Saturday, August 13, 2011

14.พระสารีบุตร

พระสารีบุตร

                พระสารีบุตร ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนาง สารีพราหมณี ในบ้านอุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ (นาลันทา) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์  เดิมชื่อ อุปติสสะ บิดาคือ วังคันตพราหมณ์  มีน้องชาย ๓ คน ชื่อ อุปเสนะ (เอตทัคคมหาสาวกผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ)  จุนทะ (พระมหาสาวกจุนทะ แต่พระส่วนใหญ่ชอบเรียกท่านว่า สามเณรจุนทะ จนติดปาก)  เรวตะ  หรือ  ขทิรวนิยเรวตะ (เอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร)  มีน้องหญิง    คน ชื่อ จาลา  อุปจาลา  และ สีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด
                ประวัติชีวิตในเบื้องต้นของท่านพระสารีบุตรมีรายละเอียดเหมือนกับประวัติของท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ จนถึงตอนที่ทั้งสองท่านได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว  มาเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่ตอนที่จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้               

ช่วงสำเร็จเป็นพระอรหันต์


ฝ่ายพระสารีบุตรเถระเมื่ออุปสมบทแล้วได้ ๑๕ วัน เข้าไปอยู่ในถ้ำสุกรขาตาที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์กับพระศาสดา ขณะนั้นพระสารีบุตรถวายงานพัดอยู่เมื่อพระศาสดาทรงแสดง เวทนาปริคหสูตร แก่ ทีฆนขปริพาชก ผู้เป็นหลานของตน  ได้ส่งญาณไปตามกระแสพระสูตร ก็ได้บรรลุถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เหมือนบริโภคข้าวที่เขาคดไว้เพื่อคนอื่น ส่วนหลานของท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลในเวลาจบเทศนา  วันที่พระสารีบุตรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓  เวลาบ่าย  (คือวันมาฆบูชา) ในพรรษาแรกของพระพุทธองค์  สำเร็จเป็นพระอรหันต์หลังพุทธองค์ ๙ เดือน
ขณะที่พระศาสดาประทับอยู่   พระเชตวัน กรุงสาวัตถี ได้ทรงสถาปนาพระสารีบุตรเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก 
สารีบุตรนี้เป็นเลิศ ดังนี้

                แม้ว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจะเกิดพร้อมกัน และเข้ามานับถือพระพุทธศาสนาพร้อมกัน แต่ด้วยพระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระโสดาบันก่อน  พระผู้มีพระภาคจึงถือให้พระสารีบุตรเป็นผู้พี่ของพระโมคคัลลานะ

ผลงานและลักษณะโดดเด่นของพระสารีบุตร


                ท่านพระสารีบุตรเป็นทั้งอัครสาวกเบื้องขวา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ และเป็นพระมหาสาวก  ดังพระพุทธดำรัสตอนหนึ่งที่ตรัสว่า  
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอจงเสพ จงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ทั้งสองรูปนี้เป็นบัณฑิตภิกษุ  ผู้อนุเคราะห์ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์  สารีบุตรเปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด  โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว  สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล  โมคคัลลานะย่อมแนะนำในผลชั้นสูง  สารีบุตรพอที่จะบอก  แสดง  บัญญัติ  แต่งตั้ง  เปิดเผย  จำแนก  ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ  ๔ ได้โดยพิสดาร 

                ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี  (คือเปรียบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเหมือนกองทัพธรรม  พระสารีบุตรเป็นธรรมเสนาบดี คือแม่ทัพธรรม)
ในคราวที่นิครนถ์นาฏบุตรศาสดาของลัทธินิครนถ์มรณภาพที่นครปาวาไม่นานนัก  พวกนิครนถ์ก็แตกกัน  เกิดแยกกันเป็นสองพวก  บาดหมางกัน  ทะเลาะวิวาทกันขึ้นว่า  ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง  ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร  ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก  ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์  ของท่านไม่เป็นประโยชน์  ดังนี้  พระสารีบุตรเห็นโทษของการที่ไม่ได้ทบทวนพระธรรมวินัยไว้ให้เป็นหลักชัดเจน จึงได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ควรทบทวนพระธรรมวินัยไว้เป็นหลัก  จะได้ไม่ต้องถกเถียงกันในอนาคต  จึงทูลขอพระผู้มีพระภาคทบทวนพระธรรมวินัย ที่เรียกว่า สังคีติ คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และ ทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการทำสังคายนาเป็นต้น  ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ครั้งแรก ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมชีพอยู่
                ในสมัยหนึ่ง คราวที่พระเทวทัตได้ประกาศแยกตัวออกจากพระพุทธเจ้า แล้วพาภิกษุพวกวัชชีบุตรซึ่งเป็นศิษย์ของตนไปอยู่ที่คยาสีสประเทศ  พระพุทธองค์ได้ทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไปจัดการปัญหาเรื่องนี้  พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะได้เทศนาให้ภิกษุวัชชีบุตรและสงฆ์บางส่วนกลับมาอยู่ในสงฆ์ดังเดิม  และปล่อยให้พระเทวทัตและศิษย์ของท่านอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว
                พระสารีบุตรมีคุณธรรมเป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ  กล่าวคือเวลานอนท่านจะหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่  อีกผู้หนึ่งคือราธพราหมณ์ พระสารีบุตรท่านระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีจึงรับเป็นอุปัชฌาย์บวชให้  ต่อมาพระราธะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีปฏิภาณแจ่มแจ้ง  และเป็นพระมหาสาวกด้วยองค์หนึ่ง
                พระสารีบุตรสมบูรณ์ด้วยขันติธรรม เป็นผู้เอาใจใส่อนุเคราะห์เด็ก เช่น ช่วยเอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแลซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป เช่น สามเณรราหุล  สามเณรสังกิจจะ  สามเณรทัพพะ เป็นต้น  และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธอื่นๆ อีกมาก
                พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวน ๔ องค์ ผู้บรรลุอภิญญาใหญ่ ซึ่งสามารถระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัป  อีก ๓ องค์คือ  พระมหาโมคคัลลานเถระ  พระพากุลเถระ  และ พระนางภัททากัจจานาเถรี

พระสารีบุตรมีคุณสมบัติพิเศษ ๑๖ ข้อ  ปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๓๐๓ พระพุทธองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอชอบสารีบุตรหรือไม่
              พระอานนท์ทูลตอบว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล  ไม่ใช่คนมุทะลุ  ไม่ใช่คนงมงาย  ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่าน (1) เป็นบัณฑิต  (2) มีปัญญามาก  (3) เป็นคนเจ้าปัญญา  (4) มีปัญญาชวนให้ร่าเริง  (5) มีปัญญาแล่น  (6) มีปัญญาหลักแหลม  (7) มีปัญญาแทงตลอด  (8) มีความปรารถนาน้อย  (9) สันโดษ  (10) เป็นผู้สงัดกายสงัดใจ  (11) ไม่คลุกคลีด้วยหมู่  (12) ปรารภความเพียร  (13) เป็นผู้เข้าใจพูด  (14) อดทนต่อถ้อยคำ  (15) เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด  (16) เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล  ไม่ใช่คนมุทะลุ  ไม่ใช่คนงมงาย  ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร

                ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตรแวดล้อมไปด้วยเทพบุตรบริษัทเป็นอันมากได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคขณะที่พระผู้มีพระภาคและพระอานนทเถระ กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่  จึงได้กราบทูลรับรองและยืนยันว่า ข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุมเทพบริษัทใดๆ  ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูสรรเสริญท่านพระสารีบุตรเช่นนั้น
                ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เทพบริษัทของสุสิมเทพบุตร เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ 
ปานว่าแก้วมณีและแก้วไพฑูรย์แปดเหลี่ยมอันงามโชติช่วง อันบุคคลขัดสีเรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราวรุ้งร่วง
                เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุทที่นายช่างทองผู้ขยันหมั่นใส่เบ้าหลอมไล่จนสิ้นราคีเสร็จแล้ว วางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่งปลั่ง
                ประดุจดาวประกายพรึกขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดูสรทกาล ย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับ   
เพียงดังพระอาทิตย์ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดูสรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสงแจ่มจ้าไพโรจน์

