Saturday, August 13, 2011

46.พินิจพระคาถาชินบัญชร

พินิจพระคาถาชินบัญชร



พระคาถาชินบัญชรที่นิยมสวดสาธยายกันนั้นมีผู้พิมพ์เผยแพร่อยู่ทั่วไปหลายสำนัก  ถ้อยคำสำนวนตรงกันก็มาก ต่างกันก็มี  จึงมักเกิดคำถามว่า คำไหนถูก คำไหนผิด ในที่นี้จะขอพินิจเฉพาะถ้อยคำที่แตกต่างกันอย่างที่ว่าฉบับนั้นว่าอย่างนี้ ฉบับนี้ว่าอย่างโน้น  เพื่อให้เห็นว่าต่างกันอย่างไร ทำไมจึงต่างกัน  และที่ถูกควรเป็นอย่างไร

                ข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบเกี่ยวกับพระคาถาชินบัญชร คือ
                - พระคาถาชินบัญชรเป็นภาษาบาลี และภาษาบาลีนั้นมีหลักไวยากรณ์ที่สามารถใช้ตรวจสอบถ้อยคำได้แน่นอนว่าถูกผิดเป็นอย่างไร  หมายความว่า ใช้หลักไวยากรณ์เป็นเครื่องตัดสินภาษา  ไม่ยึดเอาความเคยชิน  ความเชื่อ  หรือคำบอกเล่าของท่านผู้ใดใครผู้หนึ่ง หรือแม้แต่การอ้างว่าต้นฉบับหรือคำจารึกที่นั่นที่โน่นว่าไว้อย่างนั้นอย่างนี้
                - พระคาถาชินบัญชรแต่งเป็นคำกลอน ที่ในภาษาบาลีเรียกว่า ฉันท์ หรือ คาถา (ที่เรียกว่า พระคาถาชินบัญชรก็เพราะเหตุนี้ด้วย) คาถา หรือฉันท์ หรือกลอน ที่ใช้แต่งนี้เป็นกลอนที่พอจะเรียกแบบไทยๆ ได้ว่า กลอนแปด  คือวรรคหนึ่งมี ๘ พยางค์ (เปล่งเสียงครั้งหนึ่งนับเป็น ๑ พยางค์) ๔ วรรคเป็น ๑ บท หรือ ๑ คาถา (ในแต่ละวรรคจะมีกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า  ฉันทลักษณ์  กำหนดว่าพยางค์ที่เท่าไรต้องใช้คำชนิดไหน) ในภาษาบาลีเรียกชื่อกลอนชนิดนี้ว่า ปัฐยาวัตรฉันท์  บางทีจะเรียกว่า สามัญคาถา  ก็ได้ แต่มีอยู่บทหนึ่ง (หมายเลข ๑๔ ในฉบับนี้) แต่งเป็น อินทรวิเชียรฉันท์ ถ้าเทียบกับกลอนไทยก็คือ กาพย์ยานี ๑๑
                - การลงหมายเลขกำกับพระคาถาแต่ละบทนั้น โดยปกติขึ้นต้นพระคาถาหนึ่งบทคือ ๔ บาท หรือ ๔ วรรค ใช้หมายเลขครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ ชะยาสะนะคะตา  พุทธา   เป็นบทที่ ๑ นับไป ๔ บาท ขึ้นต้นบทต่อไปว่า ตัณหังกะราทะโย  พุทธา  เป็นบทที่ ๒ แต่พระคาถาบางบทมีใจความเกิน ๔ บาทไปอีก ๒ บาท จึงต้องรวมบาทที่เกินเข้ามาอยู่ในหมายเลขเดียวกันด้วย กรณีเช่นนี้ก็คือบทที่ ๙, ๑๒, ๑๓ และ ๑๔ ท่านที่มีฉบับซึ่งแบ่งบทไม่ตรงกัน ขอได้โปรดพิจารณาให้แน่ใจด้วยว่า ควรแบ่งบทตามฉบับไหน
                - มีพระคาถาชินบัญชรหลายฉบับที่พิมพ์ในระยะหลังๆ ได้เพิ่มเติมข้อความเข้าไว้ตอนต้นว่า

เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนาชินบัญชร ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึง และบูชาเจ้าประคุณสมเด็จด้วยคาถาบูชาสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง     ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ      เทวานังปิยะตังสุตตะวา

(บางฉบับมีต่อไปอีกว่า)

อิติปิโสภะคะวา ยมราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

คำภาษาบาลีเหล่านี้ เขียนตามที่ปรากฏ ซึ่งไม่ได้แยกศัพท์ให้ถูกต้องตามวิธีเขียนคำบาลี แต่ที่สำคัญคือแปลได้ใจความสมบูรณ์เพียง ๒ วรรคแรกเท่านั้น คือ ปุตตะกาโมละเภปุตตัง (ปุตตะกาโม  ละเภ  ปุตตัง) แปลว่า ผู้อยากได้บุตรพึงได้บุตร   ธะนะกาโมละเภธะนัง (ธะนะกาโม  ละเภ  ธะนัง)  ผู้อยากได้ทรัพย์พึงได้ทรัพย์
ต่อจากนี้แปลเป็นคำๆ ได้ แต่ไม่ได้ใจความ คือ  อัตถิกาเย (เขียนแยกศัพท์ว่า  อัตถิ  กาเย) แปลว่า  มีอยู่ในกาย (ไม่ทราบว่าอะไรมีอยู่กายะญายะ  ดูตามรูปศัพท์แล้ว ยังไม่ได้ประกอบวิภัตติปัจจัยตามหลักไวยากรณ์  เฉพาะตัวศัพท์แปลว่า  รู้กาย  (ไม่ทราบว่าจะพูดถึงอะไร) แม้จะรวมกันทั้งวรรค แปลว่า  มีอยู่ในกายรู้กาย   ก็ยังไม่ทราบอยู่นั่นเองว่าพูดถึงอะไร
เทวานัง  แปลว่า  แห่งเทวดาทั้งหลาย   ปิยะตัง  แปลว่า ความเป็นที่รัก  รวมสองคำนี้พอได้ใจความว่า  ความเป็นที่รักแห่งเทวดาทั้งหลาย
สุตตะวา  คำนี้เขียนไม่ถูก คำบาลีที่ออกเสียงแบบนี้มี ๒ คำ คือ  สุตฺวา  เป็นคำกิริยา แปลว่า ฟังแล้ว เขียนแบบคำอ่านว่า  สุตวา (ไม่ใช่อ่านว่า สุด วา  หรือ สุด ตะ วา  แต่อ่านว่า สุด ตวา คือ เต่า เป็นตัวสะกดด้วย และออกเสียงครึ่งหนึ่งควบกับ แหวนด้วย โปรดลองออกเสียงคำไทยว่า  สุดตัว  นั่นแหละคือเสียงอ่านคำว่า  สุตฺวา)
อีกคำหนึ่งเขียนแบบบาลีว่า  สุตวา  (ไม่มีจุดใต้ ต) เป็นคำนาม แปลว่า ผู้ได้สดับตรับฟัง (หมายถึงผู้ที่ได้ศึกษาเข้าใจเรื่องนั้นๆ มาแล้ว) เขียนแบบคำอ่านว่า  สุตะวา  อ่านเรียงพยางค์ตรงตัวว่า สุ ตะ วา
ทีนี้ คำที่ปรากฏในข้อความซึ่งอ้างว่าเป็นคาถาบูชาสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้นเขียนว่า  สุตตะวา  ถ้าเขียนอย่างนี้ คำบาลีจะต้องเป็น  สุตฺตวา  ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีคำเช่นนี้ในภาษาบาลี และจะแปลว่าอะไรก็ไม่ได้ด้วย  ถ้าจะดันทุรังแยกศัพท์ให้จงได้ ก็ต้องบอกว่ามาจาก  สุตฺต + วา  =  สุตฺตวา
สุตฺต  แปลว่า สูตร หรือ เส้นด้าย  วา  มาจาก  วนฺตุ  แปลว่า  ผู้มี  สุตฺต + วนฺตุ  =  สุตฺตวนฺตุ แจกรูปเป็นปุงลิงค์ ปฐมาวิภัตติ เอกวจนะ เป็น  สุตฺตวา  แปลว่า  ผู้มีสูตร  หรือ  ผู้มีเส้นด้าย
แม้จะแยกศัพท์ได้ แต่ก็ยังติดขัดที่ความหมาย เพราะไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ตรงไหน และคำแบบนี้จะมีที่ใช้อยู่ในคัมภีร์เล่มไหนก็ไม่ทราบ
แต่เมื่อดูตามเจตนาของผู้ที่อ้างข้อความเช่นนี้ขึ้นมา ก็เดาได้ว่าคงต้องการจะพูดคำว่า  สุตฺวา ที่แปลว่า ฟังแล้ว  นั่นเอง และเมื่อเขียนตามเสียงอ่านแบบสะดวกลิ้นไทย ก็เลยเขียนไปว่า  สุตตะวา
แต่ไม่ว่าจะเป็น  สุตฺวา (สุด ตวา) ฟังแล้ว  หรือ  สุตฺตวา (สุด ตะ วา) ผู้มีสูตร ก็ตาม เมื่อรวมกับคำอื่นๆ คือ  เทวานังปิยะตังสุตตะวา  =  เทวานัง  ปิยะตัง  สุตตะวา  แปลว่า  ฟังแล้วซึ่งความเป็นที่รักแห่งเทวดาทั้งหลาย   หรือ  ความเป็นที่รักแห่งเทวดาทั้งหลาย / ผู้มีสูตร  ก็ยังไม่ได้ใจความอยู่นั่นเองว่ากำลังพูดถึงอะไร

ในหนังสือ พิธีสวดสะเดาะนพเคราะห์ด้วยตนเอง และ บทมนต์วิเศษต่างๆ สำหรับสวดจำเพาะตน เรียบเรียงโดย พระครูวิสุทธิคุณาธาร วัดพระยายัง พิมพ์ครั้งที่ ๑ โรงพิมพ์เฟื่องอักษร พระนคร พ.ศ.๒๕๑๐ หัวข้อ มนต์บทสวดมหาทิพมนต์ ในหน้า ๗๘ มีข้อความเป็นคาถาว่า

                   ปุตฺตกาโม  ลเภ  ปุตฺตํ   ธนกาโม  ลเภ  ธนํ
                   อธิการํ  ลเภยฺยาหํ       เทวานํ  ปิยตํ  สทา

                คาถา ๒ บาทแรกตรงกันกับที่มีผู้ใส่เสริมเข้ามาในเบื้องต้นของพระคาถาชินบัญชร 
ส่วนคาถา ๒ บาทสุดท้าย  อธิการํ  ลเภยฺยาหํ  เทวานํ  ปิยตํ  สทา  แปลว่า  ข้าพเจ้าพึงได้อธิการ (ความดี  ความยิ่งใหญ่  บุญบารมี)  (และ)  ความเป็นที่รักของเทพยดาทั้งหลายทุกเมื่อ 
ก็ได้ความเรียบร้อยดี  จึงน่าจะเป็นข้อความที่ถูกต้อง
ถ้าเอาข้อความที่ว่า   อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา  มาเทียบกันดู จะเห็นได้ว่าความคลาดเคลื่อนน่าจะเกิดจากการท่องจำต่อจากปาก ที่เรียกว่า มุขปาฐะ คือฟังเสียงแล้วก็จำเอาไว้โดยมิได้เห็นตัวหนังสือ เมื่อถ่ายทอดคำพูดต่อๆ กันไป เสียงที่ได้ฟังมาก็ย่อมมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ง่ายมาก ขอให้ลองเทียบดูคำต่อคำในตำแหน่งที่ตรงกัน
อธิการํ   กับ  อัตถิกาเย   อธิ  เพี้ยนเป็น  อัตถิ  แน่นอน ไม่ต้องสงสัย   การํ  ก็สามารถเพี้ยนเป็น  กาเย  ได้ด้วย
ต่อไป   ลเภยฺยาหํ   กับ   กายะญายะ   ลเภยฺ  กับ  กายะ  เพี้ยนไปไกลมาก จนเดาไม่ถูกว่าไปได้อย่างไร นอกจากจะหาเหตุผลกันที่ตัวอักษร คือมิใช่เพียงแค่ผิดเพี้ยนเพราะฟังเสียงคลาดเคลื่อนอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากการคัดลอกต่อกันมาแบบผิดๆ ด้วย  ลเภยฺ  กับ  กาย  อักษร    อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน น่าจะเป็นไปได้  แต่  ลเภยฺ  กับ  กา  ในอักษรขอมก็ไม่ใกล้เคียงกัน  แต่  ยา  กับ  ญา  นั้นตำแหน่งตรงกันพอดี
ส่วน  หํ  กับ    (ยาหํ  กับ  ญาย)  อักษรขอมมีทางเพี้ยนกันได้ เพราะ    กับ    ในอักษรของมีบางส่วนที่คล้ายกันมาก

หลักสำคัญอย่างหนึ่งคือ ภาษาบาลีนั้นเมื่อประกอบเข้าเป็นรูปประโยคจะต้องประกอบวิภัตติปัจจัยให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และแต่ละศัพท์จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งนั้น จะเอ่ยขึ้นมาโดดๆ ลอยๆ หาได้ไม่
ข้อความท่อนท้ายเริ่มตั้งแต่  อิติปิโสภะคะวา  ยังมีคำไทยเข้าไปปนอยู่ด้วย เป็นลีลาของคาถาอาคมคือคำภาวนาเพื่อให้เกิดความขลังศักสิทธิ์ไปแล้ว ไม่ใช่ถ้อยคำที่กล่าวเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ดังที่อ้างแต่อย่างใดเลย

การพินิจในที่นี้ จึงขอข้ามหรือตัดเรื่องนี้ออกไป เพราะเห็นว่าเป็นส่วนที่งอกออกมา ไม่ใช่ตัวบทของพระคาถาชิบัญชร ท่านผู้ใดอยากจะท่องบ่นภาวนาตามคำชักชวนนั้นก็เชิญ ขอให้คติแต่เพียงว่า จะท่องบ่นอะไรควรมีสติปัญญารู้ความหมายของถ้อยคำนั้นๆ การที่มีผู้หลับตาเดินตามไปย่อมเป็นทางให้เกิดการต่อเติมอะไรต่อมิอะไรเข้าไปเรื่อยๆ ถ้าไม่คอยมีสติกำกับไว้ต่อไปพระคาถาชินบัญชรอาจจะมีอะไรงอกออกมาอีกรุงรังไปหมดก็เป็นได้

การพินิจพระคาถาชินบัญชรต่อไปนี้ขอใช้ตัวบทตามที่ปรากฏในเล่มนี้เป็นหลักเพื่อสะดวกแก่การอ้างอิง และขอเขียนคำบาลีแบบบาลีไทย หรือแบบเขียนคำอ่าน คือมีสระอะ และมีไม้หันอากาศ เพื่อสะดวกแก่การอ่านออกเสียง แต่ก็ได้จัดทำส่วนที่เขียนตามแบบภาษาบาลีอักษรไทยที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันนี้พิมพ์ไว้เป็นอีกส่วนหนึ่งด้วยแล้ว

                    ๑.        ชะยาสะนะคะตา  พุทธา   เชตวา  มารัง  สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง   ระสัง                      เย   ปิวิงสุ   นะราสะภา

ชะยาสะนะคะตา  พุทธา  ()

                วรรคแรกในบทที่ ๑ มีแตกต่างกันหลายสำนวน คือ
                                ชะยาสะนะคะตา พุทธา  
ชะยาสะนาคะตา พุทธา  
ชะยาสะนะกะตา พุทธา  
ชะยาสะนากะตา พุทธา  
ชิยาสะนะคะตา พุทธา  
ชิยาสะนาคะตา พุทธา  
ชิยาสะนะกะตา พุทธา  
ชิยาสะนากะตา พุทธา
ชิยาสะรากะตา พุทธา

                ถ้าสังเกตก็จะเห็นว่า คำที่เหมือนกันทุกสำนวนคือ  ยา  สะ  ตา  พุทธา  คำที่แตกต่างกันคือ  ชะ กับ ชิ   นะ กับ นา หรือ รา   คะ กับ กะ
                เมื่อพินิจทุกสำนวนแล้ว สามารถแยกศัพท์ออกได้ดังนี้
ชะยะ                      =             ชัยชนะ 
ชิยา                        =             สายธนู
อะสะนะ               =             ลูกธนู,  ต้นโพธิ์
อาสะนะ                =             ที่นั่ง
สร                           =             ศร, ธนู
คะตะ                      =            ไป  ถึง  อยู่
อาคะตะ                =             มา
กะตะ                                    =             กระทำ (ถูกกระทำ)
อะกะตะ               =             มิได้กระทำ (มิได้ถูกกระทำ)

เมื่อเห็นศัพท์และรู้ความหมายแล้วก็จะพินิจได้ง่ายขึ้นว่าคำที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร

