Saturday, August 13, 2011

20.พระมหานามะ(1)

พระมหานามะ (1)

พระเถระองค์หนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก นับเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง
เนื่องจากพระมหานามะเป็นหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ จึงควรทำความรู้จักเรื่องของพระปัญจวัคคีย์เท่าที่ปรากฏในคัมภีร์ดังต่อไปนี้


* * * * * * * * * * * * *


    ปัญจวัคคีย์คือใคร?

คัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค ๒ (อรรถกถามัชฌิมนิกาย) (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๘) หน้า ๙๔ ตอนอธิบายปาสราสิสูตร กล่าวไว้ดังนี้        


ที่ชื่อปัญจวัคคีย์นั้นคือใคร  คือพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายพระสุบิน และทำนายพระลักษณะในเวลาที่พระโพธิสัตว์เกิด ตามคาถาประพันธ์ว่า

                                                ราโม  ธโช  ลกฺขโณ  โชติมนฺตี (1)
                                                ฺโ  สุโภโช  สุยาโม  สุทตฺโต
                                                เอเต  ตทา  อฏฺ อเหสุ พฺราหฺมณา                                                                                                 ฉฬงฺควา  มนฺตํ  วิยากรึสุ
                                                ครั้งนั้น  ได้มีพราหมณ์    คนเหล่านี้ คือ
รามะ  ธชะ  ลักขณะ  โชติมันตี 
ยัญญะ  สุโภชะ  สุยามะ  สุทัตตะ 
จบเวทางคศาสตร์มีองค์ ๖ ร่ายมนต์ทำนาย

1 ฉบับลังกาเป็น   ลกฺขโณ  จาปิ  มนฺตี

คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ภาค ๑ (อรรถกถาอปทาน) (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๔๙) หน้า ๗๓ ระบุชื่อพราหมณ์ ๘ คนตรงกันกับคัมภีร์ปปัญจสูทนี ดังนี้

ราโม  ธโช  ลกฺขโณ  จาปิ  มนฺตี (1)
                                ฺโ สุโภโช (2) สุยาโม  สุทตฺโต
               เอเต  ตทา  อฏฺ อเหสุ พฺราหฺมณา
               ฉฬงฺควา  มนฺต วิยากรึสุ
                                                ครั้งนั้น  ได้มีพราหมณ์    คนเหล่านี้ คือ
รามะ  ธชะ  ลักขณะ  มันตี 
ยัญญะ  สุโภชะ  สุยามะ  สุทัตตะ 
จบเวทางคศาสตร์มีองค์ ๖ ร่ายมนต์ทำนาย

