Saturday, August 13, 2011

19.พระมหากัสสปะ

พระมหากัสสปะ


พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อมหาติตถะในแคว้นมคธ  เป็นบุตรของกบิลพราหมณ์ มีชื่อเดิมว่า ปิปผลิมาณพ  เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางภัททกาปิลานี ตามความประสงค์ของมารดาบิดา แต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครองเรือน  ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน  นุ่งห่มผ้ากาสาวะออกบวชกันเอง เดินทางออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทางสองแพร่ง
ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตกนิโครธ ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ได้อุปสมบทด้วยรับโอวาท ๓ ข้อ และได้ถวายผ้าสังฆาฏิของตนแลกกับจีวรเก่าของพระพุทธเจ้า แล้วสมาทานธุดงค์  ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน  ก็ได้บรรลุพระอรหัต  เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อยสันโดษ  ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์      เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน

ประวัติโดยละเอียดของท่านมีดังต่อไปนี้
(สารัตถปกาสินี ภาค ๒ อรรถกถาจีวรสูตร BUDSIR VI  หมวดอรรถกถา เล่ม 12 หน้า 213 -
 มโนรถปูรณี ภาค ๑ อรรถกถาเอตทัคคบาลี BUDSIR VI  หมวดอรรถกถา เล่ม 14 หน้า 158 -)

