Saturday, August 13, 2011

30.พระสีวลี

พระสีวลี

พระสีวลี ท่านได้ทำทานบารมีมาอย่างมากมาย  จึงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยลาภอย่างล้นเหลือ 
แม้ในที่กันดารท่านก็ไม่ขาดจตุปัจจัย จนเป็นสัญลักษณ์ติดปากว่า หากได้ไปไหนพร้อมกับพระสีวลี เป็นไม่มีอด  
รายละเอียดในประวัติของท่านมีดังนี้

                พระสีวลีถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดามีพระนามว่า  สุปปวาสา  ซึ่งเป็นพระราชธิดาแห่งกรุงโกลิยะ   พระราชบิดามีพระนามว่า มหาลิลิจฉวี  ในวงค์กษัตริย์   ตั้งแต่เวลาถือปฏิสนธิอยู่ในพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสา  พระนางได้รับเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ ทั้งเช้าทั้งเย็น     
                ครั้งนั้น พวกพระญาติต้องการจะทดลองบุญ จึงให้พระนางสุปปวาสาเอาพระหัตถ์สัมผัสกระเช้าพืช   ก็มีหน่อออกมาจากพืชชนิดหนึ่งๆ ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง ข้าวเกิดขึ้นจากนากรีสหนึ่ง (คำว่า กรีส พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า มาตราวัดความยาว เท่ากับ ๑ เส้น ๑๑ วา ๑ ศอก หรือ ๑๒๕ ศอก, พจนานุกรม บาลี ไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลคำนี้ว่า มาตราวัดพื้นที่ ๔ เหลี่ยม ของที่ดิน รวมความหมายตามพจนานุกรมทั้งสองฉบับ คำว่า กรีส น่าจะหมายถึงพื้นที่กว้างยาวด้านละ ๑๒๕ ศอก) ๕๐ เกวียนบ้าง  ๖๐  เกวียนบ้าง  แม้เวลาจะทำยุ้งฉางให้เต็มก็ทรงเอาพระหัตถ์สัมผัสประตูยุ้งฉาง  ทุกแห่งที่พระนางสัมผัสก็กลับเต็มไปด้วยข้าวเพราะบุญของพระนาง  เมื่อคนทั้งหลายพูดขึ้นว่า  บุญของพระราชธิดา  แล้วคดข้าวจากหม้อที่มีข้าวสวยเต็มให้แก่คนใดคนหนึ่ง ยังไม่ยกมือออกจากหม้อเพียงใด ข้าวสวยก็ไม่พร่องไปเพียงนั้น
                เมื่อทารกอยู่ในครรภ์นั่นเองเวลาล่วงไปถึง ๗ ปี  แต่เมื่อครรภ์แก่ พระนางประชวรพระครรภ์อยู่ถึง ๗ วัน พระนางปรึกษาพระราชาว่า ก่อนแต่จะตายพระนางจะขอถวายทานทั้งที่มีชีวิตอยู่ให้จงได้   จึงขอให้พระราชาไปเฝ้าพระศาสดา โดยรับสั่งว่า 
ขอได้โปรดเสด็จไปกราบทูลเรื่องนี้แด่พระศาสดาแล้วนิมนต์พระองค์มา หรือถ้าพระศาสดาตรัสคำใด ขอพระองค์ทรงกำหนดคำนั้นให้ดี แล้วขอได้ตรัสบอกแก่หม่อมฉัน 

พระราชาเสด็จไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงมีความสุข จงมีความสบาย  ไม่มีโรค  จงประสูติพระโอรสที่หาโรคมิได้เถิด  
                พระราชาทรงสดับพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว  ถวายอภิวาทพระศาสดา ทรงรีบรุดเสด็จกลับพระราชนิเวศน์  พระกุมารก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาง่ายเหมือนเทน้ำออกจากกระบอกกรองน้ำฉะนั้น  เหล่าข้าราชบริพารที่แวดล้อมพระนางอยู่เริ่มหัวเราะทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา  มหาชนพากันยินดีร่าเริงได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระราชา  พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้น ทรงดำริว่า  พระดำรัสที่พระทศพลตรัสเห็นจะเป็นผลแล้ว  จึงเสด็จไปกราบทูลข่าวของพระนางสุปปวาสาแด่พระทศพล
                พระนางสุปปวาสาตรัสว่า  อาหารสำหรับคนเป็นที่พระองค์นิมนต์ไว้ จักเป็นอาหารที่เป็นมงคล  ขอพระองค์จงไปนิมนต์พระทศพล ๗ วันเถิดเพคะ
                พระราชาทรงกระทำตามที่พระนางรับสั่ง  ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วัน  คราวนั้นพระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาได้ฟังธรรมครั้งแรกก็บรรลุพระโสดาปัตติผล
                ทารกดับความเร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด  เพราะฉะนั้นพระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า สีวลีทารก  
สีวลีทารกนั้นพอประสูติออกมา ก็เดินได้ พูดได้ ทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง เพราะอยู่ในพระครรภ์ถึง ๗  ปี   
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้สนทนาปราศรัยกับสีวลีในวันที่ ๗   แม้พระศาสดาก็ได้ตรัสพระคาถาอันปรากฏในคัมภีร์พระธรรมบทว่า