                สุสิมเทพบุตรได้กล่าวคาถาสรรเสริญท่านพระสารีบุตรว่า

ปณฺฑิโตติ  สมญฺญาโต                        สารีปุตฺโต  อโกธโน
อปฺปิจฺโฉ  โสรโต  ทนฺโต                     สตฺถุวณฺณภโต  อิสิ

ท่านพระสารีบุตร คนรู้จักท่านดีว่า
เป็นบัณฑิต  ไม่ใช่คนมักโกรธ 
มีความปรารถนาน้อย  สงบเสงี่ยม  ฝึกฝนมาดี
มีคุณงามความดีอันพระศาสดาทรงสรรเสริญ  เป็นผู้แสวงคุณ

                พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตคาถาตอบสุสิมเทพบุตรว่า


ปณฺฑิโตติ  สมญฺญาโต                        สารีปุตฺโต  อโกธโน
อปฺปิจฺโฉ  โสรโต  ทนฺโต                     กาลํ  กงฺขติ  ภาวิโต            

สารีบุตรใครๆ ก็รู้จักว่า
เป็นบัณฑิต  ไม่ใช่คนมักโกรธ
มีความปรารถนาน้อย  สงบเสงี่ยม  ฝึกฝนมาดี
จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน
                   
คุณสมบัติข้อหนึ่งของพระสารีบุตรคือ วจนกฺขโม  อดทนต่อถ้อยคำ  พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า หมายถึงทนฟังคำว่ากล่าวตำหนิทักท้วงของผู้อื่น  บางคนชอบสอนผู้อื่น แต่ตัวเองถูกผู้อื่นสอนเข้าก็โกรธ  แต่พระสารีบุตรนั้นสอนผู้อื่นด้วย  ตัวเองแม้ถูกสอนก็ยอมรับด้วยเศียรเกล้า 

เล่ากันว่า วันหนึ่ง สามเณรอายุ ๗ ขวบบอกพระสารีบุตรว่า  ท่านขอรับ  ชายผ้านุ่งของท่านห้อยลงมาแน่ะ  พระสารีบุตรไม่พูดอะไรเลย  ไป   ที่เหมาะแห่งหนึ่ง จัดแจงผ้านุ่งเสียใหม่ เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยแล้วก็มายืนประนมมือต่อหน้าสามเณรนั้น พูดว่า  เท่านี้เหมาะไหมท่านอาจารย์ 
พระสารีบุตรถือคติว่า คนดี แม้จะเกิดมาได้เพียง ๗ ขวบ ถ้าเขาสั่งสอน เราก็ควรก้มหัวยอมรับ