ปิปผลิมาณพเป็นบุตรของกบิลพราหมณ์ในมหาติตถพราหมณคามในมคธรัฐ  เรียกขานว่า กัสสปะ ตามชื่อโคตร  เมื่อปิปผลมาณพมีอายุได้ ๒๐ ปี มารดาบิดาแลดูบุตรแล้วคาดคั้นอย่างหนักว่า  ดูก่อนพ่อ เจ้าเจริญวัยแล้ว  ชื่อว่าวงศ์ตระกูลจะต้องดำรงไว้  
                มาณพกล่าวว่า  ขอท่านพ่อท่านแม่อย่ากล่าวถ้อยคำเช่นนี้ในคลองแห่งโสตประสาทของลูกเลย  ลูกจักปรนนิบัติพ่อแม่ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่  เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้วลูกจักออกบวช 
                โดยล่วงไป ๒ - ๓ วัน ท่านทั้งสองก็พูดอีก  ปิปผลิมาณพก็ปฏิเสธอย่างนั้นอีกเหมือนกัน  จำเดิมแต่นั้นมาพ่อแม่ก็พูดขอร้องอย่างนั้นไม่ขาดระยะเลย
                มาณพคิดว่า เราจักให้บิดามารดาของเรายินยอม  จึงให้เอาแท่งทองสุกปลั่ง ๑,๐๐๐ แท่ง อันช่างทองทำให้อ่อนตามต้องการทั้งปวงแล้วสร้างรูปหญิงรูปหนึ่ง ให้นุ่งผ้าแดง ให้ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องประดับต่างๆ งดงามบริบูรณ์ดีทุกอย่าง แล้วบอกแก่มารดาว่า  แม่ เมื่อลูกได้คู่ที่งามเห็นปานนี้ก็จะอยู่ครองเรือน  ถ้าไม่ได้ก็ไม่อยู่
               นางพราหมณีเป็นคนฉลาด คิดว่า บุตรของเรามีบุญ ได้เคยให้ทาน เคยสร้างบารมีไว้  เมื่อทำบุญ คงจะไม่ได้ทำคนเดียว แต่คงจะเคยทำบุญร่วมกับคู่ของเขาที่งามเปรียบด้วยรูปทอง  คิดดังนี้แล้วจึงให้เชิญพราหมณ์มา ๘ คน  เลี้ยงให้อิ่มหนำดีแล้ว ให้ยกรูปทองขึ้นรถแล้วบอกว่า  พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงไปเที่ยวหาตระกูลที่เสมอกันโดยชาติ โคตร และโภคะของเรา  จงดูเด็กสาวที่งามเหมือนกับรูปทองนี้ เมื่อพบแล้วก็จงเอารูปทองนี้แหละให้เป็นเครื่องบรรณาการแล้วจงกลับมา
                พราหมณ์เหล่านั้นคิดว่า  พวกเราจักไปในที่ไหนดี จึงคิดว่ามัททรัฐเป็นบ่อเกิดแห่งหญิงงาม  จึงไปยังสาคลนครในมัททรัฐ  ได้วางรูปทองนั้นไว้ที่ท่าอาบน้ำแห่งหนึ่งแล้วได้นั่งสังเกตการณ์อยู่ที่ข้างหนึ่ง 
                ในเมืองนั้น พราหมณ์โกสิยโคตรมีลูกสาวอายุ ๑๖ ปี ชื่อ ภัททา วันนั้นพี่เลี้ยงขอให้นางภัททาอาบน้ำแล้วแต่งตัวให้อยู่ในห้องนอน  ตนเองไปยังท่าน้ำเพื่ออาบน้ำ ได้เห็นรูปทองในที่นั้น คิดว่า  ธิดานี้ใครๆ ไม่ได้พามา แต่มาอยู่ในที่นี้ได้อย่างไร? เมื่อจับดูข้างหลังจึงรู้ว่าเป็นรูปทอง  จึงพูดขึ้นว่า เราสำคัญผิดคิดว่านี่เป็นธิดาแม่เจ้าของเรา แต่ไม่ใช่เพราะไม่ได้แต่งตัวอย่างนี้
                ลำดับนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงพากันห้อมล้อมรูปนั้นแล้วถามว่า  รูปเห็นปานนี้เป็นธิดาของท่านหรือ?  พี่เลี้ยงกล่าวว่า  นี้อะไรกัน  ธิดาแม่เจ้าของเรายังงามกว่ารูปทองนี้ตั้งร้อยเท่าพันเท่า  เมื่อนางนั่งอยู่ในห้องประมาณ ๑๒ ศอก กิจด้วยประทีปย่อมไม่มี  แม่เจ้าย่อมกำจัดความมืดโดยแสงสว่างแห่งสรีระนั้นเอง
                พวกพราหมณ์จึงกล่าวว่า  ถ้าเช่นนั้นจงมาเถิด  แล้วยกรูปทองขึ้นบนรถ ให้พี่เลี้ยงพาไป ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของพราหมณ์โกสิยโคตร  ได้แจ้งการมาให้ทราบ
               พราหมณ์โกสิยโคตรปฏิสันถารแล้วถามว่า  พวกท่านมาจากไหน ? 
พวกพราหมณ์ตอบว่า  มาแต่เรือนของกบิลพราหมณ์ในมหาติตถคาม มคธรัฐ 
ถามว่า  มาเพราะเหตุอะไร ? 
พวกพราหมณ์ก็แถลงเหตุทั้งปวงให้ทราบ 
โกสิยพราหมณ์กล่าวว่า  เป็นกรรมดีละพ่อทั้งหลาย  ตระกูลของพวกเรามีชาติ โคตร และสมบัติเสมอกัน  เราจักให้ลูกสาวของเรา  ดังนี้แล้วรับเอาเครื่องบรรณาการไว้
                พวกพราหมณ์ส่งข่าวไปให้แก่กบิลพราหมณ์ว่า  ได้เด็กสาวแล้ว ขอให้เตรียมกระทำสิ่งที่ควรทำ  คนทั้งหลายได้ทราบข่าวนั้นแล้วจึงแจ้งให้กบิลพราหมณ์ทราบ 
                ปิปผลิมาณพคิดว่า  เราคาดว่าจะหาไม่ได้  พวกเหล่านี้กลับบอกมาว่าหาได้แล้ว  เราไม่มีความต้องการ  ดังนี้แล้วจึงแอบเขียนหนังสือส่งไปว่า  ขอนางภัททาจงได้ครองเรือนอันสมควรแก่ชาติ โคตร และโภคะของตนเถิด เราจักออกบวช อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย  
ฝ่ายนางภัททาได้สดับว่า บิดาประสงค์จะให้เราแก่ชายโน้น  จึงแอบเขียนหนังสือส่งไปว่า  ขอปิปผลิมาณพจงได้ครองเรือนอันสมควรแก่ชาติ โคตร และโภคะของตนเถิด ดิฉันจักบวช อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย    
