Saturday, August 13, 2011

15.พระอัญญาโกณฑัญญะ

พระอัญญาโกณฑัญญะ

            พระมหาเถระรูปหนึ่ง  เป็นปฐมสาวกคือผู้บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าเป็นคนแรก เป็นพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา เป็นสังฆรัตนะองค์แรก ทำให้รัตนะครบ ๓ บริบูรณ์ ที่เรียกว่า “รัตนตรัย”
ท่านมีชื่อเดิมตามโคตรว่า  โกณฑัญญะ เป็นบุตรของพราหมณมหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ  ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์  เกิดก่อนพระพุทธเจ้า  ได้เรียนจบไตรเพท  ชำนาญในการทำนายลักษณะ  เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ ไปรับพระราชทานเลี้ยงในวันขนานพระนามพระราชกุมาร คือพระพุทธเจ้า ท่านเป็นคนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์เหล่านั้น  และเมื่อคัดเลือกพราหมณ์เพื่อทำนายลักษณะ ๘ คน ท่านก็ได้รับคัดเลือกคนหนึ่ง และเป็นพราหมณ์หนุ่มกว่าทุกคน  ท่านคนเดียวเท่านั้นที่ทำนายยืนยันเป็นอย่างเดียวว่า พระราชกุมารจักเป็นพระพุทธเจ้า 
จากนั้นมาท่านก็คอยฟังข่าวการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระราชกุมารอยู่ตลอดเวลา  เมื่อทราบข่าวว่าพระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้ว ท่านได้ไปชวนบุตรของพราหมณ์อีก ๗ คนให้ออกบวชตามพระมหาบุรุษ  แต่ที่ยินดีออกบวชตามมีเพียง ๔ คน  คือ วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และ อัสสชิ  โดยมีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า  คณะของนักบวชทั้ง ๕ นี้คือที่รู้จักกันว่า ปัญจวัคคีย์
                ครั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี  ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรด  ท่านโกณฑัญญะกับพรหม ๑๘ โกฏิได้บรรลุโสดาปัตติผล 
เนื่องจากท่านโกณฑัญญะเป็นคนแรกที่เข้าถึงพระธรรมของพระองค์  พระพุทธองค์จึงได้ทรงเปล่งพระอุทานว่า 

อญฺญาสิ  วต  โภ  โกณฺฑญฺโญ  อญฺญาสิ  วต  โภ  โกณฺฑญฺโญ   (โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ  โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ)  ดังนี้ 

ตั้งแต่นั้นมาท่านจึงได้นามเพิ่มขึ้นว่า  อัญญาโกณฑัญญะ
                เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง อนัตตลักขณสูตร ในเวลา ๕ วันต่อมา ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