                                                                ช่วงบั้นปลายชีวิต

                ในพรรษาที่ ๔๕ เมื่อพระศาสดาทรงจำพรรษาที่บ้านเวฬุวคาม  ออกพรรษาแล้วเสด็จยังเมืองสาวัตถี ประทับ   พระเชตวัน  พระธรรมเสนาบดีทำวัตรแก่พระผู้มีพระภาคแล้วเข้าสู่ที่พักกลางวัน  เมื่อเหล่าอันเตวาสิกทำวัตรแก่ท่านกลับไปแล้ว ท่านก็ปัดกวาดที่พักกลางวัน  ปูแผ่นหนัง  ล้างเท้า  นั่งขัดสมาธิเข้าผลสมาบัติ 
ครั้นท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว ได้รำพึงอย่างนี้ว่า  พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานก่อน  หรือพระอัครสาวกปรินิพพานก่อนหนอ  ก็รู้ว่าอัครสาวกปรินิพพานก่อน  จึงสำรวจดูอายุสังขารของตน  ก็รู้ว่าอายุสังขารของตนจักเป็นไปได้เพียง    วันเท่านั้น  จึงดำริว่า  จักปรินิพพานที่ไหนหนอ  ท่านคิดว่า ท่านราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์  ท่านพระอัญญาโกญฑัญญะที่สระฉัททันต์  เราเล่าจะปรินิพพาน  ณ ที่ไหน   ก็เกิดสติปรารภมารดาขึ้นว่า  มารดาของเราแม้เป็นมารดาของพระอรหันต์    รูป  ก็ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  มารดานั้นมีอุปนิสัยหรือไม่หนอ  ระลึกแล้วก็เห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค  พิจารณาว่า  มารดาจักบรรลุด้วยเทศนาของใคร  ก็รู้ว่าจักบรรลุด้วยเทศนาของเรา ไม่ใช่ของผู้อื่น  ถ้าหากว่าเราพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเสียไซร้  คนทั้งหลายก็จักว่ากล่าวเอาได้ว่า  พระสารีบุตรเป็นที่พึ่งได้แม้แก่ชนอื่นๆ  อย่างเช่นว่าในวันที่ท่านแสดงสมจิตตสูตร  เทวดาแสนโกฏิก็บรรลุพระอรหัต  เทวดาที่บรรลุมรรค ๓ นับไม่ถ้วน  และในที่อื่นปรากฏว่ามีการบรรลุกันมากมาย  บัดนี้ พระเถระไม่อาจเพื่อกำจัดแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาได้   เพราะฉะนั้นจึงตกลงใจว่า  เราจักเปลื้องมารดาออกจากมิจฉาทิฐิ  แล้วจักปรินิพพานในห้องน้อยที่เกิด 
ท่านดำริต่อไปว่า เราจักทูลลาพระผู้มีพระภาคไปในวันนี้นี่แหละ จึงเรียกพระ
จุนทเถระมาว่า  มาไปกันเถิดท่านจุนทะ  ท่านจงบอกภิกษุบริษัท  ๕๐๐  รูปของเราว่า อาวุโส ท่านจงถือบาตรและจีวร  พระธรรมเสนาบดีประสงค์จะไปนาลกคาม  
                พระเถระเก็บเสนาสนะ  ปัดกวาดที่พักกลางวัน  ยืนอยู่ที่ประตู  มองดูที่พักกลางวัน  ดำริว่า นี่เป็นการเห็นครั้งสุดท้ายในบัดนี้ จะไม่มีการกลับมาอีก แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป  ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลเป็นคำร้อยกรองแก่พระผู้มีพระภาคว่า 

                                ฉินฺโนทานิ  ภวิสฺสามิ                          โลกนาถ  มหามุนิ
                                คมนาคมนํ  นตฺถิ                                                ปจฺฉิมา  วนฺทนา  อยํ
                ชีวิตํ  อปฺปกํ  มยฺหํ                               อิโต  สตฺตาหมจฺจเย
                นิกฺขิเปยฺยามหํ  เทหํ                           ภารโวโรปนํ  ยถา
                อนุชานาตุ  เม  ภนฺเต (ภควา)           อนุชานาตุ  สุคโต
                                ปรินิพฺพานกาโล  เม                            โอสฺสฏฺโฐ  อายุสงฺขโร

                                ข้าแต่พระมหามุนีโลกนาถเจ้า บัดนี้ข้าพระองค์ตัดสิ้นแล้ว 
ไม่มีการไปการมา  นี้เป็นการถวายอภิวาทครั้งสุดท้าย  
ชีวิตของข้าพระองค์น้อย  ล่วงไป  ๗ วันต่อจากนี้ 
ข้าพระองค์จะทอดทิ้งเรือนร่างเหมือนวางภาระลง 
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอนุญาต  
ขอพระสุคตโปรดอนุญาตแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด 
นี้เป็นเวลาปรินิพพาน  ข้าพระองค์ปลงอายุสังขารแล้วพระเจ้าข้า

