Saturday, August 13, 2011

29.พระนันทะ(2)

พระนันทะ (2)

พระนันทะองค์นี้ เดิมชื่อ นันทมาณพ เป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรีที่ไปทูลถามปัญหากับพระศาสดาที่ปาสาณกเจดีย์   
สมควรเล่าเรื่องพราหมณ์พาวรีอันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการถามปัญหา

สมัยเมื่อพระกัสสปทศพลเสด็จอุบัติในโลก  พระเจ้ากัฏฐวาหนะครองราชย์ในกัฏฐวาหนนครอันเป็นเมืองในเขตชนบท  ทรงสดับว่าพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก  จึงรับสั่งเรียกอำมาตย์คนสนิทมาตรัสว่า  พ่อเอย  พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก  เราสองคนจะไม่อยู่ในเมืองพร้อมๆ กันไม่ได้  ท่านจงไปยังมัชฌิมประเทศก่อน  รู้ว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว จงนำเสด็จพระทศพลมายังเมืองของเรานี้    
พระเจ้ากัฏฐวาหนะทรงส่งอำมาตย์คนสนิทไปพร้อมด้วยบุรุษ ๑๐๐๐ คน อำมาตย์นั้นไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมกถาแล้วเกิดศรัทธา จึงบวชอยู่ที่นั่น  บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ถึง  ๒๐,๐๐๐ ปี  ส่วนบุรุษที่ไปกับอำมาตย์นั้นก็กลับมาหมดทุกคน กราบทูลเรื่องราวให้พระเจ้ากัฏฐวาหนะทรงทราบ   
พระเจ้ากัฏฐวาหนะทรงบำเพ็ญกุศลอย่างยิ่งยวดในสำนักพระผู้มีพระภาคกัสสปะพร้อมด้วยบริวาร เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ในชาติปัจจุบันมาถือปฏิสนธิในตระกูลปุโรหิตกรุงสาวัตถีก่อนพระทศพลของเราเสด็จอุบัติขึ้น บิดามารดาตั้งชื่อว่า  พาวรีมาณพ
เมื่อพาวรีมาณพเรียนจบไตรเพทแล้ว เที่ยวสอนวิชาแก่พวกมาณพ ๑๖,๐๐๐ คน เมื่อบิดาล่วงลับไป พาวรีมาณพก็ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนในสมัยที่พระเจ้าปเสนทิโกศลประสูติ 
นันทมาณพเป็นคนหนึ่งที่เรียนวิชาในสำนักพราหมณ์พาวรี
                อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์พาวรีอยู่ตามลำพัง พิจารณาดูสาระในวิชาของตน ก็ไม่เห็นอะไรที่จะเป็นแก่นสารไปในภายหน้า  จึงคิดว่า เราควรจะบวชเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งเสาะหาสาระแห่งชีวิต  คิดแล้วก็เข้าเฝ้าพระเจ้าโกศล ทูลขออนุญาตออกบวช พระเจ้าโกศลก็ทรงอนุญาต
พราหมณ์พาวรีได้รับราชานุญาตแล้ว ก็ออกบวชพร้อมกับมาณพ ๑๖,๐๐๐ คน พระเจ้าโกศลรับสั่งให้คนนำพระราชทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะไปด้วย ตรัสสั่งว่า อาจารย์บวชอยู่ที่ไหน ก็ให้มอบทรัพย์ให้ที่นั้น   
ฝ่ายพราหมณ์พาวรีเที่ยวสำรวจหาสถานที่อันจะบวชอยู่ได้สบาย หาไม่ได้ในเขตเมือง ก็ออกไปตามชนบท ลงไปทางภาคใต้ ไปพบที่เหมาะใจตรงคุ้งแม่น้ำโคธาวรี ระหว่างเขตแดนของพระเจ้าอัสสกะและพระเจ้ามุฬกะ  จึงให้สร้างอาศรมสถานขึ้นในที่นั้น    
อยู่มาวันหนึ่ง มีคนผู้หนึ่งไปเที่ยวดูพวกนักบวช ผ่านมาทางอาศรมของพราหมณ์พาวรี เห็นทำเลย่านนั้นเหมาะใจ จึงขออนุญาตสร้างบ้านบนที่ดินของท่านพราหมณ์ แล้วก็ชักชวนคนอื่นๆ ให้มาอยู่แถวนั้นด้วย นานเข้าก็มีบ้านเพิ่มขึ้นถึงประมาณ ๑๐๐ ครอบครัว  คนทั้งหมดประชุมปรึกษากันว่า พวกเราจะอยู่ในที่ดินของพระคุณเจ้าเปล่าๆ หาควรไม่ จึงรวบรวมทรัพย์จากแต่ละบ้านได้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ แล้วนำไปมอบให้พราหมณ์พาวรี  พราหมณ์ถามว่า กหาปณะเหล่านี้พวกท่านนำมาเพื่อต้องการอะไร  ก็ตอบว่า เพื่อต้องการให้พวกท่านอยู่กันเป็นสุขเจ้าข้า   
                พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทองก็คงจะไม่ทิ้งทรัพย์สมบัติเป็นอันมากออกบวช  ขอให้เอากหาปณะพวกนี้คืนไปเสียเถิด 
พวกชาวบ้านก็บอกว่า พวกเราตั้งใจบริจาคแล้วจะไม่ขอรับคืน และจะบริจาคแบบนี้ทุกๆ ปี  ถ้าพระคุณเจ้าจะไม่ใช้สอยเอง ก็จงรับเอาไว้ให้ทานก็แล้วกัน  