                                                โย  อิมํ  ปลิปถํ  ทุคฺคํ    สํสารํ  โมหมจฺจคา
                             ติณฺโณ  ปารคโต ฌายี อเนญฺโช  อกถํกถี
                    อนุปาทาย  นิพฺพุตํ       ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ.
                   ผู้ใดข้ามทางอันตรายคือสงสารอันข้ามได้ยากนี้ 
ถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้มีอันเพ่งฌาน ก้าวล่วงโอฆะ 
ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย 
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์   ดังนี้

                คราวนั้น พระสารีบุตรเถระกล่าวกะสีวลีทารกว่า  เธอได้เสวยกองทุกข์เห็นปานนี้แล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ  สีวลีทารกตอบว่า  ท่านขอรับ เมื่อกระผมได้รับอนุญาตก็คงจะบวชได้  
พระนางสุปปวาสาเห็นสีวลีทารกพูดอยู่กับพระเถระ  นึกสงสัยว่าบุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี  จึงเข้าไปหาพระเถระ เรียนถามว่า  บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ
                พระเถระกล่าวว่า  บุตรของเธอพูดถึงความทุกข์ที่ตนได้รับเมื่ออยู่ในครรภ์  และกล่าวว่า หากเธออนุญาต ก็จักบวช   พระนางสุปปาวาสาตรัสว่า  ดีละเจ้าข้า  โปรดให้เขาบรรพชาเถิด


พระสีวลีบรรลุพระอรหัต


                พระสารีบุตรเถระพาสีวลีทารกไปวิหารและเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้  พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้ปลงผมให้  ได้ให้ตจปัญจกกรรมฐาน  เมื่อจะให้บรรพชาได้กล่าวว่า  สีวลีเอ๋ย !  เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก  เธอจงพิจารณาทุกข์ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ   
สีวลีทารกกล่าวว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  กระผมจักได้รู้ถึงภาระเกี่ยวกับการบวชบ้างเพื่อจะได้ทำตาม
                สีวลีทารกบรรลุโสดาปัตติผลในขณะที่โกนผมปอยแรกนั่นเอง   ขณะโกนปอยที่    บรรลุสกทาคามิผล   ในขณะโกนผมปอยที่    บรรลุอนาคามิผล  เวลาโกนผมเสร็จ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลทันทีไม่ก่อนไม่หลังกัน  
ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้วปัจจัย ๔  เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์พอแก่ความต้องการ 


บุพกรรมในอดีตชาติ


                สมัยหนึ่ง  พระศาสดาเสด็จไป    ธรรมสภา ตรัสถามว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไรในบัดนี้  เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  การอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปี  และการถึงความหลงครรภ์อีก ๗ วันของสีวลีผู้มีบุญมาก มีกรรมที่ตนทำไว้เป็นมูลทีเดียว  แม้ความทุกข์ในการบริหารครรภ์ด้วยการอุ้มท้องไว้ถึง ๗ ปี และทุกข์เพราะครรภ์หลงถึง ๗ วันของพระนางสุปปวาสานั้นเล่า ก็มีกรรมที่ตนกระทำไว้เป็นมูลเหมือนกัน  เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอาราธนา จึงทรงเล่าเรื่องในอดีตชาติ  ดังต่อไปนี้ :-