1 ฉบับพม่าเป็น   โชติมนฺติ 
2 ฉบับลังกาและยุโรปเป็น   โกณฺฑฺโ    โภโช 


แต่จากพราหมณ์ ๘ คนนี้ไปเป็นปัญจวัคคีย์ได้อย่างไร มีความเห็นแตกต่างกัน คือ
คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี  และคัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค ๑ (อรรถกถาอังคุตตรนิกาย) (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๑๔ หน้า ๑๓๐) อธิบายเอตทัคคบาลี ตอนประวัติท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ อธิบายว่า  พราหมณ์    คนนี้ได้เป็นผู้ทำนายพระลักษณะ  แม้พระสุบินในวันที่ถือปฏิสนธิ พราหมณ์ทั้ง    คนนี้ก็ได้ทำนายด้วย  บรรดาพราหมณ์ทั้ง ๘  คนนั้น  ๗ คนชูขึ้น ๒ นิ้ว  ทำนายพระโพธิสัตว์นั้นเป็น ๒ สถานว่า  ผู้ประกอบด้วยพระลักษณะเหล่านี้ ถ้าอยู่ครองเรือนจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ถ้าบวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า 
แต่โกณฑัญญะ ซึ่งหนุ่มกว่าพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้ได้กระทำบุญญาธิการไว้ จะเกิดเป็นชาติสุดท้าย  มีปัญญาเหนือพราหมณ์ทั้ง ๗  ตรวจดูลักษณสมบัติอันประเสริฐของพระโพธิสัตว์แล้ว ได้เห็นคติเดียวเท่านั้น กล่าวคือพระโพธิสัตว์ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้จะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน  เพราะเหตุนั้น จึงชูขึ้นนิ้วเดียวแล้วพยากรณ์โดยสถานเดียวเท่านั้นว่า  พระกุมารนี้ไม่มีเหตุที่จะอยู่ครองเรือน  พระกุมารนี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน 
                พราหมณ์เหล่านั้นกลับไปยังเรือนของตนแล้ว เรียกลูกๆ มาสั่งว่า  นี่แน่ะพ่อทั้งหลาย  พ่อแก่แล้ว จะอยู่ถึงพระราชกุมารบรรลุพระสัพพัญญุตญาณหรือไม่ก็ไม่รู้ เมื่อพระราชกุมารบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พวกเจ้าจงบวชในสำนักของพระองค์เถิด 
พราหมณ์ทั้ง    คนนั้นดำรงอยู่ตราบชั่วอายุแล้วก็ถึงแก่กรรมไป  เหลือแต่โกณฑัญญะคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่
                เมื่อสิทธัตถราชกุมารเสด็จออกบวช และพำนักอยู่   ตำบลอุรุเวลา  โกณฑัญญะได้ทราบข่าว จึงเข้าไปหาพวกบุตรของพราหมณ์เหล่านั้น แล้วกล่าวว่า  ได้ยินข่าวว่าพระสิทธัตถกุมารทรงผนวชแล้ว พระองค์จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย  ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ก็จะพึงออกบวชวันนี้  ถ้าพวกท่านอยากจะบวชตามพระมหาบุรุษก็มาไปกันเถิด 
บุตรของพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้นไม่สามารถจะมีฉันทะเป็นอันเดียวกันได้  ๓ คนไม่บวช  คงออกบวชแค่ ๔ คน  โดยยกให้โกณฑัญญะเป็นหัวหน้า  ทั้ง ๕ คนนั้นจึงมีชื่อว่า ปัญจวัคคีย์ (แปลว่า พวกห้า)

ส่วนคัมภีร์ปปัญจสูทนีอธิบายว่า  บรรดาพราหมณ์    คนนั้น  ๓ คนพยากรณ์เป็น ๒ คติว่า  ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ อยู่ครองเรือนก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ออกบวชก็จะเป็นพระพุทธเจ้า  พราหมณ์ ๕ คนพยากรณ์คติเดียวว่า  ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้จะไม่ครองเรือน  จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว  บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น  ๓ คนแรกทำนายตามตำรา ส่วน ๕ คนนี้รู้ละเอียดเกินตำรา
พราหมณ์ ๕ คนนั้นสละของรางวัลเต็มภาชนะที่ตนได้มาแก่เหล่าญาติ  หมดความสงสัย แน่ใจว่าพระมหาบุรุษนี้จักไม่อยู่ครองเรือน จักเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน  จึงออกบวชเป็นสมณะรอท่าพระโพธิสัตว์ 
อาจารย์บางพวกกล่าวว่า  พวกที่บวชเป็นบุตรของพราหมเหล่านี้ ดังนี้ก็มี  คำนั้นอรรถกถาค้าน (เตส ปุตฺตาติปิ  วทนฺติ.   อฏฺกถาย  ปฏิกฺขิตฺต.)
เล่ากันว่า พราหมณ์ ๕ คนนั้นรู้มนต์มากตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มๆ เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์  ภายหลังคิดกันว่า  พวกเราไม่อาจตัดคนที่เป็นบุตรภรรยาออกบวชได้  คิดดังนี้แล้วจึงบวชตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่เป็นอยู่ค่อนข้างสุขสบายไม่ได้เคร่งครัดอะไรมากนัก ได้แต่หมั่นคอยสืบถามกันอยู่เป็นระยะๆ ว่า พระมหาบุรุษออกบวชแล้วหรือยัง  ผู้คนก็ยังพูดกันอยู่ว่า จะเห็นพระมหาบุรุษที่ไหนได้เล่า ท่านเสวยสมบัติอย่างกะเทวดาท่ามกลางนางรำสามประเภทบนปราสาทสามฤดู
พราหมณ์ทั้ง ๕ ได้ฟังข่าวแล้วก็ยังทอดธุระอยู่ โดยคิดว่าญาณของพระมหาบุรุษยังไม่แก่กล้า