บุพกรรมในอดีตชาติ


           
            นับแต่กัปนี้ไปย้อนหลังไปอีก ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสีเสด็จอุบัติขึ้นในโลก 
                ในกาลนั้น มีกุฎุมพีสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ มหากาล  คนน้องชื่อ จุลกาล ทำนาข้าวสาลีไว้เป็นอันมาก
                อยู่มาวันหนึ่ง จุลกาลไปนาข้าวสาลี ฉีกข้าวสาลีกำลังท้องต้นหนึ่งแล้วชิมดู ได้มีรสอร่อยมาก  เขาปรารถนาจะถวายสาลีคัพภทานแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข   จึงเข้าไปหาพี่ชายแล้วพูดว่า  พี่ ฉันจะฉีกข้าวสาลีกำลังท้อง ต้มให้เป็นของควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วถวายทาน  พี่ชายกล่าวว่า เจ้าพูดอะไร อันการฉีกข้าวสาลีกำลังท้องทำทานไม่เคยมีแล้วในอดีต จักไม่มีในอนาคต เจ้าอย่าทำข้าวกล้าให้เสียหายเลย  เขาอ้อนวอนแล้วๆ เล่าๆ พี่ชายจึงพูดว่า ถ้ากระนั้น เจ้าต้องปันนาเป็น ๒ ส่วน อย่าแตะต้องส่วนของเรา จงทำสิ่งที่เจ้าปรารถนาในนาอันเป็นส่วนของตน  เขารับว่า ดีแล้ว แบ่งนากันแล้ว  ได้ขอแรงชาวบ้านให้ช่วยฉีกข้าวสาลีท้อง เคี่ยวเป็นน้ำนมจนข้น ปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด  (1) ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  ในกาลเสร็จภัตกิจกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานอันเลิศของข้าพระองค์นี้จงเป็นไปเพื่อความแทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนกว่าสาวกทั้งปวง  พระศาสดาตรัสว่า จงเป็นอย่างนั้นเถิด แล้วได้ทรงทำอนุโมทนา 
เขาไปนา ตรวจดูอยู่เห็นนาแน่นหนาด้วยรวงข้าวสาลีเหมือนเขามัดไว้เป็นช่อๆ ในนาทั้งสิ้น ก็เกิดปีติ คิดว่า เป็นลาภของเราหนอ  (2) ถึงหน้าข้าวเม่าได้ถวายทานเลิศด้วยข้าวเม่า  (3) ได้ถวายทานอันเนื่องด้วยข้าวกล้าอย่างเลิศพร้อมกับชาวบ้านทั้งหลาย  (4) หน้าเกี่ยวได้ถวายทานอันเลิศในการเกี่ยว  (5) คราวทำคะเน็ดได้ถวายทานอันเลิศในการคะเน็ด  (6)ในคราวมัดฟ่อนเป็นต้นก็ได้ถวายทานอันเลิศในการมัดฟ่อน  (7) ถวายทานอันเลิศในคราวขนเข้าลาน  (8) ถวายทานอันเลิศในคราวนวด  (9) ถวายทานอันเลิศในคราวขนขึ้นฉาง 
เขาได้ถวายทานอันเลิศรวม ๙ ครั้ง ในฤดูการทำนาครั้งหนึ่ง ด้วยประการอย่างนี้
ข้าวที่เขาแบ่งเอาไปถวายทานได้กลับเต็มดังเดิมทุกๆ ครั้งไป  ข้าวกล้าได้งอกงามสมบูรณ์ขึ้นยิ่งกว่าเดิม 
ส่วนกุฎุมพีผู้พี่นั้นหมดฤดูทำนาแล้วจึงถวายทาน  ทั้งสองคนนั้น ผู้น้องก็คือท่านพระอัญญาโกณฑัญญะผู้เป็นปฐมสาวก  ส่วนผู้พี่ก็คือสุภัททปริพาชกผู้เป็นปัจฉิมสาวก
คนทำดี ความดีย่อมบำรุงรักษา  สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

                                ธรรมแลย่อมรักษาผู้มีปกติประพฤติธรรม       
ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ 
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่เขาประพฤติดี 
ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
(ขุ. ชา. ๗๒/๒๙๐ ขุ. เถร.๒๑/๓๑๔.)

                ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะปรารถนาเพื่อแทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนเขา จึงได้ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ด้วยประการอย่างนี้แล (คัมภีร์อปทาน, อรรถกถาธรรมบท ภาค ๑ เรื่องสัญชัย)

พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า  ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ  ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล  ท่านเห็นภิกษุรูปหนึ่งได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในฐานะผู้รัตตัญญู จึงได้ตั้งปณิธานปรารถนาที่จะได้เป็นเช่นนั้นบ้างในอนาคตกาล  ท่านได้รับพยากรณ์จากพระปทุมุตตรพุทธเจ้าว่าจักสำเร็จสมปรารถนา คือบรรลุธรรมเป็นคนแรกในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม  จึงได้บำเพ็ญกุศลมากอย่างและถวายมหาทานถึง ๗ วัน  เมื่อพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน  ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
           

กิตติคุณและจริยาวัตร


            ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระภิกษุรูปแรกที่ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และเป็นพระอริยสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา  ต่อมาพระผู้มีพระภาคได้ตรัสยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะในท่ามกลางประชุมครั้งใหญ่ที่พระเชตวันว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้รัตตัญญูรู้ราตรีนาน 
อัญญาโกณฑัญญะนี้เป็นเลิศ ดังนี้

และได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฐานะบรรลุธรรมเป็นรูปแรกด้วย
ท่านพิจารณาเห็นว่า หลานของท่านชื่อ ปุณณะ หากให้บวชแล้วก็จักเป็นธรรมกถึกเอก  จึงได้ให้บรรพชาแล้วนำมาอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า (ดูประวัติพระปุณณะ มันตานีบุตร)
                ในคัมภีร์ เถรคาถา  มีคาถาภาษิตของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะว่า ท่านได้กล่าวตักเตือนภิกษุให้ดำเนินชีวิตไปสู่ความหลุดพ้น โดยยกไตรลักษณ์ขึ้นแสดง
                ในกาลครั้งหนึ่ง  ท่านได้เทศน์สอนท้าวสักกะตามคำอาราธนาของท้าวสักกะเอง  ท้าวสักกะได้ประกาศความปีติยินดีต่อท่านเป็นอย่างมาก
                ครั้งหนึ่ง ท่านพระวังคีสะได้กล่าวสรรเสริญคุณความดีของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เป็นคาถา   บท (ปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๗๕๓) ความว่า

