Saturday, August 13, 2011

31.พระอสีติมหาสาวก

พระอสีติมหาสาวก
(พระอรหันต์ ๘๐ องค์)
(เรียงตามลำดับอักษร)



1 กังขาเรวตะ                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นบุตรของตระกูลที่มั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดง มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมาได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้ยินดีในฌานสมาบัติ


2 กัปปะ                     พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
กัปปมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๑๐) ว่า 
             ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์  ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งธรรมอันเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย  ผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้ว  ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ในท่ามกลางสาครเมื่อคลื่นเกิดแล้วมีภัยใหญ่ ฉะนั้น  อนึ่ง  ขอพระองค์จงตรัสบอกที่พึ่งแก่ข้าพระองค์โดยอุบายที่ทุกข์นี้ไม่พึงมีอีกเถิด 
              พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนกัปปะ   เราจะบอกธรรมอันเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้ว  ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ในท่ามกลางสาครเมื่อคลื่นเกิดแล้วมีภัยใหญ่  แก่ท่าน    ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล  ไม่มีความถือมั่น  นี้เป็นที่พึ่ง  หาใช่อย่างอื่นไม่  เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมรณะว่านิพพาน  ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว  มีสติ  มีธรรมอันเห็นแล้ว   ดับกิเลสได้แล้ว  ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร   ไม่เดินไปในทางของมาร
                กัปปมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง 


3 กาฬุทายี                     อำมาตย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นสหชาติและเป็นพระสหายสนิทของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์  พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ กาฬุทายีไปเฝ้าพระศาสดาที่กรุงราชคฤห์ ได้ฟังพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตผล อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส


4 กิมพิละ                      เจ้าศากยะองค์หนึ่ง ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ ได้สำเร็จอรหัต และเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในจำนวน ๘๐


5 กุมารกัสสปะ                  พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ คลอดเมื่อมารดาบวชเป็นภิกษุณีแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ทารกนั้นได้นามว่า กัสสปะ ภายหลังเรียกกันว่า กุมารกัสสปะ เพราะท่านเป็นเด็กสามัญ แต่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างราชกุมาร ท่านอุปสมบทในสำนักของพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรมวิจิตร


6 กุณฑธานะ                     พระเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ก็มีรูปหญิงคนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลาจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไป ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในการถือเอาสลากเป็นปฐม  ชื่อของท่านในที่บางแห่งเป็น โกณฑธานะ


7 คยากัสสปะ                     นักบวชชฎิลแห่งกัสสปโคตรตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลคยาสีสะเป็นน้องชายคนเล็กของอุรุเวลกัสสปะ ออกบวชตามพี่ชาย พร้อมด้วยชฎิล ๒๐๐ ที่เป็นบริวาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร บรรลุพระอรหัตและเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก


8 ควัมปติ                      ชื่อกุลบุตรผู้เป็นสหายของพระยสะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ได้ทราบข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชจึงบวชตามพร้อมด้วยสหายอีกสามคน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ต่อมาได้สำเร็จพระอรหัตทั้งหมด


9 จุนทะ                        พระเถระผู้ใหญ่ชั้นมหาสาวก เป็นน้องชายของพระสารีบุตร เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ และเป็นผู้นำอัฐิธาตุของพระสารีบุตรจากบ้านเกิดที่ท่านปรินิพพานมาถวายแด่พระพุทธองค์ที่พระเชตวัน

10 จูฬปันถกะ                    พระมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก เป็นบุตรของธิดาเศรษฐีกรุงราชคฤห์ และเป็นน้องชายของมหาปันถกะ ออกบวชในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่ามีปัญญาทึบอย่างยิ่ง พี่ชายมอบคาถาเพียง ๑ คาถาให้ท่องตลอดเวลา ๔ เดือน ก็ท่องไม่ได้ จึงถูกพี่ชายขับไล่ เสียใจคิดจะสึก พอดีพบพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสปลอบแล้วประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ไปลูบคลำพร้อมทั้งบริกรรมสั้นๆ ว่า "รโชหรณํ ๆ ๆ" ผ้านั้นหมองเพราะมือคลำอยู่เสมอ ทำให้ท่านมองเห็นไตรลักษณ์ และได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความชำนาญแคล่วคล่องในอภิญญา ๖ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏฏ์; ชื่อท่านเรียกง่ายๆ ว่า จูฬบันถก, บางแห่งเขียนเป็น จุลลบันถก


11 ชตุกัณณี                 พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
ชตุกัณณีมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๑๑) ว่า
             ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร  ข้าพระองค์ได้ฟังพระองค์ผู้ไม่ใคร่กาม  จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ล่วงห้วงน้ำคือกิเลสเสียได้  ไม่มีกาม  ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตรคือพระสัพพัญญุตญาณเกิดพร้อมแล้ว  ขอพระองค์ตรัสบอกทางสันติ  ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ขอพระองค์จงตรัสบอกทางสันตินั้นแก่ข้าพระองค์ตามจริงเถิด  เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีเดช  ครอบงำกามทั้งหลายเสียแล้วด้วยเดช  เหมือนพระอาทิตย์มีเดชคือรัศมี ครอบงำปฐพีด้วยเดชไปอยู่ในอากาศฉะนั้น  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติละชรา  ณ  ที่นี้ ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง  แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนชตุกัณณี  ท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว  จงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายออกเสียให้สิ้นเถิด  อนึ่ง กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้แล้วด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิ ซึ่งควรจะปลดเปลื้องเสีย  อย่ามีแล้วแก่ท่าน  กิเลสเครื่องกังวลใดได้มีแล้วในกาลก่อน  ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งเสียเถิด  กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่าน  ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลางไซร้  ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป  ดูก่อนพราหมณ์  เมื่อท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้งปวง  อาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน 
                ชตุกัณณีมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสวกองค์หนึ่ง


12 ติสสเมตเตยยะ                            พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรีที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดาที่ปาสาณเจดีย์
ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๒) ว่า 
             ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้  ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร  ใครรู้ส่วนทั้งสองคืออดีตกับอนาคตแล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางคือปัจจุบัน ด้วยปัญญา  พระองค์ตรัสสรรเสริญใครว่าเป็นมหาบุรุษ  ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนเมตเตยยะ  ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์  มีตัณหาปราศไปแล้ว  มีสติทุกเมื่อ  พิจารณาเห็นธรรมแล้ว  ดับกิเลสได้แล้ว  ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้  ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น  ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา  เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ  ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้เสียได้ 
                ติสสเมตเตยยมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


13 โตเทยยะ                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรีที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
โตเทยยมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๙) ว่า
ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย  ไม่มีตัณหา  และข้ามความสงสัยได้แล้ว  ความพ้นวิเศษของผู้นั้นเป็นอย่างไร 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนโตเทยยะ   ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย  ไม่มีตัณหา  และข้ามความสงสัยได้แล้ว  ความพ้นวิเศษอย่างอื่นของผู้นั้นไม่มี 
             โต.    ผู้นั้นไม่มีความปรารถนาหรือยังปรารถนาอยู่  ผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญาหรือยังเป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่  ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ  ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งมุนีได้อย่างไร    ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ  ขอพระองค์จงตรัสบอกมุนีนั้นให้แจ้งชัดแก่ข้าพระองค์เถิด 
พระ.   ดูก่อนโตเทยยะ  ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา  และไม่เป็นผู้ปรารถนาอยู่ด้วย  ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา  มิใช่เป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ด้วย  ท่านจงรู้จักมุนีว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลไม่ข้องอยู่แล้วในกามและภพแม้อย่างนี้ 
โตเทยยมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


14 ทัพพมัลลบุตร                 พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช เมื่อพระชนม์ ๗ พรรษา มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้บรรพชาเป็นสามเณร เวลาปลงผม พอมีดโกนตัดกลุ่มผมครั้งที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จก็ได้บรรลุพระอรหัต ท่านรับภาระเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ในตำแหน่งเสนาสนปัญญาปกะ (ผู้ดูแลจัดสถานที่พักอาศัยของพระ) และภัตตุเทศก์ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาเสนาสนปัญญาปกะ


15 โธตกะ                     พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
โธตกมาณพได้ทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๕) ว่า
             ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์  ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด  ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่  ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งพระวาจาของพระองค์  ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้วพึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนโธตกะ  ถ้าเช่นนั้นท่านจงมีปัญญารักษาตน  มีสติ  กระทำความเพียร        ในศาสนานี้เถิด  ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว  พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด 
             โธ.  ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์หากังวลมิได้  ทรงยังพระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก  ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ  เพราะเหตุนั้น  ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์  ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ  ขอพระองค์จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด 
             พระ.  ดูก่อนโธตกะ  เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ  ผู้ยังมีความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้  ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐอยู่  จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้ 
             โธ.  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม  ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่งสอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลส  ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง  และขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอนไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่เหมือนอากาศเถิด  ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ  จะพึงเป็นผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป 
             พระ.  ดูก่อนโธตกะ  เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน  ในธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน  ที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ  พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ  ในโลกเสียได้ 
             โธ.  ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่  ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุด  ที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้ว  เป็นผู้มีสติ  พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ  ในโลกเสียได้ 
             พระดูก่อนโธตกะ  ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง  ทั้งในส่วนเบื้องบน  (คืออนาคตทั้งในส่วนเบื้องต่ำ  (คืออดีตแม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง  (คือปัจจุบันท่านรู้แจ้งสิ่งนั้นว่าเป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกอย่างนี้แล้ว  อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย 
                โธตกมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


16 นทีกัสสปะ                     นักบวชชฎิลแห่งกัสสปโคตร น้องชายของอุรุเวลกัสสปะ พี่ชายของคยากัสสปะ ออกบวชตามพี่ชาย พร้อมด้วยชฎิลบริวาร ๓๐๐ คน สำเร็จอรหัตด้วยฟังอาทิตตปริยายสูตร เป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก


17 นันทะ ๑                    พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางปชาบดีโคตมี ได้ออกบวชในวันมงคลสมรสกับนางชนปทกัลยาณี เบื้องแรกประพฤติพรหมจรรย์อยู่ด้วยความจำใจ แต่ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยอุบาย จนพระนันทะเปลี่ยนมาตั้งใจปฏิบัติธรรม และในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัตผล ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์ พระนันทะมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธเจ้า แต่ต่ำกว่าพระพุทธองค์ ๔ นิ้ว


18 นันทะ  ๒                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
                นันทมาณพทูลถามปัญหาเป็นลำดับที่ ๗ (รายละเอียดของ
คำถามและคำตอบ โปรดดูในตอน ประวัติพระอรหันต์)
                นันทมาณพฟังธรรมแล้ว บรรลุอรหัตผล อุปสมบทแล้วเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


19 นันทกะ                       พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลผู้ดีมีฐานะในพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส ขอบวช เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความสามารถในการแสดงธรรมจนเป็นที่เลื่องลือ ครั้งหนึ่งท่านแสดงธรรมแก่นางภิกษุณี ปรากฏว่านางภิกษุณีได้สำเร็จพระอรหัตถึง ๕๐๐ องค์ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี


20 นาคิตะ                       พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ มีพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ท่านเกี่ยวกับเนกขัมมสุข ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ๒-๓ แห่ง


21 นาลกะ                        หลานชายของอสิตดาบส ออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏิปทา และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพพานในป่าหิมพานต์นั้นเอง; ท่านจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวกด้วย


22 ปิงคิยะ                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๑๖) ว่า
             ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว  มีกำลังน้อย  ผิวพรรณเศร้าหมอง   นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส  (เห็นไม่จะแจ้งหูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก  ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลง  ฉิบหายเสียในระหว่างเลย  ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้  ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เสียเถิด 
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนปิงคิยะ  ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่เพราะรูปทั้งหลายแล้ว  ยังเป็นผู้ประมาท ก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย  ดูก่อนปิงคิยะ  เพราะเหตุนั้นท่านจงเป็นคนไม่ประมาท  ละรูปเสียเพื่อความไม่เกิดอีก   
ปิงคิยะทูลถามอีกว่า ทิศใหญ่สี่  ทิศน้อยสี่  ทิศเบื้องบน  ทิศเบื้องต่ำ  รวมเป็นสิบทิศ  สิ่งไรๆ  ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง  ไม่ได้ทราบหรือไม่ได้รู้แจ้งมิได้มี  ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้  เป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เถิด 
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   ดูก่อนปิงคิยะ  เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้วเกิดความเดือดร้อน  อันชราถึงรอบข้าง  ดูก่อนปิงคิยะ  เพราะเหตุนั้น  ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละ  ตัณหาเสีย  เพื่อความไม่เกิดอีก 
                ปิงคิยมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


23 ปิณโฑลภารทวาชะ                             พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ภารทวาชโคตร ในพระนครราชคฤห์ เรียนจบไตรเพท ออกบวชในพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จพระอรหัต เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา มักเปล่งวาจาว่า "ผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยในมรรคก็ดี ผลก็ดี ขอผู้นั้นจงมาถามข้าพเจ้าเถิด" พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางบันลือสีหนาท, ท่านเป็นต้นบัญญัติแห่งสิกขาบท ซึ่งห้ามภิกษุ มิให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นอุตตริ-  มนุสสธรรม แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย และสิกขาบท ซึ่งห้ามภิกษุ มิให้ใช้บาตรไม้ (ทั้งสองสิกขาบทนี้ ทรงบัญญัติในโอกาสเดียวกัน โดยทรงปรารภกรณีเดียวกัน วินย.๗/๓๓/๑๖)


24 ปิลินทวัจฉะ                  พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์วัจฉโคตร ในเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใสออกบวชในพระพุทธศาสนา เจริญวิปัสสนาแล้วได้บรรลุอรหัตผล ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นที่รักของพวกเทวดา

25 ปุณณกะ                    พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
ปุณณกมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๓) ว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มีความหวั่นไหว  ผู้ทรงเห็นรากเง่ากุศลและอกุศล  สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้  คือ  ฤๅษี  กษัตริย์   พราหมณ์  เป็นอันมาก  อาศัยอะไรจึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย  ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์  ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด 
                พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า  ดูก่อนปุณณกะ  สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากในโลกนี้  คือ  ฤๅษี  กษัตริย์  พราหมณ์  ปรารถนาความเป็นมนุษย์เป็นต้น  อาศัยของมีชราจึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย 
             ปุณ.    สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากในโลกนี้  คือ  ฤๅษี  กษัตริย์  พราหมณ์  บูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์  สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้นเป็นคนไม่ประมาทในยัญ  ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างแลหรือ  ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์  ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด 
             พระ.    ดูก่อนปุณณกะ  สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้นย่อมมุ่งหวัง  ย่อมชมเชย  ย่อมปรารถนา  ย่อมบูชา  ย่อมรำพันถึงกามก็เพราะอาศัยลาภ  เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบการบูชา  ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ  ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ 
             ปุณ.     ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์  ถ้าหากว่าสัตว์เหล่านั้นผู้ประกอบการบูชา  ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ด้วยยัญวิธีทั้งหลายไซร้  เมื่อเป็นเช่นนี้  ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลกข้ามพ้นชาติและชราไปได้ในบัดนี้  ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์  ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด 
             พระ.     ดูก่อนปุณณกะ  ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหนๆ  เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก   ผู้นั้นสงบแล้ว  ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมองดุจควันไฟ  ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต  หาความปรารถนามิได้  เรากล่าวว่าผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้แล้ว 

                ปุณณกมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง



26 ปุณณชิ                       บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี เป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือวิมละ สุพาหุ และควัมปติ ได้เป็นองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก


27 ปุณณมันตานีบุตร                            พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเดิมชื่อปุณณะ เป็นบุตรของนางมันตานี ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ ในแคว้นศากยะที่เป็นชาติภูมิของพระพุทธเจ้า เป็นหลานของพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรพชาเมื่อพระเถระผู้เป็นลุงเดินทางมายังเมืองกบิลพัสดุ์ บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัตผล เป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักกถาวัตถุ ๑๐ และสอนศิษย์ของตนให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาพระธรรมกถึก หลักธรรมเรื่องวิสุทธิ ๗ ก็เป็นภาษิตของท่าน


28 ปุณณสุนาปรันตะ (ปุณณสุนาปรันตกะ)                 พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ในจำนวนอสีติมหาสาวก ชื่อเดิมว่า ปุณณะ เกิดที่เมืองท่า ชื่อ สุปปารกะ ในแคว้นสุนาปรันตะ เกิดที่เมืองท่า ชื่อ สุปปารกะ ในแคว้นสุนาปรันตะ  ปรินิพพาน ณ แคว้นสุนาปรันตะนั้น ก่อนพุทธปรินิพพาน (ดูรายละเอียดในตอน ประวัติพระอรหันต์)


29 โปสาละ                    พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
โปสาลมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๑๔) ว่า
             ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา  จึงได้มาเฝ้าพระองค์พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสดงอ้างสิ่งที่ล่วงไปแล้ว  (พระปรีชาญาณในกาลอันเป็นอดีตไม่ทรงหวั่นไหว  ทรงตัดความสงสัยได้แล้ว  ทรงบรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ  ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณของบุคคลผู้มีความสำคัญในรูปก้าวล่วงเสียแล้ว  ละรูปกายได้ทั้งหมด  เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรน้อยหนึ่งทั้งภายในและภายนอก  บุคคลเช่นนั้นควรแนะนำอย่างไร 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนโปสาละ  พระตถาคตทรงรู้ยิ่งซึ่งภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งปวง  ทรงทราบบุคคลนั้นผู้ยังดำรงอยู่  ผู้น้อมไปแล้วในอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้น  ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้นนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า  ผู้ที่เกิดในอากิญจัญญายตนสมาบัติว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบดังนี้แล้ว  แต่นั้นย่อมเห็นแจ้งในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น  ญาณของบุคคลนั้นผู้เป็นพราหมณ์  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  เป็นญาณอันถ่องแท้อย่างนี้ 
                โปสาลมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


30 พากุละ                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองโกสัมพี มีเรื่องเล่าว่าเมื่อยังเป็นทารกขณะที่พี่เลี้ยงนำไปอาบน้ำเล่นที่แม่น้ำ ท่านถูกปลาใหญ่กลืนลงไปอยู่ในท้อง ต่อมาปลานั้นถูกจับได้ที่เมืองพาราณสี และถูกขายให้แก่ภรรยาเศรษฐีเมืองพาราณสี ภรรยาเศรษฐีผ่าท้องปลาพบเด็กแล้วเลี้ยงไว้เป็นบุตร ฝ่ายมารดาเดิมทราบข่าวจึงขอบุตรคืน ตกลงกันไม่ได้ จนพระราชาทรงตัดสินให้เด็กเป็นทายาทของทั้งสองตระกูล ท่านจึงได้ชื่อว่า พากุละ แปลว่า "คนสองตระกูล" หรือ "ผู้ที่สองตระกูลเลี้ยง" ท่านอยู่ครองเรือนมาจนอายุ ๘๐ ปี จึงได้ฟังพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใสขอบวชแล้วบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วันได้บรรลุพระอรหัตได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้มีอาพาธน้อย คือสุขภาพดี; พักกุละ ก็เรียก


31 พาหิยทารุจีริยะ                            พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้าทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้งหก พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางตรัสรู้ฉับพลัน


32 ภัคคุ                        เจ้าศากยะองค์หนึ่ง ที่ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ ได้บรรลุพระอรหัต และเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง เขียน ภคุ ก็มี


33 ภัททิยะ ๑                     กษัตริย์ศากยวงศ์ โอรสของนางกาฬิโคธา สละราชสมบัติที่มาถึงตามวาระแล้วออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ สำเร็จอรหัตผล ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้มาจากตระกูลสูง และจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในจำนวน ๘๐


34 ภัททิยะ  ๒                    พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นพระเถระรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก


35 ภัทราวุธ                 พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
ภัทราวุธมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๑๒) ว่า
             ข้าพระองค์ขอทูลวิงวอนพระองค์  ผู้ทรงละอาลัย  ตัดตัณหาเสียได้  ไม่หวั่นไหว  ละความเพลิดเพลิน  ข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้แล้ว พ้นวิเศษแล้ว  ละธรรมเครื่องให้ดำริ  มีพระปัญญาดี  ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร  ชนในชนบทต่างๆ ประสงค์จะฟังพระดำรัสของพระองค์  มาพร้อมกันแล้วจากชนบททั้งหลาย  ได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้ประเสริฐแล้ว  จักกลับไปจากที่นี้  ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์แก่ชนในชนบทต่างๆ  เหล่านั้นให้สำเร็จประโยชน์เถิด  เพราะธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนภัทราวุธ   หมู่ชนควรจะนำออกเสียซึ่งตัณหาเป็นเครื่องถือมั่นทั้งปวงในส่วนเบื้องบน  เบื้องต่ำ  และในส่วนเบื้องขวาง  สถานกลาง  ให้สิ้นเชิง  เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมถือมั่นสิ่งใด ๆ  ในโลก  มารย่อมติดตามสัตว์ได้เพราะสิ่งนั้นแหละ  เพราะเหตุนั้นภิกษุเมื่อรู้ชัดอยู่  มาเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้ติดข้องอยู่แล้วในวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารนี้ว่า  เป็นหมู่สัตว์ติดข้องอยู่แล้วเพราะการถือมั่นดังนี้  พึงเป็นผู้มีสติ  ไม่ถือมั่นเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง 
                ภัทราวุธมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


36 มหากัจจายนะ                  พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว บรรลุอรหัตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่าน เพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง; มหากัจจานะ ก็เรียก


37 มหากัปปินะ                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าแล้วบังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท ส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนางทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับบรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรีไปอยู่ในสำนักภิกษุณี ฝ่ายมหากัปปินเถระชอบอยู่สงบสงัดและมักอุทานว่า สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ท่านสามารถแสดงธรรมให้ศิษย์บรรลุอรหัตผลได้พร้อมคราวเดียวถึง ๑,๐๐๐ องค์ พระบรมศาสดายกย่องว่าท่านเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ


38 มหากัสสปะ                    พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อมหาติตถะในแคว้นมคธ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ มีชื่อเดิมว่าปิปผลิมาณพ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางภัททกาปิลานีตามความประสงค์ของมารดาบิดา แต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครองเรือน ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน นุ่งห่มผ้ากาสาวะออกบวชกันเอง เดินทางออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทางสองแพร่ง ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตนิโครธระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ได้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ข้อ และได้ถวายผ้าสังฆาฏิของตนแลกกับจีวรเก่าของพระพุทธเจ้า แล้วสมาทานธุดงค์ ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน


39 มหาโกฏฐิตะ                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี บิดาเป็นมหาพราหมณ์ชื่ออัสสลายนะ มารดาชื่อจันทวดี ท่านเรียนจบไตรเพท ได้ฟังเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔

40 มหานาม                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นพระเถระรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก


41 มหาปันถกะ                    พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรของธิดาเศรษฐี กรุงราชคฤห์ ได้ไปวัดกับเศรษฐีผู้เป็นตา ได้ฟังเทศนาของพระศาสดาอยู่เสมอ จิตก็น้อมไปทางบรรพชา จึงบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุครบ ก็อุปสมบท ต่อมาได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านเป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏ์ เพราะท่านชำนาญในอรูปาวจรฌานและเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนา ท่านเคยรับหน้าที่เป็นภัตตุทเทสก์ คือ ผู้จัดแจกอาหารของสงฆ์ด้วย, ท่านเป็นพี่ชายของพระจุลลปันถกะ หรือจูฬบันถก