                ในอดีตกาล  ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระอุทรแห่งพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น ทรงเจริญวัยแล้ว ทรงศึกษาสรรพศิลปวิทยา   เมืองตักกสิลา  ครั้นพระชนกเสด็จทิวงคตก็ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม 
                สมัยนั้น พระเจ้าโกศลทรงกรีธาพลเป็นกองทัพใหญ่เสด็จมายึดพระนครพาราณสีได้  สำเร็จโทษพระราชาเสียแล้ว  กระทำอัครมเหสีของพระราชานั้นแหละให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์  ฝ่ายพระโอรสของพระเจ้าพาราณสี ขณะที่พระราชบิดาสวรรคตก็เสด็จหนีไปทางช่องระบายน้ำ ทรงรวบรวมกำลังได้ ก็ยกมาประชิดพระนครพาราณสี ตั้งค่ายอยู่ในที่ไม่ไกล ทรงส่งสารไปถึงพระราชานั้นว่า  จงมอบราชสมบัติคืน หรือมิฉะนั้นจงรบกัน  พระราชาทรงตอบไปว่า เราจะรบ   
ฝ่ายพระราชมารดาของพระราชกุมารทรงสดับข่าวนั้นแล้วจึงลอบส่งข่าวไปว่า ไม่ต้องยกเข้าตีดอก  จงล้อมพระนครพาราณสี  ตัดการไปมาของชาวพระนครเสียให้เด็ดขาดสัก ๗ วัน ก็จะยึดพระนครซึ่งผู้คนลำบากแล้วเพราะขาดแคลนเชื้อเพลิง น้ำ และอาหารได้โดยไม่ต้องรบเลย   
พระราชกุมารฟังข่าวที่พระมารดาส่งมา จึงล้อมพระนครไว้  ตัดการไปมาเด็ดขาดตลอด ๗ วัน  ชาวเมืองไปมาไม่ได้ก็ตัดเอาเศียรของพระราชานั้นไปถวายพระกุมารในวันที่ ๗  พระราชกุมารก็เสด็จเข้าพระนครได้และได้ครองราชสมบัติ
                ด้วยวิบากแห่งกรรมอันนั้น ท่านจึงได้เสวยความทุกข์ในอบายมีนรกเป็นต้นสิ้นกาลนาน  ในชาตินี้แม้จะได้บังเกิดในราชตระกูล ก็ยังได้เสวยความทุกข์เห็นปานนี้ร่วมกับพระราชมารดา  
พระสีวลีต้องอยู่ในพระครรภ์ถึง ๗ ปี และยังต้องเป็นผู้หลงครรภ์ (คือคลอดไม่ได้) อีก ๗ วัน ด้วยกระแสกรรมที่ล้อมพระนคร ตัดการไปมาเสียเด็ดขาดถึง ๗ วันนั้นแล


                                                                บุพกรรมฝ่ายกุศล

                แต่ว่าท่านพระสีวลีได้ถวายมหาทาน  กระทำความปรารถนาไว้แทบพระบาทแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้าว่า  ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้เลิศกว่าบุคคลผู้มีลาภทั้งหลาย  และในครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้าก็ได้ร่วมกับชาวเมืองถวายน้ำผึ้งสดมีมูลค่าราคาหนึ่งพันกหาปณะ แล้วได้กระทำความปรารถนาไว้  ด้วยอานุภาพแห่งทานนั้นจึงได้เป็นผู้เลิศกว่าผู้มีลาภทั้งหลาย  (ดูรายละเอียดตอนท้ายของเรื่อง)


บุพกรรมฝ่ายอกุศลของพระมารดา


                ส่วนพระนางสุปปวาสาเล่า เพราะส่งข่าวไปว่า จงล้อมพระนครยึดเอาเถิดพ่อ  จึงต้องทรงบริหารครรภ์อุ้มพระอุทรตลอด ๗ ปี แล้วยังต้องเกิดครรภ์หลง (คือคลอดไม่ออก) อีกถึง ๗ วัน ดังนี้แล

               พระศาสดาทรงเล่าเรื่องในอดีตชาติแล้ว  ตรัสพระคาถานี้เป็นอภิสัมพุทธคาถา  ความว่า  :-                           
                                อสาตํ  สาตรูเปน         ปิยรูเปน  อปฺปิยํ
                   ทุกฺขํ  สุขสฺส  รูเปน      ปมตฺตมติวตฺตติ.

สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม ครอบงำผู้ประมาทไว้ ด้วยทีท่าอันน่าชื่นชม 
                   สิ่งที่ไม่น่ารัก ครอบงำผู้ประมาทไว้ ด้วยทีท่าอันน่ารัก 
ทุกข์ ครอบงำผู้ประมาทไว้ ด้วยทีท่าของความสุข ดังนี้

- สุปปวาสาโกลิยธิดา คัมภีร์อุทาน พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๖๒
- อัมพวนเปรต คัมภีร์เปตวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๑๓๒
- อสาตรูปชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๐๐