พุทฺธานุพุทฺโธ โส เถโร   โกณฺฑฺโ  ติพฺพนิกฺกโม
                             ลาภี  สุขวิหาราน          วิเวกาน  อภิณฺหโส.
พระโกณฑัญญะเถระนี้ เป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์
เป็นผู้มีความเพียรเครื่องก้าวหน้าอย่างแรงกล้า
เป็นผู้ได้ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขทั้งหลาย
อันเกิดแต่วิเวกอยู่เนืองนิตย์

                    ย  สาวเกน  ปตฺตพฺพ    สตฺถุสาสนการินา
                             สพฺพสฺส  ต  อนุปฺปตฺต  อปฺปมตฺตสฺส  สิกฺขโต.
พระสาวกผู้ทำตามคำสอนของพระศาสดา
พึงบรรลุคุณอันใด
คุณอันนั้นทุกอย่าง อันพระโกณฑัญญะเถระนั้น
เป็นผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่ บรรลุแล้วโดยลำดับ

                   มหานุภาโว  เตวิชฺโช          เจโตปริยายโกวิโท
                             โกณฺฑฺโ  พุทฺธทายาโท   ปาเท  วนฺทติ  สตฺถุโน.
พระโกณฑัญญะเถระเป็นผู้มีอานุภาพมาก
เป็นผู้ได้ไตรวิชชา  ฉลาดในเจโตปริยญาณ
เป็นทายาทของพระพุทธองค์
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทพระศาสดา


ไปอยู่ป่าหิมพานต์ และนิพพาน


ต่อมา ท่านได้ทูลขอพระพุทธานุญาตไปอยู่ป่าหิมพานต์ เพราะท่านชอบอยู่สงบ  เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือท่านเป็นพระสาวกที่มีอาวุโสกว่าภิกษุทุกรูป เวลาบิณฑบาตท่านจะต้องเดินนำ เพราะพระสาวกต้องไปตามลำดับพรรษา  เวลานั่งในที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม  ท่านนั่งถัดจากพระอัครสาวกทั้งสอง  พระสาวกทั้งมวลนั่งล้อมท่าน  อีกทั้งพระอัครสาวกทั้งสองมีความเคารพในท่านมาก  ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระสงฆ์สาวกทั้งปวง ท่านจึงได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ใกล้ฝั่งสระโบกขรณีฉัททันต์ในป่าหิมพานต์ดังกล่าว (บางแห่งว่าท่านไปอยู่ที่ฝั่งสระมันทากินี อันเป็นที่อยู่ของช้างฉัททันต์)  
ณ สถานที่นั้น พวกช้างในป่านั้นได้นำอาหารมาถวายและดูแลรักษาคุ้มครองท่าน  ท่านอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๑๒ ปี  เมื่อท่านทราบว่าท่านหมดอายุ จึงได้ไปทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อนิพพาน แล้วกลับไปที่สระฉัททันต์อีก  และได้นิพพาน   ที่นั้นในเวลาใกล้รุ่ง
                ในวันที่ท่านนิพพาน  ช้างเชือกหนึ่งถึงวาระปรนนิบัติท่าน  ไม่ทราบว่าท่านนิพพาน จึงได้จัดทำทุกอย่างเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา แต่ไม่เห็นพระเถระออกมา จึงใช้งวงเปิดประตูกระท่อม มองดูเห็นเถระนั่งนิ่ง  เอางวงลูบคลำตามร่างกาย ตรวจดูลมอัสสาสปัสสาสะ จึงรู้ว่าพระเถระนิพพานเสียแล้ว  ได้ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง  ป่าหิมพานต์ทั้งสิ้นบันลือลั่นเป็นเสียงเดียวกัน  ช้าง ๘,๐๐๐ เชือกได้จัดพิธีทำศพของพระเถระอย่างเรียบร้อยดียิ่ง  เทวดาทั้งหมดจนถึงพรหมโลกได้เข้าร่วมในพิธีนี้ด้วย  พระภิกษุ ๕๐๐ รูปรวมทั้งพระอนุรุทธะก็ได้ไปสู่สถานที่พิธีนั้น  พระภิกษุทั้งหมดทำการสาธยาย  ส่วนพระอนุรุทธะแสดงธรรมตลอดคืน
เมื่อเสร็จพิธีแล้วได้นำอัฐิธาตุของท่านมาสู่เวฬุวันวิหาร น้อมถวายพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ทรงบรรจุไว้ในพระเจดีย์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง

No comments:

Post a Comment