                ก็เพราะเหตุที่พวกมิจฉาทิฐิชอบยกโทษว่า  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า  จงปรินิพพานเถิด  ก็จะกลายเป็นว่าพรรณนาคุณของความตายไป  เมื่อตรัสว่า  อย่าปรินิพพานเลย  ก็จะกลายเป็นกล่าวคุณของวัฏสงสารไป  เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ตรัสคำทั้งสอง
                ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะท่านว่า  สารีบุตร เธอจักปรินิพพานที่ไหน   เมื่อท่านกราบทูลว่า ห้องน้อยในนาลกคาม แคว้นมคธมีอยู่  ข้าพระองค์จักปรินิพพานในห้องนั้นพระเจ้าข้า   จึงตรัสว่า  สารีบุตร บัดนี้เธอจงสำคัญกาลอันควรเถิด เวลานี้การเห็นภิกษุเช่นเธอจักหาได้ยากสำหรับพี่น้องของเธอ  เพราะฉะนั้นเธอจงแสดงธรรมแก่พี่น้องเหล่านั้นเถิด
                พระเถระรู้ว่าพระศาสดาทรงมีพระประสงค์จะให้เราแสดงฤทธิ์ต่างๆ เสียก่อนที่จะแสดงธรรม  จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วขึ้นสู่เวหาสสูง ๗ ชั่วต้นตาล  กลับลงมาถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่กลางอากาศสูง ๗ ชั่วต้นตาล แสดงฤทธิ์ด้วยวิธีต่างๆ แล้วแสดงธรรม  ชาวนครทั้งสิ้นมาชุมนุมกันเพื่อดูเหตุการณ์ครั้งนี้  พระเถระลงมาแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า  ถึงเวลาไปของข้าพระองค์แล้วพระเจ้าข้า  
                พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเหนือธรรมาสน์  มีพระพุทธดำรัสให้ท่านพระสารีบุตรแสดงฤทธิ์ดังนี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากธรรมาสน์ บ่ายพระพักตร์ไปยังพระคันธกุฎี  แล้วประทับยืนบนบัลลังก์แก้วมณี
                พระเถระกระทำประทักษิณ   รอบ แล้วถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง  กราบทูลว่า   
เหนือขึ้นไปแต่กัปนี้ได้ ๑ อสงไขยกำไรแสนกัป  ข้าพระองค์หมอบอยู่แทบบาทมูลของพระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาจะพบพระองค์  ความปรารถนาของข้าพระองค์นั้นสำเร็จแล้ว 
ข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้ว นั่นเป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย  จะไม่มีการเห็นพระองค์อีก 
ตั้งแต่บัดนี้ไปชื่อว่าการไปการมาในฐานะไรๆ โดยอำนาจจุติปฏิสนธิย่อมไม่มี
ดังนี้แล้ว ประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทศนัขสโมธาน  มิได้หันกลับ หากแต่ได้เดินถอยหลังไปจนพ้นทัศนวิสัยจึงถวายบังคมลาไป 
บัดนั้นแผ่นมหาปฐพีก็ไหวสะท้านจนถึงน้ำรองแผ่นดิน
                พระผู้มีพระภาคตรัสแก่เหล่าภิกษุผู้ยืนแวดล้อมอยู่ว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอจงตามไปส่งพี่ชายของพวกเธอเถิด   
ภิกษุทั้งหลายพากันไปจนถึงซุ้มประตู   พระเถระกล่าวว่า  หยุดเถิดผู้มีอายุ  พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด  แล้วให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไป  ตนเองก็ไปพร้อมกับบริษัท
                 พวกผู้คนก็พากันติดตามร่ำไห้รำพันว่า  แต่ก่อนพระผู้เป็นเจ้าจาริกไปก็กลับมา  แต่ครั้งนี้ไปลับไม่กลับมา                
พระเถระกล่าวว่า  ผู้มีอายุ  พวกท่านอย่าประมาท  สังขารทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้แหละ  แล้วให้ผู้คนเหล่านั้นกลับไป
                ครั้งนั้น พระสารีบุตรอนุเคราะห์ผู้คนตลอด ๗ วันในระหว่างหนทาง  ถึงนาลกคามในเวลาเย็น  หยุดพักอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ประตูบ้าน