                พระอรรถกถาจารย์ขยายความว่า  สิ่งทั้ง ๓ อย่างนี้  คือ สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม  สิ่งที่ไม่น่ารัก และทุกข์  ย่อมข่ม คือครอบงำบุคคลผู้ประมาทแล้วเพราะปราศจากสติ  ด้วยอาการมีทีท่าอันน่าชื่นชมเป็นต้นนี้ 
                สองแม่ลูกคือพระนางสุปปวาสาและสีวลีทำบาปกรรมไว้ในชาติก่อน ผลกรรมตามมาครอบงำเข้าในชาตินี้ นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง การเกิดมานั้นเนื้อแท้แล้วเป็นความทุกข์ แต่คนทั้งหลายพอได้บุตรก็ดีใจ นี่ก็คือถูกความทุกข์ครอบงำหลอกล่อให้หลงว่าเป็นความสุข  พระพุทธภาษิตข้างต้นนี้มีความหมายดังว่ามานี้แล
                พระศาสดาครั้นตรัสพระธรรมเทศนานี้จบลงแล้วทรงประชุมชาดกว่า  ราชกุมารผู้ล้อมพระนครแล้วสืบราชสมบัติในครั้งนั้นได้มาเป็นสีวลีในครั้งนี้  พระมารดาได้มาเป็นพระนางสุปปวาสา  ส่วนพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล
               

พระสีวลีทดสอบบุญบารมีของตน


                ต่อมา พระศาสดาได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี  พระเถระถวายอภิวาทพระศาสดาแล้วทูลว่า  พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์  โปรดประทานภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า รับไปเถอะสีวลี  
พระเถระพาหมู่ภิกษุออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังป่าพิมพานต์ ไปถึงทางเข้าดงอันเป็นแดนที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยซึ่งน่าจะต้องอดอยากลำบากด้วยอาหารการขบฉัน  ก็ปรากฏว่าเทวดาที่สิงอยู่   ต้นนิโครธที่ปากทางนั้นพอได้เห็นทีแรกก็ได้ถวายทานแด่พระเถระนั้นถึง ๗ วัน 
ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เห็นครั้งแรก ที่ต้นนิโครธ  เห็นครั้งที่ ๒ ภูเขาปัณฑวะ  ครั้งที่ ๓ แม่น้ำอจิรวดี  ครั้งที่ ๔ ทะเล  ครั้งที่ ๕ ป่าหิมพานต์  ครั้งที่ ๖ สระฉัททันต์  ครั้งที่ ๗ ภูเขาคันธมาทน์  ครั้งที่ ๘ ไปที่อยู่พระเรวตะ ในที่ทุกแห่งเทวดาได้ถวายทานแห่งละ ๗ วันๆ  ครั้งที่ ๗ ก็ที่ภูเขาคันธมาทน์  ท้าวเทวราชชื่อนาคทัต ใน ๗ วันได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยน้ำนมวันหนึ่ง  ได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยเนยใสวันหนึ่ง สลับกันไป  ภิกษุสงฆ์กล่าวว่า  ผู้มีอายุ แม่โคนมของเทวราชนี้ไม่ปรากฏที่เขารีดน้ำนม การคั้นเนยใสก็ไม่มี  ข้าแต่เทวราช ผลอันนี้เกิดขึ้นแก่พระองค์มาได้อย่างไร  ท้าวเทวราชกล่าวว่า  ท่านเจ้าข้า นี้เป็นผลแห่งการถวายสลากภัตรเจือน้ำนมแด่พระทศพลครั้งพระทศพลกัสสปพุทธเจ้า  ต่อมาครั้งที่ ๘ พระศาสดาได้ทรงกระทำการต้อนรับพระขทิรวนิยเรวตเถระ  (ดูรายละเอียดในประวัติ พระขทิรวนิยเรวตะ)

                ในกาลต่อมา พระศาสดาทรงปรารภเหตุที่เทวดาต้อนรับพระขทิรวนิยเรวตเถระผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน ให้เป็นเหตุ  ทรงสถาปนาพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีลาภ
สีวลีนี้เป็นเลิศ
                                                                (มโนรถปูรณี ภาค ๑ อรรถกถาเอตทัคคบาลี
(BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๑๔) หน้า ๒๑๘)

ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท เล่าประวัติ พระขทิรวนิยเรวตะ ที่พาดพิงถึงพระสีวลีไว้ดังนี้

                พระเรวตะเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ตอนเรวตกุมารอายุ ๗ ขวบนั้นมารดาประสงค์จะให้แต่งงาน  จึงหมั้นเด็กหญิงในตระกูลที่มีชาติเสมอกัน  กำหนดวันแล้ว  ประดับตกแต่งเรวตะแล้วได้พาไปสู่เรือนของญาติเด็กหญิง พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก
                ลำดับนั้น  เมื่อพวกญาติของทั้งสองผู้ทำการมงคลประชุมกันแล้ว  พวกญาติได้ให้เขาทั้งสองจุ่มมือลงในถาดน้ำแล้วกล่าวมงคลทั้งหลาย  หวังความเจริญแก่เด็กหญิงจึงกล่าวว่า  เจ้าจงเห็นธรรมอันยายของเจ้าเห็นแล้ว เจ้าจงเป็นอยู่สิ้นกาลนานเหมือนยายนะแม่ 
เรวตะคิดว่า  อะไรหนอชื่อว่าธรรมอันยายนี้เห็นแล้ว  จึงถามว่าคนไหนเป็นยายของเด็กหญิงนี้   พวกญาติบอกเขาว่า  คนนี้ยังไงล่ะพ่อ มีอายุ  ๑๒๐ ปี  ฟันหลุด  ผมหงอก  หนังเหี่ยว  ตัวตกกระ  หลังโกงดุจกลอนเรือน  เจ้าไม่เห็นหรือ ?  นั่นเป็นยายของเด็กหญิงนั้น
                เรวตะถามว่า  แม้เด็กหญิงนี้ก็จักเป็นอย่างนั้นหรือ ?
                พวกญาติตอบว่า   ถ้าเขามีชีวิตอยู่ถึง  ก็จักเป็นอย่างนั้นแหละพ่อ
                เรวตะคิดว่า  ชื่อว่าสรีระแม้เห็นปานนี้จักถึงภาวะอันวิปริตแปรปรวนเพราะชรา   อุปติสสะพี่ชายของเราคงจักเห็นเหตุนี้แล้ว  ควรที่เราจะหนีไปบวชเสียในวันนี้แหละ
                ครั้นแล้วพวกญาติก็อุ้มเขาขึ้นสู่ยานอันเดียวกันกับเด็กหญิง  พากันเดินทางไป   พอไปได้หน่อยหนึ่ง  เรวตะก็อ้างการถ่ายอุจจาระพูดว่า ท่านทั้งหลายจงหยุดยานก่อน  ฉันลงไปแล้วจักมา  ดังนี้แล้วลงจากยาน ทำเป็นเข้าไปทำธุระที่พุ่มไม้แห่งหนึ่ง  ใช้เวลาครู่หนึ่งแล้วจึงออกเดินทางกันต่อไป
                ไปได้อีกหน่อยหนึ่ง  เรวตะก็อ้างเรื่องปวดอุจจาระอีก  ลงจากยานเข้าไปในพุ่มไม้ข้างทางครู่หนึ่งก็ออกมาแล้วก็ไปกันต่อ  ทำอุบายอยู่อย่างนี้จนพวกญาติตายใจว่าเขาคงท้องเสียจึงต้องหยุดเข้าพุ่มไม้บ่อยๆ  ก็เลยไม่ได้ระมัดระวังอย่างเข้มงวด
                ครั้งสุดท้าย เรวตะขอลงจากยานด้วยข้ออ้างเดิมเช่นเคย  คราวนี้เขาบอกพวกญาติว่า พวกท่านจงขับล่วงหน้าไปก่อน  ฉันจะเดินตามไปทีหลัง  ว่าแล้วก็บ่ายหน้าตรงไปยังพุ่มไม้   ฝ่ายพวกญาติก็ขับยานไปด้วยสำคัญว่าเรวตะจักตามมาข้างหลัง 
เรวตะหนีไปจากที่นั้นแล้วไปยังสำนักของภิกษุประมาณ  ๓๐  รูปซึ่งอยู่ในถิ่นแห่งหนึ่ง  ไหว้แล้วเรียนว่า  ท่านขอรับ  ขอท่านทั้งหลายจงให้กระผมบวช
                พวกภิกษุตอบว่า   ผู้มีอายุ  เธอประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ  พวกเราไม่ทราบว่าเธอเป็นพระราชโอรสหรือเป็นบุตรของอำมาตย์  จักให้เธอบวชอย่างไรได้
                เรวตะ.          พวกท่านไม่รู้จักกระผมหรือขอรับ ?
                พวกภิกษุ.     ไม่รู้  ผู้มีอายุ
                เรวตะ.          กระผมเป็นน้องชายของอุปติสสะ
                พวกภิกษุ.      ชื่อว่าอุปติสสะนั่นคือใคร
                เรวตะ.           ท่านผู้เจริญทั้งหลายเรียกพี่ชายของกระผมว่า สารีบุตร  เพราะฉะนั้น เมื่อกระผมเรียกว่า อุปติสสะ  ท่านผู้เจริญทั้งหลายจึงไม่ทราบ
                พวกภิกษุ.      เธอเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระหรือ ?