หนังสือทั้งสองได้มาประจวบกันในระหว่างทาง  คนเดินหนังสือถามกันว่าเป็นหนังสือของใคร  เมื่อได้คำตอบว่าเป็นหนังสือที่ปิปผลิมาณพส่งถึงนางภัททา ก็บอกว่า นางภัททาก็ส่งหนังสือถึงปิปผลิมาณพ  คนเดินหนังสือได้อ่านหนังสือทั้งสองฉบับแล้วกล่าวว่า  ท่านทั้งหลายจงดูการกระทำของเด็กสองคนนี้เถิด  ดังนี้แล้ว ก็ฉีกทิ้งเสียในป่า แล้วเขียนหนังสือขึ้นใหม่ทำให้เหมือนกับหนังสือของคนทั้งสองนั้น แต่มีเนื้อความไปในทางผูกสมัครรักใคร่  แล้วส่งไปข้างโน้นและข้างนี้ 
เพราะหนังสือที่เหมือนกัน ที่เกื้อกูลแก่ความยินดีทางโลกของเด็กหนุ่มกับเด็กสาว  การสมาคมแห่งคนทั้งสองผู้ไม่ปรารถนาเลยนั่นแหละ จึงได้มีแล้วด้วยประการฉะนี้
                ในวันที่แต่งงานกันนั่นเอง ปิปผลิมาณพให้ร้อยพวงดอกไม้พวงหนึ่ง  ฝ่ายนางภัททาก็ร้อยพวงหนึ่ง  คนทั้งสองวางพวงดอกไม้ไว้บนท่ามกลางที่นอน บริโภคอาหารเย็นแล้วคิดว่าเราจักขึ้นสู่ที่นอน  มาณพขึ้นสู่ที่นอนโดยทางข้างขวา นางภัททาขึ้นทางซ้าย  แล้วกล่าวว่า  ดอกไม้ย่อมเหี่ยว  ณ ข้างของผู้ใด  ราคจิตเกิดแล้วแก่ผู้นั้น  พวงดอกไม้นี้จะไม่พึงเป็นดอกไม้สด
                คนทั้งสองนั้นไม่ก้าวล่วงลงสู่ความหลับเลย  ปล่อยให้ ๓ ยามแห่งราตรีล่วงไป เพราะกลัวแต่สัมผัสแห่งร่างกายของกันและกัน  ส่วนในกลางวันแม้เพียงยิ้มแย้มก็มิได้มี  คนทั้งสองนั้นไม่ได้คลุกคลีด้วยโลกามิส  ไม่ได้พิจารณาถึงเรื่องทรัพย์สมบัติตลอดเวลาที่มารดาบิดายังดำรงชีพอยู่  จนกาลล่วงมาเมื่อมารดาบิดาสิ้นบุญแล้วจึงได้พิจารณา 
สมบัติของมาณพมีดังต่อไปนี้ :- 
ผงทองคำที่ใช้ขัดถูร่างกาย ประมาณ ๑๒  ทะนานต่อวัน
เหมืองใหญ่ ๖๐ แห่งที่ฉุดชักด้วยเครื่องยนต์ 
พื้นที่สำหรับประกอบการงานประมาณ ๑๒ โยชน์ 
บ้านส่วย ๑๔ ตำบลเท่าเมืองอนุราธบุรี 
กองช้าง ๑๔  กอง
กองม้า ๑๔  กอง
กองรถ ๑๔  กอง
                วันหนึ่ง ปิปผลิมาณพขึ้นม้าที่ประดับแล้ว แวดล้อมไปด้วยมหาชนไปยังที่ทำงาน  ยืนอยู่ที่ปลายนา  เห็นนกกาจิกกินสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้นจากดินที่ไถขึ้นมา จึงถามว่า  พ่อทั้งหลาย  สัตว์เหล่านี้กินอะไร  คนทั้งหลายตอบว่า  กินไส้เดือน นายท่าน  มาณพถามว่า  บาปที่สัตว์เหล่านี้กระทำย่อมมีแก่ใคร  คนทั้งหลายตอบว่า มีแก่นายท่าน
                มาณพคิดว่า  ถ้าบาปที่สัตว์เหล่านี้กระทำมีแก่เราไซร้ ทรัพย์ ๘๗ โกฏิจักกระทำประโยชน์อะไรแก่เรา  การงาน ๑๒ โยชน์จะทำอะไร  เหมืองที่ฉุดชักด้วยเครื่องยนต์จะทำอะไร  บ้านส่วย ๑๔ ตำบลจะทำอะไร  เราจักมอบทรัพย์ทั้งหมดนี้ให้นางภัททาแล้วออกบวช
                ในขณะนั้น ข้างนางภัททาก็ให้ตากหม้อเมล็ดงา ๓ หม้อในภายในพื้นที่ นั่งแวดล้อมไปด้วยพี่เลี้ยง  เห็นกาทั้งหลายจิกกินสัตว์ที่อยู่ในเมล็ดงา ก็ถามว่า  แม่ สัตว์เหล่านี้กินอะไร  พวกพี่เลี้ยงตอบว่า  กินสัตว์ นายแม่  นางถามว่า อกุศลย่อมมีแก่ใคร   พวกพี่เลี้ยงตอบว่า  มีแก่ท่าน นายแม่   
นางคิดว่า  การที่เราได้ผ้า ๔ ศอก และข้าวสารเพียงทะนานหนึ่งย่อมควร  ก็ถ้าอกุศลที่คนมีประมาณเท่านี้กระทำย่อมมีแก่เราไซร้ เราก็ไม่สามารถเงยศีรษะขึ้นได้จากวัฏฏะแม้ตั้ง ๑,๐๐๐ ชาติ  พอสามีเรามาถึงเท่านั้น เราก็จะมอบสมบัติทั้งหมดแก่เขาแล้วจักออกบวช
                มาณพมาถึงแล้ว อาบน้ำ ขึ้นสู่ปราสาท นั่งบนบัลลังก์อันมีค่ามาก  ลำดับนั้น  คนทั้งหลายก็จัดแจงโภชนะอันสมควรแก่พระเจ้าจักรพรรดินั้น  เมื่อบริวารออกไปแล้ว  คนทั้งสองบริโภคแล้วอยู่ในที่รโหฐาน นั่งอยู่ในที่อันผาสุก 
ลำดับนั้น  ปิปผลิมาณพกล่าวกะนางภัททาว่า  นางผู้เจริญ เธอมาสู่เรือนนี้นำทรัพย์มาประมาณเท่าไร ?
                ภัททา.    ๕๕,๐๐๐ เล่มเกวียน นายท่าน
                มาณพ.   ทรัพย์ทั้งหมด คือทรัพย์ ๘๗ โกฏิ และสมบัติอื่นเช่นเหมืองที่ฉุดชักด้วยเครื่องยนต์ ที่มีอยู่ในเรือนนี้ทั้งหมด ฉันมอบให้แก่เธอคนเดียว
                ภัททา.    ก็ท่านเล่า นายท่านจะไปไหน ?
                มาณพ.   ฉันจักบวช
                ภัททา.    นายท่าน  แม้ดิฉันก็นั่งรอให้ท่านมาเพื่อจะพูดเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ดิฉันก็จักบวช 


