเสีย  จงขุดมันขึ้นเสีย
                ๑๐. คำว่า ทาง ๒ แพร่ง  นั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา 
คำนี้มีอธิบายว่า  พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตราก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย
                ๑๑. คำว่า หม้อกรองน้ำด่าง นั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕  คือ  กามฉันทนิวรณ์  พยาบาทนิวรณ์  ถีนมิทธนิวรณ์  อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์  วิจิกิจฉานิวรณ์ 
คำนี้มีอธิบายว่า  พ่อสุเมธะ  เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรายกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย  คือจงละนิวรณ์ ๕ เสีย  จงขุดมันขึ้นเสีย
                ๑๒. คำว่า เต่า นั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕  คือ  รูปูปาทานขันธ์  เวทนูปาทานขันธ์  สัญญูปาทานขันธ์  สังขารูปาทานขันธ์  วิญญาณูปาทานขันธ์ 
คำนี้มีอธิบายว่า  พ่อสุเมธะ  เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรายกเต่าขึ้นเสีย  คือจงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย  จงขุดมันขึ้นเสีย
                ๑๓. คำว่า เขียงหั่นเนื้อ นั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ  น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด  เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสต… กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ... รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย  น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นสิ่งที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม  เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด 
คำนี้มีอธิบายว่า  พ่อสุเมธะ  เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรายกเขียงหั่นเนื้อเสีย  คือจงละกามคุณ ๕  เสีย  จงขุดมันขึ้นเสีย
                ๑๔. คำว่า ชิ้นเนื้อ นั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ  (ความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลินยินดี)
คำนี้มีอธิบายว่า  พ่อสุเมธะ  เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรายกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย  คือจงละนันทิราคะ  จงขุดมันขึ้นเสีย
                ๑๕. คำว่า นาค นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ 
คำนี้มีอธิบายว่า  นาคจงหยุดอยู่เถิด  เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค  จงทำความนอบน้อมต่อนาค  ดังนี้
                พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว  ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ดังนี้แล


มารดาพระกุมารกัสสปะบรรลุพระอรหัต

                ตั้งแต่วันที่พระกุมารกัสสปะออกบวช น้ำตาไหลออกจากนัยน์ตาทั้งสองของภิกษุณีผู้เป็นมารดาตลอด ๑๒ ปี  นางมีทุกข์เพราะพลัดพรากจากบุตร มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตาอยู่เสมอ
วันหนึ่ง ขณะไปบิณฑบาต นางได้เห็นพระเถระบนถนน จึงร้องว่า ลูก ลูก  พลางวิ่งเข้าไปหา บังเอิญสะดุดล้มลง  น้ำนมไหลออกจากถัน จีวรเปียก  นางพยายามลุกขึ้นเข้าไปสัมผัสตัวพระเถระ 
พระเถระคิดว่า  ถ้าเราจะพูดกับมารดาด้วยถ้อยคำอันไพเราะ  นางจะไม่มีโอกาสได้บรรลุธรรม  จำเราจักพูดแบบแข็งกระด้างเสียทีเดียว  ครั้นแล้วพระเถระจึงกล่าวขึ้นว่า  ท่านมัวเที่ยวทำอะไรอยู่ เพียงแค่ความรักเท่านี้ก็ตัดไม่ได้              
นางคิดว่า  โอ  ถ้อยคำของพระเถระช่างหยาบคาย  จึงถามว่า  ลูกเอ๋ย พ่อพูดอะไร   ถูกพระเถระว่าซ้ำคำเดิมเข้าอีก ก็ฉุกคิดขึ้นว่า  เราไม่อาจอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ถึง ๑๒ ปี เพราะคิดถึงลูกคนนี้  แต่ลูกเรากลับมีหัวใจกระด้าง  เราจะมาหวังอะไรกับลูกแบบนี้   
คิดได้ดังนี้แล้ว ตัดความเสน่หาในบุตร ตั้งใจเด็ดเดี่ยวปฏิบัติธรรม ได้บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง 