                                                * * * * * * * * * * * * *

สรุปว่า คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินีบอกว่า ปัญจวัคคีย์คือ คือโกณฑัญญะซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ ของพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะ  ส่วนอีก ๔ คนคือบุตรของพราหมณ์ ๗ คน ที่ทำนายลักษณะ 
แต่คัมภีร์ปปัญจสูทนีบอกว่า  ปัญจวัคคีย์คือ คือ พราหมณ์ ๕ คนในจำนวน ๘ คนที่ทำนายลักษณะนั่นเอง และบอกรายละเอียดด้วยว่า ๓ คนแรกทำนายเป็น ๒ ทาง  ๕ คนทำนายทางเดียว  ๓ คนแรกตามรายชื่อคือ  รามะ  ธชะ  ลักขณะ ที่เหลืออีก ๕ คน คือ โชติมันตี  ยัญญะ  สุโภชะ  สุยามะ  สุทัตตะ นี่คือปัญจวัคคีย์
รายชื่อปัญจวัคคีย์ตามมติของอรรถกถาสองฉบับนี้ไม่ตรงกับรายชื่อที่รู้กันทั่วไปเลยแม้แต่ชื่อเดียว  มีที่ใกล้เคียงก็คือ  ฺโ  ซึ่งที่เชิงอรรถหรือหมายเหตุของคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินีของไทยบอกไว้ว่า ฉบับลังกาและยุโรปเป็น โกณฺฑฺโ  แต่คัมภีร์ปปัญจสูทนีของไทยไม่มีเชิงอรรถหรือหมายเหตุบอกว่าฉบับของประเทศไหน  ฺโ  เป็น  โกณฺฑฺโ  เท่ากับยืนยันว่า ไม่มีชื่อ  โกณฺฑฺโ  อยู่ในจำนวน ๕ ชื่อของปัญจวัคคีย์  คัมภีร์ปปัญจสูทนียังย้ำด้วยว่า ปัญจวัคีย์ไม่ใช่บุตรของพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะ  แต่เป็นตัวพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะนั่นเลยทีเดียว

รายชื่อปัญจวัคคีย์ที่รู้กันทั่วไปนั้นปรากฏในคัมภีร์พุทธวงศ์ (พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑ หน้า ๔๐๔) ดังนี้

ตสฺมึ  หิ  ปลฺลงฺกวเร                           นิสีทิ  ภควา  ตทา.
                                ฺจนฺน วคฺคิยานฺจ                       ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตยิ
                                ทุกฺข ทุกฺขสมุปฺปาท            นิโรธ มคฺคมุตฺตม.
ก็ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ
บนบัลลังก์อันประเสริฐนั้น
และทรงประกาศธรรมจักร คือ ทุกข์  เหตุให้เกิดทุกข์
ความดับทุกข์  มรรคอันสูงสุด แก่ปัญจวัคคีย์

                             ปวตฺตยิ   ภควา                                อิสี  เต  ฺจวคฺคิยา
                                อฏฺารสโกฏิ  ตทา                               พฺรหฺมเทวคณา  สห
                                มสฺมึ  สนฺนิปาเต                            ธมฺมาภิสมยา  ลภุ
                                โกณฺฑฺโ  ภทฺทิโย  วปฺโป                มหานาโม    อสฺสชิ.
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรนั้นแล้ว
ฤๅษีปัญจวัคคีย์เหล่านั้นคือ
โกณฑัญญะ  ภัททิยะ  วัปปะ  มหานามะ  และ อัสสชิ
พร้อมด้วยหมู่เทวดาและพรหม ๑๘ โกฏิ
ได้ธรรมาภิสมัยในสันติบาตครั้งแรก

คัมภีร์มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๔๖ หน้า ๑๙๘) มีรายชื่อพระปัญจวัคคีย์อยู่ในหัวข้อเรื่องต่างๆ ดังนี้