                เรวตะ.           อย่างนั้นขอรับ
                ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า  ถ้ากระนั้นมาเถิด  พี่ชายของเธออนุญาตไว้แล้วเหมือนกัน  ดังนี้แล้วก็ให้เปลื้องเครื่องอาภรณ์ของเขาออกให้วางไว้   ข้างหนึ่ง ให้เขาบวช แล้วจึงส่งข่าวไปบอกพระสารีบุตร
                พระเถระฟังข่าวนั้นแล้วจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  พระเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายส่งข่าวมาว่า พวกภิกษุที่อยู่ป่าให้เรวตะบวช  ข้าพระองค์ไปเยี่ยมเธอแล้วจะกลับมา
                พระศาสดามิได้ทรงยอมให้ไป โดยมีพระดำรัสว่า  สารีบุตร จงยับยั้งอยู่ก่อน    ล่วงไป  ๒ – ๓  วัน พระเถระก็ทูลลาพระศาสดาอีก  พระศาสดาก็มิได้ทรงยอมให้ไป  แต่มีพระดำรัสว่า  สารีบุตร  จงยับยั้งอยู่ก่อน แม้เราก็จักไป
                ฝ่ายสามเณรเรวตะคิดว่า  ถ้าเราจักอยู่ในที่นี้ไซร้ พวกญาติก็คงจะติดตามมาเรียกเรากลับ  จึงเรียนกรรมฐานจนถึงพระอรหัตแต่สำนักของภิกษุเหล่านั้น  ถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียนซึ่งอยู่ห่างประมาณ  ๓๐ โยชน์จากที่นั้น  ในระหว่าง    เดือนภายในพรรษานั่นเองท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
                ฝ่ายพระสารีบุตรเถระ พอออกพรรษา ปวารณาแล้วก็ทูลลาพระศาสดาเพื่อจะไปเยี่ยมสามเณรเรวตะ   พระศาสดาตรัสว่า  สารีบุตร  แม้เราก็จักไป  จึงเสด็จออกไปพร้อมด้วยภิกษุ  ๕๐๐  รูป   ในเวลาเสด็จไปหน่อยหนึ่ง พระอานนทเถระยืนอยู่ที่ทาง ๒  แพร่ง  กราบทูลพระศาสดาว่า  พระเจ้าข้า บรรดาทางที่ไปสู่สำนักของเรวตะ  ทางนี้เป็นทางอ้อม ประมาณ  ๖๐  โยชน์  เป็นที่อยู่ของมนุษย์  ทางนี้เป็นทางตรง ประมาณ ๓๐ โยชน์ อันอมนุษย์ครอบครอง  พวกเราจักไปโดยทางไหน ?
                พระศาสดา.   อานนท์  ก็สีวลีมากับพวกเรามิใช่หรือ ?             
                อานนท์.         อย่างนั้นพระเจ้าข้า
                พระศาสดา.    ถ้าสีวลีมา  เธอจงถือเอาทางตรงนั่นแหละ
เมื่อพระศาสดาทรงดำเนินไปทางนั้น  พวกเทวดาคิดว่า พวกเราจักทำสักการะแก่พระสีวลีเถระพระผู้เป็นเจ้าของเรา   จึงให้สร้างวิหารในที่โยชน์หนึ่งๆ  ไม่ให้เกินไปกว่าโยชน์หนึ่ง  ลุกขึ้นแต่เช้าเทียว ถือเอาวัตถุมีข้าวต้มเป็นต้นอันเป็นทิพย์แล้วเที่ยวเดินดูว่าพระสีวลีเถระผู้เป็นเจ้าของเรานั่งอยู่ที่ไหน
                พระสีวลีเถระให้เทวดาถวายภัตที่นำมาเพื่อตนแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  พระศาสดาพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์เสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว  ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ  ๓๐ โยชน์
                ฝ่ายพระเรวตเถระทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิตพระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาค  นิรมิตเรือนยอด  ๕๐๐  ที่จงกรม ๕๐๐  ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน  ๕๐๐ 
                พระศาสดาประทับอยู่ในสำนักของท่านเรวตะสิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่ง  แม้ประทับอยู่ในที่นั้นก็เสวยบุญของพระสีวลีเถระนั่นเอง