พราหมณ์พาวรีได้ฟังดังนั้นจึงยอมรับ แล้วตั้งเป็นทุนไว้สำหรับให้ทานแก่คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก  
เรื่องที่พราหมณ์พาวรีตั้งกองทุนให้ทานนั้นเป็นที่ปรากฏรู้กันไปทั่วชมพูทวีป
                ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง เป็นตระกูลเดียวกับชูชกในหมู่บ้านทุนนวิตถะ แคว้นกลิงคะ ถูกภรรยาใช้ให้ไปรับบริจาคทานที่สำนักของพราหมณ์พาวรีมาบ้าง ก็ดั้นด้นไปจนถึงสำนักของท่านพราหมณ์ แต่วันที่ไปถึงนั้นประจวบเวลาที่เขาแจกทานสำหรับงวดนั้นหมดแล้ว  ตัวพราหมณ์พาวรีกำลังพักผ่อนอยู่ในบรรณศาลา   พราหมณ์ยาจกผู้นี้ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า  ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าบ้างเถิด  ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าบ้างเถิด
                พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ท่านพราหมณ์มาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกหมดไปแล้ว  ตอนนี้ไม่มีกหาปณะเหลืออยู่เลย
                พราหมณ์ยาจกพูดว่า  ท่านพราหมณ์  ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย   ท่านให้ทานแก่คนทั้งหลายได้ตั้งเยอะ  ส่วนข้านี้ไม่ขอมากหรอก ได้สัก ๕๐๐ กหาปณะก็พอ 
พราหมณ์พาวรีก็ยืนคำว่า ตอนนี้ไม่มี ถึงเวลาให้ทานงวดหน้าค่อยมาใหม่ก็แล้วกัน
พราหมณ์ยาจกพูดว่า  กว่าจะถึงเวลาให้ทานงวดหน้า ข้าก็คงมาไม่ไหวแล้ว ว่าแล้วจึงก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบๆ ทำปากขมุบขมิบเหมือนร่ายมนต์ แล้วพูดว่า ๗ วัน ศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
                พราหมณ์พาวรีคิดว่า  พราหมณ์ผู้นี้มีเดชมาก ถือการประพฤติตบะ เป็นจรณกพราหมณ์ (พวกเที่ยวขอไปเรื่อยๆ)  พูดว่า ๗ วัน ศีรษะของเราจงแตก ๗ เสี่ยง เงิน ๕๐๐ กหาปณะที่เราจะพึงให้ก็ไม่มี  พราหมณ์ผู้นี้คงฆ่าเราแน่
                เมื่อพราหมณ์พาวรีนอนเป็นทุกข์ท้อแท้อยู่อย่างนั้น  ตกกลางคืน มารดาของพราหมณ์พาวรีในชาติก่อน ซึ่งไปเกิดเป็นเทวดา เห็นบุตรเต็มไปด้วยความท้อแท้ใจจึงมาบอกว่า  ลูกเอ๋ย  ตาพราหมณ์นั่นมันไม่รู้หรอกว่าศีรษะจะแตกหรือไม่แตก  เจ้าไม่รู้หรือว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก  ถ้าเจ้ายังมีความสงสัยก็จงไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลถาม  พระศาสดาคงจะตรัสบอกเหตุอันนี้แก่เจ้าได้
พราหมณ์พาวรีได้ยินเสียงเทวดามาบอกก็โล่งใจ  พอรุ่งอรุโณทัยก็เรียกศิษย์ทุกคนมาพร้อมกัน แล้วกล่าวว่า  พ่อเอย  เขาว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก  ขอให้พวกเธอก็จงรีบไป ฟังดูให้รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ แล้วจงกลับมาบอกเรา  ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าจริง เราก็จะไปเฝ้าพระศาสดา  แต่ว่าอันตรายแห่งชีวิตรู้กันยากเพราะเราแก่เฒ่าแล้ว  พวกเธอไปเฝ้าพระศาสดา จงทูลถามปัญหากับพระองค์โดยทำนองอย่างนี้ๆ
ครั้นแล้วพราหมณ์พาวรีจึงแต่งปัญหาที่ลึกซึ้งให้แก่ศิษย์เอก ๑๖ คนไปคนละข้อ เป็นปัญหาต่างๆ กัน ๑๖ ข้อ   ต่อนั้นก็คิดว่า พวกมาณพเหล่านี้ทุกคนเป็นบัณฑิต ฟังธรรมกถาของพระศาสดาแล้ว อาจจะเลื่อมใสแล้วประพฤติธรรมจนบรรลุผลสำเร็จ  จะกลับมาหาเราหรือไม่กลับก็ไม่อาจจะรู้ได้   พราหมณ์พาวรีจึงคาดคั้นเอาแก่อชิตมาณพผู้เป็นหลานชายของตนซึ่งเป็นหัวหน้าศิษย์ว่า  ตัวเจ้าจะต้องกลับมาบอกคุณวิเศษที่เจ้าได้บรรลุแล้วแก่เราให้จงได้ 
ศิษย์เอก ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยบริวารคนละหนึ่งพัน ยกขบวนออกเดินทางจากอาศรมริมฝั่งแม่น้ำโคธาวรี จาริกรอนแรมไปเป็นระยะทางหลายร้อยโยชน์จนลุถึงเมืองสาวัตถี ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค   ปาสาณกเจดีย์ และทูลถามปัญหา 
นันทมาณพทูลถามเป็นลำดับที่ ๗ ในจำนวนศิษย์ ๑๖ คน