โพธิ  ราชายตนฺจ                              อชปาโล  สหมฺปติ
                พฺรหฺมาฬาโร  อุทฺทโก      ภิกฺขุ   อุปโก  อิสิ.
                โกณฺฑฺโ ภทฺทิโย  วปฺโป                มหานาโม   อสฺสชิ
                ยโส  จตฺตาริ  าส                        สพฺเพ  เปเสสิ  โส  ทิสา.
เรื่องประทับอยู่   ควงไม้โพธิ์
เรื่องประทับอยู่   ควงไม้อชปาลนิโครธ
เรื่องประทับอยู่   ควงไม้ราชายตนพฤกษ์
                                            เรื่องท้าวสหัมบดีพรหม  เรื่องฤๅษีอาฬาระ  
เรื่องฤๅษีอุททกะ  เรื่องอุปกาชีวก  
เรื่องภิกษุปัญจวัคคีย์  คือ  
โกณฑัญญะ  วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  อัสสชิ
เรื่องยสกุลบุตร เรื่องสหาย ๔ คน เรื่องสหาย ๕๐ คน
เรื่องส่งพระอรหันต์ทั้งหมดไปในทิศต่างๆ   
        
และในคัมภีร์สัทธัมมปกาสินี ภาค ๒ (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๔๘) หน้า ๒๕๐ ก็ปรากฏรายชื่อตรงกันดังนี้

โกณฺฑฺโภทฺทิโย วปฺโป  มหานาโม   อสฺสชิ
                                เอเต  ฺจ  มหาเถรา                         ฺจวคฺคาติ  วุจฺจเร.
                                พระมหาเถระ    เหล่านี้  คือ  พระโกณฑัญญะ 
                                พระภัททิยะ    พระวัปปะ    พระมหานามะ   
พระอัสสชิ    ท่านเรียกว่า ปัญจวรรค (ภิกษุมีพวกห้า)

                ถ้าถือเอารายชื่อตามคัมภีร์พุทธวงศ์เป็นหลัก ก็คงจะต้องตัดมติของคัมภีร์ปปัญจสูทนีออกไป เพราะนอกจากชื่อจะไม่ตรงกันแล้ว รายละเอียดตอนทำนายลักษณะก็ยังแย้งกับที่รู้กันทั่วไป
กล่าวคือ ที่รู้กันทั่วไปนั้นคือพราหมณ์ ๗ คนทำนายเป็น ๒ ทาง ส่วนโกณฑัญญะคนเดียวที่ทำนายเป็นทางเดียว แต่คัมภีร์ปปัญจสูทนีบอกว่า พราหมณ์ ๓ คนทำนายเป็น ๒ ทาง ส่วนพราหมณ์ ๕ คนทำนายเป็นทางเดียว และพราหมณ์ ๕ คนนี่แหละที่ไปเป็นปัญจวัคคีย์
มติของคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินีที่บอกว่า พราหมณ์ทั้ง ๘  คนนั้น  ๗ คนชูขึ้น ๒ นิ้ว ทำนายเป็น ๒ สถาน แต่โกณฑัญญะชูขึ้นนิ้วเดียวทำนายสถานเดียว ย่อมสอดคล้องกับเรื่องราวที่รู้กันทั่วไป และที่บอกว่า ปัญจวัคคีย์คือ คือโกณฑัญญะซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ ของพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะ ส่วนอีก ๔ คนคือบุตรของพราหมณ์ ๗ คน ที่ทำนายลักษณะนั้น  เมื่อดูรายชื่อพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะกับรายชื่อปัญจวัคคีย์ตามที่รู้กันทั่วไป ก็มีความเป็นไปได้ คือ  ภัททิยะ  วัปปะ  มหานามะ  อัสสชิ  ก็คือบุตรของพราหมณ์ ๔ คนในจำนวน ๗ คนที่ยินดีออกบวชตามที่บิดาสั่งไว้ แม้จะไม่มีรายละเอียดว่าใครเป็นบุตรของพราหมณ์คนไหน ก็ไม่แปลกอันใด
เป็นอันสรุปได้แน่นอนว่า ท่านโกณฑัญญะ หนึ่งในคณะพราหมณ์ทำนายลักษณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คอยฟังข่าวการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระราชกุมารอยู่ตลอดเวลา  เมื่อทราบข่าวว่าพระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้ว ท่านได้ไปชวนบุตรของพราหมณ์อีก ๗ คนให้ออกบวชตามพระมหาบุรุษ  แต่ที่ยินดีออกบวชตามมีเพียง ๔ คน  คือ วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และ อัสสชิ  โดยมีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า  คณะของนักบวชทั้ง ๕ นี้คือที่รู้จักกันว่า  ปัญจวัคคีย์

