Saturday, August 13, 2011

12.สรุปเรื่องพระพุทธเจ้า


สรุปเรื่องพระพุทธเจ้า

เวมัตตะ ๘ ประการ

                พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ มี เวมัตตะ คือ ความแตกต่างกัน ๘ อย่าง คือ  อายุเวมัตตะ  ปมาณเวมัตตะ  กุลเวมัตตะ  ปธานเวมัตตะ  รัศมีเวมัตตะ  ยานเวมัตตะ  โพธิเวมัตตะ  และ ปัลลังกเวมัตตะ

๑ อายุเวมัตตะ

                อายุเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระชนมายุ  คือ พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระชนมายุยืน บางพระองค์มีพระชนมายุสั้น
                พระพุทธเจ้า ๙ พระองค์เหล่านี้ คือ  พระทีปังกร  พระโกณฑัญญะ   พระอโนมทัสสี  พระปทุมะ  พระปทุมุตตระ  พระอัตถทัสสี  พระธัมมทัสสี  พระสิทธัตถะ  พระติสสะ  มีพระชนมายุแสนปี
                พระพุทธเจ้า ๘ พระองค์เหล่านี้ คือ  พระมังคละ  พระสุมนะ  พระโสภิตะ  พระนารทะ  พระสุเมธะ  พระสุชาตะ  พระปิยทัสสี  พระปุสสะ  มีพระชนมายุเก้าหมื่นปี
                พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ  พระเรวตะ  พระเวสสภู มีพระชนมายุหกหมื่นปี
                พระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี มีพระชนมายุแปดหมื่นปี 
พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์เหล่านี้ คือ พระสิขี  พระกกุสันธะ  พระโกนาคมน์  พระกัสสปะ มีพระชนมายุเจ็ดหมื่นปี, สี่หมื่นปี, สามหมื่นปี, สองหมื่นปี ตามลำดับ
                ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรามีพระชนมายุร้อยปี
                ประมาณอายุไม่มีกำหนดแน่นอน ทั้งนี้เป็นไปตามยุคของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกรรมที่ทำให้อายุยืน 

๒ ปมาณเวมัตตะ

                ปมาณเวมัตตะ  ความแตกต่างกันแห่งประมาณ  คือ พระพุทธเจ้าบางพระองค์สูง  บางพระองค์ต่ำ คือ  พระทีปังกร  พระเรวตะ  พระปิยทัสสี  พระอัตถทัสสี  พระธัมมทัสสี  พระวิปัสสี มีพระสรีระสูง ๘๐ ศอก
                พระโกณฑัญญะ  พระมังคละ  พระนารทะ  พระสุเมธะ มีพระสรีระสูง ๘๘ ศอก
                พระสุมนพุทธเจ้า มีพระสรีระสูง ๙๐ ศอก
                พระโสภิตะ  พระอโนมทัสสี  พระปทุมะ  พระปทุมุตตระ  พระปุสสะ  มีพระสรีระสูง ๕๘ ศอก
                พระสุชาตพุทธเจ้า มีพระสรีระสูง ๕๐ ศอก
                พระสิทธัตถะ  พระติสสะ  และพระเวสสภู มีพระสรีระสูง ๖๐ ศอก
                พระสิขีพุทธเจ้า มีพระสรีระสูง ๗๐ ศอก
พระกกุสันธะ  พระโกนาคมน์  และพระกัสสปะ มีพระสรีระสูง ๔๐ ศอก ๓๐ ศอก ๒๐ ศอก ตามลำดับ 
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา สูง ๑๘ ศอก
               
๓ กุลเวมัตตะ

                กุลเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งตระกูล  คือ พระพุทธเจ้าบางพระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์ บางพระองค์เกิดในตระกูลพราหมณ์  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระกกุสันธะ  พระโกนาคมน์  และพระกัสสปะ เกิดในตระกูลพราหมณ์
                พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ มีพระตัณหังกรพุทธเจ้าเป็นต้น มีพระโคตมพุทธเจ้าเป็นที่สุด เกิดในตระกูลกษัตริย์ทั้งนั้น           