1 ชะยาสะนะคะตา  แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชะยะ + อาสะนะ + คะตา  = ชัยชนะ / ที่นั่ง / ไป  ถึง  อยู่ 
หรือ  ชะยะ + อะสะนะ + คะตา  =  ชัยชนะ / ลูกธนู (ต้นโพธิ์) / ไป  ถึง  อยู่ 
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
ไปด้วยที่นั่งแห่งชัยชนะ / ถึงด้วยที่นั่งแห่งชัยชนะ / อยู่ด้วยที่นั่งแห่งชัยชนะ / อยู่บนที่นั่งแห่งชัยชนะ
ไปด้วยลูกธนูแห่งชัยชนะ  / ถึงด้วยลูกธนูแห่งชัยชนะ / อยู่ด้วยลูกธนูแห่งชัยชนะ
ไปที่ต้นโพธิ์แห่งชัยชนะ  / ถึงที่ต้นโพธิ์แห่งชัยชนะ / อยู่ที่ต้นโพธิ์แห่งชัยชนะ

2 ชะยาสะนาคะตา  แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชะยะ + อาสะนะ + อาคะตา  = ชัยชนะ / ที่นั่ง / มา 
หรือ  ชะยะ + อะสะนะ + อาคะตา  =  ชัยชนะ / ลูกธนู (ต้นโพธิ์) / มา 
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
มาด้วยที่นั่งแห่งชัยชนะ  มาบนที่นั่งแห่งชัยชนะ
มาด้วยลูกธนูแห่งชัยชนะ  /  มาที่ต้นโพธิ์แห่งชัยชนะ

3 ชะยาสะนะกะตา  แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชะยะ + อาสะนะ + กะตา  =  ชัยชนะ / ที่นั่ง / กระทำ
หรือ  ชะยะ + อะสะนะ + กะตา  = ชัยชนะ / ลูกธนู (ต้นโพธิ์)  / กระทำ
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
                กระทำที่นั่งแห่งชัยชนะ / กระทำลูกธนูแห่งชัยชนะ / กระทำต้นโพธิ์แห่งชัยชนะ

4 ชะยาสะนากะตา   แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชะยะ + อาสะนะ + อะกะตา  =  ชัยชนะ / ที่นั่ง / มิได้กระทำ
หรือ  ชะยะ + อะสะนะ + อะกะตา  = ชัยชนะ / ลูกธนู (ต้นโพธิ์)  /  มิได้กระทำ
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
                มิได้กระทำที่นั่งแห่งชัยชนะ / มิได้กระทำลูกธนูแห่งชัยชนะ / มิได้กระทำต้นโพธิ์แห่งชัยชนะ

5 ชิยาสะนะคะตา  แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชิยา + อาสะนะ + คะตา  =  สายธนู / ที่นั่ง / ไป  ถึง  อยู่ 
หรือ  ชิยา + อะสะนะ + คะตา  =  สายธนู / ลูกธนู (ต้นโพธิ์) / ไป  ถึง  อยู่ 
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
ไปด้วยสายธนูและที่นั่ง / ถึงด้วยสายธนูและที่นั่ง / อยู่ด้วยสายธนูและที่นั่ง / อยู่บนสายธนูและที่นั่ง
ไปด้วยสายธนูและลูกธนู  / ถึงด้วยสายธนูและลูกธนู  / อยู่ด้วยสายธนูและลูกธนู  
ไปด้วยสายธนูและต้นโพธิ์  / ถึงด้วยสายธนูและต้นโพธิ์ / อยู่ด้วยสายธนูและต้นโพธิ์

6 ชิยาสะนาคะตา  แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชิยา + อาสะนะ + อาคะตา  =  สายธนู / ที่นั่ง / มา 
หรือ  ชิยา + อะสะนะ + อาคะตา  =  สายธนู / ลูกธนู (ต้นโพธิ์) / มา 
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
มาด้วยสายธนูและที่นั่ง  มาบนสายธนูและที่นั่ง
มาด้วยสายธนูและลูกธนู  /  มาด้วยสายธนูและต้นโพธิ์

7 ชิยาสะนะกะตา  แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชิยา + อาสะนะ + กะตา  =  สายธนู / ที่นั่ง / กระทำ
หรือ  ชิยา + อะสะนะ + กะตา  = สายธนู / ลูกธนู (ต้นโพธิ์)  / กระทำ
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
                กระทำสายธนูและที่นั่ง / กระทำสายธนูและลูกธนู / กระทำสายธนูและต้นโพธิ์

8 ชิยาสะนากะตา   แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชิยา + อาสะนะ + อะกะตา  =  สายธนู / ที่นั่ง / มิได้กระทำ
หรือ  ชิยา + อะสะนะ + อะกะตา  =  สายธนู / ลูกธนู (ต้นโพธิ์)  /  มิได้กระทำ
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า
                มิได้กระทำสายธนูและที่นั่ง / มิได้กระทำสายธนูและลูกธนู / มิได้กระทำสายธนูและต้นโพธิ์
9 ชิยาสะรากะตา   แยกศัพท์ได้ดังนี้
ชิยา + สะระ + อะกะตา  =  สายธนู / ธนู / มิได้กระทำ
ผสมความตามศัพท์ได้ว่า มิได้กระทำสายธนูและธนู

                ที่แยกศัพท์ให้เห็นมากมายหลายความหมายนี้มิได้หมายความว่าทุกคำถูกต้องตรงตามที่ท่านผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรมุ่งหมาย แต่ต้องการให้ท่านผู้สวดสาธยายพึงตระหนักว่า การสวดตามหนังสือไปโดยไม่รู้ความหมายนั้น คำที่สวดอาจผิดเพี้ยนไม่ตรงกับความมุ่งหมายไปได้ตั้งมากมาย
เป็นอย่างว่าต้องการจะพูดอย่างหนึ่ง แต่พูดออกไปแล้วความหมายกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง
                ถ้าจะถามว่า แล้วคำไหนถูกต้อง  คำตอบก็คือ ผู้สวดต้องการสวดด้วยความหมายอย่างไร คำนั้นก็ถูกต้องสำหรับผู้นั้น  แต่ถ้าถามว่า ความหมายที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ควรพินิจ
ความหมายต่างๆ ตามที่แยกศัพท์ไว้ให้ดูข้างต้นนั้น เป็นความหมายที่เกิดจากการเอาศัพท์ที่แยกได้มาผสมกันตามแต่ความจะพาไป ซึ่งบางความหมายก็เห็นได้ว่าไม่ได้ความ คือไม่รู้ว่าจะให้มีความหมายว่ากระไร เช่น อยู่บนสายธนูและที่นั่ง หรือ มิได้กระทำสายธนูและต้นโพธิ์  เป็นต้น เพราะฉะนั้นพึงเข้าใจว่าแม้ศัพท์ภาษาบาลีจะแปลเช่นนั้นได้ แต่ก็ย่อมจะไม่ใช่ความหมายที่ต้องการ  จึงต้องกลั่นกรองไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่ความหมายที่ต้องการหรือความหมายที่เป็นไปได้จริงๆ
เท่าที่ได้สดับความเห็นของท่านผู้รู้ ก็เห็นว่าท่านแปลความหมายกันอยู่ ๒ อย่าง คือ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับบนชัยบัลลังก์ พิชิตพญามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยไพร่พลได้
ถ้าหมายความอย่างนี้ พระคาถาชินบัญชรวรรคนี้จะต้องเป็น  ชะยาสะนะคะตา  พุทธา  (ตามหมายเลข 1)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู ก็ทรงพิชิตพญามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยไพร่พลได้
ถ้าหมายความอย่างนี้ พระคาถาชินบัญชรวรรคนี้จะต้องเป็น  ชิยาสะนากะตา  พุทธา  (ตามหมายเลข 8)

ความหมายที่ ๑  พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับบนชัยบัลลังก์ พิชิตพญามาราธิราช
ผู้พรั่งพร้อมด้วยไพร่พลได้
มีคำอธิบายว่า  พระคาถาชินบัญชรบทแรกนี้เป็นการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าและสภาพความเป็นจริงของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่จะต้องทรงชนะกิเลสทั้งปวง ที่ท่านเปรียบเหมือนพญามาร พร้อมทั้งนิสัยสันดานที่อยู่ในก้นบึ้งของจิตใจซึ่งภาษาพระเรียกว่า  วาสนา ที่ท่านเปรียบเหมือนไพร่พลของพญามารได้เด็ดขาดสิ้นเชิง
สถานที่ที่ทรงชนะมารจนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้น มีคำเรียกที่รู้กันทั่วไปว่า  โพธิบัลลังก์  ซึ่งแปลว่า อาสนะที่ประทับตรัสรู้
โพธิ  คือ การตรัสรู้
ตรัสรู้ก็คือ รู้ความจริงชัดแจ้งจนกำจัดกิเลสได้หมดสิ้น
กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ก็คือชนะมารพร้อมทั้งไพร่พล
เพราะฉะนั้น โพธิ คือตรัสรู้ กับ ชนะมาร จึงมีความหมายตรงกัน
คำว่า ชนะ ภาษาบาลีว่า  ชย (ชะยะ)  โพธิ  จึงเท่ากับ  ชย  ส่วน  บัลลังก์ นั้นแปลว่า ที่นั่ง ตรงกับคำว่า  อาสน (อาสะนะ) อยู่แล้ว 
ชย  บวกกับ  อาสน  เป็น  ชยาสน (ชะยาสะนะ) โพธิบัลลังก์  กับ ชยาสน  จึงมีความหมายตรงกัน
อีกคำหนึ่งคือ  คต (คะตะ) โดยปกติแปลกันว่า ไป  แต่คำนี้แปลว่า อยู่  ก็ได้ เช่นคำว่า  รโหคโต  แปลว่า อยู่ในที่ลับ  หมายถึงอยู่ในที่ไม่มีคนพลุกพล่าน หรืออยู่ในที่ส่วนตัว  หตฺถิขนฺธวรคโต  (อรรถกถาธรรมบท ภาค ๕ เรื่องสันตติมหาอำมาตย์) คำนี้จะแปลว่า ไปบนคอช้าง ไม่ได้  ต้องแปลว่า  อยู่บนคอช้าง 
ชยาสนคตา (ชะยาสะนะคะตา)  จึงแปลว่า  อยู่บนที่นั่งแห่งชัยชนะ  ใช้สำหรับพระพุทธเจ้าก็มีความหมายว่า  ประทับบนชัยบัลลังก์
เมื่อจะพรรณนาถึงพระพุทธเจ้าชนะมารในวันตรัสรู้ ท่านจึงผูกเป็นคาถาคือคำกลอนว่า  ชะยาสะนะคะตา  พุทธา  แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับบนชัยบัลลังก์  ด้วยประการฉะนี้

ความหมายที่ ๒  พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู
ก็ทรงพิชิตพญามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยไพร่พลได้
มีคำอธิบายว่า  การจะเอาชนะข้าศึกนั้นก็ต้องรบกัน ในการรบนั้นก็ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู้กัน  อาวุธที่ใช้ในการรบสมัยโบราณที่ชินตากันดีก็มีดาบ หอก ธนู เป็นพื้น (ดาบ หอก ใช้ระยะประชิด ธนูใช้ระยะไกล) พระพุทธเจ้าทรงชนะกิเลส ท่านเปรียบเหมือนทรงชนะพญามาร จะชนะได้ก็ต้องรบกัน จึงเกิดเป็นภาพในห้วงนึกว่า  พระพุทธเจ้ารบกับพญามาร พญามารมีอาวุธมากมาย ที่ท่านพรรณนาว่าเนรมิตแขนตั้งพัน มีอาวุธครบครัน
แล้วอาวุธของพระพุทธเจ้าคืออะไร ?
ผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรวาดภาพให้เห็นด้วยถ้อยคำที่ว่า  ชิยาสะนากะตา  ซึ่งประกอบด้วยคำว่า  ชิยา  =  สายธนู + อสน (อะสะนะ)  =  ลูกธนู  เป็น  ชิยาสน (ชิยาสะนะ) + อกต  (อะกะตะ)  =  มิได้กระทำ รวมกันเป็น  ชิยาสนากต (ชิยาสะนากะตะ)
ชิยาสะนากะตา  พุทธา  จึงแปลว่า  พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู หมายความว่า พระองค์ไม่มีสายธนู ไม่มีลูกธนู นั่นก็คือมิได้ทรงใช้อาวุธในการรบกับพญามาร แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงเอาชนะพญามารได้  จึงเป็นชัยชนะที่น่าอัศจรรย์
คำว่า  มิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู  จึงเป็นการใช้ถ้อยคำในเชิงจินตนาการให้เห็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์

ถามว่า ระหว่าง  ชะยาสะนะคะตา  ประทับบนชัยบัลลังก์   กับ  ชิยาสะนากะตา (รวมทั้ง ชิยาสะรากะตา  ซึ่งมีความหมายเท่ากับ  ชิยาสะนากะตา) มิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู  ความหมายไหนจะถูกต้องกว่ากัน
คำตอบก็คือ ถูกต้องทั้งสองความหมาย  แต่มีข้อสังเกตที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนี้
ชะยาสะนะคะตา  ประทับบนชัยบัลลังก์  ไม่มีข้อกังขา  สำนวนโวหารที่ผู้รู้แต่ปางก่อนท่านใช้กันมาในทำนองนี้ก็มี เช่นในบทขัดรัตนสูตรที่ว่า 
ปะณิธานะโต  ปัฏฐายะ ... โพธิปัลลังเก  มาระวิชะยัง  สัพพัญญุตะญาณัปปะฏิเวธัง ... พุทธะคุเณ  อาวัชชิตวา
แปลว่า  ระลึกถึงพระพุทธคุณจำเดิมแต่ปรารถนาพุทธภูมิ จนชนะมารตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิบัลลังก์
ชะยาสะนะคะตา  พุทธา   เชตวา  มารัง  สะวาหะนัง  พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับบนชัยบัลลังก์ พิชิตพญามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยไพร่พล
 โพธิปัลลังเก  มาระวิชะยัง  สัพพัญญุตะญาณัปปะฏิเวธัง  ชนะมารตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิบัลลังก์ 
เป็นภาพเดียวกันโดยไม่มีข้อสงสัย และตามความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้นได้โดยไม่มีข้อสงสัยเช่นกัน
แต่  ชิยาสะนากะตา  มิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู นั้น ต้องขบความหมายหลายชั้น และแต่ละชั้นมีคำถามที่ยังตอบได้ไม่ชัดอยู่ด้วย เช่น
1 ธนูนั้นย่อมประกอบด้วยคันธนูและลูกธนู  คันธนูก็มีคันกับสาย  ทำไมในที่นี้จึงพูดเฉพาะสายธนูกับลูกธนู แต่ไม่เอ่ยถึงคันธนู ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่มองเห็นได้เด่นชัดกว่า  เมื่อจะจำแนกแยกส่วนประกอบกันแล้วก็ควรจะเอ่ยถึงให้ครบถ้วน  พูดจำแนกแยกไม่ครบเช่นนี้ ฟังดูกระไรอยู่
ถ้าจะอ้างว่า พูดให้ครบไม่ได้เพราะจำกัดด้วยจำนวนคำในบทฉันท์ ก็จะเป็นการฟ้องว่ากวีผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรนี้ด้อยความสามารถ เพราะฉะนั้นก็อ้างเช่นนั้นไม่ได้
2 ต่างว่ายอมให้อ้างได้ ก็ยังมีคำถามที่จะถามรุกเข้าไปอีกว่า  เมื่อเอ่ยถึงส่วนประกอบของธนูได้ไม่ครบเพราะจำกัดด้วยจำนวนคำเช่นนั้นแล้ว  ทำไมจึงต้องไปแยกส่วนประกอบของธนูให้เปลืองถ้อยคำ  พูดเฉพาะคำว่า ธนู หรือ สร (ศร) คำเดียวก็เข้าใจได้อยู่แล้ว คือพูดว่า มิได้ทรงทำธนู เท่านี้ก็พอแล้ว เพราะคำว่า  ธนู  ย่อมจะหมายรวมทั้งคันธนู สายธนู และลูกธนู พร้อมเสร็จอยู่ในคำเดียว  อีกประการหนึ่งศัพท์ว่า  ชิยา (สายธนู) และ  อสน (ลูกธนู) ก็ออกจะลึกลับไม่สู้จะคุ้นตา ประกอบกับพูดไม่ครบทุกส่วนเข้าอีกด้วย  จึงน่าสงสัยว่า กวีท่านตั้งใจจะพูดถึงธนูแน่หรือ?
3 ถ้ายืนยันว่าพูดถึงธนูแน่ ก็ยังจะต้องถามต่อไปอีกว่า  ทำไมใช้ศัพท์ว่า ทำในเมื่อกำลังเอ่ยถึงการรบกับพญามาร กำลังรบกันอยู่จะไปมัว ทำสายธนูและลูกธนูอยู่ได้อย่างไร น่าจะใช้คำว่า ใช้หรือ ยิงหรือ ปล่อย  อะไรทำนองนี้มากกว่า
4 แม้จะไม่ติดใจคำว่า ทำคือยอมให้หมายความว่ามิได้ทรงเตรียม ทำไว้ล่วงหน้า เพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ธนู  ก็ยังไม่หมดข้อสงสัย คือเมื่อพูดว่า  มิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู  ซึ่งหมายถึงว่ามิได้ทรงใช้ธนู ก็ย่อมจะตีความได้ว่า อาจทรงใช้อาวุธชนิดอื่น เช่น หอก ดาบ แหลน หลาว ก็ได้มิใช่หรือ เพราะในการรบกันนั้นมิได้มีหลักเกณฑ์ว่าจะชนะกันเด็ดขาดได้ด้วยธนูแต่อย่างใดเลย  การเอ่ยถึงธนูจึงไม่พ้นข้อสงสัยดังว่านี้
5 ถ้าบอกว่า การเอ่ยถึงธนู เป็นเพียงสัญลักษณ์ คือใช้คำว่า  ธนู  แทนอาวุธทุกชนิด ก็คือจะพูดว่า  มิได้ทรงใช้อาวุธชนิดใดๆ เลย  นั่นเอง  ก็จะต้องถามว่า ถ้าต้องการจะให้มีหมายความเช่นนั้น ทำไมไม่ใช้คำว่า อาวุธตรงๆ เสียเลย  เช่นแต่งว่า  นานาวุธากะตา  พุทธา  พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงทำอาวุธต่างๆ  ดังนี้เป็นต้น ก็จะชัดเจนตรงตัว ไม่ต้องตีความหลายชั้น จะต้องพูดอ้อมไปถึงสายธนูและลูกธนูให้เกิดปัญหาน่าสงสัยทำไม
6 แต่ถ้าต้องการจะให้มีความหมายว่า ในการรบกับพญามาร มิได้ทรงใช้อาวุธชนิดใดๆ ก็จะผิดความจริงไปอีก เพราะความจริงก็คือทรงใช้อาวุธ  เพียงแต่มิใช่อาวุธที่เป็นวัตถุ หากแต่เป็นธรรมะ ซึ่งอาจจะเรียกด้วยศัพท์ว่า  ธรรมาวุธ 
ในคัมภีร์ ปฐมสมโพธิกถา  ตอน มารวิชัยปริวัตน์  กล่าวถึงพญามารยกไพร่พลมาขับไล่รุกรบ  พระพุทธองค์ทรงเรียกบารมีธรรมทั้งสิบมาให้ช่วยรบกับพญามาร  ท่านแต่งเป็นคาถาความว่า