                คำทูลถามปัญหาของนันทมาณพ และคำตรัสพยากรณ์ของพระพุทธองค์มีดังต่อไปนี้


                                              สนฺติ  โลเก  มุนโย (อิจฺจายสฺมา  นนฺโท)
                                                ชนา  วทนฺติ  ตยิท กถสุ
                                                าณูปปนฺน มุนิโน  วทนฺติ
                                                อุทาหุ  เว  ชีวิเตนูปปนฺน.

นันทมาณพทูลถามปัญหาว่า
                                       ชนทั้งหลายพูดกันว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลว่าเป็นมุนีด้วยอาการอย่างไรหนอ
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้ประกอบด้วยญาณ
หรือผู้ประกอบด้วยความเป็นอยู่  ว่าเป็นมุนี

                                            ทิฏฺิยา   สุติยา   าเณน ( สีลพฺพเตน)
                                                มุนีธ  นนฺท  กุสลา  วทนฺติ
                                                วิเสนิกตฺวา  อนิฆา  นิราสา
                                                จรนฺติ  เย  เต  มุนโยติ  พฺรูมิ.

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
                                             ดูก่อนนันทะ
ผู้ฉลาดในโลกนี้ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี
เพราะความเห็น  เพราะความสดับ  เพราะความรู้
(หรือเพราะศีลและวัตร)
ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารให้พินาศแล้ว
ดำเนินชีพอย่างไม่มีความทุกข์  ไม่คอยคาดหวัง
เราเรียกชนเหล่านั้น ว่าเป็นมุนี

                                           เย  เกจิเม  สมณพฺราหฺมณา เส (อิจฺจายสฺมา  นนฺโท)
                                                ทิฏฺเ  สุเตนาปิ  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                สีลพฺพเตนาปิ  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                อเนกรูเปน  วทนฺติ  สุทฺธึ.
                                           กจฺจิสฺสุ  เต  (ภควา)  ตตฺถ  ยถา  จรนฺตา
                                                อตารุ  ชาติฺจ  ชรฺจ  มาริส
                                                ปุจฺฉามิ   ภควา  พฺรูหิ  เม  .

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้
เพราะความเห็นบ้าง  เพราะการฟังบ้าง  เพราะศีลและพรตบ้าง
เพราะเหตุนั้นบ้างเหตุนี้บ้าง เป็นอเนกปริยาย
                                             ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
เมื่อประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้นตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์
สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

                                           เย  เกจิเม  สมณพฺราหฺมณา เส (นนฺทาติ  ภควา)
                                                ทิฏฺเ  สุเตนาปิ  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                สีลพฺพเตนาปิ  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                อเนกรูเปน  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                กิฺจาปิ  เต  ตตฺถ  ยถา  จรนฺติ
                                                นาตรึสุ  ชาติชรนฺติ  พฺรูมิ.

