Saturday, August 13, 2011

42.ตำนานอังคุลิมาลปริตร

ตำนานอังคุลิมาลปริตร


                บทขัดอังคุลิมาลปริตรนี้เป็นบทที่เชื้อเชิญให้สวดพระปริตรซึ่งมีเดชมาก ตั้งอยู่ตลอดกัป และเป็นพระปริตรที่ทำให้คลอดบุตรได้ง่ายโดยปลอดภัย ซึ่งพระโลกนาถเจ้าได้ภาษิตแก่พระองคุลิมาล แม้แต่น้ำที่ใช้ล้างตั่งรองนั่งของพระองคุลิมาลเถระผู้สวดพระปริตรยังบันดาลให้อันตรายทั้งปวงหายไปได้
                อังคุลิมาลปริตรเป็นบทที่ว่าด้วยมนต์ของพระองคุลิมาล กล่าวถึงอานุภาพของพระปริตรที่พระองคุลิมาลเถระตั้งสัจจาธิษฐานกล่าวแก่หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง ทำให้เธอคลอดบุตรได้โดยง่ายและปลอดภัย มีคำสวดขึ้นต้นว่า  ยะโตหัง  ภะคินิ  อะริยายะ  ชาติยา  ชาโต ...  
ตำนานอังคุลิมาลปริตร โปรดศึกษาจากประวัติพระองคุลิมาล

                อังคุลิมาลปริตรนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนให้พระองคุลิมาลเพื่ออนุเคราะห์พระเถระมิให้ลำบากด้วยอาหารเท่านั้น ด้วยเหตุว่าในคราวนั้นคนทั้งหลายได้เห็นพระเถรเจ้าแล้วก็พากันวิ่งหนี พระเถรเจ้าลำบากด้วยอาหารก็ไม่สามารถทำสมณธรรมได้ พระพุทธองค์จึงทรงเล็งเห็นว่า ถ้าพระองคุลิมาลทำสัจกิริยาแล้ว คนทั้งหลายก็จักกล้าเข้าไปใกล้ด้วยเห็นว่าท่านมีจิตเมตตาต่อคนทั้งหลายแล้ว ดังนั้นพุทธมนต์บทนี้จึงถือกันว่าทำให้เกิดความสวัสดีและคลอดลูกง่าย
                ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก กล่าวถึงวิธีการใช้มนต์บทนี้ไว้ว่า ยะโตหังนั้นคือพระพุทธมนต์ ผู้อื่นก็ใช้ได้ แต่ผู้ที่จะใช้นั้นต้องทำตนให้ตั้งอยู่ในอริยธรรมคือศีล ๕ ก่อน แล้วจึงว่า ยะโตหัง กล่าวคือ ถ้าผู้จะเสก ยะโตหัง นั้นเป็นฆราวาส ต้องตั้งใจสมาทานศีล ๕ แล้วนึกว่า บัดนี้เราได้เกิดเป็นชาติอริยะแล้ว นับแต่เราได้สมาทานศีล ๕ มาแล้วนี้เรายังไม่ได้ฆ่าสัตว์เลย เมื่อนึกในใจอย่างนี้สัก ๒ - ๓ เที่ยวจนมั่นใจดีแล้วจึงว่า ยะโตหัง ขึ้นในที่ใกล้ หญิงจะคลอดบุตรได้โดยสะดวก หรือผู้ที่จะว่านั้นให้นึกสมมุติว่าเวลานั้นตัวเป็นผู้แทนพระองคุลิมาลก็ได้ จะเสก ยะโตหัง ใส่น้ำให้หญิงกินบ้าง ตบศีรษะบ้าง ด้วยน้อมนึกเอาว่าเป็นน้ำมนต์พระองคุลิมาลก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องเข้าใจคำแปล ยะโตหัง พร้อมทั้งคำอธิบายโดยละเอียดจึงจะศักดิ์สิทธิ์ดังพระองคุลิมาล อนึ่ง อังคุลิมาลปริตรนี้ พระโบราณาจารย์กล่าวเอาไว้ว่า กัปปัฏฐิติปาฏิหาริย์คือมีอานุภาพตั้งอยู่ตลอดกัปเช่นเดียวกับ วัฏฏกปริตร
                สาระที่ได้จากพุทธมนต์บทนี้ ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ผู้ใดประมาทในเบื้องต้น แต่ต่อมาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำให้โลกนี้สว่างเหมือนพระจันทร์พ้นจากกลีบเมฆฉะนั้น ข้อนี้หมายความว่า ผู้ที่ได้ทำความชั่วช้าลามกมาก่อนแล้ว แต่ว่าภายหลังทำตัวดีขึ้นจนกระทั่งได้สำเร็จพระอรหันต์ ผู้นั้นชื่อว่าทำโลกนี้ คือโลกร่างกายนี้ให้สว่างเหมือนกับพระจันทร์พ้นจากกลีบเมฆฉะนั้น และผู้ใดทำบาปกรรมไว้แล้ว ปิดเสียด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมทำให้โลกนี้สว่าง หมายความว่า ผู้ใดทำบาปกรรมไว้แล้วจึงได้สำเร็จมรรคผลต่อภายหลัง ผู้นั้นชื่อว่าปิดบาปกรรมนั้นไว้ด้วยกุศลอันเป็นโลกุตรกุศล คือ ถ้าผู้นั้นได้สำเร็จอรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว บาปกรรมที่ทำไว้นั้นก็ไม่ให้ผลต่อไป ผู้นั้นก็ได้แลเห็นโลกคือร่างกายจิตใจอันนี้ได้สว่างไสวเหมือนพระจันทร์พ้นจากกลีบเมฆฉะนั้น
                การสวดบทอังคุลิมาลปริตร ในเจ็ดตำนานและสิบสองตำนานจะสวดต่างกัน คือในเจ็ดตำนานสวดแค่จบเดียว หรือสวดครั้งเดียว แต่ในสิบสองตำนานสวด ๓ จบ หรือสวด ๓ ครั้ง ส่วนบทขัดใช้บทเดียวกัน

No comments:

Post a Comment