Saturday, August 13, 2011

39.ตำนานรัตนสูตร

ตำนานรัตนสูตร

               บทขัดรัตนสูตรเป็นบทเชื้อเชิญให้ตั้งการุณจิตเพื่อกระทำการสวดพระปริตร ที่เหล่าเทวดาในแสนโกฏิจักรวาลยังยอมรับเอาความศักดิ์สิทธิ์ และที่ทำให้ภัยทั้ง ๓ ประการ คือ ภัยเกิดจากโรคระบาด ๑ ภัยเกิดจากอมนุษย์ ๑ ภัยเกิดจากความฝืดเคืองเรื่องอาหาร ๑ ในเมืองเวสาลีอันตรธานไปอย่างรวดเร็ว  (เวลาสวด) ตั้งใจสวดให้เหมือนกับท่านพระอานนทเถรเจ้า นึกถึงพระพุทธคุณทั้งปวงของพระตถาคตเจ้า ตั้งแต่พระองค์ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นต้นมา คือ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓ การเสด็จลงพระครรภ์ในภพสุดท้าย การประสูติ การเสด็จออกบรรพชา การบำเพ็ญความเพียรอันยิ่งใหญ่ การชนะมาร ณ โพธิบัลลังก์ การตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ และโลกุตรธรรม ๙ ประการ แล้วสวดพระปริตรตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม ภายในกำแพง ๓ ชั้นของเมืองเวสาลี
                บทรัตนสูตรเป็นบทที่ว่าด้วย คุณค่าและอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ กล่าวถึงพระสูตรที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ชาวเมืองไพสาลีเมื่อคราวประสบวิกฤตการณ์ต่างๆ  เนื้อหากล่าวถึงคุณพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจอันเกษม และเน้นคุณธรรมที่สามารถน้อมมารำลึกถึงและปฏิบัติตามได้ คือลดละกิเลสตัณหาให้จางคลายไปโดยลำดับ โดยนำเอาพระคุณที่อยู่ในพระรัตนตรัยมาเป็นแนวทางและเป้าหมายในการปฏิบัติ เช่น สมาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า และการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ที่สงบเรียบง่ายไม่มีบาปให้ปกปิด บทรัตนสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตที่มีคุณค่าตามหลักพุทธศาสนานั้นต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยมีสาระอยู่ที่การดับความเห็นแก่ตัวลงโดยลำดับจนหมดสิ้น จึงจะบรรลุนิพพานอันเป็นคุณค่าสูงสุดได้ อนึ่ง ชีวิตที่อุดมด้วยคุณค่าดังกล่าวนั้นได้มาเปล่าโดยไม่ต้องซื้อหา ดังข้อความในรัตนสูตรว่า  ลัทธา  มุธา  นิพพุติง  ภุญชะมานา  นิพพานได้มาเปล่าไม่ต้องซื้อ
                บทรัตนสูตรนี้มีคำสวดขึ้นต้นว่า  ยานีธะ  ภูตานิ  สะมาคะตานิ ...” เป็นต้น พระสูตรนี้เป็นสูตรที่แสดงอานุภาพของพระรัตนตรัยโดยตรง เมื่อเทวดาและมนุษย์รู้คุณค่าของพระรัตนตรัย ยอมรับนับถือบูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ย่อมก่อให้เกิดพลังใจในการต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อชัยชนะต่ออุปสรรค ปัญหา ตลอดจนภัยทั้งหลายทั้งปวงได้

รัตนสูตรนี้มีตำนานมาว่า
ครั้งหนึ่งในเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวแพง ผู้คนล้มตายกันเป็นอันมากเพราะความอดอยาก เมื่อตายแล้วก็นำศพไปทอดทิ้งไว้นอกเมือง กลิ่นเหม็นตลบไปทั่วเมือง ไม่ช้าก็เกิดอหิวาตกโรคขึ้น ชาวเมืองต้องล้มตายกันมากขึ้น ทำให้บ้านเมืองเกลื่อนไปด้วยซากศพ พวกภูตผีปีศาจก็เที่ยวหลอกหลอนรบกวน ชาวเมืองจึงพากันไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แล้วกราบทูลว่า แต่ก่อนแต่ไรไม่เคยเป็นอย่างนี้ ชะรอยพระองค์จักไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมกระมัง พระเจ้าแผ่นดินทรงอนุญาตให้ชาวเมืองตรวจดูว่า พระองค์ทรงประพฤติไม่ดีอย่างไร ก็ให้กล่าวโทษขึ้น ชาวเมืองไม่สามารถกล่าวได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินประพฤติไม่เป็นธรรมอย่างไร จึงพากันคิดจะระงับภัยอันนี้ โดยหาผู้ที่ประเสริฐมาระงับ จึงตกลงพากันไปอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจากเมืองราชคฤห์มายังเมืองไพสาลี
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาแล้วเสด็จไปเมืองไพสาลีพร้อมด้วยพระสาวก ๕๐๐ รูป ระหว่างเมืองไพสาลีกับเมืองราชคฤห์นั้นมีแม่น้ำกว้างใหญ่เป็นเขตกั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จลงสู่นาวาข้ามไป ใช้เวลา ๘ วัน จึงถึงเมืองไพสาลี ครั้นเสด็จถึงแล้วได้มีฝนตกลงมาห่าใหญ่ น้ำท่วมพื้นที่จนถึงหัวเข่า พัดพาเอาซากศพลอยไปในแม่น้ำ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกหาพระอานนท์ แล้วตรัสว่า  อานนท์ เธอจงเรียนเอารัตนสูตรนี้แล้วจงไปสวดในกำแพงเมือง ฝ่ายพระอานนท์เมื่อเรียนรัตนสูตรจากสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ถือเอาบาตรน้ำมนต์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยืนอยู่ที่ประตูพระนคร แล้วรำลึกถึงพระพุทธคุณ ต่อจากนั้นก็เที่ยวประพรมน้ำมนต์สาดไปทั่วพระนคร น้ำมนต์ที่พระอานนท์สาดไปนั้นได้ไปตกถูกพวกภูตผีปีศาจในขณะที่กล่าวคำว่า “ยังกิญจิพวกภูตผีปีศาจก็หนีไปสิ้น พอกล่าวคำว่า ยานีธะ  ภูตานิหยาดน้ำมนต์ก็ตกไปถูกพวกมนุษย์ที่กำลังเจ็บไข้ ในทันใดนั้นโรคก็หายไปสิ้น ตั้งแต่นั้นมาชาวเมืองก็อยู่กันโดยปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ความเจริญสิริสวัสดิ์ก็เกิดมีแก่ราชตระกูลและชาวเมือง
อนึ่ง พระสูตรนี้ถือว่าเป็นเครื่องปัดเป่าอุปัทวันตรายให้หมดสิ้นไป
การที่พระพุทธองค์รับคำทูลเชิญและเสด็จไปเมืองไพสาลี ถือว่าเป็นการให้กำลังใจประชาชนต่อสู้กับวิกฤตการณ์เลวร้าย นับเป็นการสอนให้ประชาชนปลูกศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งดีงามและมีศรัทธาในการปฏิบัติธรรม มุ่งมั่นนำเอาวิริยะอุตสาหะมาใช้ต่อสู้กับสถานการณ์ที่เลวร้าย และสอนให้ชาวเมืองได้เสียสละความสุขเล็กน้อยของตนเพื่อความสุขอันไพบูลย์ หรือสละความสุขเล็กน้อยของตนเพื่อความสุขของส่วนรวม จนทำให้เมืองไพสาลีฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิม

No comments:

Post a Comment