                                อายนฺตุ   โภนฺโต   อิธ   ทานสีลา
                                เนกฺขมฺมปา   สหวีริยขนฺตี
                                สจฺจาธิฏฺฐานา   สหเมตฺตุเปกฺขา
ยุทฺธาย   โว   คณฺหถ   อาวุธานิ.

จงมาในที่นี้เถิดชาวเราเอย  ทาน  ศีล

เนกขัมมะ  ปัญญา  วิริยะ  ขันติ

สัจจะ  อธิษฐาน  เมตตา  อุเบกขา

ท่านทั้งหลายจงจับอาวุธเข้ารบเถิด

เพราะฉะนั้น จะบอกว่าพระพุทธองค์มิได้ทรงใช้อาวุธรบกับพญามารนั้น ก็ไม่ถูกต้องอยู่นั่นเอง
7 เป็นอันว่า แนวคิดที่ว่าพระพุทธองค์มิได้ทรงใช้อาวุธรบกับพญามารนั้นผิดความจริง ความจริงคือทรงใช้ธรรมเป็นอาวุธ การบอกว่า มิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู ก็เท่ากับบอกว่า มิได้ทรงใช้อาวุธที่เป็นวัตถุธรรมดา คือหอกดาบธนูแหลนหลาวเท่านั้นเอง แต่การบอกเช่นนี้ถ้าคิดต่อไปก็จะเห็นว่าเป็นปัญหาอีก
8 ปัญหาที่จะเป็นก็คือ พญามารนั้นเป็นบุคลาธิษฐานของกิเลส อันว่ากิเลสนั้นจะใช้หอกดาบธนูแหลนหลาวไปทำลายย่อมไม่ได้อยู่แล้ว การพูดว่า มิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู ก็เหมือนกับหมอแพทย์พูดว่า ข้าพเจ้าจะรบกับโรคาพยาธิ แต่ข้าพเจ้าจะไม่ใช้หอกดาบธนูแหลนหลาวหรอกนะ จะใช้ยาแทน  จะต้องพูดอย่างนี้ทำไมในเมื่อเรื่องมันจะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว  เท่ากับเป็นการพูดเรื่องปกติธรรมดาเรื่องหนึ่งนั่นเอง ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไรเลย ใช่หรือไม่
9 ถ้าอ้างว่า ตอนพูดถึงกิเลสนี้เป็นการพูดสมมุติให้กิเลสเป็นพญามาร คือเป็นพวกที่อาจใช้หอกดาบธนูแหลนหลาวทำลายได้  ถ้าอ้างอย่างนี้ ทำไมตอนพูดถึงวิธีปราบหรือวิธีทำลายกิเลสจึงพูดอย่างเป็นวิธีจริงๆ คือการทำลายกิเลสไม่ต้องใช้หอกดาบธนูแหลนหลาวอยู่แล้ว แต่ต้องใช้ธรรมะ  ทำไมไม่พูดวิธีทำลายกิเลสแบบสมมุติด้วย จะได้สอดคล้องกับการพูดสมมุติให้กิเลสเป็นพญามาร
ถ้าผู้ที่จะต้องถูกปราบนั้นเป็นบุคคลที่อาจปราบได้ด้วยอาวุธ แล้วมีผู้สามารถปราบผู้นั้นลงได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ  อย่างนี้จึงสมควรแก่การที่จะกล่าวว่า  มิได้ทำสายธนูและลูกธนูก็สามารถเอาชนะได้  และถือได้ว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์จริง ดังกรณีที่พระพุทธองค์ทรงปราบโจรองคุลิมาลนั้นเป็นต้น
โจรองคุลิมาลนั้นพระเจ้ากรุงสาวัตถีกำลังยกกองทัพออกไปปราบ เตรียมกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งก็ยังรับประกันไม่ได้ว่าจะปราบได้หรือเปล่า  แต่พระพุทธองค์มิต้องทรงใช้ทหารแม้แต่คนเดียว มิต้องทรงใช้อาวุธแม้แต่ชิ้นเดียว ก็สามารถปราบได้ราบคาบ จากโจรใจเหี้ยมกลายเป็นพระอรหันต์ได้  อย่างนี้สิจึงควรจะใช้สำนวนโวหารว่า  มิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนูก็สามารถเอาชนะได้ 
แต่พญามารคือกิเลสเป็นสิ่งที่จะใช้สายธนูและลูกธนูเข้าไปปราบไม่ได้อยู่แล้ว การใช้สำนวนโวหารว่า  พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงทำสายธนูและลูกธนู ก็ทรงพิชิตพญามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยไพร่พลได้   จึงฟังดูไม่ค่อยสนิทแนบเนียนกลมกลืนเอาเสียเลย
คงเหลือทางเดียวที่จะยอมรับสำนวนโวหารนี้ได้ คือ ต้องสร้างจินตนาการว่า  กิเลสที่สมมุติให้เป็นพญามารนั้นเป็นสิ่งที่อาจจะปราบได้ด้วยอาวุธคือหอกดาบธนูแหลนหลาวนี่แหละ แต่พระพุทธองค์มิได้ทรงใช้อาวุธแบบนั้นเลย  ทรงใช้แต่บารมีธรรมเท่านั้นก็สามารถปราบพญามารได้  จึงเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์

ใจผมนั้นเชื่อว่ากวีผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรท่านตั้งใจจะแต่งว่า  ชะยาสะนะคะตา  พุทธา   พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับบนชัยบัลลังก์  แต่สมัยก่อนโน้นการเขียนหนังสือให้อ่านยังไม่แพร่หลาย การถ่ายทอดบทสวดมนต์จากปากสู่ปาก ที่เรียกว่า มุขบาฐ ทำได้ง่ายกว่า  คำว่า  ชะยาสะนะคะตา  ถ้าฟังแต่เสียง ไม่เห็นตัวอักษร ก็ย่อมมีโอกาสเพี้ยนได้ง่ายมาก
ชะยา เพี้ยนเป็น  ชิยา  ได้ง่าย
ชะยาสะนะ  เพี้ยนเป็น  ชิยาสะนา  ได้ง่าย
คะตา  ก็เพี้ยนเป็น  กะตา  ได้ง่าย
ใครไม่เชื่อก็ขอให้ลองท่องหรือลองออกเสียงดูเถิด
เมื่อฟังจากปาก ได้ยินแต่เสียงโดยไม่ได้เห็นตัวอักษร แล้วก็ท่องจำไว้ตามเสียงที่ได้ยินมา ความผิดเพี้ยนก็เกิดขึ้นได้ง่าย  ครั้นพอเอาคำที่ท่องนั้นมาเขียนเป็นตัวอักษรก็เขียนกันไปตามที่แต่ละคนท่องกันมา  ชะยาสะนะคะตา  จึงกลายเป็น  ชิยาสะนากะตา  แล้วก็กลายเป็นอื่นๆ อีกหลายแบบดังที่ยกมาให้ดูตั้งแต่ตอนต้นโน้น และยังจะมีอีกบางคำซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า
ครั้นพอเป็น  ชิยาสะนากะตา  แล้ว คราวนี้ก็จำจะต้องแยกศัพท์เพื่อหาคำแปล  จะบังเอิญหรืออะไรก็ตาม พอดีคำนี้แยกได้เป็น  ชิยา + อะสะนะ + อะกะตา  แล้วก็แปลได้เข้าเค้าอยู่พอสมควร ก็เลยตีความกันไปตามที่ปรากฏนั้น  แล้วก็มีข้อสงสัยดังที่ได้พินิจมาข้างต้น

     .      ตัณหังกะราทะโย   พุทธา                   อัฏฐะวีสะติ  นายะกา                        
สัพเพ   ปะติฏฐิตา   มัยหัง มัตถะเก  เต  มุนิสสะรา    
     .       สีเส   ปะติฏฐิโต   มัยหัง                     พุทโธ   ธัมโม  ทวิโลจะเน                 
สังโฆ   ปะติฏฐิโต   มัยหัง อุเร  สัพพะคุณากะโร

ปะติฏฐิโต - ปะติฏฐิตา  (, )

ในบทที่ ๒ ตรงคำว่า  สัพเพ  ปะติฏฐิตา  มัยหัง บางฉบับเป็น สัพเพ  ปะติฏฐิโต  มัยหัง  และในบทที่ ๓ ตรงคำว่า  สีเส  ปะติฏฐิโต  มัยหัง  บางฉบับเป็น  สีเส  ปะติฏฐิตา  มัยหัง  
ถามว่า  ปะติฏฐิตา  กับ  ปะติฏฐิโต   คำไหนถูกกันแน่
คำตอบก็คือ ถูกทั้งสองคำ  แต่ต้องอยู่ถูกที่  คือ
สัพเพ  ปะติฏฐิตา  ถูกต้อง เพราะคำนามในประโยคนี้ทุกคำ คือ  พุทธา  นายะกา  สัพเพ  มุนิสสะรา  เป็นพหุวจนะ (ที่คนเรียนภาษาอังกฤษนิยมใช้คำว่า พหูพจน์) กิริยา (ในทางไวยากรณ์ ใช้คำว่า กริยา) จึงต้องเป็น  ปะติฏฐิตา  ซึ่งเป็นรูปของพหุวจนะ  ส่วน  สัพเพ  ปะติฏฐิโต  นั้นผิด เพราะ  สัพเพ  เป็นพหุวจนะ แต่  ปะติฏฐิโต  เป็นเอกวจนะ (เอกพจน์)  คำนามกับคำกิริยาต้องมีวจนะตรงกัน
สีเส  ปะติฏฐิโต  ถูกต้อง เพราะคำนามในประโยคนี้คือ  พุทโธ  เป็นเอกวจนะ  ปะติฏฐิโต  เป็นเอกวจนะตรงกัน
จำง่ายๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักไวยากรณ์ให้ยุ่งยาก ก็คือ  สัพเพ  ต้อง  ปะติฏฐิตา  และ  สีเส  ต้อง  ปะติฏฐิโต 

มุนิสสะรา - มะนุสสะรา  ()

                คำนี้เคยเห็นบางฉบับเป็น  มะนุสสะรา  และมีคำอธิบายว่า แปลว่าเป็น จอมมนุษย์  หรือ มนุษย์ผู้ประเสริฐ  อะไรทำนองนี้  ถ้าเป็นอย่างที่อธิบายนี้ คำนี้ก็ต้องมาจากคำว่า  มะนุสสะ + รา   มะนุสสะ (มนุสฺส) แปลว่า  มนุษย์  นั้นถูกต้อง แต่  รา  ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร ค้นในพจนานุกรมภาษาบาลี ก็ไม่พบคำนี้  มะนุสสะรา  จึงน่าจะคลาดเคลื่อน
มุนิสสะรา  มาจาก  มุนิ (มุนี, ผู้รู้) + อิสสะระ (อิสฺสร) (ผู้เป็นใหญ่)  แปลรวมว่า  มุนีผู้เป็นใหญ่  หรือ จอมมุนี  มีคำเทียบคือ  มุนินทะ (มุนินฺท) มาจาก  มุนิ + อินทะ (อินฺท)  อินทะ  แปลว่า  ผู้เป็นใหญ่  ตรงกันกับ  อิสสะระ   มุนินทะ  แปลว่า จอมมุนี  ที่คุ้นหูกันดีก็คือในบทพาหุง มีคำว่า มุนินโท อยู่ ๘ บท  เพราะฉะนั้น  มุนิสสะระ (พหุวจนะเป็น  มุนิสสะรา)  ก็เท่ากับ  มุนินทะ  นั่นเอง
มะนุสสะรา  จึงคลาดเคลื่อนแน่นอน

                                                สีเส - สีเล  ()

คำนี้เคยเห็นบางฉบับ เป็น  สีเล (เล  ล ลิง) และมีคำอธิบายว่าเป็นคำจำพวกภาษาปาก คำพื้นเมือง หรือคำเก่าแก่อะไรสักอย่าง  สีเล  แปลว่า ศีลที่จะต้องดูแล  ผู้อธิบายอ้างว่าได้คำอธิบายนี้มาจากการเข้าทรงติดต่อกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต โดยท่านยืนยันว่าต้องเป็น  สีเล  ไม่ใช่  สีเส
ในภาษาบาลี (กรุณาอย่าลืมว่าพระคาถาชินบัญชรนั้นท่านแต่งเป็นภาษาบาลี)  สีเล  แปลว่า ศีล ได้ แปลตามหลักการแจกวิภัตติ ก็แปลว่า ในศีล  สีเล ไม่มีทางที่จะแปลว่า  ศีลที่จะต้องดูแล  ดังที่คำอธิบายว่าไว้ แต่เป็นไปได้ที่ผู้อธิบายจะลากเอาเสียง  เล  ให้ไปพัลวันเข้ากับ  แล  ในภาษาไทย  แล้วลากเข้ารกเข้าพงต่อไปว่า  สีเล  แปลว่า  ศีลที่จะต้องดูแล 
ทำนองเดียวกับคำว่า  สุนักขัตตัง  ที่นักคิดตามศาลาวัดในสมัยก่อนบางท่านอธิบายว่า มีอะไรเหลือก็ควรให้ทานแก่สุนัขบ้าง (เอาเสียงในคำว่า สุนักขัตตัง มาตีความตามความคิดของตัวเอง)  อะยัมภะทันตา  อธิบายว่า ทำบาปกรรมไว้ กรรมให้ผลทันตาเห็น (เอาเสียง  ทันตา  มาให้ความหมายตามภาษาไทย)
เพราะฉะนั้น ขอยืนยันว่า คำนี้เป็น  สีเส (เส  ส เสือ) แน่นอน  สีเส  ปะติฏฐิโต  มัยหัง  พุทโธ  แปลว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ที่ศีรษะ หรือ ที่หัว  ข้อพิสูจน์ก็คือ คำอีกสองคำในชุดเดียวกัน คือ
ธัมโม  ทวิโลจะเน (ปะติฏฐิโต) พระธรรมประดิษฐานที่ดวงตาทั้งสอง
สังโฆ  ปะติฏฐิโต  มัยหัง  อุเร  พระสงฆ์ประดิษฐานอยู่ที่อุระของข้าพเจ้า
จะเห็นได้ว่า  ทวิโลจะเน (ทฺวิโลจเน) แปลว่า  ที่ดวงตาทั้งสอง  และ  อุเร  แปลว่า ที่อก  เข้าชุดกับ  สีเส  ซึ่งแปลว่า  ที่ศีรษะ  ถ้าคำนี้เป็น  สีเล  ซึ่งจะต้องแปลว่า ในศีล หรือ ที่ศีล ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่าผิดเรื่องผิดชุดกันไกล