42 มหาโมคคัลลานะ                ชื่อพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลีพราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่งบิดาของตนเป็นใหญ่ ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางพราหมณีโมคคัลลี หรือโมคคัลลานีนั้น ได้เป็นสหายกับอุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็ก ต่อมาทั้งสองได้ออกบวชเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของสญชัยปริพาชกจนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิ สหายทั้งสองจึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้วถึงวันที่ ๗ โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่า มหาโมคคัลลานะ ก็ได้บรรลุอรหัตผล ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก ในตอนปลายพุทธกาล ท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์, ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า พระโมคคัลลาน์


43 เมฆิยะ                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ คราวหนึ่ง ได้เห็นสวนมะม่วงริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา น่ารื่นรมย์ จึงขอลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญเพียรที่นั่น พระพุทธเจ้าห้ามไม่ฟัง ท่านไปบำเพ็ญเพียร ถูกอกุศลวิตกต่างๆ รบกวน ในที่สุดต้องกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธรรม ๕ ประการสำหรับบ่มเจโตวิมุตติ เป็นต้น ที่พระศาสดาทรงแสดงจึงได้สำเร็จพระอรหัต

44 เมตตคู                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรีที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ณ ปาสาณเจดีย์
เมตตคูมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๔) ว่า
             ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์  ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด  ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงถึงเวท  มีจิตอันอบรมแล้ว  ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมากมีมาแล้วแต่อะไร 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนเมตตคู  ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์  เราจะบอกเหตุนั้น    แก่ท่านตามที่รู้  ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ   ผู้ใดไม่รู้แจ้ง ย่อมกระทำอุปธิ      ผู้นั้นเป็นคนเขลา  ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ  เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่พึงกระทำอุปธิ 
             เมต.      ข้าพระองค์ได้ทูลถามความข้อใด  พระองค์ก็ทรงแสดงความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว  ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้ออื่นอีก  ขอเชิญพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นเถิด  นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ  คือ  ชาติ  ชรา  โสกะและปริเทวะ ได้อย่างไรหนอ  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี  ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะให้สำเร็จประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด  เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้วด้วยประการนั้น 
             พระ.       ดูก่อนเมตตคู  เราจักแสดงธรรมแก่ท่านในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว เป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลทราบชัดแล้วพึงเป็นผู้มีสติ  ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลกเสียได้ 
             เมต.      ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่  ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบชัดแล้ว  เป็นผู้มีสติ   พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ  ในโลกเสียได้ 
             พระ.      ดูก่อนเมตตคู  ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน  (คืออนาคตในส่วนเบื้องต่ำ  (คืออดีตและแม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง  (คือปัจจุบันจงบรรเทาความเพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสียวิญญาณของท่านจะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ  ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้  มีสติ  ไม่ประมาท  ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่  ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้ว  พึงละทุกข์  คือ  ชาติ  ชรา  โสกะ   และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย 
             เมต.      ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งพระวาจานี้ของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคตมโคตร  ธรรมอันไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว  พระองค์ทรงละทุกข์ได้ แน่แล้ว  เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งชัดแล้วด้วยประการนั้น  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี  พระองค์พึงทรงสั่งสอนชนเหล่าใดไม่หยุดยั้ง  แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่    ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ  เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยคิดว่า  แม้ไฉนพระผู้มีพระภาคพึงทรงสั่งสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนเถิด 
             พระ.     ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล  ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ  ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว  ผู้นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปูคือกิเลส  ไม่มีความสงสัย  นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแลเป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้  สละธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่เสียได้แล้ว  เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว  ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต  หาความหวังมิได้  เรากล่าวว่าผู้นั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว 
                เมตตคูมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว ได้เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


45 โมฆราช                   พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์  (เป็นลำดับที่ ๑๕)
วันนั้น บริษัทที่มาถึงที่นั้นประมาณ ๑๒ โยชน์ ในระหว่างศิษย์ ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นบัณฑิตกว่าทุกคน  เขาจึงดำริว่า  อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน   เขาเกรงใจอชิตมาณพนั้นจึงไม่ถามก่อน เมื่ออชิตมาณพถามปัญหาแล้ว โมฆราชมาณพจึงขยับจะถามปัญหาเป็นคนที่สอง
                พระศาสดาทรงดำริว่า  โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่เต็มที่  ควรจะนำความถือตัวของเขาออกเสียก่อน   จึงตรัสว่า  โมฆราช  เธอจงพักไว้   ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน
                โมฆราชมาณพนั้นรู้สึกว่าพระศาสดามิได้ให้ความสำคัญแก่ตัวเขาเลยแม้แต่น้อย  ก็ฉุกคิดว่า  เราอยู่มาก็นานด้วยเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา   ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส   พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเรา    คิดดังนี้จึงนิ่งอยู่
เมื่อมาณพคนที่ ๘  ถามปัญหาไปตามลำดับ (มาณพที่ถามปัญหาเป็นลำดับที่ ๘ คือเหมกะ) โมฆราชมาณพก็อดกลั้นไว้ไม่ได้   ลุกขึ้นอีกเพื่อจะถามเป็นคนที่  ๙  พระศาสดาก็ทรงยับยั้งเขาไว้อีก  โมฆราชมาณพก็จำต้องนิ่ง รออยู่จนมาณพคนที่ ๑๔ ทูลถามปัญหาจบแล้ว  จึงคิดว่า  บัดนี้เราไม่อาจจะเป็นนวกะ ผู้ใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว จึงลุกขึ้นทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕   
โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า  ข้าพระองค์มีความต้องการจะถามปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้เห็นธรรมอันงามอย่างนี้   ข้าพระองค์ขอทูลถามว่า  บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร  มัจจุราชจึงจะไม่เห็น
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบว่าญาณของโมฆราชมาณพแก่เต็มที่แล้วจึงทรงพยากรณ์ว่า  ดูก่อนโมฆราช  ท่านจงเป็นผู้มีสติ  พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ (คือไม่เป็นไปในอำนาจ และเป็นของว่างเปล่า) ถอนอัตตานุทิฐิเสียแล้ว   พึงข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอุบายอย่างนี้   เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้  มัจจุราชจึงไม่เห็น
เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาจบลง โมฆราชมาณพก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑,๐๐๐ คน บริวารของตน   หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ  ผมและหนวดของโมฆราชมาณพหายไปพร้อมกับการบรรลุพระอรหัต  พระโมฆราชครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร  ทรงสังฆาฏิ  บาตร และจีวร  นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์   ข้าพระองค์เป็นสาวก  ดังนี้
พระโมฆราชเถระนี้ทรงจีวรประกอบด้วยความปอน ๓ อย่างคือ  ปอนด้วยผ้า  ปอนด้วยด้าย  ปอนด้วยเครื่องย้อม   หลังจากนั้นมาพระศาสดาประทับ ณ  พระเชตวัน  ทรงสถาปนาพระเถระทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะตามลำดับ   เมื่อจะทรงสถาปนาท่านพระโมฆราชเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง (ปอน)  จึงตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  โมฆราชเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกของเราผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
                ท่านพระโมฆราชนี้  ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ  เกิดในกรุงหงสวดี  ได้ฟังธรรมกถาของพระศาสดา  ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ทรงจีวรปอน ก็ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไปแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น   ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์      ในครั้งศาสนาของพระพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ  ถือปฏิสนธิในเรือนอำมาตย์ในนครกัฏฐวาหนะก่อนแต่พระพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้น   ต่อมาเจริญวัยแล้ว รับราชการในราชสำนักพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ได้ตำแหน่งอำมาตย์   เมื่อพระกัสสปทศพลเสด็จอุบัติในโลกแล้ว   พระเจ้ากัฏฐวาหนะทรงสดับว่าพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก  จึงรับสั่งเรียกอำมาตย์นั้นมาตรัสว่า  พ่อเอ๋ย  พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก  ใคร ๆ ไม่อาจทำนครปัจจันตประเทศนี้ให้ว่างจากเราทั้งสองพร้อม ๆ กันได้  ก่อนอื่นท่านจงไปยังมัชฌิมประเทศ  ไปดูให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว และจงอัญเชิญพระทศพลเสด็จมายังนครปัจจันตประเทศนี้    ตรัสสั่งแล้วทรงส่งไปพร้อมด้วยบุรุษ ๑,๐๐๐ คน    
                อำมาตย์นั้นเดินทางไปยังสำนักพระศาสดา  ฟังธรรมกถาแล้วเกิดศรัทธาทูลขอบวชอยู่ในที่นั้น  ได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี     ส่วนบุรุษที่ไปกับอำมาตย์นั้นกลับมาสำนักพระราชาทั้งหมด
                พระเถระ (คืออำมาตย์ผู้นั้น) นี้มีศีลบริบูรณ์  เมื่อถึงแก่มรณภาพแล้วก็เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง แล้วมาเกิดเป็นโมฆราชมาณพ