                ขณะนั้นหลานชายของพระเถระ ชื่อ อุปเรวตะ  ออกมานอกบ้าน เห็นพระเถระ จึงเข้าไปหาแล้วไหว้ยืนอยู่   พระเถระพูดกะหลานชายว่า  ย่าของเจ้าอยู่ในเรือนหรือ  หลานชายตอบว่า ขอรับกระผม   พระเถระบอกว่า  เจ้าจงไปบอกว่าเรามาที่นี้แล้ว และถ้าใครถามว่ามาเพื่อเหตุอันใด  จงบอกว่าเราจะพักอยู่ในบ้านนี้วันเดียว  จงจัดห้องน้อยที่เราเกิด และจัดที่อยู่สำหรับภิกษุ  ๕๐๐  รูป 
อุปเรวตะเข้าไปบอกว่า  ย่าจ๋า  ลุงฉันมาแล้ว   นางสารีถามว่า เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนล่ะ   ตอบว่าอยู่ใกล้ประตูบ้าน   ก็ถามว่ามาองค์เดียวหรือว่ามีภิกษุอื่นมาด้วย  หลานก็ตอบว่ามีภิกษุ  ๕๐๐  รูปมาด้วย  เมื่อถามว่ามาทำไม หลานก็บอกตามคำของพระเถระ 
                นางสารีพราหมณีสงสัยว่า ทำไมหนอจึงต้องสั่งให้จัดสถานที่อยู่สำหรับภิกษุถึงเพียงนั้น  หรือว่าเขาบวชเมื่อหนุ่ม อยากเป็นคฤหัสถ์เมื่อแก่จึงให้จัดห้องที่เกิด  สงสัยไปพลางสั่งการให้ทำที่อยู่สำหรับภิกษุ  ๕๐๐  รูป  ตามประทีปไว้ต้อนรับพระเถระ
                พระเถระกับภิกษุทั้งหลายขึ้นไปยังปราสาท  เข้าไปสู่ห้องที่เกิดแล้วนั่ง บอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  จงไปที่อยู่ของพวกท่านกันเถิด  พอภิกษุทั้งหลายไปแล้วอาพาธกล้าก็เกิดขึ้นแก่พระเถระ  โรคลงโลหิตเกิดเวทนาใกล้ตาย  ภาชนะหนึ่งรอง  ภาชนะหนึ่งออก  นางพราหมณียืนพิงประตูห้องที่อยู่ของตนวิตกอยู่ว่า  อาการแห่งบุตรของเราไม่น่าไว้วางใจเลย   
ท้าวมหาราชทั้ง ๔  ตรวจดูว่าพระธรรมเสนาบดีอยู่ที่ไหน  ก็รู้ว่านอนบนเตียงที่ปรินิพพานในห้องน้อยที่ท่านเกิดในนาลกคาม  จึงตกลงกันว่าจะไปดูเป็นปัจฉิมทัศนะ  แล้วพากันมาไหว้ยืนอยู่แล้ว  พระเถระถามว่า ท่านเป็นใคร  ตอบว่า พวกเราเป็นท้าวมหาราชเจ้าข้า   ถามว่า มาทำไม   ตอบว่า มาเป็นคิลานุปัฏฐาก   พระเถระขอให้กลับไปโดยกล่าวว่า  คิลานุปัฏฐากของเรามีอยู่แล้ว  ไปเสียเถิดท่าน
                ครั้นท้าวมหาราชไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพก็มา และถูกขอให้กลับไปโดยทำนองเดียวกัน  เมื่อท้าวสักกะเสด็จไปแล้ว เทพผู้มเหศักข์ทั้งหลายตั้งแต่ท้าวสุยามะไปจนถึงท้าวมหาพรหมก็พากันมา  พระเถระขอให้เทพและพรหมเหล่านั้นกลับไปหมดทุกองค์
                นางพราหมณีเห็นพวกเทวดามาแล้วก็ไป  คิดว่าพวกเหล่านั้นเป็นใครหนอ มาไหว้แล้วไหว้อีกซึ่งบุตรของเราแล้วก็ไป  จึงไปยังประตูห้องของพระเถระ  ขณะนั้นพระจุนทะเฝ้าพยาบาลท่านพระสารีบุตรอยู่   นางจึงถามว่า  เป็นอย่างไรพ่อจุนทะ   พระจุนทะบอกอาการแล้วเรียนให้ท่านพระสารีบุตรทราบว่า  มหาอุบาสิกามาขอรับ  พระเถระถามว่าทำไมจึงมาผิดเวลา  นางพราหมณีตอบว่า  มาเยี่ยมเจ้าซิลูก  แล้วถามว่า พวกที่มาหาลูกนั้นเป็นใครกันบ้างละพ่อ  
พระเถระ.      ท้าวมหาราชทั้ง ๔  อุบาสิกา   
พราหมณี.     พ่อ  เจ้าเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือ ?
พระเถระ.      อุบาสิกา  ท้าวมหาราชเหล่านั้นก็เหมือนคนวัด ทรงถือพระขรรค์อารักขาตั้งแต่พระศาสดาของเราทรงถือปฏิสนธิ
พราหมณี.     เมื่อท้าวมหาราชเหล่านั้นกลับไปแล้ว ใครมาอีกล่ะลูก ?
พระเถระ.      ท้าวสักกะจอมเทพ
พราหมณี.      เจ้าเป็นใหญ่กว่าท้าวสักกะหรือลูก ?
พระเถระ.      อุบาสิกา  ท้าวสักกะนั้นก็เหมือนสามเณรถือของ  เมื่อพระศาสดาของเราลงจากดาวดึงส์  ก็ทรงถือบาตรและจีวรลงมา
พราหมณี.      เมื่อท้าวสักกะนั้นเสด็จกลับแล้ว ใครสว่างจ้ามาล่ะลูก ?
พระเถระ.       อุบาสิกา  ผู้นั้นชื่อท้าวมหาพรหมชั้นสุทธาวาส  เป็นทั้งผู้มีบุญคุณ ทั้งครูของแม่ 
พราหมณี.       เจ้ายังเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ ?
พระเถระ.       จ้ะอุบาสิกา  ในวันที่พระศาสดาของเราประสูติ  ท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ นี้ใช้ข่ายทองมารองรับพระมหาบุรุษ