ออกบวช


ภพ ๓ ได้ปรากฏแก่คนทั้งสองนั้นเหมือนกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ถูกไฟไหม้ฉะนั้น  คนทั้งสองให้นำผ้าที่ย้อมน้ำฝาดและบาตรดินมาจากร้านตลาด ให้ปลงผมกันและกันแล้วกล่าวว่า  พระอรหันต์เหล่าใดมีอยู่ในโลก  เราทั้งสองบวชอุทิศพระอรหันต์เหล่านั้น  ดังนี้แล้ว  ถือเพศเป็นนักบวช ใส่บาตรเข้าในถุงคล้องไว้ที่ไหล่ ลงจากปราสาท  บรรดาทาสหรือกรรมกรในเรือนเห็นแล้วก็ไม่มีใครจำได้
                ลำดับนั้น ชาวบ้านทาสคามจำคนทั้งสองนั้นผู้ออกจากพราหมณคามไปทางประตูทาสคามได้ โดยสังเกตจากอากัปกิริยา  คนเหล่านั้นร้องไห้หมอบที่เท้า กล่าวว่า  ผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พวกท่านจะทำพวกข้าพเจ้าไม่ให้มีที่พึ่งหรือ?  คนทั้งสองนั้นกล่าวว่า  ท่านทั้งหลาย เราเห็นว่าภพทั้ง ๓ ปรากฏเหมือนบรรณศาลาที่ถูกไฟไหม้ จึงได้บวช  ถ้าเราทำแต่ละคนในบรรดาท่านให้เป็นไทไซร้ แม้ตั้ง ๑๐๐ ปีก็ไม่พอ  พวกท่านนั้นแหละจงชำระศีรษะของท่านจงเป็นไทเถิด ดังนี้  เมื่อคนเหล่านั้นกำลังร้องไห้อยู่นั้นเองก็ได้ออกเดินทางไป
ปิปผลิมาณพเดินนำไปข้างหน้า เหลียวมาดูข้างหลัง พลางคิดว่า  นางภัททานี้เป็นหญิงมีค่าในชมพูทวีปทั้งสิ้น มาข้างหลังเรา  ข้อที่ใครๆ พึงคิดอย่างนี้ว่า  คนทั้งสองนี้แม้บวชแล้วไม่อาจพรากจากกันได้  กระทำไม่สมควร  ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้  จึงเกิดความคิดขึ้นว่า  ใครๆ ที่คิดในทางอกุศลเช่นนั้นจะพากันตกนรกเสียเปล่าๆ  การที่เราละนางผู้นี้ไปย่อมสมควร 
เมื่อเดินทางไปถึงทางสองแพร่ง  ปิปผลิมาณพได้หยุดอยู่ในที่สุดแห่งทางนั้น  ฝ่ายนางภัททาเดินมาทัน ไหว้แล้วได้ยืนอยู่  ครั้นแล้วปิปผลิมาณพจึงกล่าวแก่ทางภัททาว่า  นางผู้เจริญ  มหาชนเห็นหญิงเช่นเธอเดิมตามเรามาแล้วจะคิดว่า  คนเหล่านี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจพรากจากกันได้  พึงมีจิตคิดไปในทางร้ายกับเรา ก็จะพากันตกนรกเสียเปล่าๆ  ในทางสองแพร่งนี้ เธอจงถือเอาทางหนึ่ง เราจักไปอีกทางหนึ่ง 
นางภัททากล่าวว่า  เป็นเช่นนั้นพระผู้เป็นเจ้า มาตุคามเป็นเครื่องกังวลของบรรพชิตทั้งหลาย  คนทั้งหลายจักแสดงโทษของพวกเราว่า คนเหล่านี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจพรากจากกันได้  ท่านจงถือเอาทางหนึ่ง เราจักแยกจากกัน  ดังนี้แล้วกระทำประทักษิณ ๓ รอบ  ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในทิศทั้ง ๔  ประคองอัญชลีแล้วกล่าวว่า ความสนิทสนมกันโดยฐานมิตรที่ทำไว้ในกาลนานประมาณแสนปีย่อมทำลายลงในวันนี้  แล้วกล่าวว่า  ท่านชื่อว่าเป็นชาติขวา ทางขวาสมควรแก่ท่าน  ดิฉันชื่อว่าเป็นมาตุคาม เป็นชาติซ้าย ทางฝ่ายซ้ายควรแก่ดิฉัน ดังนี้  ไหว้แล้วแยกกันเดินทางไป
                ในขณะที่คนทั้งสองแยกทางกัน มหาปฐพีนี้ร้องไห้หวั่นไหว เหมือนกล่าวอยู่ว่า  เราสามารถจะทรงไว้ซึ่งขุนเขาจักรวาลและขุนเขาสิเนรุได้  แต่ไม่สามารถจะทรงคุณของท่านได้  เป็นไปเหมือนเสียงอสนีบาตในอากาศ  ขุนเขาจักรวาลและสิเนรุบันลือลั่น