     .       หะทะเย   เม   อะนุรุทโธ    สารีปุตโต  จะ  ทักขิเณ                      
โกณฑัญโญ   ปุพพะภาคัสมิง            โมคคัลลาโน  จะ  วามะเก

หะทะเย   เม   อะนุรุทโธ  ()

                บางฉบับเป็น  หะทะเย  จะ  อะนุรุทโธ  คำที่แตกต่างคือ  เม  กับ  จะ   เม  แปลว่า  ของข้าพเจ้า  ส่วน  จะ  แปลว่า  และ  ก็  อนึ่ง  ด้วย (ด้วย ในที่นี้ หมายถึง คนนั้นด้วย คนนี้ด้วย  หรือ สิ่งนั้นด้วย สิ่งนี้ด้วยเพราะฉะนั้น จะเป็น  เม  หรือ  จะ  ก็คงได้เนื้อหาสาระเท่ากัน
วรรคที่ว่า  โกณฑัญโญ   ปุพพะภาคัสมิง  นั้น ในฉบับทั่วไปจะเป็น  โกณฑัญโญ   ปิฏฐิภาคัสมิง
ปิฏฐิภาคัสมิง  แปลว่า ที่ส่วนเบื้องหลัง (ขอเชิญพระอัญญาโกณฑัญญะมาประดิษฐานอยู่ที่เบื้องหลัง)  ส่วน ปุพพะภาคัสมิง  แปลว่า ที่ส่วนเบื้องหน้า  เป็นทิศทางที่ตรงกันข้าม
ผมเคยฉงนมาตลอดว่า พระอัญญาโกณฑัญญะนั้นเป็นปฐมสาวก จัดลำดับอาวุโสกันแล้วก็คือหมายเลข ๑  ถ้ามองเป็นภาพพระอรหันต์สาวกเหล่านี้ท่านเดินเรียงแถวกันมา พระอัญญาโกณฑัญญะก็ต้องเดินนำหน้า แต่ไฉนในพระคาถาชินบัญชรจึงอาราธนาให้ท่านมาประดิษฐานอยู่ที่เบื้องหลัง ?
แล้วถ้าดูต่อไปในคาถาหมายเลข    มีข้อความว่า 
เกสะโต   ปิฏฐิภาคัสมิง                      สุริโย วะ   ปะภังกะโร                         
                                นิสินโน   สิริสัมปันโน                        โสภิโต   มุนิปุงคะโว
แปลว่า ขอเชิญพระโสภิตะจอมมุนี ผู้มีแสงสว่างเพียงดังดวงอาทิตย์  สมบูรณ์ด้วยสิริ จงสถิตอยู่ที่ส่วนเบื้องหลังจากเส้นผม คือที่ท้ายทอยของข้าพเจ้า   
  จะเห็นได้ว่าในบทนี้ก็มีคำว่า  ปิฏฐิภาคัสมิง  อีก แม้จะระบุเจาะจงว่า ที่ส่วนเบื้องหลังจากเส้นผม คือที่ท้ายทอย  แต่ก็เป็นส่วนเบื้องหลังเหมือนกันนั่นเอง และมีพระอรหันต์ที่เชิญมาประดิษฐานคือพระโสภิตะ เท่ากับว่าที่ส่วนเบื้องหลังนี้มีพระอรหันต์มาสถิตซ้อนกันอยู่ ๒ องค์
แต่เมื่อไปพบพระคาถาชินบัญชรในหนังสือ พิธีสวดสะเดาะนพเคราะห์ด้วยตนเอง และ บทมนต์วิเศษต่างๆ สำหรับสวดจำเพาะตน เรียบเรียงโดย พระครูวิสุทธิคุณาธาร วัดพระยายัง พิมพ์ครั้งที่ ๑ โรงพิมพ์เฟื่องอักษร พระนคร พ.ศ.๒๕๑๐ (อ้างแล้วข้างต้น)  ตรงบทนี้เป็น โกณฑัญโญ   ปุพพะภาคัสมิง  ซึ่งแปลว่า ขอเชิญพระอัญญาโกณฑัญญะมาประดิษฐานอยู่ที่เบื้องหน้า ก็แน่ใจได้ทันทีว่านี่คือข้อความที่ถูกต้อง
ทำไม  ปุพพะภาคัสมิง  จึงกลายเป็น  ปิฏฐิภาคัสมิง ก็คงเป็นเหตุผลเดียวกันกับในที่อื่นๆ คือฟังเสียง  ปุพพะ  ผิดเพี้ยนไปเป็น  ปิฏฐิ  และเมื่อมีการเขียนหรือพิมพ์เป็นตัวอักษรก็อาจไม่ได้ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน
อีกเหตุหนึ่งก็คือ สำหรับท่านที่ไม่รู้ภาษาบาลีและความหมายในคำแปล การมีคำว่า  ปิฏฐิภาคัสมิง ซ้ำกัน ๒ แห่ง ก็อาจกลายเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องไปได้ คือคิดว่าเมื่อตรงนั้นเป็น  ปิฏฐิภาคัสมิง ได้ ตรงนี้ก็ต้องเป็น  ปิฏฐิภาคัสมิง ด้วย เพราะเป็นคำเดียวกันเหมือนกัน เทียบง่ายๆ อย่างเช่นเมื่อกล่าวว่า  พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ  พอถึง  ธัมมัง  ก็ต้องเป็น  สะระณัง  คัจฉามิ  เหมือนกัน อะไรทำนองนี้
แต่เมื่อตรวจสอบความหมาย ประกอบกับประวัติพระอรหันต์แต่ละองค์ที่อัญเชิญมาสถิต  ณ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือในทิศทางต่างๆ โดยมีร่างกายเป็นศูนย์กลางแล้ว จะเห็นได้ว่า  โกณฑัญโญ   ปุพพะภาคัสมิง  ขอเชิญพระอัญญาโกณฑัญญะมาประดิษฐานอยู่ที่เบื้องหน้า ถูกต้องตามเหตุผลที่ควรจะเป็นมากกว่า  โกณฑัญโญ   ปิฏฐิภาคัสมิง  ขอเชิญพระอัญญาโกณฑัญญะมาประดิษฐานอยู่ที่เบื้องหลัง  ด้วยประการทั้งปวง

                     .      ทักขิเณ  สะวะเน   มัยหัง  อาสุง  อานันทะราหุลา      
กัสสะโป  จะ  มะหานาโม   อุภาสุง  วามะโสตะเก

                                                อาสุง  อานันทะราหุลา   - -ราหุโล ()
               
                คำนี้เท่าที่เห็นมาส่วนมากจะเป็น  อาสุง  อานันทะราหุโล  มีคำแปลว่า พระอานนท์กับพระราหุล  ศัพท์ว่า ราหุโล  เป็นเอกวจนะ (เอกพจน์) แต่ศัพท์กิริยาในประโยคนี้ คือ  อาสุง (แปลว่า มีแล้ว  เป็นแล้วเป็นพหุวจนะ (พหูพจน์)
ตามหลักบาลีไวยากรณ์ ศัพท์ที่เป็นประธาน กับ กิริยา ต้องมีวจนะตรงกัน  ถ้าจะแก้คำนามให้มีวจนะตรงกับกิริยา  อานันทะราหุโล  ก็ต้องเป็น  อานันทะราหุลา  และถ้าจะแก้คำกิริยาให้มีวจนะตรงกับนาม  อาสุง  ก็ต้องเป็น  อสิ  หรือ  อาสิ
พูดเต็มๆ ว่า ถ้า  อาสุง  ต้องเป็น  อานันทะราหุลา (อาสุง  อานันทะราหุลา) แต่ถ้า  อานันทะราหุโล  ก็ต้องเป็น  อสิ (อสิ  อานันทะราหุโล)
                ถามว่า ระหว่าง ราหุโล  เป็น  ราหุลา  กับ  อาสุง  เป็น  อสิ  นั้น หากจะมีการเขียนผิดเพี้ยนพลั้งเผลอเกิดขึ้น  อย่างไหนมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน
พินิจตามตัวอักษรแล้วจะเห็นว่า   เป็น  อา  แล้วยังต้องทำให้  สิ  เป็น  สุง  อีกด้วยนั้น ยากกว่า  ลา  เป็น  โล  ไม่ว่าคนเขียนจะเมาหรือง่วงขนาดไหนก็ตาม  พูดในทางกลับกัน เผลอเขียน  ลา  เป็น  โล  นั้นง่ายกว่าเผลอเขียน  อสิ  เป็น  อาสุง
และถ้านึกถึงความเป็นจริงที่ว่า พระคาถาชินบัญชรนั้นต้นฉบับเดิมเขียนเป็นอักษรขอม ก็จะหายสงสัยทันทีว่าทำไม  ลา  จึงเป็น  โล  ได้ง่ายๆ
คือ คำที่ประกอบด้วยเสียงสระ โอ เช่น  โค  โส  หรือ โล  นั้น เมื่อเขียนตามอักขรวิธีของอักษรขอม จะประกอบด้วยสระ  เอ  กับ สระ  อา  คือ  แล้วมีพยัญชนะตัวนั้นๆ อยู่ตรงกลาง เช่น  เคา  อ่านว่า โค   เสา  อ่านว่า โส   เลา อ่านว่า  โล
คำที่เขียนว่า  เลา  ซึ่งจะต้องอ่านว่า  โล   อาจกลายเป็น  ลา  หรือ  เล  ได้ง่ายมาก  ถ้าลบสระ เอ  ก็กลายเป็น  ลา  ถ้าลบสระ  อา  ก็กลายเป็น  เล 
และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ คำว่า  ลา  หรือ  เล  ก็อาจกลายเป็น  โล  ได้ง่ายมาก คือ ถ้าเผลอเติมสระ  เอ  เข้าไปข้างหน้า  ลา  ก็เป็น  เลา  หรือเติมสระ  อา  เข้าไปข้างหลัง  เล  ก็เป็น  เลา  อีกเช่นกัน  และ  เลา  ก็คือ  โล
เพราะฉะนั้น ราหุลา  จึงกลายเป็น  ราหุโล  ได้ง่ายด้วยประการฉะนี้   
ส่วน  อสิ  ที่จะกลายเป็น  อาสุง  ตามวิธีเขียนอักษรขอมนั้นเป็นไปได้ยากมาก
ที่ว่ามานี้เป็นเหตุผลในทางหลักการเขียนตัวอักษรขอม แต่ถ้าเอาหลักบาลีไวยากรณ์เข้ามาจับด้วยแล้วก็จะแน่นอนยิ่งขึ้น กล่าวคือ คำนามตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปเมื่อนำมาสมาสกัน จะต้องเป็นพหุวจนะเสมอ   ในที่นี้คำนามคือ  อานนฺโท (อานนท์) และ  ราหุโล (ราหุล) เป็นเอกวจนะ เมื่อเอามารวมกัน พูดตามหลักบาลีไวยากรณ์ว่า  อานนฺโท  จ  ราหุโล  จ   อานนฺทราหุลา  แปลว่า  พระอานนท์ด้วย  พระราหุลด้วย  ชื่อว่า  อานนฺทราหุลา (พระอานนท์และพระราหุล)  คำว่า  อานนฺทราหุลา  เป็นพหุวจนะ
พูดเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นอีกว่า  พระอานนท์องค์เดียว ภาษาบาลีจะต้องเป็น  อานนฺโท  จะเป็น  อานนฺทา  ไม่ได้  พระราหุลองค์เดียว ภาษาบาลีจะต้องเป็น  ราหุโล  จะเป็น  ราหุลา  ไม่ได้  แต่เมื่อกล่าวถึงพระอานนท์และพระราหุลรวมในคำเดียวกัน  อานนฺโท  จะต้องเป็น  อานนฺท  ตามกฎเกณฑ์ของบาลีไวยากรณ์ และไปรวมกับ  ราหุโล  เป็น  อานนฺทราหุโล   คราวนี้ไม่ใช่มีแต่พระราหุลองค์เดียว แต่มีพระอานนท์ด้วย  ดังนั้น  ราหุโล  จะคงเป็น  ราหุโล  อยู่ไม่ได้  ถ้าเป็น  ราหุโล  ก็จะหมายถึงพระราหุลองค์เดียว  ผิดความเป็นจริง เพราะมีคำว่า  อานนฺท  รวมอยู่ข้างหน้าด้วย  จึงต้องเป็น  ราหุลา  เพราะฉะนั้นศัพท์ที่ถูกต้องตามหลักบาลีไวยากรณ์ก็คือ  อานนฺทราหุลา  ซึ่งเป็นรูปพหูพจน์  คำกิริยา  อาสุง  ที่เป็นพหูพจน์ก็เป็นการยืนยันอยู่แล้วในตัว

     .        เกสะโต   ปิฏฐิภาคัสมิง                      สุริโย วะ   ปะภังกะโร                         
                                นิสินโน   สิริสัมปันโน                        โสภิโต   มุนิปุงคะโว

เกสะโต - เกสันเต  ()

                ศัพท์ว่า  เกสะโต  แปลว่า จากเส้นผม   บางฉบับเป็น  เกสันเต  แปลว่า ที่สุดแห่งเส้นผม  เมื่อรวมกับ   ปิฏฐิภาคัสมิง  ซึ่งแปลว่า ที่ส่วนเบื้องหลัง  ก็จะได้ความว่า  ที่ส่วนเบื้องหลังจากเส้นผม  หรือ  ที่ส่วนเบื้องหลังที่สุดแห่งเส้นผม  ซึ่งหมายถึง ท้ายทอย  ตรงกัน  เพราะฉะนั้น จะเป็น  เกสะโต  หรือ  เกสันเต  ก็นับว่าถูกต้องตามความหมายที่ต้องการทั้งนั้น

                                                                โสภิโต - โสภีโต  ()

                โสภิโต  เป็นชื่อของพระอรหันต์องค์หนึ่ง  บางฉบับเป็น  โสภีโต (ภิ เป็น ภี)   โสภิโต  ก็เป็นคำเดียวกับที่เราเอามาใช้ในภาไทยว่า  โสภิต  ที่แปลว่า งาม  นั่นเอง  คำว่า  โสภิต มี  แต่คำว่า  โสภีต นั้นไม่มี เพราะฉะนั้นศัพท์ที่ถูกต้องก็คือ  โสภิโต  ไม่ใช่  โสภีโต
                อนึ่ง คำแปลข้อความในพระคาถาชินบัญชรบทนี้เท่าที่พบ จะแปล  โสภิโต  เป็นชื่อของพระพุทธเจ้าในอดีตพระองค์หนึ่ง (องค์ที่ ๙ ในจำนวนพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์)  หมายความว่าพระคาถาชินบัญชรบทนี้เป็นการอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้า ไม่ใช่เชิญพระโสภิตเถระผู้เป็นพระอรหันตสาวก
ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะศัพท์ภาษาบาลีที่ว่า  โสภิโต   มุนิปุงคะโว  ชวนให้เข้าใจเช่นนั้น เพราะคำว่า  มุนิปุงคะโว  โดยปกติจะหมายถึงพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีคำว่า  สุริโย วะ   ปะภังกะโร  ซึ่งแปลว่า  ผู้มีแสงสว่างเพียงดังดวงอาทิตย์  กำกับอยู่ด้วย คำนี้ก็น่าจะเป็นคำแสดงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้ามากกว่าของพระสาวก ดังนั้นเมื่อพิจารณาเฉพาะถ้อยคำจึงชวนให้เข้าใจไปว่าเป็นการอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้า
                ศัพท์ว่า  ปุงฺคว  แปลตามตัวว่า  โคตัวผู้  ศัพท์นี้ไม่ได้ใช้ในความหมายตรงตัว แต่มีความหมายโดยนัย คือหมายถึง บุคคลที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พวกเดียวกัน  มุนิปุงคะโว  จึงหมายถึง มุนีผู้เลิศที่สุด หรือ ผู้เลิศที่สุดในหมู่มุนีด้วยกัน  และศัพท์ว่า  มุนิ  ในที่นี้ก็มิได้หมายถึงพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ แต่หมายถึงนักบวช บรรพชิต คือผู้ออกจากบ้านเรือนไปถือเพศนักบวชประพฤติธรรม
ตามศัพท์  มุนิ  แปลว่า ผู้มีความรู้  ศัพท์ว่า  มุนิ  ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า จะเป็น  มุนินฺท  แปลว่า  ผู้เป็นใหญ่ในหมู่มุนี  ผู้เป็นใหญ่กว่ามุนีทั้งหลาย  หรือที่แปลสั้นๆ ว่า  พระจอมมุนี  อย่างในบทพาหุงที่เราได้ยินกันคุ้นหูที่ว่า  ชิตวา  มุนินฺโท  ตนฺเตชสา ...
สรุปว่า  มุนิปุงคะโว  ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงพระพุทธเจ้าเสมอไป พระอรหันตสาวกก็เป็น มุนิปุงคะโว ได้
แต่เหตุผลสำคัญอยู่ที่พระคาถาชินบัญชรมิได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าเป็นรายพระองค์ หากแต่อัญเชิญเป็นคำรวม ดังในบทข้างต้นที่ว่า  ตัณหังกะราทะโย  พุทธา  อัฏฐะวีสะติ  นายะกา คือระบุแต่เพียงว่า อัญเชิญพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกรเป็นต้น  พระโสภิตพุทธเจ้าก็รวมอยู่ในคำนี้ด้วยแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องแยกอัญเชิญเป็นต่างหากอีกพระองค์หนึ่ง แล้วถ้าจะลองตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงเจาะจงพระโสภิตพุทธเจ้า จะตอบว่าอย่างไร
อีกประการหนึ่ง ข้อความในตอนนี้เป็นการเชิญพระอรหันตสาวก กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ก็เชิญพระอานนท์และพระราหุลมาสถิตที่หูข้างขวา เชิญพระมหากัสสปะและพระมหานามมาสถิตที่หูข้างซ้าย ต่อจากนี้จึงเชิญพระโสภิตมาสถิตที่ท้ายทอย และหลังจากนี้ก็เชิญพระกุมารกัสสปะมาสถิตปาก 
ถ้า  โสภิโต  หมายถึงพระโสภิตพุทธเจ้า ทำไมจึงอัญเชิญพระพุทธเจ้ามาแทรกในระหว่างพระสาวก แล้วพระพุทธเจ้ามีตั้ง ๒๘ พระองค์ ทำไมจึงอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้าองค์เดียว (ถ้าตอบว่าที่ตรงนั้นสถิตได้องค์เดียว ก็ยังไม่พ้นที่จะต้องสงสัยต่อไปอีกว่า ทำไมจึงต้องเป็นพระโสภิตพุทธเจ้า  พระโสภิตพุทธเจ้ามีคุณสมบัติเฉพาะกับที่ตรงนั้นอย่างไรหรือ)  และจุดที่อัญเชิญมาสถิตก็คือ ท้ายทอย อันเป็นจุดที่ไม่เด่นไปกว่าพระสาวกธรรมดาเลย ว่ากันตามตรงแล้วก็เป็นจุดที่ด้อยกว่าพระสาวกด้วยซ้ำไป อย่างเช่นพระอนุรุทธะเป็นเพียงพระสาวก เชิญให้สถิตที่หัวใจ แต่พระโสภิตพุทธเจ้ากลับอัญเชิญไปไว้ที่ท้ายทอย ดูไม่สมฐานะเอาเสียเลย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา พระคาถาชินบัญชรบทนี้จึงไม่ใช่เป็นการอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้า หากแต่เป็นการเชิญพระโสภิตเถระผู้เป็นพระอรหันตสาวกจึงจะถูกต้อง

