Saturday, August 13, 2011

26.พระอังคุลิมาล

พระองคุลิมาล



                พระอรหันต์องค์หนึ่ง  ซึ่งเคยเป็นมหาโจรผู้โหดร้าย  มีฝ่ามือเปรอะเปื้อนด้วยโลหิต  เที่ยวฆ่าคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ปราศจากเมตตาปรานี ด้วยมิจฉาทิฐิ  ท่านพระองคุลิมาลเถระนี้ได้เคยบำเพ็ญบุญญาธิการ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ 
ในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเกิดเป็นบุตรของ คัคคพราหมณ์  หรือ ภัคควพราหมณ์  ซึ่งเป็นปุโรหิตาจารย์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งนครสาวัตถี โกศลรัฐ  มารดาของท่านชื่อ มันตานี  ท่านเกิดเวลากลางคืน ตรงกับฤกษ์โจร  เวลาท่านเกิดนั้นบรรดาศัสตราวุธทั่วพระนคร  ตลอดจนพระแสงหอกดาบของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ลุกเป็นเปลวเพลิง  บิดาของท่านเห็นว่าลางร้ายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะลูกชายของตน  จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงทราบ  และกราบทูลขอให้ประหารลูกชายของตนเสีย  แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลหาได้ทรงกระทำตามไม่  กลับรับสั่งให้เลี้ยงไว้  เพราะทราบจากบิดาของท่านว่า เด็กนั้นจะเป็นเพียงโจรร้ายต่อประชาชน ไม่ถึงกับเป็นโจรแย่งราชสมบัติ 
เวลาที่ท่านเกิด แม้ศัสตราวุธจะเกิดเป็นลางร้าย  แต่หาได้เป็นอันตรายหรือเบียดเบียนใครไม่  ฉะนั้น เพื่อเป็นนิมิตอันดีงาม เมื่อถึงวันตั้งชื่อ บิดามารดาจึงตั้งชื่อท่านว่า อหิงสกกุมาร ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร


ไปเรียนวิชาและชะตาต้องเป็นโจร

ครั้นเมื่ออหิงสกะเจริญวัยควรจะเรียนศิลปวิทยาการได้แล้ว  บิดามารดาก็ส่งไปเมืองตักกสิลา  สมัครเข้าเรียนวิชาเป็นศิษย์ประเภทธัมมันเตวาสิก  คือไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่ต้องอยู่ทำงานรับใช้อาจารย์  อหิงสกะเป็นคนสุภาพเรียบร้อย  พูดจาไพเราะ ขยันทำงานและขยันเล่าเรียน จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์และภรรยาอาจารย์
ในสำนักที่อหิงสกะไปเรียนวิชาอยู่นั้นมีศิษย์ประเภทธัมมันเตวาสิกอยู่ด้วยอีกหลายคน พวกศิษย์เหล่านี้เกิดอิจฉาอหิงสกะ จึงปรึกษากันว่า เมื่อก่อนที่อหิงสกะจะมาเข้าเรียน พวกเราก็เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์  แต่พออหิงสกะเข้ามาเป็นศิษย์ อาจารย์ก็โปรดปรานจนมองไม่เห็นพวกเรา จึงจะต้องหาวิธีทำลายอหิงสกะให้ได้ แต่จะทำลายอย่างไรดี  จะบอกว่าเป็นคนโง่ ก็พูดไม่ได้ เพราะมีปัญญายิ่งกว่าพวกเรา  จะอ้างว่ามีความประพฤติเสียหาย ก็อ้างไม่ได้ เพราะเป็นที่ปรากฏว่าอหิสกะเป็นคนเรียบร้อยทุกอย่าง  จะดูถูกว่ามีชาติสกุลต่ำ ก็ยิ่งพูดไม่ได้ เพราะเป็นถึงลูกของปุโรหิต  ตกลงว่าทำลายตรงๆ ไม่ได้เลยสักทาง
ในหมู่ศิษย์พวกนั้น มีอยู่คนหนึ่ง มีความคิดเฉียบแหลมกว่าเพื่อน เสนอให้ใช้อุบายทำให้อาจารย์เกิดความระแวงแคลงใจอหิงสกะ ทุกคนก็เห็นด้วย 
พวกศิษย์วางแผนแบ่งกันเป็นสามกลุ่ม  กลุ่มแรกเข้าไปหาอาจารย์ แล้วบอกว่า พวกตนได้ข่าวที่ไม่เป็นมงคลเกิดขึ้นในบ้านท่านอาจารย์   อาจารย์ก็ถามว่า ข่าวอะไร   พวกนั้นก็บอกว่าพวกตนทราบมาว่าอหิงสกะคิดไม่ซื่อกับภรรยาอาจารย์  อาจารย์ได้ฟังก็ไล่ตะเพิดศิษย์กลุ่มนั้นออกมาว่า เจ้าพวกถ่อยนี่จะมาทำให้เราผิดใจกับอหิงสกะ 
ต่อมาอีกไม่นาน ศิษย์กลุ่มที่สองก็เข้าไปบอกอาจารย์ทำนองเดียวกันนั้นอีก อาจารย์ก็ชักเริ่มจะสงสัย  แต่หลังจากนั้น ศิษย์กลุ่มที่สามก็เข้าไปพูดเรื่องเดียวกัน  พร้อมกับบอกว่า ถ้าอาจารย์ไม่เชื่อพวกกระผม ก็ขอให้สังเกตเอาเองเถิด จะรู้ความจริง
คราวนี้อาจารย์ปักใจเชื่อทันทีเพราะเห็นว่าศิษย์สามกลุ่มมาบอกด้วยความหวังดีทำนองเดียวกันทั้งหมด จะไม่เป็นความจริงได้อย่างไร  เมื่อปักใจเชื่อว่าอหิงสกะคิดไม่ซื่อเช่นนั้น อาจารย์ก็ตกลงใจว่าจะต้องกำจัดอหิงสกะเสีย 
           ต่อไปก็คิดว่า  ถ้าเราฆ่าอหิงสกะเสียเอง ใครรู้เรื่องเข้าว่าศิษย์สำนักนี้ทำผิด อาจารย์จึงฆ่าเสียเช่นนี้ ความเสื่อมเสียก็จะเกิดขึ้นแก่สำนักของเรา ต่อไปก็จะไม่มีใครมาสมัครเป็นศิษย์ เราก็จะเสื่อมลาภ อย่ากระนั้นเลย จะต้องใช้อุบาย โดยสั่งให้อหิงสกกุมารไปฆ่าคนให้ได้พันคน  แล้วตัดเอานิ้วมือขวามาคนละนิ้ว ให้ได้จำนวนพันนิ้ว เพื่อประกอบพิธีครุทักษิณา บูชาครู
ที่อาจารย์สั่งเช่นนี้ก็เป็นอุบายยืมมือคนอื่นฆ่า ด้วยเห็นว่าเมื่อปฏิบัติตามคำสั่งของตน ก็จะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งต่อสู้และฆ่าอหิงสกกุมารจนได้ 
ทีแรกอหิงสกกุมารปฏิเสธโดยอ้างว่าตนเกิดในตระกูลที่ไม่เบียดเบียนใคร  แต่อาจารย์บอกว่า  ศิลปศาสตร์ที่เรียนไปแล้ว ถ้ามิได้บูชาครูก็จะไม่อำนวยผลที่ต้องการ
ด้วยนิสัยรักวิชา อหิงสกกุมารจึงยอมปฏิบัติตาม โดยออกไปเที่ยวหาฆ่าคนเอานิ้วมือ จิตใจที่เคยเป็นปกติก็ค่อยๆ เหี้ยมเกรียมขึ้นเป็นลำดับ ออกเที่ยวปล้นหมู่บ้านและตำบลต่างๆ เป็นโกลาหล  ได้ฆ่าคนล้มตายเป็นจำนวนมาก แล้วตัดเอานิ้วมือคนที่ตายคนละหนึ่งนิ้วทำเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้  คนจึงขึ้นชื่อว่า โจรองคุลิมาล  เข้าถิ่นนั้นออกถิ่นโน้น ไกลจากเมืองตักกศิลาไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาถึงป่าชาลิวันในแคว้นโกศล  อาศัยอยู่ที่หุบเขาแห่งหนึ่ง คอยดักฆ่าคนเดินทาง
                การกระทำอันอุกอาจเหี้ยมหาญขององคุลิมาลได้ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านและตำบลต่างๆ หวาดกลัวเป็นที่สุด  ไม่เป็นอันทำมาหากิน พากันทิ้งบ้านเรือน อุ้มลูกจูงหลานอพยพหลบภัยเข้าไปในเมืองสาวัตถี แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ
เวลานั้นคัคคพราหมณ์ผู้เป็นบิดาขององคุลิมาลนึกเดาถูกว่า โจรองคุลิมาลนั้นจะต้องเป็นอหิงสกกุมารลูกชายของตนแน่  และกลัวว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จไปจับลูกชายของตนประหารเสีย จึงหารือกับนางมันตานีว่าจะทำอย่างไรดี  ในที่สุดนางมันตานีผู้มารดาก็ตัดสินใจรีบออกเดินทางไปเพื่อนำลูกชายหลบหนีมาบ้าน
                ตอนนั้นโจรองคุลิมาลได้นิ้วมือไม่ครบ ๑,๐๐๐ นิ้ว  ยังขาดอยู่นิ้วเดียวเท่านั้น  จึงกระหายเป็นกำลัง และตั้งใจว่า  ถ้าพบใครก่อนก็จะฆ่าทันทีเพื่อจะได้นิ้วมือครบตามต้องการ แล้วจะได้ตัดผม โกนหนวด อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วกลับไปบ้านเมืองของตน