พบพระพุทธเจ้า      

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งที่พระคันธกุฎีในพระเชตวันมหาวิหาร สดับเสียงแผ่นดินไหว ทรงรำพึงว่า  แผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ?  ทรงพระดำริว่า ปิปผลิมาณพและนางภัททา ละสมบัติอันหาประมาณมิได้ บวชอุทิศเรา แผ่นดินไหวนี้เกิดเพราะกำลังคุณของคนทั้งสองในฐานะที่คนทั้งสองแยกจากกัน  เราควรกระทำการสงเคราะห์แก่คนทั้งสองนั้น 
ทรงพุทธดำริดังนี้แล้ว เสด็จออกจากพระคันธกุฎี  ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ตรัสบอกใครๆ ในบรรดาพระอสีติมหาเถระ  กระทำหนทาง ๓ คาวุตให้เป็นที่ต้อนรับ  ทรงนั่งคู้บัลลังก์  ณ  โคนต้นพหุปุตตกนิโครธในระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา และมิได้ทรงนั่งอย่างภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลรูปใดรูปหนึ่ง หากแต่ทรงแสดงพระองค์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ประทับนั่งฉายพระพุทธรัศมีเป็นแท่งทึบประมาณ ๘ ศอก
ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีซึ่งมีประมาณเท่าฉัตร  เท่าใบไม้  ล้อเกวียน และเรือนยอดเป็นต้น แผ่พร่างพรายไปข้างโน้นข้างนี้เหมือนเวลาที่พระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นไปพร้อมกันตั้งพันดวง กระทำป่านั้นให้มีแสงสุกสว่างเป็นอันเดียวกันจนสุดชายป่า  เหมือนท้องฟ้าที่รุ่งโรจน์ด้วยหมู่ดาว  เป็นความรุ่งโรจน์ด้วยสิริแห่งมหาบุรุษลักษณะ ๓๒  เหมือนน้ำที่พร่างพรายด้วยดอกโกมลและดอกบัวอันบานสะพรั่ง  พระพุทธรัศมีทำที่สุดป่าให้รุ่งโรจน์  ลำต้นแห่งต้นนิโครธย่อมขาว ใบเขียว สุกปลั่ง  แต่ในวันนั้น ต้นนิโครธทั้ง ๑๐๐ กิ่งได้มีสีเหมือนสีทองคำ
                ปิปผลิมาณพคิดว่า  ผู้นี้ชะรอยจักเป็นพระศาสดาของพวกเรา เราบวชอุทิศท่านผู้นี้  คิดดังนี้แล้วจึงน้อมกายลงจำเดิมแต่ที่ที่ตนเห็นแล้ว ใกล้เข้าไปได้คาวุตหนึ่งถวายอภิวาทครั้งหนึ่ง เป็นอันได้ถวายอภิวาท ๓ ครั้ง ๓ ที่ แล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  กัสสปะ ถ้าเธอพึงกระทำการนอบน้อมนี้แก่แผ่นดินใหญ่ แม้แผ่นดินก็ไม่สามารถทรงอยู่ได้  แผ่นดินใหญ่นี้รู้ความที่ตถาคตมีคุณมากถึงอย่างนี้  การกระทำการนอบน้อมที่เธอกระทำแล้วไม่อาจทำให้เราหวั่นไหวได้แม้เพียงเส้นขน  นั่งเถิดกัสสปะ เราจะให้มรดกแก่เธอ
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านด้วยโอวาท ๓ ข้อ ที่ชื่อว่า โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา  ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปเถระ ด้วยการรับโอวาทนี้ว่า 

. เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุ ทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า
๒. เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล  เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ
๓. สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย คือจะพิจารณากายคตาสติ

                ครั้นประทานอุปสมบทแล้วจึงเสด็จออกจากโคนต้นพหุปุตตกนิโครธ  กระทำพระเถระให้เป็นปัจฉาสมณะแล้วทรงดำเนินไป  พระสรีระของพระศาสดาวิจิตรด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ  สรีระของพระมหากัสสปะประดับด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๗ ประการ  ท่านติดตามพระบาทพระศาสดาเหมือนมหานาวาทองที่ลอยล่องมาข้างหลัง

               