ดูก่อนนันทะ
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้
เพราะความเห็นบ้าง  เพราะการฟังบ้าง  เพราะศีลและพรตบ้าง
เพราะเหตุนั้นบ้างเหตุนี้บ้าง เป็นอเนกปริยาย
แม้จะประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น
ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง
กระนั้น เราก็กล่าวว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้

                                           เย  เกจิเม  สมณพฺราหฺมณา เส (อิจฺจายสฺมา  นนฺโท)
                                                ทิฏฺเ สุเตนาปิ  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                สีลพฺพเตนาปิ  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                อเนกรูเปน  วทนฺติ  สุทฺธึ
                                                เต  เจ  มุนิ  พฺรูสิ  อโนฆติณฺเณ
                                                อถ  โก  จรหิ  เทวมนุสฺสโลเก
                                                อตาริ  ชาติฺจ  ชรฺจ  มาริส
                                                ปุจฺฉามิ   ภควา  พฺรูหิ  เม  .

สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้
เพราะความเห็นบ้าง  เพราะการฟังบ้าง  เพราะศีลและพรตบ้าง
เพราะเหตุนั้นบ้างเหตุนี้บ้าง เป็นอเนกปริยาย
ข้าแต่พระมุนีผู้นิรทุกข์
ถ้าพระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามโอฆะไม่ได้แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก
ที่จะข้ามพ้นชาติและชราได้ในบัดนี้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

                                           นาห สพฺเพ  สมณพฺราหฺมณา เส (นนฺทาติ  ภควา)
                                                ชาติชราย  นิวุตาติ  พฺรูมิ
                                                เยสีธ  ทิฏฺ   สุต มุต วา
                                                สีลพฺพต วาปิ  ปหาย  สพฺพ
                                                อเนกรูปมฺปิ  ปหาย  สพฺพ
                                                ตณฺห ปริาย  อนาสวา  เย
                                                เต  เว  นรา  โอฆติณฺณาติ  พฺรูมิ.

ดูก่อนนันทะ
สมณพราหมณ์ทั้งหมดอันชาติและชราหุ้มห่อไว้แล้ว
เราไม่กล่าวว่า จะข้ามพ้นโอฆะได้
แต่คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียได้
ซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี  เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี  อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี
ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี 
ละเสียซึ่งเหตุนั้นเหตุนี้ที่ยกขึ้นมาอ้างเป็นอเนกปริยายทั้งหมดก็ดี
กำหนดรู้ทั่วทันตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้
คนเหล่านั้นแลเรากล่าวว่า  ข้ามโอฆะได้แล้ว

                                           เอตาภินนฺทามิ  วโจ  มเหสิโน
                                                สุกิตฺติต โคตม  นูปธีก
                                                เยสีธ  ทิฏฺ    สุต มุต วา
                                                สีลพฺพต วาปิ  ปหาย  สพฺพ
                                                อเนกรูปมฺปิ  ปหาย  สพฺพ
                                                ตณฺห ปริาย  อนาสวา  เย
                                                อหมฺปิ  เต  โอฆติณฺณาติ  พฺรูมีติ.

ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ยินดียิ่งซึ่งพระดำรัสของพระองค์ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่
ธรรมอันไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว
คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียได้
ซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี  เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี  อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี
ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี 
ละเสียซึ่งเหตุนั้นเหตุนี้ที่ยกขึ้นมาอ้างเป็นอเนกปริยายทั้งหมดก็ดี
กำหนดรู้ทั่วทันตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้
คนเหล่านั้นแลแม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า ข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล.

นันทมาณพพร้อมกับบริวารหนึ่งพันฟังธรรมแล้วบรรลุพระอรหัตผล หนังเสือเหลือง ชฎา และผ้าป่านเป็นต้น อันเป็นเครื่องนุ่งห่มเดิมหายไปพร้อมกับการบรรลุธรรม ท่านทั้งหมดทรงบาตรและจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผมยาวสององคุลี เป็นเอหิภิกขุ นั่งประนมมือนมัสการพระผู้มีพระภาค
พระนันทะนับเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง ด้วยประการฉะนี้แล


               ที่มา :      นันทปัญหา ที่ ๗ ปารายนวรรคที่ ๕  สุตตนิบาต  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๔๓๑
ปรมัตถโชติกา ภาค ๒ อรรถกถาสุตตนิบาต ปารายนวรรค (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๒๙) หน้า ๔๒๑ - , ๔๔๔

No comments:

Post a Comment