46 ยสะ                 พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ วันหนึ่งเห็นสภาพในห้องนอนของตนเป็นเหมือนป่าช้า เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย จึงออกจากบ้านไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนุบุพพิกถา และอริยสัจโปรด ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีบิดาของตน ก็ได้บรรลุอรหัตผลแล้วขออุปสมบท เป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า


47 ยโสชะ                        พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรหัวหน้าชาวประมง ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนากปิลสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง (ในสุตตนิบาต เรียกต่างไปว่า ธัมมจริยสูตร) มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมา ไปเจริญสมณธรรมที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ได้สำเร็จพระอรหัต


48 รัฐบาล                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าในถุลลโกฏฐิตนิคมในแคว้นกุรุ ฟังธรรมแล้วมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ลาบิดามารดาบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาต เสียใจมาก และอดอาหารจะได้ตายเสีย บิดามารดาจึงต้องอนุญาต ออกบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางบวชด้วยศรัทธา


49 ราธะ                         พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุรับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด พระศาสดาทรงทราบจึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะได้เป็นบุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
     พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรก็ชมท่าน ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า เคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิดปฏิภาณ


50 ราหุล                        พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ คราวพระพุทธเจ้า เสด็จนครกบิลพัสดุ์ ราหุลกุมารเข้าเฝ้าทูลขอทายาทสมบัติตามคำแนะนำของพระมารดา พระพุทธเจ้าจะประทานอริยทรัพย์ จึงให้พระสารีบุตรบวชราหุลเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา อรรถกถาว่าพระราหุลปรินิพพานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก่อนพุทธปรินิพพานและก่อนการปรินิพพานของพระสารีบุตร


51 เรวตขทิรวนิยะ                พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรพราหมณ์ชื่อวังคันตะ  มารดาชื่อนางสารี เป็นน้องชายคนสุดท้องของพระสารีบุตร บวชอยู่ในสำนักของภิกษุพวกอยู่ป่า (อรัญวาสี) บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าไม้ตะเคียนประมาณ ๓ เดือนเศษ ก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางอยู่ป่า


52 ลกุณฏกภัททิยะ                พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรในตระกูลมั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาที่พระเชตวันมีความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีรูปร่างเตี้ยค่อมจนบางคนเห็นขัน วันหนึ่งมีหญิงนั่งรถผ่านมาพอเห็นท่านแล้วหัวเราะจนเห็นฟัน ท่านกำหนดฟันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้สำเร็จอนาคามิผล ต่อมาท่านได้บรรลุพระอรหัตในสำนักพระสารีบุตร แต่เพราะความที่มีรูปร่างเล็กเตี้ยค่อม ท่านมักถูกเข้าใจผิดเป็นสามเณรบ้าง ถูกพระหนุ่มเณรน้อยล้อเลียนบ้าง ถูกเพื่อนพระดูแคลนบ้าง แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสยกย่องว่าถึงท่านจะร่างเล็ก แต่มีคุณธรรมฤทธานุภาพมาก ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีเสียงไพเราะ


53 วักกลิ                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชาวพระนครสาวัตถีเรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ บวชในพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดา ครั้นบวชแล้วก็คอยติดตามดูพระองค์ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงรอเวลาให้ญาณของเธอสุกงอม ครั้นแล้วก็ตรัสเตือนเธอว่า "จะมีประโยชน์อะไรที่ได้เห็นกายเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" ดังนี้เป็นต้น และทรงสอนต่อไปด้วยอุบายวิธีจนในที่สุดพระวักกลิก็ได้สำเร็จพระอรหัต และต่อมาได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุต คือ หลุดพ้นด้วยศรัทธา


54 วังคีสะ                      พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ได้ศึกษาไตรเพทจนมีความชำนาญเป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงได้เรียนมนตร์พิเศษชื่อฉวสีสมนตร์ สำหรับพิสูจน์ศีรษะซากศพ เอานิ้วเคาะหัวศพก็ทราบว่าผู้นั้นตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหน ท่านมีความชำนาญในมนตร์นี้มาก ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้แสดงความสามารถของตน แต่เมื่อเคาะศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้วไม่สามารถบอกคติได้ ด้วยความอยากเรียนมนตร์เพิ่มอีก จึงขอบวชในพระพุทธศาสนา ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปฏิภาณ


55 วัปปะ                        พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นพระเถระรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก


56 วิมละ                        บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีเป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ สุพาหุ ปุณณชิ และ ควัมปติ จัดเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


57 สภิยะ                        พระเถระผู้ใหญ่ชั้นมหาสาวก เคยเป็นปริพาชกมาก่อน ได้ฟังพระพุทธเจ้าพยากรณ์ปัญหาที่ตนถาม มีความเลื่อมใส ขอบวช หลังจากบวชแล้วไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต


58 สาคตะ                        พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส ขอบวชแล้วทำความเพียรเจริญสมาบัติ ๘ ประการ จนมีความชำนาญในสมาบัติ ท่านเป็นต้นบัญญัติสุราปานสิกขาบท และเพราะเกิดความสังเวชในเกตุการณ์ที่เกิดกับตนครั้งนี้ จึงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเตโชธาตุสมาบัติ


59 สารีบุตร                     อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้งสองคนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้ไปบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก แต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอน ได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะ แล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับการยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือน เมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
     พระสารีบุตรมีคุณธรรมและจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ (นอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่) และราธพราหมณ์ (ระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีและรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ) สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว (ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร ๗ ขวบ) เป็นผู้เอาใจใส่อนุเคราะห์เด็ก (เช่น ช่วยเอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแล ซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป) และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธเป็นต้น


60 สีวลี                        พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นพระโอรสพระนางสุปปวาสา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของเจ้ากรุงโกลิยะ ปรากฏว่าตั้งแต่ท่านปฏิสนธิในครรภ์ เกิดลาภสักการะแก่พระมารดาเป็นอันมาก ตามตำนานว่าอยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี พระมารดาเจ็บพระครรภ์ถึง ๗ วัน ครั้นประสูติแล้วก็ทำกิจการต่างๆ ได้ทันที ต่อมาท่านบวชในสำนักของพระสารีบุตร ในวันที่บวช พอมีดโกนตัดกลุ่มผมครั้งที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่ ๒ ได้ บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านสมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภและทำให้ลาภเกิดแก่ภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีลาภมาก


61 สุพาหุ                       บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี เป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ วิมละ ปุณณชิ และควัมปติ ได้เป็นสาวกรุ่นแรกที่พระพุทธเจ้าส่งไปประกาศพระศาสนา