                                               
     .      ปุณโณ  อังคุลิมาโล  จะ                      อุปาลินันทะสีวะลี                             
                                เถรา  ปัญจะ  อิเม  ชาตา                     นะลาเต  ติละกา  มะมะ

                                     อุปาลินันทะสีวะลี - อุปาลี  นันทะสีวะลี ()

                ในที่นี้ เป็น  อุปาลินันทะสีวะลี  แต่บางฉบับเป็น  อุปาลี  นันทะสีวะลี   ถ้าจะถามว่าคำไหนถูก  คำตอบก็คือถูกทั้งคู่  อุปาลิ  ก็ถูก  อุปาลี  ก็ถูก  ข้อแตกต่างก็คือ ถ้าเป็น  อุปาลิ  เขียนติดกันเป็น  อุปาลินันทะสีวะลี  แต่ถ้าเป็น  อุปาลี  เขียนแยกกันเป็น  อุปาลี  นันทะสีวะลี
                เวลาเขียนให้อ่าน ไม่เป็นปัญหา เพราะมองเห็นได้ว่าติดกันหรือแยกกัน  แต่ในเวลาสวด เสียงสวดไม่สามารถชี้ได้ว่าคำนี้ติดกันหรือแยกกัน  ปัญหาที่ควรถามก็คือ คำนี้ควรเป็น  อุปาลิ  หรือเป็น  อุปาลี
วิธีวินิจฉัยก็คือ เอาชื่อของพระอรหันต์ที่ระบุในที่นี้มาเรียงกันดู ในคาถานี้ออกนามพระอรหันต์ ๕ องค์ คือ  พระปุณณะ  พระองคุลิมาล  พระอุบาลี  พระนันทะ  และ พระสีวลี 
พระปุณณะ ภาษาบาลีว่า  ปุณโณ  พระองคุลิมาล ภาษาบาลีว่า  อังคุลิมาโล (เคยเห็นฉบับหนึ่ง เป็น  อังคุลิมาโร  คนที่เขียนคงจะไปนึกถึงคำว่า  มาร  ชื่อพระอรหันต์องค์นี้ เป็น  มาล  ล ลิง สะกดครับ ไม่ใช่  มาร ร เรือ   มาล  เป็นคำเดียวกับ  มาลา  ที่แปลว่า  พวงดอกไม้  หรือที่เรามักเรียกว่า พวงมาลัย   องคุลิมาล  แปลว่า ผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย) และมีคำว่า  จะ  (ที่แปลว่า และ หรือ ด้วย) อยู่ด้วย  ตามหลักการแปล เมื่อมี  จะ  อยู่ในที่เช่นนี้ ต้องเอาคำว่า  จะ  ไปควบกับคำนามอื่นๆ ด้วย  คือ  ปุณโณ  ก็ต้องเป็น  ปุณโณ  จะ  แปลว่า พระปุณณะด้วย   และ  อังคุลิมาโล  ก็ต้องเป็น  อังคุลิมาโล  จะ  แปลว่า  พระองคุลิมาลด้วย 
ปุณโณ  อังคุลิมาโล  จะ   เป็นคาถาหนึ่งบาท หรือหนึ่งวรรค  ออกนามพระอรหันต์ ๒ องค์ คือ พระปุณณะและพระองคุลิมาล  
อุปาลินันทะสีวะลี  หรือ  อุปาลี  นันทะสีวะลี  เป็นคาถาอีกหนึ่งบาท  ออกนามพระอรหันต์ ๓ องค์ คือ พระอุบาลี  พระนันทะ  และ พระสีวลี   ถ้าเอาคำว่า  จะ  ในบาทแรกมาควบด้วย ก็จะต้องเป็น  อุปาลี  จะ  แปลว่า  พระอุบาลีด้วย 
ครั้นมาถึงพระนันทะ  ก็ควรจะพูดว่า  นันโท  จะ  แปลว่า  พระนันทะด้วย   และพระสีวลี ก็จะต้องเป็น  สีวะลี  จะ  แปลว่า  พระสีวลีด้วย 
แต่ชื่อพระนันทะ ไปอยู่เป็นคำลำดับที่ ๔ และ ที่ ๕ ในวรรค  ท่านไม่ได้แต่งเป็น  นันโท  เพราะพยางค์ลำดับที่ ๕ ของคาถาวรรคที่ ๒ หรือบาทที่ ๒ นี้จะต้องเป็นคำลหุ คือเสียงเบาหรือเสียงสั้น  คำว่า  โท  เป็นคำครุ คือเสียงหนักหรือเสียงยาว ใช้ไม่ได้  จึงต้องเป็น  ทะ  เมื่อเป็น  ทะ  ก็ต้องเอาไปสมาสคือเอาไปรวมกับคำหลัง เป็น  นันทะสีวะลี  และถือว่าเป็นคำเดียวกัน (กฎเกณฑ์เดียวกับ  อานันทะราหุลา  ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น)
เมื่อ นันโท ไปรวมกับ  สีวะลี  เป็นคำเดียวกัน คือ  นันทะสีวะลี  ไปแล้ว  อุปาลี  ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มคำนามด้วยกัน และอยู่ในบาทคาถาเดียวกัน จึงไม่ควรจะแยกอยู่คำเดียว แต่ควรรวมเข้าเป็นคำเดียวกันทั้ง ๓ นาม เป็น  อุปาลินันทะสีวะลี  นี่คือเหตุผลที่ไม่ควรเป็น  อุปาลี  นันทะสีวะลี  

นะลาเต - นะลาเฏ  ()
                คำนี้แปลว่า หน้าผาก ใช้ได้ทั้ง   เต่า และ   ปฏัก

ติละกา - ตีละกา  ()
                คำนี้แปลว่า รอยเจิม  คือที่เราเอามาใช้ทับศัพท์ว่า  ดิลก  คำที่ถูกต้องคือ  ติละกา  ไม่ใช่  ตีละกา

      .      เสสาสีติ   มะหาเถรา                          วิชิตา  ชินะสาวะกา                              
                                เอเตสีติ   มะหาเถรา                           ชิตะวันโต   ชิโนระสา                        
ชะลันตา   สีละเตเชนะ                      อังคะมังเคสุ   สัณฐิตา

    วิชิตา - ชิตา  จะ ()
                คำว่า  วิชิตา  บางฉบับเป็น  ชิตา  จะ   ความหมายเกือบจะเท่ากัน  วิชิตา  แปลว่า ชนะแล้วอย่างวิเศษ   ส่วน  ชิตา  แปลว่า ชนะแล้ว   คำว่า  จะ  แปลว่า  และ  ไม่ได้ทำให้เกิดความหมายแปลกแตกต่างอะไรเพิ่มขึ้น  จึงเห็นได้ว่า  วิชิตา  ได้ความหมายสูงกว่า  ชิตา 

   เอเตสีติ  - เอตาสีติ  ()
                เอเตสีติ  บางฉบับเป็น  เอตาสีติ   คำแปลก็เหมือนกัน เพียงแต่วิธีประกอบศัพท์ต่างกันเล็กน้อย  คือคำนี้มาจากคำว่า  เอเต + อสีติ  ถ้าลบ    ที่คำหลัง คือ  อสีติ (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า ลบสระหลัง) ก็เป็น  เอเตสีติ  ถ้าลบ  เอ  ที่คำหน้า (เอ  ที่คำว่า  เต  คือ + เอ = เตเอเต  ก็จะเป็น  เอต แล้วทีฆะ    ที่คำหลัง (คือ สีติ) เป็น  อา  แล้วเอา  เอต  บวกกับ  อา  ก็เป็น  เอตา  สำเร็จรูปเป็น  เอตาสีติ (ภาษาไวยากรณ์เรียกวิธีทำเช่นนี้ว่า ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง)
เมื่อ เอเตสีติ  หรือ  เอตาสีติ  ก็ใช้ได้ทั้งคู่  ถามว่าคำไหนจะเหมาะกว่ากัน ผมเห็นว่า  เอเตสีติ  เหมาะกว่า เพราะยังคงเห็นคำเดิม คือ  เอเต  กับ  อสีติ  ชัดเจน (คำว่า อสีติ เพียงแต่เสียง  อะ หายไปพยางค์เดียว)  ส่วน  เอตาสีติ  นั้นหน้าตาเปลี่ยนไปมาก  แต่ที่เสี่ยงต่อการเข้าใจผิดอย่างยิ่งก็คือ คำว่า  เอตา ไปตรงกับ  เอตา  ที่เป็นรูปของอิตถีลิงค์ ถ้าเอา  เอตา  บวกกับ  อสีติ  ก็จะสำเร็จรูปเป็น  เอตาสีติ  เหมือนกัน  จึงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาว่า  เอตาสีติ  มาจากคำเดิมว่าอะไรกันแน่  เอเต + อสีติ  หรือ เอตา + อสีติ ?

ชะลันตา -  ชะวันตา  ()

                คำว่า  ชะลันตา  บางฉบับเป็น  ชะวันตา  ความหมายแตกต่างกัน  ชะลันตา  แปลว่า  รุ่งเรือง ส่วน  ชะวันตา  แปลว่า  แล่นไป  หมายถึง ว่องไว  หรือ  รวดเร็ว  คล่องแคล่ว 
เมื่อประกอบความเข้ากับคำว่า  สีละเตเชนะ (ด้วยเดชแห่งศีล) จะเห็นได้ว่า รุ่งเรืองด้วยเดชแห่งศีล คือ ศีลเป็นเหตุให้รุ่งเรือง ได้ความสนิทดีกว่า  ส่วนที่ว่า แล่นไปด้วยเดชแห่งศีล นั้นฟังเข้าใจยาก แม้จะประกอบเข้ากับคำแปลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น  ว่องไวด้วยเดชแห่งศีล  รวดเร็วด้วยเดชแห่งศีล  หรือ  คล่องแคล่วด้วยเดชแห่งศีล  ก็ล้วนแต่ฟังไม่สนิท  เพราะฉะนั้น  ชะลันตา  สีละเตเชนะ  จึงเหมาะกว่า
คาถาลำดับที่ ๙ นี้ แปลกจากทุกคาถาที่ผ่านมา คือทุกคาถาที่ผ่านมาจะเป็นคาถาหนึ่งบท คือมี ๔ วรรค หรือ ๔ บาท  แต่คาถาที่ ๙ มี ๖ วรรค ภาษาฉันทลักษณ์เรียกว่า คาถากึ่ง  คือมี ๑ คาถา (๔ บาท) กับกึ่งคาถา (๒ บาท)  พินิจความใน ๔ บาทแรก ก็แปลกอีก คือ  เสสาสีติ  มะหาเถรา  กับ  เอเตสีติ  มะหาเถรา  นั้น ความหมายเกือบจะเท่ากันหรือซ้ำกัน  ต่างกันเพียง  เสสา (ที่เหลือ)  กับ  เอเต (เหล่านี้) เท่านั้น  ส่วน  วิชิตา  ชินะสาวะกา (ผู้ชนะกิเลสแล้ว เป็นพระสาวกของพระชินเจ้า)  กับ  ชิตะวันโต  ชิโนระสา (ผู้ชนะกิเลสแล้ว เป็นโอรสของพระชินเจ้า) นั้น  ความหมายเท่ากันหรือซ้ำกันเลยทีเดียว
ผมอยากจะเดาใจกวีผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรว่า เดิมท่านก็คงตั้งใจจะแต่งเพียง ๒ บาท เช่นแต่งว่า  เสสาสีติ  มะหาเถรา  วิชิตา  ชินะสาวะกา  แต่พอแต่งไปแล้วเกิดความคิดขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง เป็น  เอเตสีติ  มะหาเถรา   ชิตะวันโต  ชิโนระสา  แล้วก็คิดเปรียบเทียบว่าสำนวนไหนจะดีกว่ากัน
ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตกลงใจนั้น ก็เขียนลงไว้ทั้งสองสำนวน  แล้วก็แต่ง ๒ บาทข้างท้าย (ชะลันตา  สีละเตเชนะ   อังคะมังเคสุ  สัณฐิตา) โดยตั้งใจว่าจะเลือกสำนวนทั้งสองข้างต้นให้เหลือเพียงสำนวนเดียวคือ ๒ บาท  แต่แล้วในที่สุดท่านก็ไม่ได้ตกลงใจเลือกสำนวนไหนและตัดสำนวนไหน คงไว้ทั้งคู่ เลยกลายเป็น ๖ วรรค หรือคาถากึ่ง  ทำให้ใจความซ้ำกันดังที่ปรากฏ

   ๑๒.     ชินาณาวะระสังยุตตา                         สัตตัปปาการะลังกะตา     
วาตะปิตตาทิสัญชาตา                        พาหิรัชฌัตตุปัททะวา        
อะเสสา  วินะยัง  ยันตุ                       อะนันตะชินะเตชะสา

ชินาณาวะระสังยุตตาชินานานาวะระสังยุตตา  (๑๒)