๔ ปธานเวมัตตะ

                ปธานเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งการตั้งความเพียรก่อนจะได้ตรัสรู้  คือพระทีปังกร  พระโกณฑัญญะ  พระสุมนะ  พระอโนมทัสสี  พระสุชาตะ  พระสิทธัตถะ  และพระกกุสันธะ  ทรงบำเพ็ญเพียร ๑๐ เดือน
                พระพุทธเจ้า คือ  พระมังคละ  พระสุเมธะ  พระติสสะ  และพระสิขี ทรงบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน
                พระเรวตพุทธเจ้า  ๗ เดือน
                พระโสภิตพุทธเจ้า  ๔ เดือน
                พระพุทธเจ้า คือ  พระปทุมะ  พระอัตถทัสสี  และพระวิปัสสี  ครึ่งเดือน
                พระพุทธเจ้า คือ  พระนารทะ  พระปทุมุตตระ  พระธัมมทัสสี  และพระกัสสปะ  ๗ วัน
                พระพุทธเจ้า คือ  พระปิยทัสสี  พระปุสสะ  พระเวสสภู  และพระโกนาคมน์  ๖ เดือน
                พระพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญเพียร  ๖ ปี

๕ รัศมีเวมัตตะ

                รัศมีเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระรัศมี  คือ  พระมังคลสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไปในหมื่นโลกธาตุ
                พระปทุมุตตรพุทธเจ้า แผ่ไป ๑๒ โยชน์
                พระวิปัสสีพุทธเจ้า แผ่ไป ๗ โยชน์
                พระสิขีพุทธเจ้า แผ่ไป ๓ โยชน์
                พระกกุสันธพุทธเจ้า แผ่ไป ๑๐ โยชน์
                พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา  ประมาณหนึ่งวาโดยรอบ
                พระพุทธเจ้านอกนั้น ไม่แน่นอน

๖ ยานเวมัตตะ

                ยานเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระยาน  คือ พระพุทธเจ้าบางพระองค์ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง  บางพระองค์ด้วยยานคือม้า  บางพระองค์ด้วยยานคือรถ  ดำเนินด้วยพระบาท  ปราสาท  และวอเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง
                พระทีปังกร  พระสุมนะ  พระสุเมธะ  พระปุสสะ  พระสิขี  และพระโกนาคมน์ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง
                พระโกณฑัญญะ  พระเรวตะ  พระปทุมะ  พระปิยทัสสี  พระวิปัสสี  และพระกกุสันธะ ด้วยยานคือรถ
                พระมังคละ  พระสุชาตะ  พระอัตถทัสสี  พระติสสะ  และพระโคตมะ ด้วยยานคือม้า
                พระอโนมทัสสี  พระสิทธัตถะ  พระเวสสภู ด้วยยานคือวอ
                พระนารทะเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยพระบาท
                พระโสภิตะ  พระปทุมุตตระ  พระธัมมทัสสี  และพระกัสสปะ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยปราสาท

๗ โพธิรุกขเวมัตตะ

                โพธิรุกขเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งโพธิพฤกษ์  (ต้นไม้ที่ประทับตรัสรู้) คือ พระทีปังกร มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นกปิตนะ  มะขวิด
                พระโกณฑัญญะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นสาลกัลยาณี ขานาง
                พระมังคละ  พระสุมนะ  พระเรวตะ  พระโสภิตะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นนาคะ กากะทิง
                พระอโนมทัสสี  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอัชชุนะ กุ่ม
                พระปทุมะ  และพระนารทะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นมหาโสณะ อ้อยช้างใหญ่
                พระปทุมุตตระ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นสลละ ช้างน้าว
                พระสุเมธะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นนีปะ กระทุ่ม
                พระสุชาตะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นเวฬุ ไผ่
                พระปิยทัสสี  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นกกุธะ กุ่ม
                พระอัตถทัสสี  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นจัมปกะ จำปา
                พระธัมมทัสสี  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นรัตตกุรวกะ (บาลีในธัมมทัสสีพุทธวงศ์ข้อ ๑๖ เป็นต้นพิมพิชาละ มะพลับ,  ซ้องแมวแดง)
                พระสิทธัตถะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นกณิการะ กรรณิการ์
                พระติสสะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอสนะ ประดู่
                พระปุสสะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอาลมกะ มะขามป้อม
                พระวิปัสสี  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นปาฏลี แคฝอย
                พระสิขี  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นปุณฑรีกะ มะม่วงป่า
                พระเวสสภู  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นสาละ
                พระกกุสันธะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นสรีสะ ซึก
                พระโกนาคมน์  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอุทุมพร มะเดื่อ
                พระกัสสปะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นนิโครธ ไทร
                พระโคตมะ  โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอัสสัตถะ โพใบ