พระศาสดาย้อนบุพกรรมในอดีต

                วันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องที่นางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะมีครรภ์ แต่พระเทวทัตซึ่งเป็นผู้ปกครองมิได้ช่วยอนุเคราะห์ให้สมควรแก่เหตุ ซ้ำจะให้นางสึกเพราะเกรงสำนักของตนจะเสียชื่อ ต่อได้พระมหากรุณาของพระศาสดาจึงช่วยให้นางดำรงเพศภิกษุณีสืบมาจนได้บรรลุธรรม
พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติว่า  ภิกษุทั้งหลาย  เราเป็นปัจจัย เป็นที่พำนักของคนทั้งสองนี้ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อนเราก็ได้เป็นที่พำนักของคนทั้งสองนั้นมาแล้ว  ต่อจากนี้จึงตรัส นิโครธชาดก สรุปความได้ว่า
ในอดีตชาติ พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่งโปรดเสวยเนื้อกวาง จึงเสด็จออกไปล่าเนื้อทุกวัน  พวกชาวบ้านถูกเกณฑ์ให้เข้าขบวนล่าเนื้อจนไม่เป็นอันทำมาหากิน จึงคิดต้อนฝูงเนื้อเข้ามาไว้ในพระราชอุทยาน ทำรั้วล้อมไว้ เวลาจะล่าเนื้อก็ไปล่ากันในที่นั้น ไม่ต้องไปไกล
เนื้อที่ถูกต้อนเข้ามาอยู่ในพระราชอุทยานนั้นมีสองฝูง ฝูงละประมาณ ๕๐๐ หัวหน้าฝูงหนึ่งชื่อ นิโครธ หัวหน้าอีกฝูงหนึ่งชื่อ สาขะ ทั้งสองตัวมีรูปร่างสง่างาม ขนสีทอง  พระราชาเสด็จไปล่าเนื้อในพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นหัวหน้าฝูงเนื้อทั้งสองก็ทรงพอพระทัย ตรัสห้ามมิให้ฆ่า
แต่การล่าเนื้อในพระราชอุทยานได้ทำความลำบากอย่างยิ่งให้แก่ฝูงเนื้อ เพราะพระราชาต้องการล่าเนื้อเพียงวันละตัว พอลงมือล่า ฝูงเนื้อก็แตกตื่น ถูกยิงบาดเจ็บบ้าง เหยียบกันเองบ้าง อยู่กันไม่เป็นสุข หัวหน้าฝูงทั้งสองจึงตกลงกับลูกฝูงว่าให้จัดเวรกันไปนอนเอาคอพาดเขียงวันละตัว สลับกันฝูงละวัน เนื้อตัวอื่นๆ จะได้ไม่ต้องลำบาก
วันหนึ่ง ถึงเวรแม่เนื้อในฝูงของเนื้อสาขะ แม่เนื้อกำลังท้องแก่ จึงเข้าไปหาหัวหน้าฝูง ขอให้ช่วยจัดเนื้อตัวอื่นไปแทนก่อนจนกว่าตนจะคลอดลูก เนื้อสาขะตอบว่า เวรตายนั้นใครเขาจะยอมแทน ขอให้รับกรรมไปเถิด แม่เนื้อหมดที่พึ่งก็เข้าไปขอความช่วยเหลือจากเนื้อนิโครธที่เป็นหัวหน้าของอีกฝูงหนึ่ง  เนื้อนิโครธนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ฟังความทุกข์ของแม่เนื้อ ก็มาคำนึงดูว่า

สย  ชีวนฺติ  สกุณา       ปสู  สพฺเพ  วเน  มิคา
                                ชีวยนฺติ  ปเร  ธีรา      สนฺโต  สตฺตหิเต  รตา
เหล่านก  ปศุสัตว์  มฤคในป่า 
ทั้งหมดย่อมมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง 
คนฉลาด คนดี  รักที่จะทำประโยชน์
ย่อมมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น 

วิตฺต  องฺคฺจ  ปาณฺจ      จตฺต  เตหิ  หิตาย 
                                โส  สมตฺโถ  พหู  สตฺเต               สนฺตาเรสฺส  สเทวเก.
                                              ทรัพย์  อวัยวะ  และชีวิต 
เป็นของสละได้เพื่อบำเพ็ญประโยชน์
                                                ข้าพเจ้านั้นสามารถช่วยโลกให้รอดได้มาก
รวมไปถึงสวรรค์ด้วยซ้ำ

                                อิมินา  สารหีเนน           กาเยน    อปุตา
                                อหนฺเต  นูน    ลาภ      ลภิสฺสามิ  สย  ธุวนฺติ.
                                                เพราะมัวแต่ห่วงร่างกายอันไร้สาระนี้ 
จึงไม่ได้ทำความดี
อะไรที่ท่านคิดว่าท่านได้
ข้าพเจ้าเองได้อย่างยั่งยืนกว่านั้นแน่