                ครั้งนั้น  เมื่อนางพราหมณีคิดว่า บุตรของเรายังมีอานุภาพถึงเพียงนี้  พระผู้มีพระภาคศาสดาของบุตรเราจะมีอานุภาพสักเพียงไหน   ปีติ ๕ อย่างเกิดขึ้นแผ่ไปทั่วเรือนร่างอย่างฉับพลัน    พระเถระคิดว่า มารดาของเราเกิดปีติโสมนัส บัดนี้เป็นเวลาเหมาะที่จะแสดงธรรม  จึงกล่าวว่า  มหาอุบาสิกากำลังคิดอะไรอยู่  นางพราหมณีตอบว่า  แม่กำลังคิดอยู่ว่า บุตรของเรามีคุณถึงเพียงนี้  พระศาสดาของบุตรเราจักมีคุณสักเพียงไหน
                พระเถระกล่าวว่า   มหาอุบาสิกา  สมัยพระศาสดาของเราประสูติ  เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์  ตรัสรู้  และประกาศพระธรรมจักร  หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว  อันสมเด็จพระบรมศาสดาพระองค์นั้นหาผู้เสมอด้วยศีล  สมาธิ  ปัญญา  วิมุตติ  วิมุตติญาณทัสสนะ มิได้เลย    ดังนี้แล้วกล่าวพระธรรมเทศนาพรรณนาพระพุทธคุณอย่างวิจิตรกว้างขวาง   
เวลาจบพระธรรมเทศนา นางพราหมณีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า  พ่ออุปติสสะ เหตุไรเจ้าจึงได้กระทำอย่างนี้ล่ะลูก  เจ้ามิได้ให้อมตธรรมเช่นนี้แก่แม่ตลอดเวลาถึงเพียงนี้
                พระเถระคิดว่า  บัดนี้ค่าน้ำนมข้าวป้อนที่มารดาของเราให้ไว้ก็ได้รับชดใช้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้  จึงบอกให้พราหมณีกลับออกไป  แล้วถามพระจุนทะว่าจวนสว่างหรือยัง   พระจุนทะตอบว่า จวนสว่างแล้วขอรับ  จึงสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นจงประชุมพระภิกษุสงฆ์เถิด   พระจุนทะตอบว่า พระสงฆ์ประชุมกันแล้วขอรับ   ท่านพระสารีบุตรจึงว่า  จงประคองเราขึ้นนั่งเถิด   พระจุนทะก็ประคองพระเถระขึ้นให้นั่ง   
พระเถระกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า   ผู้มีอายุ  พวกท่านอยู่กับเรามาถึง ๔๔  ปี  หากเราได้กระทำหรือพูดอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจของพวกท่าน  ท่านทั้งหลายจงให้อภัยแก่เราด้วยเถิด    
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า   ท่านขอรับ  พวกกระผมติดตามท่านไปไม่เคยห่างเหมือนเงาตามตัว  ชื่อว่ากรรมไม่เป็นที่พอใจดังว่านั้นย่อมไม่มีแก่พวกกระผม  ถ้าพวกกระผมเคยทำผิดพลั้งอย่างไร  ขอท่านโปรดให้อภัยแก่พวกกระผมด้วย
                ครั้นแสงอรุณปรากฏ  พระเถระยังมหาปฐพีให้เลื่อนลั่นแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ   เทพดาและมนุษย์เป็นอันมาก พากันกระทำสักการะในสถานที่ปรินิพพาน