๘ ปัลลังกเวมัตตะ

                ปัลลังกเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งบัลลังก์ ที่ประทับในวันตรัสรู้  คือ พระพุทธเจ้า พระทีปังกร  พระเรวตะ  พระปิยทัสสี  พระอัตถทัสสี  พระธัมมทัสสี  และพระวิปัสสี มีบัลลังก์ ๕๓ ศอก
พระโกณฑัญญะ  พระมังคละ  พระนารทะ  และพระสุเมธะ มีบัลลังก์ ๕๗ ศอก
พระสุมนะ มีบัลลังก์ ๖๐ ศอก
                พระโสภิตะ  พระอโนมทัสสี  พระปทุมะ  พระปทุมุตตระ  และพระปุสสะ มีบัลลังก์ ๓๘ ศอก
                พระสุชาตะ มีบัลลังก์ ๓๒ ศอก
                พระสิทธัตถะ  พระติสสะ  และพระเวสสภู มีบัลลังก์ ๔๐ ศอก
                พระสิขี มีบัลลังก์ ๓๒ ศอก
                พระกกุสันธะ มีบัลลังก์ ๒๖ ศอก
                พระโกนาคมน์ มีบัลลังก์ ๒๐ ศอก
                พระกัสสปะ มีบัลลังก์ ๑๕ ศอก
                พระโคตมะ มีบัลลังก์ ๑๔ ศอก


เรื่องธรรมดาของพระพุทธเจ้า

                ลักษณะอาการ หรือปรากฏการณ์ หรือที่ท่านเรียกว่า ธรรมดา ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มี ๓๐ เรื่อง ดังต่อไปนี้ คือ
                พระโพธิสัตว์ผู้มีภพสุดท้าย  มีสัมปชัญญะรู้ตัวลงสู่พระครรภ์ของพระชนนี
                พระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิในพระครรภ์ของพระชนนี หันพระพักตร์ออกไปภายนอก
                พระชนนีของพระโพธิสัตว์ยืนประสูติ
                พระโพธิสัตว์ออกจากพระครรภ์พระชนนีในป่าเท่านั้น
                พระโพธิสัตว์วางพระบาทลงบนแผ่นทอง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาท ๗ ก้าว เสด็จไปตรวจดู ๔ ทิศ แล้วเปล่งสีหนาท
                พระมหาสัตว์ พอพระโอรสสมภพก็ทรงเห็นนิมิต ๔ แล้วออกมหาภิเนษกรมณ์
                พระมหาสัตว์ทรงถือผ้าธงชัยแห่งพระอรหันต์ทรงผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรกำหนดอย่างต่ำที่สุด ๗ วัน
                เสวยข้าวมธุปายาสในวันที่ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ
                ประทับนั่งเหนือสันถัตหญ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
                ๑๐ทรงบริกรรมอานาปานสติกัมมัฏฐาน
                ๑๑ทรงกำจัดกองกำลังของมาร
                ๑๒ณ โพธิบัลลังก์นั่นเองทรงได้คุณมีอสาธารณญาณ ตั้งแต่วิชชา ๓ เป็นต้นไปเป็นอาทิ
                ๑๓ทรงยับยั้งใกล้โพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์
                ๑๔ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงแสดงธรรม
                ๑๕ทรงประกาศพระธรรมจักร  ณ  ป่าอิสิปตนมิคทายวัน
                ๑๖ในวันมาฆบูรณมี ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมสาวกประกอบด้วยองค์ ๔
                ๑๗ประทับอยู่ประจำ  ณ  ที่พระวิหารเชตวัน
                ๑๘ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี
                ๑๙ทรงแสดงพระอภิธรรม  ณ  ภพดาวดึงส์
                ๒๐เสด็จลงจากเทวโลกใกล้ประตูสังกัสสนคร
                ๒๑ทรงเข้าผลสมาบัติต่อเนื่องกัน
                ๒๒ทรงตรวจดูเวไนยชน ๒ วาระ
                ๒๓เมื่อเรื่องเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท
                ๒๔เมื่อเหตุต้นเรื่องเกิดขึ้น จึงตรัสชาดก
                ๒๕ตรัสพุทธวงศ์ในสมาคมพระประยูรญาติ
                ๒๖ทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะ
                ๒๗พวกภิกษุจำพรรษาแล้วถูกนิมนต์  ไม่ทูลบอกลาก่อน ไปไม่ได้
                ๒๘ทรงทำกิจก่อนและหลังเสวย  ยามต้น  ยามกลาง  และยามสุดท้าย ทุกๆ วัน
                ๒๙เสวยรสมังสะในวันปรินิพพาน
                ๓๐ทรงเข้าสมาบัติยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน
               