62 สุภูติ                       พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรสุมนเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ได้ไปร่วมงานฉลองวัดเชตวันของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใสบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเจริญวิปัสสนา ทำเมตตาฌานให้เป็นบาท ได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ๒ ทาง คือในทางอรณวิหาร (เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา) และเป็นทักขิไณยบุคคล


63 เสละ                         พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในอังคุตตราปะ เรียนจบไตรเพท เป็นคณาจารย์สอนศิษย์ ๓๐๐ คน ได้พบพระพุทธเจ้าที่อาปณนิคม เห็นว่าพระองค์สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะครบถ้วนและได้ทูลถามปัญหาต่างๆ เมื่อฟังพระดำรัสตอบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวช ต่อมาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต


64 โสณกุฏิกัณณะ                 พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรของอุบาสิกา ชื่อ กาฬี ซึ่งเป็นพระโสดาบัน เกิดที่บ้านเดิมของมารดาในเมืองราชคฤห์แล้วกลับไปอยู่ในตระกูลบิดาที่แคว้นอวันตี ทักขิณาบถ พระมหากัจจายนะให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วรอต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านหาภิกษุได้ ๑๐ รูปแล้วจึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ บวชแล้วไม่นานก็สำเร็จพระอรหัต ต่อมา ท่านได้เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เมืองสาวัตถีพร้อมทั้งนำความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมากราบทูลขอพระพุทธานุญาตด้วยรวม ๘ ข้อ ทำให้เกิดมีพระพุทธานุญาตพิเศษสำหรับปัจจันตชนบท เช่น ให้สงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปให้อุปสมบทได้ ให้ใช้รองเท้าหนาหลายชั้นได้ ให้อาบน้ำได้ตลอดทุกเวลา เป็นต้น ท่านแสดงธรรมมีเสียงไพเราะแจ่มใสชัดเจน จึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางกล่าวกัลยาณพจน์


65 โสณโกฬิวิสะ                  พระมหาสาวกองค์หนึ่งเดิมเป็นกุลบุตรชื่อโสณะ ตระกูลโกฬิวิสะ เป็นบุตรของอุสภเศรษฐี แห่งวรรณะแพศย์ ในเมืองกาฬจัมปากะ แคว้นอังคะ โสณกุลบุตรมีลักษณะพิเศษในร่างกาย คือ มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม และมีขนอ่อนขึ้นภายใน อีกทั้งมีความเป็นอยู่อย่างดี ได้รับการบำรุงบำเรอทุกประการ อยู่ในปราสาท ๓ ฤดู จึงได้สมญาว่าเป็น สุขุมาลโสณะ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับกิตติศัพท์ จึงรับสั่งให้โสณะเดินทางไปเฝ้าและให้แสดงขนที่ฝ่ามือฝ่าเท้าให้ทอดพระเนตร คราวนั้นโสณะมีโอกาสได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้สดับพระธรรมเทศนา เกิดความเลื่อมใสขอบวช ท่านทำความเพียรอย่างแรงกล้าจนเท้าแตกและเริ่มท้อแท้ใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานโอวาทด้วยข้ออุปมาเรื่องพิณสามสาย ท่านปฏิบัติตาม ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปรารภความเพียร


66 โสภิตะ                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส ขอบวช ไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

67 เหมกะ                     พระมหาสาวกรูปหนึ่ง  เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
เหมกมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๘) ว่า 
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม  อาจารย์เหล่าใดได้พยากรณ์ลัทธิของตนแก่ข้าพระองค์  ในกาลก่อนว่า  เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ๆ  จักเป็นอย่างนี้ๆ  คำพยากรณ์ทั้งหมดของอาจารย์เหล่านั้นไม่ประจักษ์แก่ตน  คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นเครื่องทำความตรึกให้ทวีมากขึ้น  ข้าพระองค์ไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี  ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ  ในโลกแก่ข้าพระองค์เถิด 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า   ดูก่อนเหมกะ  ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบทคือนิพพาน  อันไม่แปรผัน   เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น  เสียงที่ได้ฟัง  และสิ่งที่ได้ทราบ  อันน่ารัก  ณ  ที่นี้  เป็นผู้มีสติ  มีธรรมอันเห็นแล้ว  ดับกิเลสได้แล้ว  ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว  มีสติ   ข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ  ในโลกได้แล้ว 
                เหมกมาณพฟังธรรมแล้ว บรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้วเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง


68 องคุลิมาล                    พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดัง เป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่า "ผู้ไม่เบียดเบียน") ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพันแล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายไปเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล (แปลว่า "มีนิ้วเป็นพวงมาลัย") ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง


69 อุชิตะ                       พระมหาสาวกรูปหนึ่ง  เป็นหัวหน้าศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ (เป็นลำดับที่ ๑)
พระอชิตเถระเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี  เมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว  บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี  ผู้เป็นปุโรหิตาจารย์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล    ต่อมาพราหมณ์พาวรีเกิดเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย  ได้ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งแล้วออกบวชเป็นชฏิล  ทีแรกอาศัยอยู่ที่พระอุทยานหลวง  ต่อมาได้ไปตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี  อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะและแคว้นมัลละ  อชิตมาณพและศิษย์คนอื่นๆ ได้ออกบวชติดตามด้วย 
เมื่อทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว  พราหมณ์พาวรีอยากจะทราบความจริง  จึงแต่งปัญหาให้ศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้าไปทูลถามพระองค์  อชิตมาณพจึงพาคณะนำปัญหาไปเฝ้าทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้าที่ปาสาณเจดีย์ตามคำขอร้องของอาจารย์ 
 อชิตมาณพได้เห็นมหาปุริสลักษณะอันบริบูรณ์ ในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้น มีความร่าเริงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  ได้นึกทูลถามขึ้นในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกถึงชาติกำเนิด อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด  พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์แก่ศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของอชิตมาณพ จึงตรัสตอบว่า  พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้นมีอายุร้อยยี่สิบปี  ชื่อพาวรีโดยโคตร  ลักษณะพิเศษในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ  พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาส พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์ และเกฏุภศาสตร์  ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์แก่มาณพ ๕๐๐
อชิตมาณพทูลถามในใจต่อไปว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน  ขอพระองค์จงค้นคว้าลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี   ขอทรงประกาศตัดความทะเยอทะยาน อย่าให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  ดูก่อนมาณพ  พราหมณ์พาวรีนั้นย่อมปกปิดมุขมณฑลด้วยชิวหาได้ (แลบลิ้นปิดหน้าได้) มีอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว และมีคุยหฐานอยู่ในฝัก  ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด
                คนทั้งหลายในที่นั้นไม่ได้ยินเสียงใครๆ ถามเลย ได้ฟังแต่ที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้วต่างนึกคิดพิศวงอยู่ เกิดความโสมนัส พากันน้อมประนมอัญชลีสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นใครหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ  เมื่อปัญหาอันผู้ถามนึกถามอยู่ในใจแท้ๆ ข้อปัญหานั้นไฉนมาแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคได้
อชิตมาณพทูลถามด้วยใจต่อไปว่า  ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป  ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นฤๅษีเสียเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ  วิชชาประกอบด้วยศรัทธา  สติ  สมาธิ  ฉันทะ และวิริยะ  ชื่อว่าธรรมเหตุให้ศีรษะตกไป
                ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์  ผู้มีพระจักษุ  พราหมณ์พาวรีผู้เจริญ มีจิตเบิกบาน ดีใจ พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูก่อนมาณพ  พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด แม้ตัวท่านก็จงเป็นผู้ถึงความสุข จงเป็นอยู่สิ้นกาลนานเถิด   ก็ท่านทั้งหลายอันเราให้โอกาสแล้ว ใจปรารถนาจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง ก็จงถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาววีหรือของท่านทั้งปวงเถิด
อชิตมาณพ อันพระผู้มีพระภาคประทานโอกาสดังนี้แล้ว นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาเป็นคนแรกกะพระตถาคต  ณ ที่นั้น ดังต่อไปนี้ -
                โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้  โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร  พระองค์ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนอชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้  โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความประมาท  เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
                อชิต.   กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง  อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย  ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย  กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยธรรมอะไร
                พระ.   ดูก่อนอชิตะ  สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก  เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย  กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา
                อชิต.   ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์   ปัญญา  สติ  และนามรูป  ธรรมทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน  พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้วขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด
                พระ.   ดูก่อนอชิตะ  เราจะบอกปัญหาที่ท่านได้ถามแล้วแก่ท่าน  นามและรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด  สติและปัญญานี้ย่อมดับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ
                อชิต.   ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยังต้องศึกษาอยู่เป็นอันมาก มีอยู่ในโลกนี้  ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์  พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตน อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกความเป็นไปของชนเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
                พระ.   ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย  มีใจไม่ขุ่นมัว  ฉลาดในธรรมทั้งปวง  มีสติ พึงเว้นรอบ
ในที่สุดแห่งการตรัสพยากรณ์ปัญหา  อชิตมาณพก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  พร้อมด้วยอันเตวาสิก ๑,๐๐๐ คน  แล้วได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง
                ในอรรถกถาอังคุตตรนิกาย กล่าวว่า อชิตมาณพเป็นหลานของพราหมณ์พาวรี และว่าพราหมณ์พาวรีได้ขอร้องอชิตมาณพให้นำข่าวการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งคุณวิเศษที่ได้จากการเข้าเฝ้านั้นมาแจ้งให้ทราบโดยเฉพาะ
                ในสังยุตตนิกาย ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงนำ อชิตปัญหาไปตรัสเล่าแก่พระสารีบุตรเถระอีกครั้งหนึ่ง