ความเยื้องแย้งในประวัติพระสีวลี

ประวัติพระสีวลีมีประเด็นที่เยื้องแย้งอยู่บ้าง กล่าวคือ

1 ท่านอยู่ในครรภ์มารดานานเท่าไร

คัมภีร์มโนรถปูรณี, ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๘  พราหมณวรรค เรื่องพระสีวลีเถระ (๒๙๔),  ปรมัตถทีปนี อรรถกถาคัมภีร์อุทาน,  ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ อรรถกถาคัมภีร์เถรคาถา  และ อสาตรูปชาดก ในอรรถกถาชาดก เอกนิบาต บอกว่าท่านอยู่ในครรภ์มารดา ๗ ปี ๗ วัน
ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔  อรหันตวรรค  เรื่องพระขทิรวนิยเรวตเถระ (๗๙)  และ  วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาคัมภีร์อปทาน ภาค ๒  ตอนสีวลิเถราปทาน  บอกว่าท่านอยู่ในครรภ์มารดา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน

2 เรื่องในอดีตชาติ ท่านปิดล้อมเมืองนานเท่าไร

คัมภีร์มโนรถปูรณี  และ  ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ อรรถกถาคัมภีร์เถรคาถา บอกว่า ปิดล้อมเมืองนาน  ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน
ปรมัตถทีปนี อรรถกถาคัมภีร์อุทาน บอกว่า ปิดล้อมเมืองนาน  ๗ ปี  ๗ วัน
อสาตรูปชาดก ในอรรถกถาชาดก เอกนิบาต และ  วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาคัมภีร์อปทาน ภาค ๒  ตอนสีวลิเถราปทาน  บอกว่า ปิดล้อมเมืองอยู่ ๗ วัน

3 ในอดีตชาติ ท่านเป็นใคร ล้อมเมืองใคร

ปรมัตถทีปนี อรรถกถาคัมภีร์อุทาน  และ  อสาตรูปชาดก ในอรรถกถาชาดก เอกนิบาต บอกว่า  ท่านเป็นโอรสพระเจ้ากรุงพาราณสี  ถูกพระเจ้าโกศลยกทัพมายึดเมือง ท่านหนีไปได้แล้วยกทัพมาล้อมเมืองพาราณสีเพื่อยึดราชสมบัติคืน (อยู่นอกเมือง ล้อมเมืองตัวเองเพื่อยึดราชสมบัติคืน)
วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาคัมภีร์อปทาน ภาค ๒  ตอนสีวลิเถราปทาน  บอกว่า ท่านเป็นโอรสพระเจ้ากรุงพาราณสี เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว ถูกข้าศึกยกทัพมาจะชิงราชสมบัติ จึงสั่งให้ปิดประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ทำให้คนเข้าออกไม่ได้  ล่วงไป ๗ วัน ได้ยินเสียงพระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่นอกเมือง จึงสั่งให้เปิดประตูเมือง (อยู่ในเมืองและสั่งให้ปิดประตูเมืองตัวเองเพื่อป้องกันข้าศึก)
ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔  อรหันตวรรค  เรื่องพระขทิรวนิยเรวตเถระ (๗๙)  บอกว่า ท่านเป็นโอรสพระเจ้ากรุงพาราณสี เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้วทรงดำริว่า จักยึดเอาพระนครหนึ่ง  จึงเสด็จไปล้อมนครนั้นไว้ (ครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี ยกทัพไปล้อมเมืองอื่น) 

4 ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตอนไหน

ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ อรรถกถาคัมภีร์เถรคาถา  และ  วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาคัมภีร์อปทาน ภาค ๒  ตอนสีวลิเถราปทาน  บอกว่า ท่านบรรลุโสดาปัตติผลตอนบรรพชาเป็นสามเณรในขณะที่ปลงมวยผมชั้นที่ ๑  บรรลุสกทาคามิผลในขณะที่ปลงมวยผมชั้นที่ ๒  บรรลุอนาคามิผลในขณะที่ปลงมวยผมชั้นที่ ๓ และบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมๆ กับการปลงผมเสร็จพอดี
แต่คัมภีร์ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ อรรถกถาคัมภีร์เถรคาถานั้นเองก็บอกด้วยว่า บางตำราบอกว่า ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเรียบร้อยแล้วยังไม่ได้บรรลุธรรม ท่านไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่กุฏิว่างหลังหนึ่ง โดยพิจารณาทุกข์ที่ต้องอยู่ในท้องมารดาถึง ๗ ปี และในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อยังเป็นสามเณรอยู่นั่นเอง  

                ถ้าจะไม่ต้องเถียงกัน ก็ควรจะสรุปว่า ท่านอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ ๗ ปี เพราะกรรมในอดีตชาติเคยปิดประตูเมืองทำให้คนเข้าออกไม่ได้อยู่เป็นเวลานาน และเมื่อบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่


บุพกรรมที่ทำให้เลิศด้วยลาภ


                ส่วนการที่ท่านเป็นผู้เลิศในทางมีลาภนั้น ปรากฏความตามคัมภีร์ตรงกัน ดังจะขอเก็บความมาเล่าต่อไปนี้