เปลี่ยนจีวรกับพระพุทธองค์


พระศาสดาเสด็จไปหน่อยหนึ่งแล้วเสด็จลงจากทาง แสดงอาการประทับนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง  พระเถระรู้ว่าพระศาสดาจะประทับนั่ง จึงเอาผ้าสังฆาฏิผืนเก่าที่ตนห่มปูเป็น ๔ ชั้นถวาย  พระศาสดาประทับนั่งบนที่นั้น เอาพระหัตถ์ลูบคลำจีวรแล้วตรัสว่า  กัสสปะ สังฆาฎิเก่าของเธอผืนนี้อ่อนนุ่ม  พระเถระทราบว่าพระศาสดาทรงมีพระประสงค์จะห่ม  จึงทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงห่มสังฆาฏิเถิด
                พระศาสดาตรัสว่า  กัสสปะ เธอจักห่มอะไร ?
                พระมหากัสสปเถระทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ได้ผ้านุ่งของพระองค์ก็จักห่ม
                พระศาสดาตรัสว่า  กัสสปะ เธออาจจะทรงผ้าบังสุกุลอันใช้จนคร่ำคร่านี้หรือ  จริงอยู่ ในวันที่เราถือเอาผ้าบังสุกุลนี้ แผ่นดินไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน อันจีวรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายใช้สอยจนคร่ำคร่านี้ ผู้มีคุณเล็กน้อยไม่สามารถจะทรงได้  ผ้าผืนนี้ ผู้มีกำลังโดยเฉพาะ คือต้องเป็นภิกษุผู้เกิดมาเพื่อจะทรงผ้าบังสุกุลจริงๆ มีความสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้เท่านั้นจึงจะควรทรง  ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ        
พระผู้มีพระภาคทรงกระทำการเปลี่ยนจีวรอย่างนี้ แล้วทรงห่มจีวรที่พระเถระห่มแล้ว  พระเถระก็ห่มจีวรของพระศาสดา  ในเวลานั้นแผ่นดินนี้แม้ไม่มีเจตนาก็หวั่นไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน เหมือนจะกล่าวอยู่ว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้กระทำกรรมที่ทำได้ยาก  อันจีวรที่พระศาสดาห่มแล้วจะประทานให้แก่สาวกนั้นยังไม่เคยมี  เราไม่สามารถจะทรงคุณของท่านทั้งหลายได้
                ฝ่ายพระเถระมิได้ลำพองตนเลยว่า  บัดนี้เราได้จีวรที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอยแล้ว  ตอนนี้มีอะไรที่จะทำให้ยิ่งไปกว่านี้อีกหรือ  ท่านกลับสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อในสำนักพระพุทธเจ้านั่นเอง 
ท่านพระมหากัสสปะเป็นปุถุชนอยู่เพียง ๗ วัน  ในวันที่ ๘ ก็บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย  

ในคัมภีร์อปทาน มีคำพรรณนาประวัติของท่านไว้ว่า

                                ในกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระเชษฐบุรุษ
ของโลก ผู้คงที่ เป็นนาถะของโลกนิพพานแล้ว ...
เราประชุมญาติและมิตรแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า  พระมหาวีรเจ้า
ปรินิพพานแล้ว  เชิญเรามาทำการบูชากันเถิด 
พวกเขารับคำว่า สาธุ แล้วทำความร่าเริงให้เกิดแก่เราอย่างยิ่ง
ว่า  พวกเราทำการก่อสร้างบุญในพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก 
เราได้สร้างเจดีย์อันมีค่า ทำอย่างเรียบร้อย สูงร้อยศอก  สร้าง
ปราสาทสูงร้อยห้าสิบศอก สูงจดท้องฟ้า           
ครั้นสร้างเจดีย์อันมีค่างดงามด้วยระเบียบอันดีไว้ที่นั้นแล้ว
ได้ยังจิตของตนให้เลื่อมใส  บูชาเจดีย์อันอุดม 
ปราสาทย่อมรุ่งเรืองดังกองไฟโพลงอยู่ในอากาศ ประดุจพญา
ไม้สาละกำลังออกดอกบานสะพรั่ง  ย่อมสว่างจ้าทั่วสี่ทิศเหมือนสายฟ้า
ในอากาศ 
เรายังจิตให้เสื่อมใสในห้องพระบรมธาตุนั้น ก่อสร้างกุศล
เป็นอันมาก ระลึกถึงกรรมเก่าแล้วได้เข้าถึงไตรทศสถาน  ....
ในหกหมื่นกัป (นับย้อนขึ้นไปจากกัปนี้) เราเกิดเป็นกษัตริย์
นามว่าอุพพิทธะ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครอบครองแผ่นดินมีสมุทร
สาครทั้งสี่เป็นขอบเขต 
ในภัทรกัปนี้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีกำลังมากถึง ๓๐
ชาติ  ยินดียิ่งในบุญกรรมของตน ....
นครของเราน่ารื่นรมย์ เป็นอุดมนคร เกลื่อนด้วยช้าง ม้า และรถ
คับคั่งด้วยหมู่มนุษย์ประดุจเล่มเข็มที่เบียดเสียดกันอยู่ในกล่องเข็มฉะนั้น
เรากินและดื่มอยู่ในนครนั้นแล้วไปเกิดเป็นเทวดาอีก ในชาติสุด
ท้ายเราก็ยังได้เกิดในตระกูลที่สูง
เราสมภพในสกุลพราหมณ์ สั่งสมรัตนะมาก ละเงินประมาณ
๘๐ โกฏิเสียแล้ว ออกบวช 
คุณวิเศษเหล่านี้  คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ 
เราทำให้แจ้งแล้ว  คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ปฏิบัติสำเร็จแล้ว
ฉะนี้แล