คำนี้ที่เห็นบ่อยมากจะเป็น  ชินานานาวะระสังยุตตา  และบางทีก็แยกเป็น  ชินา  นานาวะระสังยุตตา  บางฉบับ คำว่า  วะระ  เป็น  พะระ  คือเป็น  ชินานานาพะระสังยุตตา  คำว่า  วะระ  เป็น  พะละ  ก็มี  คือเป็น  ชินา  นานาพะละสังยุตตา 
คำที่ถูกต้องตรงกันแน่ๆ ก็คือ  ชินา  ซึ่งศัพท์เดิมคือ  ชิน (ชินะ)  หมายถึงพระพุทธเจ้า  คำที่ตรงกันอีกคำหนึ่งก็คือ  นานา  แปลว่า ต่างๆ   วะระ  ซึ่งอาจแผลงเป็น  พะระ  ได้  เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า  ประเสริฐ  คำว่า  นานาวะระสังยุตตา  จะต้องแปลว่า ประกอบพร้อมด้วย ประเสริฐต่างๆ  ซึ่งยังไม่ทราบว่าประกอบด้วยอะไรที่ประเสริฐ  ดังนั้น  นานาวะระสังยุตตา  จึงมีปัญหาในเรื่องแปลไม่ได้ความหมาย 
ถ้าเป็น  นานาพะละสังยุตตา  แปลได้ความชัดเจน คือแปลว่า ประกอบพร้อมด้วยกำลังต่างๆ
แต่ไม่ว่าจะเป็น  นานาวะระสังยุตตา  หรือ  นานาพะละสังยุตตา  ข้อบกพร่องที่สำคัญก็คือ เมื่อรวมกับ  ชินา  แล้ว จำนวนคำเกิน ๘ พยางค์โดยไม่มีเหตุอันควรยกเว้น  หมายความว่า ฉันท์ชนิดนี้บางกรณีอาจมีคำเกิน ๘ พยางค์ เป็น ๙ พยางค์ได้บ้าง  มีศัพท์เรียกว่า นวักขริกะแปลว่า มีเก้าอักขระ
เช่น  วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ (วิริเยนะ  ทุกขะมัจเจติ)  กรณีตัวอย่างนี้ท่านว่า  คำว่า  วิริ  สามารถออกเสียงรวบรัดคล้ายๆ  วิร (วิน)  จึงยอมให้นับ  วิริ  เป็น ๑ พยางค์  จึงเท่ากับยังเป็น ๘ พยางค์อยู่นั่นเอง
แต่  นานาวะระสังยุตตา  หรือ  นานาพะละสังยุตตา  ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กล่าวนี้  คำที่ดูคล้ายกับจะเข้าเกณฑ์ คือ  วะระ (วร)  หรือ  พะละ (พล)  ถ้าจะอ่านรวบรัดเป็น  วัร (วัน)  หรือ  พัล (พัน)  ก็น่าจะได้  แต่ไม่ได้ เพราะ  ระ  หรือ  ละ  อยู่ในลำดับที่จะต้องเป็นคำลหุ (พยางค์ที่ ๕ ของวรรคที่ ๑ และวรรคที่ ๓ จะต้องเป็นคำลหุ โปรดสังเกตดูที่คาถาบทอื่นๆ)  ดังนั้น จึงต้องออกเสียงเป็น  วะระ  หรือ  พะละ  ตรงตัว ซึ่งทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะยอมให้เป็นนวักขริกะได้
อีกประการหนึ่ง  ชิน  บวกกับ  นานา  ต้องเป็น  ชินะนานา  จะเป็น  ชินานานา  ไม่ได้  ถ้าเป็น  ชินานานาก็ไม่ทราบว่าจะแปลว่าอย่างไร
ถึงจะแยกเป็น  ชินา  นานาพะละสังยุตตา  นอกจากจำนวนคำจะเกิน ๘ พยางค์แล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องแปลอยู่นั่นเอง  คือแม้จะแปลได้ว่า  พระชินเจ้าทรงประกอบพร้อมด้วยกำลังต่างๆ  แต่พอไปดูข้อความในวรรคต่อไป คือ  สัตตัปปาการะลังกะตา (แปลว่า ประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น)  ซึ่งเป็นคำขยายความของคำว่า  ชินา  ก็จะกลายเป็นว่า อัญเชิญพระพุทธเจ้ามาประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น หรือไม่ก็หมายความว่า  พระพุทธเจ้ามีกำแพงเจ็ดชั้นเป็นเครื่องประดับ  ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น จึงต้องสรุปว่า   ชินานานาวะระสังยุตตา  ก็ดี  ชินา  นานาวะระสังยุตตา  ก็ดี   ชินา  นานาพะละสังยุตตา  ก็ดี  ไม่ใช่คำที่ถูกต้อง
คำที่ถูกต้องก็คือ  ชินาณาวะระสังยุตตา  ซึ่งประกอบด้วยคำว่า  ชิน + อาณา (= ชินาณา) + วร (= ชินาณาวร) + สงฺยุตฺตา  =  ชินาณาวรสงฺยุตฺตา
อาณา  แปลว่า อำนาจ   วร  ขยายคำว่า  อาณา = อาณาวร แปลว่า อำนาจอันประเสริฐ หมายถึงพลังอำนาจในทางธรรมคือคุณงามความดี ไม่ใช่อำนาจในทางร้าย   ชินาณาวร  จึงแปลว่า อำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้า
ชินาณาวะระสังยุตตา   สัตตัปปาการะลังกะตา  ขยายความคำว่า  พระปริตรและพระสูตร  จึงแปลว่า  ขออัญเชิญพระปริตรและพระสูตรอันประกอบด้วยอำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้ามาประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น
คำว่า  ชินาณา  นั้น ถ้าฟังแต่เสียง ก็อาจเข้าใจไปได้ว่าเป็นคำ  ชิ + นานา  เพราะเราคุ้นกับคำว่า  นานา  มากกว่า  อาณา   และตามความรู้เดิม  ชิน  เป็นนามของพระพุทธเจ้า   จาก  ชิ + นานา  ก็เลยเข้าใจไปว่าต้องเป็น  ชิน + นานา  =  ชินนานา (ชินะนานา)  และเมื่อหมายถึงพระพุทธเจ้าหลายองค์  ชิน  ก็ต้องเป็น  ชินา  ก็จึงเข้าใจผิดเป็น  ชินานานา  ไปด้วยประการฉะนี้
สรุปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือ  พระคาถาวรรคนี้ไม่มีคำว่า  นานา  แต่อย่างใดทั้งสิ้น มีแต่คำว่า  อาณา  และมีคำว่า  ชิน (ชินะ) อยู่ข้างหน้า   ชิน  บวกกับ  อาณา  ก็เป็น  ชินาณา  บวกกับ  วร (วะระ) เป็น  ชินาณาวร  บวกกับ  สงฺยุตฺต (แปลว่า ประกอบพร้อม) เป็น  ชินาณาวรสงฺยุตฺต  แจกรูปตามพหุวจนะ  ปุงลิงค์ เป็น  ชินาณาวรสงฺยุตฺตา  เขียนตามคำอ่านว่า  ชินาณาวะระสังยุตตา  แปลทั้งวรรคว่า  ประกอบด้วยอำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้า

วาตะปิตตาทิสัญชาตา  - วาละมิคาทิสัญชาตา   (๑๒)

พระคาถาวรรคนี้  คำว่า  วาตะปิตตา  บางฉบับเป็น  วาละมิคา
ถ้าพินิจในแง่อักขรวิธี (ทำนองเดียวกับ  ราหุโล  กับ  ราหุรา)  วาตะปิตต  กับ  วาละมิค  ก็มีทางที่จะผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนกันได้เช่นกัน
วา  นั้น ตรงกันอยู่แล้ว  ทีนี้     กับ    อักษรขอมดูเผินๆ อาจมองเห็นคล้ายกันได้ ถ้าเขียนหวัดด้วยแล้วยิ่งมีทางเป็นไปได้มาก เพราะฉะนั้น  วาต  กับ  วาล  จึงอาจสลับสับสนกันได้
แต่  ปิตต  กับ  มิค  นั้นมีทางคลาดเคลื่อนกันได้ง่ายที่สุด เพราะ   ปลา  กับ   ม้า  ตัวอักษรขอมเขียนเหมือนกัน ต่างกันตรงที่มีขีดนิดเดียว  ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดคือ   ใบไม้  กับ  ษ ฤๅษี ในอักษรไทย     กับ    เขียนเหมือนกัน  ต่างกันตรงที่ถ้าใส่ขีดที่มีรูปร่างเหมือนไม้หันอากาศทับลงไปที่เส้นหลังของ     ตัว   ใบไม้ ก็จะกลายเป็น   ฤๅษี  ไปทันที
ปลา  กับ   ม้า  ของอักษรขอมก็เขียนเหมือนกัน  จะเขียน  ม ม้า  ต้องเขียน  ปลา  ก่อน แล้วใส่ขีดที่มีรูปร่างเหมือนไม้หันอากาศลงไปตรงกลาง   ปลา (ขอให้นึกเทียบกับการเขียน   ฤๅษี  เราเขียน   ใบไม้ก่อน  แล้วจึงใส่ขีดที่เส้นหลังของ ใบไม้  แต่ตัว   ม้า อักษรขอมนั้น แทนที่จะใส่ขีดที่เส้นหลัง ก็ใส่ขีดตรงกลางระหว่างเส้นหน้ากับเส้นหลัง) เรียกกันว่า ไส้กลาง ป ปลา  ก็จะกลายเป็น  ม ม้า  ไปทันที
ส่วน   เต่า  กับ   ควาย ในอักษรขอมนั้นรูปร่างเหมือนกัน  ต่างกันแต่   เต่า  จะมีหัวกลมหันเข้า  แต่  ค ควาย  หัวกลมหันออก  หรือบางทีก็ไม่มีหัว  เทียบกับอักษรไทยก็เหมือน  ด เด็ก กับ   ควาย นั่นแหละ
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการสังคายนาพระไตรปิฎกอยู่คราวหนึ่ง งานหลักของการสังคายนาครั้งนั้นก็คือ เอาใบลานที่จารพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีอักษรขอมมาตรวจแก้ตัว  ต เต่า  กับ   ควาย  คำไหนเป็น   เต่า  ก็เขียนหัวให้ชัดเจน เรียกกันว่า สังคายนาแต้มหัวตะ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ หากจะเขียน  ป ปลา แต่เผลอไปเติมไส้กลางเข้า   ปลา ก็กลายเป็น   ม้า ไป  หรือต้องการจะเขียน  ม้า  แต่ลืมเติมไส้กลาง  ก็กลายเป็น   ปลา ไป   ต้องการจะเขียน   ควาย  แต่เผลอใส่หัวเข้า  ค ควาย ก็กลายเป็น  ต เต่า  ต้องการจะเขียน  เต่า  แต่ลืมใส่หัว ก็กลายเป็น  ควาย ไป
ปิต (ปิตต) จึงกลายเป็น  มิค  และ  มิค  ก็กลายเป็น  ปิต  ไปได้ด้วยประการฉะนี้
ปัญหาที่น่าถามก็คือ  กวีผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรตั้งใจจะพูดว่า  วาตะปิตตาทิ  หรือ  วาละมิคาทิ ?
วาตะปิตต  แปลว่า  ลมและดี (ดี ในที่นี้หมายถึงอวัยวะชนิดหนึ่งในร่างกาย) ส่วน  วาละมิค  แปลว่า  สัตว์ร้าย
วาล  แปลว่า  มุ่งร้าย  หรือ - ซึ่งกินสัตว์อื่น   มิค  ตรงกับคำสันสกฤตว่า  มฤค  ที่เรามักคุ้นกันดี แปลว่า  เนื้อ  ซึ่งหมายถึงสัตว์จำพวกเก้งกวาง  วาลมิค  จึงแปลตามตัวว่า  เนื้อที่ดุร้าย  หรือ เนื้อซึ่งกินสัตว์อื่น  และไม่ได้หมายถึงเก้งกวาง  แต่หมายถึง สัตว์ร้าย  หรือสัตว์จำพวกที่เราเรียกว่า เสือสิงห์กระทิงแรด หรืองูเงี้ยวเขี้ยวขอ อะไรเทือกนั้น
พระคาถาวรรคนี้ขยายความวรรคหลังที่ว่า  พาหิรัชฌัตตุปัททะวา  ซึ่งแปลรวมกันทั้งสองวรรคว่า  อุปัทวะทั้งหลายทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่เหตุมีโรคลมและโรคดีเป็นต้น (ถ้าเป็น วาตะปิตตาทิ)  หรือ ...อันเกิดแต่เหตุมีสัตว์ร้ายเป็นต้น (ถ้าเป็น วาละมิคาทิ)
คำว่า  อุปัทวะ  นั้นหมายถึงเหตุร้ายทั้งปวง  ที่แยกเป็น ทุกข์  ภัย  โรค (ดังที่ปรากฏในคำอาราธนาพระปริตรที่ว่า  สัพพะทุกขะวินาสายะ ... สัพพะภะยะวินาสายะ ... สัพพะโรคะวินาสายะ  แปลว่า  เพื่อความสิ้นไปแห่งสรรพทุกข์ ... สรรพภัย ...สรรพโรคในที่นี้ท่านระบุว่า  อุปัทวะทั้งภายนอกและภายใน  ก็หมายถึงทุกข์ ภัย โรค ที่เกิดจากภายนอกด้วย เกิดจากภายในด้วย
ดูจากคำที่ปรากฏ  ถ้าเป็น  วาตะปิตตาทิ (โรคลมและโรคดีเป็นต้น) นี่คือเกิดจากภายใน  แต่ถ้าเป็น  วาละมิคาทิ (สัตว์ร้ายเป็นต้น)  นี่คือเกิดจากภายนอก  ทั้งสองคำนี้ต่างก็ขาดกันไปคำละอย่าง คือ  วาตะปิตตาทิ  ได้แต่อุปัทวะภายใน ขาดภายนอก  ส่วน  วาละมิคาทิ  ก็ได้แต่อุปัทวะภายนอก ขาดภายใน  แต่ทั้งนี้ก็มิได้มีข้อบังคับว่าจะต้องระบุอุปัทวะทั้งภายในภายนอกให้ครบ  จะระบุภายไหนก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน
ในที่นี้น่าจะพินิจกันตรงที่ว่า  อานุภาพหรืออำนาจอันประเสริฐ ของพระชินเจ้า ของพระสูตรและพระปริตร และของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ซึ่งรวมแล้วก็คือ  พระรัตนตรัย นั้น หากจะเอ่ยอ้างขึ้นมาเพื่อขจัดปัดเป่าหรือป้องกันอุปัทวะกันแล้ว  ระหว่างอุปัทวะที่เกิดจากโรค กับอุปัทวะที่เกิดจากสัตว์ร้าย  อย่างไหนจะคู่ควรแก่อานุภาพหรืออำนาจอันประเสริฐนั้นมากกว่ากัน  ทั้งนี้เพราะถ้าหากจับคู่ไม่ถูก ก็จะกลายเป็นอย่างคำพังเพยที่ว่า  ขี่ช้างจับตั๊กแตน (อานุภาพยิ่งใหญ่ แต่ใช้ปราบของเล็กน้อย)  หรือไม่ก็  เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง (อันตรายใหญ่หลวง แต่กำลังป้องกันแก้ไขมีน้อยนิด)
ในความเห็นของผม  อันตรายจากสัตว์ร้ายนั้น แม้คนทั่วไปที่มีกำลังกายกำลังอาวุธ ไม่เลือกว่าจะเป็นคนดีคนเลวหรือคนฉลาดคนเขลา ก็อาจสามารถปราบปรามป้องกันได้  อย่าว่าแต่เพียงสัตว์ร้ายเลย แม้แต่ภัยจากคนร้ายก็ยังอาจใช้กำลังเข้ากำราบได้  อานุภาพแห่งพระชินเจ้า หรืออานุภาพแห่งพระรัตนตรัย จึงน่าจะใช้กำจัดปัดเป่าอุปัทวะที่เหนือกว่านี้
ถ้าเทียบกันแล้ว อุปัทวะที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บก็น่าจะเหนือกว่า คือกำจัดปัดเป่าหรือแก้ไขป้องกันได้ยากกว่าอุปัทวะที่เกิดจากสัตว์ร้าย  ยิ่งถ้าใช้จินตนาการในเชิงอุปมาอุปไมย ตีความคำว่า โรค ให้ลึกลงไปถึงกิเลสในใจที่เปรียบเหมือนโรครุมเร้าจิตมนุษย์อยู่ตลอดเวลาด้วยแล้ว  การใช้อานุภาพแห่งพระชินเจ้าเข้ากำราบจึงนับว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด  ดังนั้น  วาตะปิตตาทิ (โรคลมและโรคดีเป็นต้น)  จึงน่าจะเหมาะสมกว่า  วาละมิคาทิ (สัตว์ร้ายเป็นต้น)

    วินะยังวิละยัง  (๑๒)