70 อนุรุทธะ                     พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นโอรสของเจ้าสุกโกทนะ (นี้ว่าตาม ม.อ.๑/๓๘๔; วินย.ฏี. ๓/๓๔๙ เป็นต้น แต่ว่าตาม องฺ.อ.๑/๑๗๑ และ พุทฺธ.อ.๘๕ ซึ่งขัดกับที่อื่นๆ และว่าตามหนังสือเรียน เป็นโอรสของเจ้าอมิโตทนะ) และเป็นอนุชาของเจ้ามหานามะ ภายหลังออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอานนท์ เป็นต้น เรียนกรรมฐานในสำนักของพระสารีบุตร ได้บรรลุพระอรหัตที่ป่าปาจีนวังสทายวัน ในแคว้นเจตี พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทิพยจักษุ


71 อัญญาโกณฑัญญะ                พระมหาสาวกผู้เป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล เกิดที่หมู่บ้านโทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของสิทธัตถกุมาร และเป็นผู้เดียวที่ทำนายว่า พระกุมารจะทรงออกบรรพชาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน มีคติเป็นอย่างเดียว ต่อมาท่านออกบวชตามเสด็จพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระเบญจวัคคีย์ และได้นำคณะหลีกหนีไป เมื่อพระมหาบุรุษเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับเสวยพระกระยาหาร ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเสด็จไปโปรด ท่านสดับปฐมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า
     โกณฑัญญะ ที่ได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เพราะเมื่อท่านฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า และได้ธรรมจักษุ พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ๆ" (โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ) คำว่า อัญญา จึงมารวมเข้ากับชื่อของท่าน ต่อมาท่านได้สำเร็จอรหัตด้วยฟังอนัตตลักขณสูตร ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู (รู้ราตรีนาน คือ บวชนาน รู้เห็นเหตุการณ์มากมาแต่ต้น) ท่านทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ฝั่งสระมันทากินี ในป่าฉัททันตวัน แดนหิมพานต์ อยู่ ณ ที่นั้น ๑๒ ปี ก็ปรินิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน


72 อัสสชิ                           พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นพระเถระรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรกและเป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร


73 อานนท์                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นโอรสของเจ้า อมิโตทนะ (นี้ว่าตาม ม.อ.๑/๓๘๔; วินย.ฏี. ๓/๓๔๙ เป็นต้น แต่ที่เรียนกันมามักว่าเป็นโอรสของเจ้าสุกโกทนะ) ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อพระโพธิสัตว์ออกผนวชและต่อมาได้ตรัสรู้แล้ว ถึงพรรษาที่ ๒ แห่งพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่พระนครกบิลพัสดุ์ (เช่น อง.อ.๑/ ๑๗๑) เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว ได้ทรงแวะประทับที่อนุปิยอัมพวัน ในอนุปิยนิคม แห่งแคว้นมัลละ ครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงประชุมเจ้าศากยะทั้งหลาย และทรงขอให้บรรดาเจ้าศากยะมอบเจ้าชายออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้าครอบครัวละหนึ่งองค์ ได้มีเจ้าชายศากยะออกบวชจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าชายอานนท์ด้วย เจ้าชายอานนท์ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทรงบวชให้ที่อนุปิยอัมพวัน (วินย.๗/๓๔๑/๑๕๙) พร้อมกับเจ้าชายอื่น ๕ องค์ (ภัททิยะ อนุรุทธะ ภคุ กิมพิละ เทวทัต) รวมเป็น ๗ กับทั้งกัลบกชื่อว่าอุบาลี พระอานนท์มีพระอุปัชฌาย์ชื่อว่าพระเพลัฏฐสีสะ (เช่น วินย. ๕/๓๔/๔๓;
     ในระยะต้นพุทธกาล พระภิกษุที่บวชแล้วยังไม่มีอุปัชฌาย์ จึงได้ตรัสให้ถืออุปัชฌาย์ คือพระผู้ทำหน้าที่ดูแลฝึกอบรมพระใหม่ในการศึกษาเบื้องต้น ตามพระพุทธานุญาตใน วินย.๔/๘๐/๘๒ ต่อมาจึงทรงบัญญัติใน วินย.๔/๑๓๓/๑๘๐ ให้อุปสมบทผู้ที่มีอุปัชฌาย์พร้อมไว้แล้ว) ท่านบรรลุโสดาปัตติผลเมื่อได้ฟังธรรมกถาของพระปุณณมันตาณีบุตร (สํ.ข.๑๗/๑๙๓/๑๒๘) เมื่อพระพุทธบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ ประชวร ทรงฟังธรรมได้บรรลุอรหัตผลและดับขันธปรินิพพาน ในพรรษาที่ ๕ แห่งพุทธกิจแล้ว พระนางมหาปชาบดี ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลขอให้สตรีได้บรรพชา แต่ยังไม่สำเร็จ (วินย.๗/๕๑๓/ ๓๒๐) จนกระทั่งต่อมาได้อาศัยพระอานนท์ช่วยทูลขอ พระนางและสากิยานีทั้งหลายจึงได้บวช เป็นจุดเริ่มกำเนิดภิกษุณีสงฆ์ พระอานนท์ได้เป็นอุปัฏฐากรับใช้พระพุทธเจ้าตามโอกาสเช่นเดียวกับพระเถระรูปอื่นมากท่าน จนกระทั่งในพรรษาที่ ๒๐ แห่งพุทธกิจ ท่านได้รับเลือกให้เป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ (นิพัทธุปัฏฐาก) ของพระพุทธเจ้า (เช่น ที.อ. ๒/๑๔) ซึ่งท่านตกลงรับหน้าที่ด้วยการทูลขอพร ๘ ประการ ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะหลายด้าน คือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐากที่ยอดเยี่ยม ท่านบรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม (ซึ่งต่อมาแบ่งเป็นพระสูตรและพระอภิธรรม) พระอานนท์ดำรงชีวิตสืบมาจนอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศ เหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติทั้งสองฝ่าย คือ ศากยะ และโกลิยะ