                ท่านพระจุนทะนำบาตร จีวร และผ้าห่อพระธาตุ ไปยังพระเชตวัน  พระอานนทเถระนำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค   พระผู้มีพระภาคทรงถือผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุ  ตรัสคุณของพระเถระด้วยคาถา  ๕๐๐  คาถา   โปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์ แล้วรับสั่งแก่พระอานนทเถระว่า จะเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์   พระเถระก็แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย
                ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ก็เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์  ในเวลาเสด็จถึงกรุงราชคฤห์  พระมหาโมคคัลลานเถระก็ปรินิพพาน  พระผู้มีพระภาครับสั่งให้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะไว้ แล้วเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ บ่ายพระพักตร์ไปทางแม่น้ำคงคา  เสด็จถึงบ้านอุกกเวละ  (หรือ อุกกเจละ) โดยลำดับ  
  ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเขตบ้านอุกกเวละนั้น ทรงแสดงพระสูตรที่เกี่ยวด้วยการปรินิพพานของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ
                พระสารีบุตรปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ    เดือน  คือวันเพ็ญ เดือน ๑๒ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒)  เวลาใกล้รุ่ง ที่บ้านตนเอง
                เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างบารมีของท่านพระสารีบุตรเถระเป็นอย่างเดียวกับเรื่องของท่านพระมหาโมคคัลลานเถระดังปรากฏแล้วนั้นแล

No comments:

Post a Comment