ผมเคยเห็นพระคาถาชินบัญชรฉบับพม่า ซึ่งเขาเรียกว่า  รัตนบัญชร  ตรงคำว่า  วินะยัง  นี้ เป็น  วิละยัง
วินะยัง  นั้นเป็นที่คุ้นตา  คือคำว่า  วินัย  ที่เรารู้กันว่าหมายถึงศีลของพระสงฆ์นั่นเอง  แต่คำว่า  วินัย  ในที่นี้แปลตามศัพท์ว่า  การกำจัดออกไป  การขับออกไป  การนำออกไป  การเลิก  การทำลาย 
วินะยัง  ยันตุ  แปลตามศัพท์ก็ต้องว่า
จงถึงการกำจัดออกไป
จงถึงการขับออกไป
จงถึงการนำออกไป
จงถึงการเลิกไป
จงถึงการทำลายไป
ขมวดความให้กระชับเข้าไปก็ว่า จงถึงความหมดสิ้นไป
ส่วน  วิละยัง (วิลย) นั้น  ก็คือที่ในภาษาไทยเราเอามาใช้ว่า  วิลัย  นั่นเอง  วิลัย  คำนี้ไม่ใช่ วิไล  ที่แปลว่า งาม
วิละยัง  แปลว่า  การละลายหรือหายหมดไป  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..๒๕๔๒ ให้คำนิยามว่า  ความย่อยยับ  การสลาย  การทำให้สลาย
คำว่า  วินะยัง  นั้นใช้ในความหมายทางบวกก็ได้  ทางลบก็ได้  แต่  วิละยัง  ใช้ในความหมายทางลบอย่างเดียว  จะเห็นได้ว่าในที่นี้  วิละยัง  มีความหมายที่ตรงตัว ตรงกับเรื่อง หรือจะเรียกว่าตรงประเด็นกว่า  วินะยัง
พระคาถาชินบัญชรที่ปรากฏอยู่ในภาษาบาลีอักษรไทยนั้น มีแต่  วินะยัง  ยันตุ  ทั้งนั้น  ผมยังไม่เคยเห็นที่เป็น  วิละยัง  ยันตุ  เลย  ครั้นจะแก้  วินะยัง  ให้เป็น  วิละยัง  ก็เกรงใจครูบาอาจารย์  อีกทั้งความหมายก็ไม่ได้ขัดข้องเสียความแต่ประการใด ก็จึงยังคงเป็น  วินะยัง  อยู่ต่อไป
แต่ถ้าจะให้เดาใจกวีผู้รจนาแล้วละก็ ผมเชื่อว่าท่านตั้งใจจะแต่งว่า  วิละยัง  ยันตุ  ไม่ใช่  วินะยัง  ยันตุ  อย่างแน่นอน

๑๓.         วะสะโต  เม  สะกิจเจนะ                    สะทา   สัมพุทธะปัญชะเร 
ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ                        วิหะรันตัง   มะหีตะเล      
สะทา   ปาเลนตุ   มัง  สัพเพ              เต  มะหาปุริสาสะภา     

มะหีตะเล - มะฮีตะเล  (๑๓)

คำนี้ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลยถ้ารู้หลักอักขรวิธีง่ายๆ ของภาษาบาลี  นั่นก็คือ ในภาษาบาลีไม่มี  ฮ นกฮูก เหมือนกับที่ไม่มี  ด เด็ก ไม่มี  บ ใบไม้ หรือไม่มี  ซ โซ่  อะไรทำนองเดียวกันนั่นแหละ
ที่มักเขียนคำว่า  มะหีตะเล  เป็น  มะฮีตะเล  นั้น เกิดจากคนที่หัวใจกระดุกกระดิก เอารูปหรือเสียงในภาษาบาลีมาคิดความหมายตามรูปตามเสียงภาษาไทย  ทำนองเดียวกับคำที่พูดมาแล้วข้างต้น ที่ว่า  สุนักขัตตัง  บางคนเข้าใจไปว่า เกี่ยวข้องกับ  สุนัข (หมา)  หรือ  อะยัมภะทันตา  ก็มีคนเอาไปใช้ในความหมายที่ว่า  ทำผิดทำชั่วแล้วได้รับโทษรับทุกข์ทันตาเห็น
จึงขอได้โปรดทราบโดยทั่วกันว่า  มะหีตะเล  ต้องเขียนอย่างนี้ คือ  ห หีบ สระ อี  คำนี้ไม่ใช่คำไทย และไม่ได้มีความหมายเหมือนกับคำไทยที่เขียนอย่างเดียวกันนี้แต่ประการใดเลย  จึงไม่ควรทำหัวใจให้กระดุกกระดิกโดยไร้เหตุผล
คำว่า  มะหีตะเล  นี้ เวลาออกเสียง ผู้รู้ท่านออกเสียงว่า  มะฮีตะเล  แต่จะเอาไปเขียนแก้   หีบ ให้เป็น   นกฮูก ไปด้วยนั้น ผิดหลักภาษาบาลีครับ

                ๑๔.                อิจเจวะมันโต   สุคุตโต   สุรักโข              
                                                       ชินานุภาเวนะ   ชิตูปัททะโว                      
                                                       ธัมมานุภาเวนะ   ชิตาริสังโฆ                    
                                                       สังฆานุภาเวนะ   ชิตันตะราโย                 
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต                     จะรามิ   ชินะปัญชะเรติ.

ชิตูปัททะโวชิตุปัททะโว  (๑๔)

                คำนี้ประกอบด้วย  ชิต + อุปัททะโว      กับ  อุ  รวมกันเป็น  ตุ   ถ้าพูดตามวิธีประสมคำที่เราเคยเรียนกันมา เช่นว่า  ก  อะ  กะ   ก  อา  กา    ตรงนี้ก็ต้องว่า  ต  อุ  ตุ
แต่เรื่องยังไม่จบแค่นี้ เพราะหลักของการรวมกัน หรือที่เรียกเป็นศัพท์ทางไวยากรณ์ว่า  สนธิ ยังมีต่อไปอีกว่า    รวมกับ  อุ  เป็น  ตุ  แล้วต้อง ทีฆะสระหลังอีกด้วย  สระหลังในที่นี้ก็คือ  อุ   ทีฆะก็คือทำให้เสียงยาว  อุ  ก็ต้องเป็น  อู  เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็น  ต  อุ  ตุ  ก็ต้องเป็น  ต  อู  ตู
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลทางฉันทลักษณ์เข้ามาเสริมอีกด้วย  กล่าวคือ  ลำดับคำตรงนี้ต้องเป็นคำครุ หรือคำเสียงยาว  ตุ  เป็นคำลหุ หรือเสียงสั้น จึงใช้ไม่ได้  ต้องเป็นคำครุหรือเสียงยาวจึงจะใช้ได้ เพราะฉะนั้นคำนี้เป็น  ชิตูปัททะโว  จึงถูกต้องด้วยประการทั้งปวง

ตรงนี้ขออธิบายหลักฉันทลักษณ์ในภาษาบาลีพอให้อ่านพระคาถาชินบัญชรได้อย่างสบายใจสักเล็กน้อย ดังนี้
ได้กล่าวไว้ในตอนเริ่มต้นโน้นว่า  พระคาถาชินบัญชรแต่งเป็นคำกลอน ที่ในภาษาบาลีเรียกว่า  ฉันท์  หรือ  คาถา 
พระคาถาชินบัญชรบทที่ ๑ ถึงบทที่ ๑๓ เป็น ปัฐยาวัตรฉันท์
พระคาถาบทที่ ๑๔ เป็น อินทรวิเชียรฉันท์ ผสมกับ อุเปนทรวิเชียรฉันท์  คือบาทที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นอินทรวิเชียรฉันท์  ส่วนบาทที่ ๒ เป็นอุเปนทรวิเชียรฉันท์
และมี ปัฐยาวัตรฉันท์ ลงท้ายอีก ๒ บาท หรือกึ่งคาถา
ฉันท์บทหนึ่งจะต้องมี ๔ บาท หรือ ๔ วรรค  เรียกว่า คาถาหนึ่ง  จะแต่งสักกี่คาถาก็แล้วแต่ความประสงค์ จะแต่งไม่ครบ ๔ บาทก็ได้ แต่ต้องจบลงในบาทคู่ คือบาทที่ ๒  จะแต่งบาทเดียว หรือ ๓ บาทไม่ได้  พูดง่ายๆ ว่า ถ้าไม่ถึง ๔ บาท  ต้องเป็น ๒ บาท  เรียกว่า กึ่งคาถา  ถ้าเกิน ๔ บาท ก็ต้องเป็น ๖ บาท  ฉันท์ที่มี ๖ บาท เรียกว่า  คาถากึ่ง  คือคาถาหนึ่งกับอีกกึ่งคาถา
คำที่เอามาประกอบกันเป็นข้อความในฉันท์ต่างๆ นั้น ท่านแบ่งเป็นกลุ่ม  กลุ่มละ ๓ พยางค์ เรียกว่า  คณะ  มีอยู่ ๘ คณะ  มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะของเสียงสั้นยาว หรือที่เรียกว่า ครุลหุ ที่ประกอบกันเข้าเป็นคณะนั้นๆ เช่น
ถ้ามีคำเสียงยาว หรือครุ เรียงกันทั้ง ๓ พยางค์ เช่นภาษาไทยว่า   ไปไหนมา   เรียกว่า  ม คณะ (มะ คณะ)
ถ้ามีคำเสียงสั้น หรือลหุ ทั้ง ๓ พยางค์ เช่น   มุทะลุ   เรียกว่า น คณะ (นะ คณะ) อย่างนี้เป็นต้น
จะแต่งฉันท์ประเภทไหน ก็มีข้อกำหนดว่า ต้องใช้คณะฉันท์คณะนั้นคณะนี้ ตามจำนวนคำในแต่ละบาท
ปัฐยาวัตรฉันท์มีจำนวนคำบาทละ ๘ พยางค์ อินทรวิเชียรฉันท์และอุเปนทรวิเชียรฉันท์ มีจำนวนคำบาทละ ๑๑ พยางค์
ปัฐยาวัตรฉันท์ มีจำนวนคำบาทละ ๘ พยางค์นั้น แบ่งเป็นคณะฉันท์ได้ ๒ คณะ รวม ๖ พยางค์  ท่านกำหนดให้เริ่มตั้งแต่พยางค์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ (-๔ คณะหนึ่ง  ๕-๗ อีกคณะหนึ่ง)  จะใช้คณะฉันท์อะไรก็เป็นไปตามที่กำหนด (ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงกรายละเอียด เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำราแต่งฉันท์)  ส่วนพยางค์ที่ ๑ และที่ ๘ ให้ใช้คำได้อย่างอิสระ คือจะใช้คำเสียงยาว (ครุ) หรือเสียงสั้น (ลหุ) ก็ได้  เรียกกันว่า ครุลอย
ส่วนอินทรวิเชียรฉันท์และอุเปนทรวิเชียรฉันท์มีจำนวนคำบาทละ ๑๑ พยางค์ แบ่งเป็นคณะฉันท์ได้ ๓ คณะ รวม ๙ พยางค์  ท่านกำหนดให้เริ่มตั้งแต่พยางค์ที่ ๑ จะใช้คณะฉันท์อะไรบ้างก็เป็นไปตามที่กำหนดเช่นกัน  ที่เหลืออีก ๒ พยางค์ข้างท้ายกำหนดให้เป็น ครุลอย คือใช้คำเสียงยาว (ครุ) ทั้งสองคำ หรือคำสุดท้ายเสียงสั้น (ลหุ) ก็ได้
เพื่อเป็นทางลัดให้อ่านพระคาถาชินบัญชรได้อย่างเข้าใจลีลาของฉันท์  ผมขอเสนอวิธีสังเกตคำครุลหุของฉันท์ทั้งสองประเภทแบบง่ายๆ  ดังนี้

ปัฐยาวัตรฉันท์ บาทที่ ๑ และที่ ๓  สังเกตเฉพาะคำที่ ๕ ๖ ๗ จะเป็น สั้น ยาว ยาว
1             2            3            4            5สั้น       6ยาว       7ยาว       8
ตัณ         หัง          กะ           รา            ทะ           โย            พุท          ธา
สัพ          เพ           ปะ           ติฏ          ฐิ             ตา           มัย          หัง

ปัฐยาวัตรฉันท์ บาทที่ ๒ และที่ ๔  สังเกตเฉพาะคำที่ ๕ ๖ ๗ จะเป็น สั้น ยาว สั้น
1             2            3            4            5สั้น       6ยาว       7สั้น       8
อัฏ          ฐะ           วี             สะ           ติ             นา           ยะ           กา
มัต          ถะ           เก            เต            มุ             นิส          สะ           รา

ขอให้ลองเอาบทอื่นๆ มาเทียบดูอีก โดยปรกติจะเหมือนกันทุกแห่ง
ส่วนอินทรวิเชียรฉันท์ มีจำนวนคำบาทละ ๑๑ พยางค์ ทุกบาทจะมีตำแหน่งคำที่เป็นครุ (ยาว) ลหุ (สั้น)  ดังนี้

1ยาว       2ยาว       3สั้น       4ยาว       5ยาว       6สั้น       7สั้น       8ยาว       9สั้น  10ครุลอย   11ลอย
 อิจ          เจ            วะ           มัน          โต           สุ             คุต          โต           สุ             รัก           โข
 ธัม         มา           นุ             ภา           เว            นะ          ชิ             ตา           ริ              สัง           โฆ
 สัง          ฆา           นุ             ภา           เว            นะ          ชิ             ตัน          ตะ           รา            โย

                โปรดสังเกตว่า  บาทแรก  อิจเจวะมันโต ... ตรงคำลำดับที่ ๗ ซึ่งตามข้อกำหนดระบุว่า เป็นเสียงสั้น (ลหุ) แต่คำที่ท่านแต่ง กลับเป็นเสียงยาว (ครุ) คือ  คุต 
คราวนี้มาพินิจบาทที่ ๒ ของพระคาถาบทที่ ๑๔ นี้ซึ่งมีข้อความว่า  ชินานุภาเวนะชิตูปัททะโว  ว่าตามฉันทลักษณ์ท่านเรียกว่า  อุเปนทรวิเชียรฉันท์  มีตัวอย่างดังนี้

อสนฺถุต    จิรสนฺถุเตน
                                                มินาติ  โภตี  อธุว  ธุเวน
                                                มยาปิ  โภตี  นิมิเนยฺย  อ
                                                อิโต  อห  ทูรตร  คมิสฺส.
นางเอย  เธอนับถือเราผู้ไม่เคยเชยชิด
เสียยิ่งกว่าสามีที่เชยชิดมานาน
นับถือเราผู้ไม่ใช่ผัวเสียยิ่งกว่าผัว
ต่อไปเธอคงจะนับถือผู้อื่นยิ่งกว่าเรา
เราจักไปเสียให้ไกลจากที่นี้.

จูฬธนุคคหชาดก ปัญจกนิบาต
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๘๑๙

ทุกบาทมีตำแหน่งคำที่เป็นครุ (ยาว) ลหุ (สั้น) ดังนี้

1สั้น       2ยาว       3สั้น       4ยาว       5ยาว       6สั้น       7สั้น       8ยาว       9สั้น  10ครุลอย   11ลอย
 อะ         สัน          ถุ             ตัง           มัง           จิ              ระ           สัน          ถุ             เต            นะ
 มิ            นา           ติ             โภ           ตี             อะ           ธุ             วัง           ธุ             เว            นะ
 มะ         ยา            ปิ             โภ           ตี             นิ             มิ             เนย         ยะ           อัญ          ญัง
 อิ            โต           อะ           หัง          ทู             ระ           ตะ           รัง           คะ           มิส          สัง

                คราวนี้ดูของจริงในพระคาถาชินบัญชรบทที่ ๑๔ บาทที่ ๒

1สั้น       2ยาว       3สั้น       4ยาว       5ยาว       6สั้น       7สั้น       8ยาว       9สั้น  10ครุลอย   11ลอย
  ชิ           นา           นุ             ภา           เว            นะ          ชิ             ตู             ปัท          ทะ           โว

โปรดสังเกตว่าบาทที่ ๒ นี้ที่ว่าเป็นอุเปนทรวิเชียรฉันท์ ตรงคำลำดับที่ ๙ ซึ่งตามข้อกำหนดระบุว่า เป็นเสียงสั้น (ลหุ) แต่คำที่ท่านแต่ง กลับเป็นเสียงยาว (ครุ) คือ ปัท  และตรงคำลำดับที่ ๑๐ ตามข้อกำหนดระบุว่า เป็นครุลอย ซึ่งในที่นี้หมายถึงคำครุ (เสียงยาว) ที่ไม่ได้จัดเข้ากลุ่มเป็นคณะฉันท์ ท่านก็แต่งเป็นคำลหุ (เสียงสั้น) คือ ทะ
พูดง่ายๆ ว่า คำที่ ๙ กับ ๑๐ ต้องเป็น สั้น ยาว แต่ท่านแต่งกลับกันเป็น ยาว สั้น
ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ผิดฉันทลักษณ์ หรือ ผิดคณะฉันท์ ว่ากันตรงๆ ก็ต้องว่าเป็นข้อด้อย หรือเป็นความบกพร่องอย่างหนึ่ง  แต่ผู้มีใจนอบน้อมต่อบูรพาจารย์ไม่ควรคิดเช่นนั้นเลย ต้องคิดว่า กวีย่อมเป็นนายของภาษา คือท่านย่อมมีอิสระในการใช้ถ้อยคำตามที่ท่านเห็นสมควร นั่นคือท่านย่อมมีอิสระในการที่จะ แหวกกฎได้บ้างเป็นธรรมดา  คิดอย่างนี้แล้วเราจะสบายใจ และสวดพระคาถาชินบัญชรได้ด้วยจิตที่เป็นกุศลอย่างแท้จริง


ชินบัญชรฉบับฉีกศัพท์

เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง เป็นเอกสารอัดสำเนาเย็บเล่ม ที่ปกเขียนว่า คู่มือพิธีการและบทสวดมนต์ โครงการไหว้พระเสริมสิริมงคลจังหวัดราชบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง  เนื้อในระบุว่า วนิดา ตรีสวัสดิ์ รวบรวมและเรียบเรียง
ในเล่มมีพระคาถาชินบัญชรอยู่ด้วย แต่เขียนแบ่งวรรคตอนแบบแปลกประหลาดผิดกว่าฉบับทั่วๆ ไป ผมขอยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ดังนี้