เรื่องอนันตรายิกธรรม

                พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีอนันตรายิกธรรม (คือไม่มีอันตรายเป็นธรรมดา) ๔  คือ
                .  ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่ปัจจัย ๔ ที่มีเฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
                . ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระชนมายุของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ข้อที่บุคคลพึงใช้ความพยายามปลงพระชนมชีพพระตถาคตไม่เป็นฐานะ  ไม่เป็นโอกาส (คือเป็นไปไม่ได้)
                ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และแก่พระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
                ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระพุทธรังสีได้ 



พระพุทธโคดม

สหชาตและนักษัตร

สหชาต  คือ สิ่งที่เกิดในวันเดือนปีเดียวกัน และมามีส่วนเกี่ยวข้องกันกับพระพุทธเจ้า
พระพุทธโคดมของเรามีสหชาต ๗  คือ  ๑  พระนางพิมพา มารดาพระราหุล   ๒  พระอานันทเถระ   ๓  พระฉันนะ   ๔  พญาม้ากัณฐกะ   ๕  ขุมทรัพย์   ๖  ต้นอัสสัตถะ ที่ประทับตรัสรู้ อันเรียกว่ามหาโพธิพฤกษ์   ๗  กาฬุทายีอำมาตย์  

นักษัตร  คือวันที่ดวงจันทร์เพ็ญโคจรผ่านดาวฤกษ์สำคัญ และมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น
พระพุทธโคดมของเรามีนักษัตรสำคัญ ดังนี้
                เพ็ญเดือนอุตราสาฒ (เดือนแปดหลัง) พระมหาบุรุษลงสู่พระครรภ์พระชนนี  เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์  ทรงประกาศพระธรรมจักร  ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ 
เพ็ญเดือนวิสาขะ พระมหาบุรุษประสูติ  ตรัสรู้  และปรินิพพาน 
เพ็ญเดือนมาฆะ พระองค์ทรงประชุมพระสาวก และทรงปลงอายุสังขาร
เพ็ญเดือนอัสสยุชะ (เดือนสิบเอ็ด) เสด็จลงจากเทวโลก 

วันเดือนปีสำคัญของพระพุทธโคดม

๑. เสด็จลงสู่พระครรภ์เมื่อเวลาใกล้รุ่ง           วันพฤหัสบดี  ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน ๘  ปีระกา
๒. ประสูติเมื่อเวลาสายใกล้เที่ยง                    วันศุกร์  ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน ๖  ปีจอ
๓. ตรัสรู้                                                               วันพุธ  ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน ๖  ปีระกา
๔. เสด็จดับขันธปรินิพพาน                             วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน ๖  ปีมะเมีย

No comments:

Post a Comment