นับถอยจากนี้ไป ๙๑ กัป  ครั้งศาสนาพระวิปัสสีพุทธเจ้า มีเมืองเมืองหนึ่งชื่อพันธุมดี  อยู่มาคราวหนึ่งพระเจ้ากรุงพันธุมดีท้าชาวเมืองถวายทานแข่งกัน คือจะผลัดกันถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์จำนวนหมื่น ฝ่ายละวัน ฝ่ายใดมีของชนิดไหนเลี้ยงพระ วันต่อไปอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องมีไม่ให้ด้อยกว่ากัน
ผ่านไป ๖ วัน ก็ยังไม่มีฝ่ายไหนแพ้ชนะกัน
วันที่ ๗ เป็นวันที่ฝ่ายชาวเมืองจะต้องเลี้ยงพระ พวกผู้นำชาวเมืองปรึกษากันว่า วันนี้จะหาของพิเศษอะไรดีมาเลี้ยงพระ  มีคนหนึ่งออกความคิดว่า น้ำผึ้งสดหรือน้ำผึ้งป่าเป็นของที่หาไม่ได้ในเมือง  ถ้าได้น้ำผึ้งสดมาถวายพระแล้วคอยกันไม่ให้ใครเอาเข้ามาขายในเมืองได้ พระราชาก็จะต้องแพ้ชาวเมืองเพราะไม่มีน้ำผึ้งสดเลี้ยงพระเหมือนชาวเมือง 
เมื่อเห็นดีพร้อมกันแล้วก็ส่งคนไปคอยดักอยู่ที่ประตูเมืองโดยไม่ได้แพร่งพรายให้ใครรู้
สมัยนั้นท่านพระสีวลีเกิดเป็นชายชาวบ้านนอก  วันนั้นมาจากบ้านนอกจะไปเยี่ยมเยียนท่านที่เคารพนับถือคนหนึ่งในเมือง  ระหว่างทางพบผึ้งรังใหญ่ก็จึงตีผึ้งแล้วตัดเอาไม้ที่เป็นคอนพร้อมกับรังผึ้งแบกเดินมา ตั้งใจว่าจะเอาไปฝากผู้ใหญ่ท่านนั้น
ครั้นมาถึงประตูเมือง คนของชาวเมืองที่ดักอยู่ก็ขอซื้อ ทีแรกก็ให้ราคากหาปณะหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่สูงมากแล้วในเวลานั้น ชาวบ้านนอกไม่คิดจะขายอยู่แล้วก็แกล้งโก่งราคาขึ้นไปจนถึงพันกหาปณะ  ชาวเมืองก็ยังยินดีจะรับซื้อ
คนบ้านนอกแปลกใจมาก ถามถึงเหตุผลที่ยอมให้ราคามากมายถึงขนาดนี้  เมื่อทราบเรื่องก็เกิดศรัทธา บอกว่าเขาไม่ขาย แต่จะขอเข้าเป็นพวกชาวเมืองถวายน้ำผึ้งสดนี้ด้วยมือตัวเอง ฝ่ายชาวเมืองก็ตกลง
ชายบ้านนอกคั้นน้ำผึ้งถวายพระพุทธเจ้าและตั้งความปรารถนาว่า 

ด้วยอำนาจแห่งการถวายน้ำผึ้งสดด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า มิได้เห็นแก่ลาภคือกหาปณะจำนวนมหาศาลที่สามารถจะใช้เลี้ยงชีพไปได้อย่างสบายในชั่วชีวิตนั้น  ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีลาภอุดมสมบูรณ์ทุกภพทุกชาติไป

พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาว่า จงสำเร็จดังปรารถนาเถิด  และด้วยพุทธานุภาพประกอบด้วยกุศลจิตอันแรงกล้าของชายบ้านนอกนั้น น้ำผึ้งรังเดียวก็สามารถเลี้ยงพระได้นับหมื่น และทำให้ชาวเมืองชนะพระราชาไปได้
ด้วยอำนาจกุศลกรรมนี้ ชายบ้านนอกไปเกิดในชาติใดๆ ก็เป็นผู้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยลาภทุกภพทุกชาติไป  ชาตินี้มาเกิดเป็นพระสีลวีเถระ ตั้งแต่อยู่ครรภ์ก็ทำให้มารดามีลาภผลล้นเหลือ ตัวท่านเองตั้งแต่บวชแล้วก็มีปัจจัยสี่อุดมสมบูรณ์ ไปในทิศใดๆ ไม่เคยอดอยากเลย  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะว่าเป็นผู้เลิศด้วยลาภยิ่งกว่าพระสาวกทั้งปวง


No comments:

Post a Comment