ชะยา  สะนา  กะตา  พุทธา                 เชตะวา  มารัง  สะวา  หะนัง            
จะตุ  สัจจา  สะภัง  ระสัง                   เย  ปิวิงสุ  นะรา  สะภา      

                ตัณหังกะราทะโย  พุทธา                    อัฏฐะวีสะติ  นา  ยะกา                      
สัพเพ  ปะติฏฐิตา  มัยหัง                   มัตถะเก  เต  มุนิส  สะรา

                สีเส  ปะติฏฐิโต  มัยหัง                       พุทโธ  ธัมโม  ทวิโล  จะเน                
สังโฆ  ปะติฏฐิโต  มัยหัง                    อุเร  สัพพะคุณา  กะโร

                หะทะเย   เม   อะนุรุทโธ    สารีปุตโต  จะ  ทักขิเณ                      
โกณฑัญโญ  ปิฏฐิภา  คัสมิง              โมคคัลลาโน  จะวา  มะเก

                     ทักขิเณ  สะวะเน  มัยหัง                    อาสุง  อานันทะราหุโล      
กัสสะโป  จะมะหา  นาโม   อุภาสุง  วามะโส  ตะเก

            จะเห็นได้ว่า ข้อความก็เหมือนฉบับทั่วๆ ไป (รวมทั้งตรงที่เป็นคำผิด ก็ยังผิดเหมือนกับฉบับทั่วไปด้วย) แต่ฉบับนี้แบ่งวรรคแยกคำแปลกแหวกแนวไปจากฉบับอื่นๆ  ผมไม่ทราบว่าท่านผู้รวบรวมและเรียบเรียงคิดทำขึ้นเอง หรือไปได้แบบฉบับอย่างนี้มาจากไหน
                ขอได้โปรดทราบทั่วกันก่อนว่า การแบ่งวรรค แยกคำ ฉีกศัพท์ ในพระคาถาชินบัญชรตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ถูกต้อง ผิดหลักภาษาบาลี และที่สำคัญมากก็คือ ไม่ควรที่จะเผยแพร่เป็นอย่างยิ่ง  ถ้าพิมพ์ออกมาอย่างนี้แล้วไม่มีใครทักท้วง  พระคาถาชินบัญชรจะเลอะเทอะจนไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรเหลืออยู่อีกต่อไป

                พระคาถาชินบัญชรเป็นภาษาบาลี ภาษาบาลีนั้นนักนิรุกติศาสตร์ท่านจัดอยู่ในตระกูล Indo-European  คือภาษาที่ใช้กันอยู่ในชมพูทวีปและทวีปยุโรป (ชมพูทวีป คืออินเดีย รวมทั้งชาติที่เราเรียกรวมๆ ว่า พวกแขก  ยุโรป ก็คือที่เราเรียกรวมๆ ว่า พวกฝรั่ง)
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้อยคำในภาษาบาลีมีหลักเกณฑ์หลายอย่างที่คล้ายกับภาษาของชาวยุโรป เช่นภาษาอังกฤษเป็นต้น หลักข้อหนึ่งก็คือ ภาษาบาลีเขียนแยกคำเป็นคำๆ เช่น  นโม  ตสฺส (นะโม  ตัสสะ) นโม ก็คำหนึ่ง  ตสฺส ก็แยกเป็นอีกคำหนึ่ง  ถ้าไปเขียนติดกันเป็น  นโมตสฺส  ความหมายก็จะคลาดเคลื่อนไปอีกอย่างหนึ่ง เทียบกับภาษาอังกฤษ เช่น the กับ sun ก็เขียน the  sun  คือแบ่งวรรคระหว่าง the กับ sun  ไม่ใช่เขียนติดกันเป็น thesun หรือในทางกลับกัน คำว่า  season  ถ้าไปเขียนแยกเป็น  sea  คำหนึ่ง  son  คำหนึ่ง ความหมายก็จะกลายไปเป็นอีกอย่างหนึ่งทันที
ขอให้ลองเทียบกับภาษาไทย จะเข้าใจชัดขึ้น ภาษาไทยเราไม่ได้เขียนแยกเป็นคำๆ แบบนั้น เช่น  
เรา   ไม่   ได้   เขียน   แยก   เป็น   คำ ๆ 
แต่เราเขียนติดกันเป็น - เราไม่ได้เขียนแยกเป็นคำๆ

ถ้าท่านไปเห็นตัวหนังสือฝรั่งเขียนว่า  
LON   GLI   VET   HEK   ING  
อย่างนี้ ท่านจะสามารถอ่านและทราบความหมายได้หรือไม่ ?
ผมเชื่อว่า แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งก็จะต้องสงสัยว่าเป็นภาษาของชาติไหน อ่านว่าอย่างไร หรือถ้าอ่านได้ก็คงไม่ทราบว่าจะแปลว่าอะไร
แต่ถ้าเราเอาตัวหนังสือฝรั่งข้างต้นนั้นมาเขียนแบ่งวรรคแยกคำเสียใหม่ เป็น
LONG   LIVE   THE   KING  
คราวนี้ แม้เราไม่ใช่ฝรั่ง แต่ก็คงพอจะคุ้นตาอยู่บ้าง และรู้ว่าอักษรฝรั่งข้างต้นโน้น ที่แท้ก็คือภาษาอังกฤษ อ่านว่า ลอง ลีฟ เดอะ คิง แปลว่า ขอพระเจ้าอยู่จงทรงพระเจริญ นี่เอง แต่เพราะแยกคำแบ่งวรรคผิด จึงไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร และแปลว่าอะไร
ภาษาอังกฤษตามตัวอย่างนี้ ฉันใด พระคาถาชินบัญชรที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างข้างต้นก็ฉันนั้นแหละครับ
เห็นได้ชัดว่า ผู้ที่จัดการแยกคำในพระคาถาชินบัญชรฉบับนี้ไม่ได้มีความรู้ภาษาบาลีเลย แต่จัดการแยกศัพท์แยกคำเอาตามที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะใจ โดยอาจจะถือเอาจังหวะสวดที่เคยได้ฟังมา หรือที่ตนสวดเอง ว่าหยุดตรงพยางค์นั้นๆ แล้วก็เลยแบ่งวรรคแยกคำให้เป็นแบบนั้น แต่ขอได้โปรดทราบว่า ภาษาบาลีมิได้ใช้เกณฑ์แบบนั้นในการแยกศัพท์แบ่งคำหรอกครับ 
การจะรู้ว่าคำไหนต้องเขียนแยกกัน หรือคำไหนต้องเขียนติดกันนั้น ต้องเรียนจึงจะรู้ครับ บอกกันสั้นๆ ตรงนี้ไม่ได้ เว้นแต่ใครคิดจะจำเอาเป็นคำๆ ไป ก็อาจจะพอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นบางเรื่อง แต่ถ้าไปเจอคำที่ไม่เคยเห็น ก็จะยังคงไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่มีศรัทธาพิมพ์พระคาถาชินบัญชรแจกจ่ายนั้น ส่วนมากมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) ไม่มีความรู้ภาษาบาลี แม้แต่ภาษาบาลีในพระคาถาชินบัญชรนั่นเอง
(๒) ไม่มีความปรารถนาที่จะศึกษาเรียนรู้
(๓) ไม่พยายามที่จะปรึกษาสอบถามผู้ที่รู้ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
ได้ต้นฉบับมาอย่างไร หรือชอบใจฉบับไหน ก็พิมพ์ไปตามฉบับนั้น คำไหนผิดถูกอย่างไร ไม่รับทราบ ทราบอยู่อย่างเดียวว่าพระคาถาชินบัญชรนั้นขลังและศักดิ์สิทธิ์ และการพิมพ์หนังสือสวดมนต์หรือหนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทานนั้นได้บุญมาก เชื่อและยึดถืออยู่แค่นี้เท่านั้น
ฝ่ายท่านที่ได้รับหนังสือเล่มนั้นไป ส่วนมากก็จะมีคุณสมบัติแบบเดียวกับท่านผู้ที่มีศรัทธาพิมพ์แจกดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง แต่เพิ่มเข้าไปอีกข้อหนึ่ง คือ
(๔) ยึดถือตามตัวหนังสือที่ได้มาอย่างเหนียวแน่น
คือ เชื่อมั่นว่าถ้อยคำตามที่พิมพ์ไว้ในหนังสือนั้นถูกต้องแล้ว ต้องสวดหรือต้องว่าไปตามนั้น ใครทักท้วงก็จะเถียงว่า ก็หนังสือเขาว่าอย่างนั้น ถ้าผิดเขาจะพิมพ์ออกมาได้หรือ
                เพราะฉะนั้น การพิมพ์หนังสือสวดมนต์หรือหนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทานนั้นได้บุญมากก็จริง แต่สิ่งที่เราลืมบอกไปด้วย ก็คือ ถ้าหนังสือเล่มนั้นเขียนผิดมาก ก็ได้บาปมากด้วยเช่นกัน โทษฐานเผยแผ่เรื่องผิดคำผิดให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นครับ
ถ้าเราช่วยกันบอกเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย ผมชื่อว่าทั้งท่านผู้มีศรัทธาจะพิมพ์ และท่านที่มีหน้าที่จัดทำต้นฉบับ ก็คงจะเข้มงวดกวดขันเรื่องความถูกต้องกันมากขึ้น อย่างน้อยเราก็คงจะได้ยินคำถาม หรือการตั้งข้อสงสัยก่อนพิมพ์กันมากขึ้นว่า ต้นฉบับที่จะเอามาพิมพ์นี่ ตรวจสอบถูกต้องแล้วหรือยัง ?


ข้อเสนอแนะ

                พระคาถาชินบัญชรเป็นมนต์ที่มีผู้นิยมสวดกันแพร่หลาย แต่มีผู้พินิจไว้ไม่มากและไม่แพร่หลาย หมายความว่า มีแต่ผู้นิยมสวด แต่ไม่ค่อยมีผู้พินิจพิจารณา หรือสนใจใคร่รู้ถึงความเป็นมา ถ้อยคำสำนวน ตลอดจนความหมายในบทพระคาถา
ส่วนมากแล้วได้ฉบับพิมพ์มาจากที่ไหนก็สวดตามนั้นไป จะผิดจะถูกตรงไหนอย่างไร ไม่สำคัญ หรือคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือไม่ก็มอบความไว้วางใจให้กับหนังสือเล่มนั้นโดยอ้างว่าคงมีผู้รู้ตรวจสอบมาแล้วเป็นอย่างดี หรือไม่ก็อ้างว่า ถ้าไม่ถูกต้องเขาจะพิมพ์ออกมาได้อย่างไร
อย่างดีขึ้นมาหน่อยก็ตั้งข้อสงสัยว่า ฉบับนั้นว่าอย่างนี้ ฉบับนี้ว่าอย่างนั้น แล้วอันไหนถูกกันแน่  เสร็จแล้วก็มักจะไม่มีคำตอบ หรือไม่สนใจที่จะฟังคำตอบหรือหาคำตอบต่อไป
เรียกว่า มีแต่ศรัทธา  แต่ไม่ค่อยอยากมีปัญญา

พระพุทธศาสนาสอนไว้นักหนาว่า ศรัทธากับปัญญานั้นต้องมีให้สมดุลกัน
ถ้าศรัทธาเกินปัญญา ก็จะเชื่องมไปโดยไม่ต้องคิดถึงเหตุผล
ถ้าปัญญาเกินศรัทธา ก็จะปฏิเสธตะพึดไป ไม่เอาอะไรหมด
แต่ถ้าศรัทธากับปัญญาได้ส่วนกันดี ก็จะเชื่อจะทำอย่างมีเหตุผล
ความมีเหตุผลก็ไปหนุนให้ศรัทธามั่นคงยิ่งขึ้น
ศรัทธาที่มั่นคงก็จะเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญาต่อไปอีก
การกระทำ คำพูด และความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานคือศรัทธาและปัญญาที่มั่นคงอย่างนี้ ย่อมจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

มีผู้รู้ได้พินิจพระคาถาชินบัญชรไว้หลายแง่มุม เท่าที่พอจะระลึกได้ในขณะนี้ก็คือ
. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เคยทรงนิพนธ์ถึงความเป็นมาของพระคาถาชินบัญชร พร้อมทั้งทรงชำระตรวจสอบไว้ตั้งแต่เมื่อยังมิได้ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช บทพระนิพนธ์นั้นผมเคยได้อ่าน แต่ไม่แน่ใจว่าลงพิมพ์ในนิตยสารธรรมจักษุ หรือพุทธจักร อะไรนี่แหละ ดูเหมือนว่ามีบางตอนในบทพระนิพนธ์นั้นที่บอกว่า พระคาถาชินบัญชรนั้นมาจากลังกา และมีบางส่วนอยู่ในอาฏานาฏิยสูตร หรือพระสูตรอะไรสักสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกด้วย
ความท่อนท้ายนี้ยังไม่ขอยืนยัน
. ท่านอาจารย์ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง ก็เคยวิเคราะห์พระคาถาชินบัญชรไว้ ผมจำได้ว่า ตรงคำที่ว่า  วาตะปิตตาทิสัญชาตา  นั้น ท่านอาจารย์แย้มบอกว่าต้องเป็น วาละมิคาทิสัญชาตา  บทวิเคราะห์ของท่านพิมพ์เผยแพร่ในหนังสืออะไร ผมจำไม่ได้เสียแล้ว
. ท่านอาจารย์ พร รัตนสุวรรณ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่เคยวิเคราะห์พระคาถาชินบัญชร ดูเหมือนจะพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารที่ชื่อ วิญญาณ หรืออะไรนี่แหละ แต่รู้สึกว่าแนวความคิดในการวิเคราะห์ของท่านนั้นท่านจะบอกว่าได้มาจากการเข้าทรงติดต่อกับสมเด็จโต หรืออะไรคล้ายๆ อย่างนี้ ผมเคยได้อ่าน และจำได้ว่าที่ว่า  สีเส  ต้องเป็น  สีเล   มุนิสสะรา  ต้องเป็น  มะนุสสะรา  ก็มาจากแนววิเคราะห์ของท่านอาจารย์พรนี่แหละ
. หนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่ง คือ รัตนบัญชร ผมเคยอ่านที่หอสมุดแห่งชาติ  เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ จะเป็นหนังสือของหอสมุดแห่งชาติหรือหนังสือส่วนตัวของท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งที่ทำงานอยู่ที่นั่น ก็ไม่แน่ใจ และดูเหมือนจะเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่ก็ภาษามอญหรือพม่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แน่ๆ คือไม่ใช่ภาษาไทย  แต่ภาษาบาลีที่เป็นตัวพระคาถาชินบัญชร ซึ่งในหนังสือนั้นเรียกเป็น รัตนบัญชร นั้นผมค่อนข้างแน่ใจว่าพิมพ์เป็นอักษรโรมัน  หนังสือเล่มนี้แหละที่ผมบอกว่าเป็นพระคาถาชินบัญชรฉบับพม่า

ในขณะที่เขียนบทพินิจพระคาถาชินบัญชรนี้ ผมไม่มีแหล่งข้อมูลที่เอ่ยถึงทั้ง ๔ เรื่องนี้อยู่ในมือเลยแม้แต่เรื่องเดียว เป็นการเขียนจากความจำและเขียนไปตามความรู้ความเข้าใจของตัวเองล้วนๆ ซึ่งอาจไม่ถูก หรือไม่ตรงกับที่ผู้รู้ท่านได้แสดงไว้ในที่นั้นๆ เลยก็เป็นได้
ข้อเสนอแนะ ของผมก็คือ  ขอเชิญชวนท่านที่นิยมเลื่อมใสพระคาถาชินบัญชร ที่มีสติปัญญา มีกำลัง มีโอกาส หรือมีความสามารถทางใดทางหนึ่ง ได้โปรดช่วยกันเสาะหาข้อมูลที่ผมเอ่ยถึงทั้ง ๔ เรื่องนั้น หรือแม้กระทั่งท่านผู้ใดได้พบเห็นว่ามีท่านผู้รู้ได้เอ่ยถึงเรื่องพระคาถาชินบัญชรไว้ในที่ไหนอีก ก็ขอให้ช่วยกันบอกกล่าว หรือรวบรวมมาไว้เป็นข้อมูลในที่เดียวกัน แล้วช่วยกันศึกษา วิเคราะห์ พินิจพิจารณา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางและถูกต้องตรงตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวท่านผู้เลื่อมใสศรัทธาพระคาถาชินบัญชรนั้นเอง และแก่เพื่อนมนุษย์อื่นๆ อีกเป็นอันมาก

ขออนุโมทนาต่อท่านที่มีจิตเป็นกุศลไว้  ณ  ที่นี้ด้วย

---------------

กรกฎาคม ๒๕๕๔

No comments:

Post a Comment