ในปาสราสิสูตร (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อริยปริเยสนาสูตร)  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๓๒๖) พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าถึงการเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ภายหลังจากตรัสรู้แล้ว มีความดังนี้


ทรงโปรดปัญจวัคคีย์

              ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เราจึงออกเดินทางต่อไปโดยลำดับ จนถึงพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี  พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นเราเดินทางมาแต่ไกลจึงได้นัดหมายกันว่า  ท่านพระสมณโคดมพระองค์นี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่ต้องไหว้ ไม่ต้องลุกขึ้นยืนรับ ไม่ต้องรับบาตรจีวร แต่ว่าต้องปูอาสนะไว้ ถ้าทรงปรารถนาก็จักประทับนั่ง
เมื่อเราเข้าไปใกล้ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในข้อนัดหมายกัน คือ บางรูปลุกขึ้นรับบาตรจีวร บางรูปปูอาสนะ บางรูปตั้งน้ำล้างเท้า แต่พูดกับเราโดยระบุนาม และใช้คำพูดว่า "อาวุโส" 
เราจึงบอกภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้พูดกับตถาคตโดยระบุนาม และใช้คำพูดว่า "อาวุโส"  ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ  พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรม  เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณยอดเยี่ยมที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบมุ่งหมายในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับเราว่า  ดูก่อนอาวุโสโคดม แม้เพราะการประพฤติอย่างนั้น เพราะการปฏิบัติอย่างนั้น เพราะการบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างนั้น ท่านก็ไม่ได้บรรลุอุตริมนุสสธรรมที่เป็นอริยญาณทัสสนะชั้นพิเศษอย่างเพียงพอ  ก็บัดนี้ ไฉนเล่าท่านผู้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก จักบรรลุอุตริมนุสสธรรมที่เป็นอริยญาณทัสสนะชั้นพิเศษอย่างเพียงพอได้
เมื่อพวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนี้แล้ว  เราจึงได้กล่าวว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้เป็นคนมักมาก มิได้คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ  พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม  เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันเป็นคุณยอดเยี่ยมที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบมุ่งหมายในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง
พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวคัดค้านกะเราเป็นครั้งที่สอง เป็นครั้งที่สาม  เมื่อพวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวคัดค้านอยู่อย่างนี้  เราจึงได้กล่าวว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า คำอย่างนี้เราได้เคยพูดมาแล้วแต่ก่อน 
พวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำอย่างนี้พระองค์มิได้เคยตรัสเลย 
เราจึงกล่าวว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้เป็นคนมักมาก มิได้คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ  พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม  เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนักก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณยอดเยี่ยมที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบมุ่งหมายในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง  (ในที่สุด) เราจึงได้สามารถทำให้พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ยอมเข้าใจตาม 
เรากล่าวสอนภิกษุสองรูป  ภิกษุสามรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต  เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสามรูปนำมา  เรากล่าวสอนภิกษุสามรูป  ภิกษุสองรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต  เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสองรูปนำมา 
ครั้งนั้น พวกภิกษุปัญจวัคคีย์อันเราโอวาทอนุศาสน์อยู่อย่างนี้  โดยตนเองก็เป็นผู้มีชาติ (ความเกิด) เป็นธรรมดา มาทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่เกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เกษมจากโยคะ 
เป็นผู้มีชรา (ความแก่) เป็นธรรมดา มาทราบชัดโทษในสิ่งที่มีชราเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่แก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เกษมจากโยคะ
เป็นผู้มีพยาธิ (ความเจ็บ) เป็นธรรมดา มาทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่หาพยาธิมิได้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เกษมจากโยคะ
เป็นผู้มีมรณะ (ความตาย) เป็นธรรมดา มาทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่ตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เกษมจากโยคะ
เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา มาทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่หาโศกมิได้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เกษมจากโยคะ
เป็นผู้มีสังกิเลส (ความเศร้าหมอง) เป็นธรรมดา มาทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่เศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เกษมจากโยคะ
และพวกภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัศนะขึ้นมาว่า วิมุตติของพวกเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่ต่อไป

คัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค ๒ (อรรถกถามัชฌิมนิกาย) (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๘) หน้า ๑๐๐ ได้อธิบายพระพุทธดำรัสตรัสเล่านั้น ดังนี้
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาในวันอุโบสถ ทรงทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้รู้ว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า  ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำท่านโกณฑัญญะให้เป็นกายสักขี (เป็นพยาน คือผู้พิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์ตรัสรู้แล้วจริง และธรรมที่ตรัสรู้นั้นผู้อื่นสามารถรู้ตามได้จริง)  เมื่อทรงแสดงธรรมจบลง พระอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงคต ท่านโกณฑัญญะบรรลุธรรมในภูมิโสดาปัตติผล พร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ 
พระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษาในป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง ตั้งแต่วันปาฏิบท คือแรมค่ำหนึ่ง แต่มิได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน คงให้ปัญจวัคคีย์ผลัดกันเข้าไปบิณฑบาตมาเลี้ยงกัน (ตามคำตรัสเล่าที่ว่า เรากล่าวสอนภิกษุสองรูป  ภิกษุสามรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต  เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสามรูปนำมา  เรากล่าวสอนภิกษุสามรูป  ภิกษุสองรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต  เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสองรูปนำมา) ทั้งนี้เพื่อจะได้ทรงปรับแก้กระบวนวิธีเจริญพระกรรมฐานของปัญจวัคคีย์ที่ยังมีสิ่งบกพร่องผิดพลาดให้ถูกต้องโดยใช้เวลาในระหว่างนั้นกระทำความเพียรอย่างยิ่งยวด พระผู้มีพระภาคจึงมิได้เสด็จออกไปไหนเลย  บางครั้งปัญจวัคคีย์เข้าไปทูลถามเมื่อเกิดข้อขัดข้องในเวลาเจริญพระกรรมฐาน บางครั้งพระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปยังที่ที่ปัญจวัคคีย์เจริญพระกรรมฐาน ทรงแนะนำวิธีแก้ไขข้อขัดข้อง
เมื่อปฏิบัติอยู่เช่นนี้ เพียง ๔ วันเท่านั้น ปัญจวัคคีย์ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน (และได้ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา) ทั้งหมด คือ ท่านวัปปะบรรลุในวันแรมค่ำหนึ่ง หลังท่านโกณฑัญญะหนึ่งวัน  แรม ๒ ค่ำท่านภัททิยะ  แรม ๓ ค่ำท่านมหานามะ  แรม ๔ ค่ำท่านอัสสชิ  
ครั้นถึงวันแรม ๕  ค่ำ พระผู้มีพระภาครับสั่งให้พระปัญจวัคคีย์ประชุมรวมกัน แล้วตรัสอนัตตลักขณสูตร  เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้งหมดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์


* * * * * * * * * * * * *

                ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งก็เท่ากับเป็นเรื่องของท่านพระมหานามะด้วยส่วนหนึ่ง
                ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับท่านพระมหานามะโดยตรงเท่าที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์


คัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค ๑ (อรรถกถาอังคุตตรนิกาย) อธิบายเอตทัคคบาลี ตอนประวัติท่านจิตตคฤหบดี (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๑๔ หน้า ๓๔๐) กล่าวถึงท่านพระมหานามะว่า

สมัยนั้น พระเถระชื่อว่ามหานามะ ในจำพวกพระเถระปัญจวัคคีย์ ไปถึงนครมัจฉิกาสัณฑะในแคว้นมคธ  จิตตคฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีในนครนั้นเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงรับบาตรนำมายังเรือน บูชาด้วยบิณฑบาต  ท่านฉันเสร็จแล้วก็นำไปยังสวนชื่ออัมพาตการาม สร้างที่อยู่ถวายพระเถระ   ที่นั้น  แล้วนิมนต์ให้ท่านอยู่รับบิณฑบาตในเรือนตนเป็นนิตย์  ฝ่ายพระเถระเห็นอุปนิสัยของจิตตคฤหบดีนั้น เมื่อแสดงธรรมจึงแสดงเฉพาะ  สฬายตนวิภังค์ เท่านั้น  ไม่ช้านัก จิตตคฤหบดีก็บรรลุพระอนาคามิผล เพราะตนมีการพิจารณาเห็นสังขารอันทุกข์บีบคั้นแล้วในภพก่อน 