74 อุทยะ                     พระมหาสาวกรูปหนึ่ง  เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
อุทยมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๑๓) ว่า
                ข้าพระองค์มีความต้องการปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้เพ่งฌาน ปราศจากธุลี ทรงนั่งโดยปรกติ ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมอันเป็นเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึง สำหรับทำลายอวิชชาเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนอุทยะ  เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้งสองอย่างเป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา  เป็นเครื่องห้ามความรำคาญ  บริสุทธิ์ดีเพราะอุเบกขาและสติ  มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชา
                อุทย.   โลกมีธรรมอะไรรัดรึงไว้  ธรรมชาติอะไรเป็นเครื่องพิจารณา (เครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละธรรมอะไรได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน
                พระ.   โลกมีความเพลิดเพลินรัดรึงไว้  ความตรึกไปต่างๆ เป็นเครื่องพิจารณา (เครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน
                อุทย.   เมื่อบุคคลระลึกอย่างไรเที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ  ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์  ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังพระดำรัสของพระองค์
                พระ.   เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในและภายนอกระลึกอย่างนี้เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ
                อุทยมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสวกองค์หนึ่ง          


75 อุทายี (มหาอุทายี)                    พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองกบิลพัสดุ์ เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จไปโปรดพระญาติ จึงออกบวชและได้สำเร็จอรหัตผล ท่านเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง มีเรื่องเกี่ยวกับการที่ท่านแสดงธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง คราวหนึ่งพระอานนท์เห็นท่านนั่งแสดงธรรมอยู่ มีคฤหัสถ์ล้อมฟังอยู่เป็นชุมนุมใหญ่ จึงได้กราบทูลเล่าถวายพระพุทธเจ้าเป็นข้อปรารภให้พระองค์ทรงแสดง ธรรมเทศกธรรม หรือองค์คุณของธรรมกถึก ๕ ประการคือ
     ๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
     ๒. อ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจ
     ๓. มีจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
     ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
     ๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น


76 อุบาลี                       พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นกัลบกของเจ้าศากยะ ได้ออกบวชที่อนุปิยอัมพวัน พร้อมกับพระอานนท์และพระอนุรุทธะ เป็นต้น มีอุปัชฌาย์ชื่อพระกัปปิตก ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐาน จะไปอยู่ป่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ท่านเล่าเรียนและเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัต เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเชี่ยวชาญในพระวินัยมาก จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงพระวินัย (วินัยธร) พระอุบาลีเป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย


77 อุปวาณะ                       พระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มั่งคั่ง ในนครสาวัตถี ได้เห็นพระพุทธองค์ในพิธีถวายวัดพระเชตวัน เกิดความเลื่อมใส จึงได้มาบวชในพระศาสนาและได้บรรลุอรหัตผล ท่านเคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ แม้ในวันปรินิพพานพระอุปวาณะก็ถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์ เรื่องราวเกี่ยวกับท่านปรากฏในพระไตรปิฎก ๔-๕ แห่ง เช่นเรื่องที่ท่านสนทนากับพระสารีบุตรเกี่ยวกับโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นต้น

78 อุปสีวะ                   ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
อุปสีวมาณพทูลถามปัญหา (เป็นลำดับที่ ๖) ว่า
             ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ  ข้าพระองค์ผู้เดียวไม่อาศัยธรรมหรือบุคคลอะไรแล้ว  ไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้  ข้าแต่พระองค์ผู้สมันตจักษุ  ขอพระองค์จงตรัสบอกที่หน่วงเหนี่ยวอันข้าพระองค์พึงอาศัยข้ามห้วงน้ำคือกิเลสนี้  แก่ข้าพระองค์เถิด 
             พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า  ดูก่อนอุปสีวะ  ท่านจงเป็นผู้มีสติ  เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ  อาศัยอารมณ์ว่า  ไม่มี  ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด  ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย  เป็นผู้เว้นจากความสงสัย  เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด 
             อุป.    ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่นเสีย  อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ  น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์  (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ  ธรรมเปลื้องสัญญาเป็นอย่างยิ่ง  ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว  พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแลหรือ 
             พระ.   ดูก่อนอุปสีวะ  ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย  อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ  น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง  ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น 
             อุป.    ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักษุ  ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว  พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นสิ้นปีแม้มากไซร้  ผู้นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ  ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแหละ  พึงเป็นผู้เยือกเย็น  หรือว่าวิญญาณของผู้เช่นนั้นพึงเกิดเพื่อถือปฏิสนธิอีก 
             พระ.   ดูก่อนอุปสีวะ  มุนีพ้นแล้วจากนามกายย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้  ไม่ถึงการนับ  เปรียบเหมือนเปลวไฟอันถูกกำลังลมพัดไปแล้วย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้  ไม่ถึงการนับ  ฉะนั้น 
             อุป.  ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้  ท่านผู้นั้นไม่มี  หรือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีโรค  ด้วยความเป็นผู้เที่ยง  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี  ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ความข้อนั้นให้สำเร็จประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด  เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น   
             พระ.   ดูก่อนอุปสีวะ  ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้  ไม่มีประมาณ  ชนทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด  กิเลสมีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี  เมื่อธรรม  (มีขันธ์เป็นต้น) ทั้งปวงท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว  แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมดก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว 
อุปสีวมาณพฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผล  อุปสมบทแล้ว เป็นพระมหาสวกองค์หนึ่ง


79 อุปเสนวังคันตบุตร                          พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชื่อ วังคันตะ มารดาชื่อนางสารี เป็นน้องชายของพระสารีบุตร เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ เติบโตขึ้น เรียนไตรเพทจบแล้ว ต่อมาได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใส จึงบวชในพระพุทธศาสนา หลังจากบวชได้ ๒ พรรษา จึงสำเร็จพระอรหัต ท่านออกบวชจากตระกูลใหญ่ มีคนรู้จักมากและทั้งเป็นนักเทศก์ที่สามารถ จึงมีกุลบุตรเลื่อมใสมาขอบวชด้วยจำนวนมาก ตัวท่านเองเป็นผู้ถือธุดงค์ และสอนให้สัทธิวิหาริกถือธุดงค์ด้วย ปรากฏว่าทั้งตัวท่านและบริษัทของท่านเป็นที่เลื่อมใสของคนทั่วไปหมด จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทำให้เกิดความเลื่อมใสทั่วทุกด้าน (คือไม่เฉพาะตนเองน่าเลื่อมใส แม้คณะศิษย์ก็น่าเลื่อมใสไปหมด); อุปเสนะวังคันตบุตร ก็เขียน


80 อุรุเวลกัสสปะ                 พระมหาสาวกองค์หนึ่งเคยเป็นนักบวชประเภทชฎิล นับถือลัทธิบูชาไฟ ถือตัวว่าเป็นพระอรหันต์ สร้างอาศรมสั่งสอนลัทธิของตนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เพราะเหตุที่เป็นชาวกัสสปโคตรและอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ชาวราชคฤห์นับถือมาก มีน้องสองคน คนหนึ่งชื่อนทีกัสสป อีกคนหนึ่งชื่อ คยากัสสป ล้วนเป็นหัวหน้าชฎิลตั้งอาศรมอยู่ถัดกันไปบนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ห่างไกลจากอาศรมของพี่ชายใหญ่ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทรงทรมานอุรุเวลกัสสปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จนท่านชฎิลใหญ่คลายพยศ ยอมมอบตัวเป็นพุทธสาวก ขอบรรพชา ทำให้ชฎิลผู้น้องทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกบวชตามด้วยทั้งหมด ครั้นบวชแล้วได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จพระอรหัตทั้งสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวารทั้งหมดหนึ่งพันองค์ พระอุรุเวลกัสสปได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีบริษัทใหญ่ คือ มีบริวารมาก


No comments:

Post a Comment