เอตทัคคะทางถือธุดงค์

                ลำดับนั้น  พระศาสดาทรงสรรเสริญพระกัสสปเถระนั้นโดยนัยมีอาทิว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูลไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทะนงตัวในตระกูล 
ภายหลัง ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงค์ว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ถือธุดงค์ 
มหากัสสปะนี้เป็นเลิศ ดังนี้

                 พระมหากัสสปเถระ โดยปกติท่านจะมีบุคคลิกเคร่งขรึม  มีระเบียบ  ถือพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะธุดงค์ ๑๓ อย่าง  หายากที่ท่านจะยิ้มแย้ม จะมีก็ตอนที่ท่านได้เห็นพระสารีบุตรครั้งแรก
                ในช่วงที่พระพุทธองค์ยังไม่ปรินิพพาน ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงงานของท่านเท่าไรนัก เพราะท่านถือธุดงค์ ๑๓ และเคร่งครัดในหลัก ๓ ข้อ คือ ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๑ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ๑   ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑   แม้จะอยู่ในสถานที่ใกล้กับพระพุทธเจ้า  ดังความตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระมหากัสสปเถระท่านเคร่งครัดในธุดงค์วัตรอย่างไร  กล่าวคือ
                สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์  ครั้งนั้นแล ท่านพระหากัสสปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า  กัสสปะ  บัดนี้เธอชราแล้ว  ผ้าป่านบังสุกุลเหล่านี้ของเธอหนัก  ไม่น่านุ่งห่ม  เพราะเหตุนั้นแลเธอจงทรงคฤหบดีจีวร  จงบริโภคโภชนะที่เขานิมนต์ และจงอยู่ในสำนักของเราเถิด 
                ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เป็นเวลานานมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร 
เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 
เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 
เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร 
เป็นผู้มีความมักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย 
เป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ  
เป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่ 
เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลี 
เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร  ดังนี้ 
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า  ดูก่อนกัสสปะ  ก็เธอเล็งเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไรจึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน  เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร...  เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร...  เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ...  เป็นผู้มักน้อย ...  เป็นผู้สันโดษ  ...  เป็นผู้สงัดจากหมู่  ...  เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่  ... เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ 
                พระเถระทูลตอบว่า 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์  ๒ ประการ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน …..กล่าวคือ
(1) เล็งเห็นการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม  และ
(2) อนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังว่า ทำไฉนประชุมชนในภายหลังพึงถึงทิฏฐานุคติว่า ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าที่ได้มีมาแล้ว ท่านเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน …เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร  ...ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร...  ทรงไตรจีวรเป็นวัตร... เป็นผู้มักน้อย...  เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่  ...เป็นผู้ปรารภความเพียร  และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรมาแล้วสิ้นกาลนาน 
ท่านเหล่านั้นจักปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น  ข้อปฏิบัติของท่านเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ดังนี้ 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการเหล่านี้ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตร  เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร  ... มีความปรารถนาน้อย  ...เป็นผู้สันโดษ  ... เป็นผู้สงัดจากหมู่  ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่  ... ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรสิ้นกาลนาน 
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  สาธุ สาธุ  กัสสปะ ได้ยินว่าเธอปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก  เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก  เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก  เพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ดูก่อนกัสสปะ เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงผ้าป่านบังสุกุลอันไม่น่านุ่งห่ม จงเทียวบิณฑบาต และจงอยู่ในป่าเถิด ฉะนี้ 


จริยาวัตรและผลงานที่โดดเด่น


                นอกจากจริยาวัตรที่ท่านถือธุดงค์ตลอดชีวิตแล้ว  ผลงานที่ท่านทำคุณอันยิ่งใหญ่ไว้กับชาวโลกก็คือ การทำสังคายนาครั้งแรกเพื่อรักษาพระธรรมวินัยจนสืบต่อมาถึงปัจจุบัน ดังคำบอกเล่าของท่านที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกความว่า