                                                                - อรรถกถานิโครธมิคชาดก  อรรถกถาชาดก ภาค ๑ หน้า ๒๓๐

คิดแล้วก็รับปากช่วยเหลือด้วยความยินดี ไปนอนเอาคอพาดเขียงแทนแม่เนื้อ เจ้าหน้าที่ฆ่าเนื้อก็ไม่กล้าฆ่าเพราะพระราชาตรัสสั่งห้ามไว้
เมื่อเรื่องทราบไปถึงพระราชาก็ทรงสลดพระทัย ทรงประกาศห้ามล่าเนื้อและรวมไปถึงการล่าสัตว์ทุกชนิดในดินแดนของพระองค์

                พระศาสดาทรงประชุมชาดก (คือการบอกว่าใครในชาดกมาเกิดเป็นใครในชาตินี้) ว่า  เนื้อสาขะในครั้งนั้นมาเกิดเป็นพระเทวทัตในบัดนี้  แม่เนื้อตัวที่ถึงเวรจะถูกฆ่ามาเกิดเป็นพระเถรีมารดาของพระกุมารกัสสปะ  ลูกเนื้อมาเกิดเป็นกุมารกัสสปะ  ส่วนเนื้อนิโครธผู้สละชีวิตแทนแม่เนื้อ คือพระตถาคตเอง 

เมื่อจะทรงประกาศความที่พระเถรีตัดความรักในบุตรแล้วทำที่พึ่งแก่ตนเอง จึงตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  เพราะบุคคลอาศัยคนอื่น ไม่สามารถที่จะมีสวรรค์หรือมรรคเป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้  ฉะนั้นตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน  คนอื่นจะทำอะไรได้  ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-

                                อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ    โก  หิ  นาโถ  ปโร  สิยา
          อตฺตนา  หิ  สุทนฺเตน      นาถํ  ลภติ  ทุลฺลภํ.
                   ตนแลเป็นที่พึ่งของตน   
บุคคลอื่นใครเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้ 
เพราะบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก


พระกุมารกัสสปะเป็นต้นเรื่องนับอายุในครรภ์

                ตอนที่ท่านพระกุมารกัสสปมีอายุครบ ๒๐ ปีนับเวลาที่อยู่ในครรภ์ด้วย จึงได้อุปสมบท   ต่อมาท่านได้มีความดำริว่า  พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า บุคคลมีอายุหย่อน  ๒๐ ปี ภิกษุไม่พึงอุปสมบทให้  ก็เรามีอายุครบ ๒๐ ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้อุปสมบท จะเป็นอันอุปสมบทหรือไม่หนอ    ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค   พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา  วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว อาศัยจิตดวงแรก วิญญาณดวงแรกนั้นนั่นแหละเป็นความเกิดของสัตว์นั้น 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์


ผลงานและได้ตำแหน่งเอตทัคคะ

                ตั้งแต่พระกุมารกัสสปเถระสำเร็จเป็นอรหันต์  เมื่อท่านจะกล่าวธรรมกถาแก่บริษัท ๔  มากก็ดี  ไม่มากก็ดี ท่านจะกล่าวอย่างวิจิตรพิสดาร ประกอบไปด้วยอุปมาและเหตุผลต่างๆ   ครั้งหนึ่ง ท่านแสดงสูตรประดับประดาด้วยปัญหา ๑๕ ข้อ และ ปายาสิราชัญญสูตร แก่พระยาปายาสิ  ทำให้พระยาปายาสิซึ่งมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี  โอปปาติกะไม่มี  ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี เป็นต้น  ได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิได้ 
พระศาสดาทรงยกเรื่องที่ท่านแสดงพระสูตรดังกล่าวขึ้นเป็นเหตุ  ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้กล่าวธรรมกถาให้วิจิตร
กุมารกัสสปะนี้เป็นเลิศ ดังนี้


บุพกรรมในอดีตชาติ

                ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ  ท่านได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์  เมื่อเจริญวัยแล้ว วันหนึ่ง ขณะที่กำลังฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา  ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวธรรมกถาอันวิจิตร  ท่านมีความปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงประกอบกองการกุศลต่างๆ แล้วตั้งความปรารถนาขอให้ได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง  พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จสมความปรารถนา 
เมื่อสิ้นชีพจากชาตินั้นแล้วไปเกิดในเทวโลกและมนุษยโลก  ได้เสวยสมบัติในโลกทั้ง ๒ แล้ว  
ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ  ได้เกิดในตระกูลผู้ดี บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว บำเพ็ญสมณธรรม  ได้ไปเกิดในสุคติภูมิอย่างเดียว เสวยทิพยสุขและมนุษยสุขแล้ว ในพุทธุปบาทกาลนี้จึงมาเกิดเป็นพระกุมารกัสสปะ

No comments:

Post a Comment