อรรถกถาธรรมบท ภาค ๓ เรื่องพระสุธรรมเถระ เล่าถึงเรื่องที่จิตตคฤหบดีบรรลุอนาคามิผลแตกต่างไปจากคัมภีร์มโนรถปูรณี  ดังนี้

จิตตคฤหบดีในมัจฉิกาสัณฑนครเห็นพระมหานามเถระ หนึ่งในพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ เที่ยวบิณฑบาตอยู่  เลื่อมใสในอิริยาบถของพระเถระ จึงรับบาตร นิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือนให้ฉันแล้ว  ในกาลเสร็จภัตกิจ สดับธรรมกถา บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เป็นผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว  ใคร่เพื่อจะทำอุทยานของตนอันชื่อว่าอัมพาตกวันให้เป็นสังฆาราม จึงหลั่งน้ำลงไปในมือของพระเถระมอบถวายแล้ว  ในขณะนั้น มหาปฐพีก็หวั่นไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดินด้วยบอกเหตุว่า  "พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้ว"
                จิตตคฤหบดีให้สร้างวิหารใหญ่ไว้ในอุทยานอัมพาตกวัน เปิดประตูต้อนรับพระภิกษุจากทุกทิศ
พระอัครสาวกทั้งสองได้ฟังเกียรติคุณของจิตตคฤหบดี ใคร่จะทำความสงเคราะห์แก่คฤหบดีนั้นจึงเดินทางไปมัจฉิกาสัณฑนคร  จิตตคฤหบดีทราบว่าพระอัครสาวกทั้งสองจะมา จึงออกไปต้อนรับสิ้นทางประมาณกึ่งโยชน์ พาพระอัครสาวกทั้งสองไปพักที่วิหารในอัมพาตกวัน ทำอาคันตุกวัตรแล้ว นิมนต์พระธรรมเสนาบดีว่า  ท่านผู้เจริญ  กระผมปรารถนาฟังธรรมกถาสักหน่อย
 พระเถระกล่าวแก่เขาว่า  อุบาสก อาตมะทั้งหลายเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ท่านจงฟังเพียงนิดหน่อยเถิด  ดังนี้ แล้วกล่าวธรรมกถาแก่เขา  คฤหบดีฟังธรรมกถาของพระเถระอยู่นั่นเองก็ได้บรรลุอนาคามิผล

คัมภีร์มโนรถปูรณี ดังอ้างแล้ว เล่าต่อไปว่า

ต่อมาวันหนึ่ง ท่านพระอิสิทัตตเถระมาอยู่ที่อัมพาตกวัน  เมื่อฉันในเรือนของเศรษฐีเสร็จแล้ว ท่านพระมหานามะนิมนต์ให้วิสัชนาปัญหาบางข้อให้แก่จิตตคฤหบดี  เมื่อท่านพระอิสิทัตตเถระทราบว่าท่านพระมหานามะเป็นสหายคฤหัสถ์กับจิตตคฤหบดีมาแต่ปางก่อน ก็คิดว่าท่านไม่ควรอยู่ในที่นี้ จึงอำลาไป
วันรุ่งขึ้น จิตตคฤหบดีขอให้ท่านพระมหานามะทำอิทธิปาฏิหาริย์  พระเถระก็แสดงปาฏิหาริย์ที่สำเร็จด้วยเตโชสมาบัติ  เสร็จแล้วท่านคิดว่า บัดนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่ในที่นี้  ท่านจึงลาไปอีกองค์หนึ่ง

                ประวัติท่านพระมหานามะเท่าที่สามารถจะค้นได้ในคัมภีร์ก็มีเพียงเท่านี้                  

No comments:

Post a Comment