                ครั้งหนึ่ง ท่านออกจากเมืองปาวาเดินทางไกลไปเมืองกุสินารากับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป  ครั้งนั้นท่านแวะจากทาง นั่งพักอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง            
อาชีวกผู้หนึ่งถือดอกมณฑารพในเมืองกุสินาราเดินทางไกลมาสู่เมืองปาวา  ท่านได้เห็นอาชีวกนั้นเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามอาชีวกนั้นว่า  ท่านทราบข่าวพระศาสดาของเราบ้างหรือ  อาชีวกตอบว่า ท่านขอรับ ข้าพเจ้าทราบ  พระสมณโคดมปรินิพพานได้ ๗ วันทั้งวันนี้แล้ว  ดอกมณฑารพนี้ข้าพเจ้าถือมาจากที่ปรินิพพานนั้น
               บรรดาภิกษุเหล่านั้น ท่านที่ยังไม่ปราศจากราคะ บางพวกประคองแขนคร่ำครวญ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาดุจมีเท้าขาด รำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาหายไปจากโลกเร็วนัก  
ส่วนภิกษุที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ ย่อมอดกลั้นได้ ด้วยคิดว่า  สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งที่เที่ยงนั้นจะได้ในสังขารนี้แต่ไหนเล่า  
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรเลย ข้อนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า  ความเป็นต่าง  ความเว้น  ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และสังขารที่รักที่ชอบใจทั้งปวงทีเดียวย่อมมี  สิ่งที่เที่ยงนั้นจะได้ในสังขารนั้นแต่ไหนเล่า  สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สิ่งนั้นต้องมีความแตกสลายเป็นธรรมดา
                ครั้งนั้น พระสุภัททวุฑฒบรรพชิตนั่งอยู่ในบริษัทนั้น เธอได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า  พอเถิดท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรไปเลย  พวกเราพ้นไปดีแล้วจากพระมหาสมณะนั้น  ด้วยว่าพวกเราถูกเบียดเบียนว่า สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ  ก็บัดนี้พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็ทำสิ่งนั้นได้  ไม่ปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น  
                พระมหากัสสปเถระได้เล็งเห็นว่า  ในเวลานี้แม้พระพุทธเจ้าเพิ่งปรินิพพาน ยังมีวาทะจาบจ้วงถึงเพียงนี้  เอาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด  เผื่อกันไว้ว่าในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง  ธรรมจักเสื่อมถอย  สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย  ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง      
พระมหาเถระได้เลือกเอาเฉพาะพระภิกษุขีณาสพเท่านั้น มีจำนวน ๕๐๐ รูป ผู้ทรงไว้ซึ่งประเภทแห่งสรรพปริยัติคือพระไตรปิฏก ได้บรรลุปฏิสัมภิทา มีอานุภาพมาก แตกฉานในไตรวิชชาเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงยกขึ้นสู่เอตทัคคะโดยมาก เช่น พระอุบาลี  พระอานนท์ เป็นต้น (ในตอนแรกพระมหากัสสปะไม่ได้เลือกพระอานนท์ เหตุเพราะพระอานนท์ยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ และกันข้อครหาว่าลำเอียง  พระอานนท์ได้รับเลือกโดยอนุมัติของภิกษุทั้งหลาย) กระทำสังคายนาครั้งที่ ๑  ปรารภเรื่องสุภัททวุฑฒบรรพชิตภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารภที่จะทำให้ธรรมวินัยรุ่งเรืองอยู่สืบไป 
วันที่ปรารภเรื่องนี้ขึ้นมาครั้งแรกหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๑ วัน คือ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปฐมสังคายนาเริ่มวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน  ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ปฏิสังขรณ์มหาวิหารทั้ง ๑๘ ตำบลและทรงอุปถัมภ์กิจสงฆ์ทุกอย่าง  สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จการสังคายนา
                พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม  พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย  พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม  ได้ร่วมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัย (คือการตรวจสอบว่าอะไรเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อะไรไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และจัดระเบียบคำสั่งสอนนั้นให้เป็นหมวดหมู่ แล้วตกลงทรงจำไว้ให้ถูกต้องตรงกัน) ที่ประชุมมีมติว่าจะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกพระพุทธพจน์ใดๆ ทั้งสิ้นในพระธรรมวินัยนี้   พระมหากัสสปเถระทำพระศาสนาของพระทศพลนี้ให้สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกาลประมาณ  ๕,๐๐๐ พระวรรษา ด้วยประการฉะนี้


พระมหากัสสปเถระปรินิพพาน


                หลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปเถระพำนักอยู่  ณ  เวฬุวันตลอดมา  ต่อมาท่านได้พิจารณาว่าชีวิตจะยืนยาวไปอีกเท่าใด  ทราบว่าจักปรินิพพานในวันรุ่งขึ้น จึงตั้งใจไปนิพพานที่เขากุกกุฏสัมปาตะ (เขา ๓ ลูก) ใกล้กรุงราชคฤห์  รวมอายุของพระมหาเถระทั้งสิ้น ๑๒๐ ปี 

No comments:

Post a Comment