เราหยุดแล้ว เธอจงหยุดเถิด

เช้าตรู่วันนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นว่าองคุลิมาลเป็นผู้มีอุปนิสัยพอที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลได้  และทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าพระองค์มิได้เสด็จไปโปรด  องคุลิมาลก็จะฆ่ามารดาของตนเสีย จะเป็นผู้ทำบาปหนักอย่างช่วยไม่ขึ้น  พระองค์จึงเสด็จมุ่งตรงไปยังป่าชาลิวัน เป็นระยะทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อสกัดองคุลิมาลไว้มิให้ทันได้ฆ่ามารดา 
ในระหว่างทางนั้น พวกคนเลี้ยงโค  พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์  พวกชาวนาที่เดินมาได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินไปเช่นนั้น ได้กราบทูลว่า  ข้าแต่สมณะ อย่าเดินไปทางนั้น ที่ทางนั้นมีโจรองคุลีมาลซุ่มอยู่  ต่อให้คนสิบคน ยี่สิบคน สามสิบคน หรือถึงสี่สิบคนก็ดี รวมกันเป็นพวกเดินผ่านไปทางนี้ ก็ยังถึงความพินาศเพราะมือขององคุลิมาล  
เมื่อคนพวกนั้นกราบทูลทัดทานเป็นสองสามครั้งก็ตาม พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสประการใด คงเสด็จพุทธดำเนินต่อไปจนถึงป่าชาลิวัน
                เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล องคุลิมาลก็ประหลาดใจ เพราะผู้คนที่เคยเดินทางผ่านมายังป่านั้นแม้มีจำนวนเป็นสิบๆ ก็ต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของตนทั้งนั้น เมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาพระองค์เดียว ก็ให้นึกเคืองขึ้นทันที เห็นว่าเป็นการมาข่มขู่ดูหมิ่นตนอย่างชัดๆ จึงตัดสินใจจะสังหารพระพุทธองค์ให้สมใจนึก  คิดแล้วก็ฉวยดาบและธนูสะพายแล่ง เขม้นมอง เมื่อพระพุทธองค์คล้อยหลังก็ออกวิ่งติดตามทันที
                ความตอนนี้ อรรถกถาเถรคาถา ซึ่งท่านพระธรรมปาละ เป็นผู้รจนา กล่าวว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปถึงป่าชาลิวัน มารดาองคุลิมาลได้เดินทางไปถึงก่อน  พอเห็นมารดาเดินมาคนเดียวแต่ที่ไกล องคุลิมาลก็ตัดสินใจจะฆ่ามารดาทันที  แล้วชักดาบขึ้นเงื้อง่า  วิ่งเข้าไปมารดาของตน  ทันใดนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปถึง  ทรงแสดงพระองค์ปรากฏอยู่ท่ามกลางระหว่างคนทั้งสองนั้น  ครั้นองคุลิมาลเห็นเช่นนั้นก็เปลี่ยนใจ ไม่ฆ่ามารดาของตน  แต่จะปลงพระชนม์พระพุทธองค์แทน  จึงชักดาบเงื้อง่า วิ่งติดตามพระพุทธองค์
                แต่ด้วยพุทธานุภาพ องคุลิมาลวิ่งไล่ติดตามเป็นระยะทางตั้ง ๓ โยชน์ พยายามวิ่งเท่าไรๆ ก็ไม่ทันพระพุทธองค์  จนเหนื่อยหอบ น้ำลายแห้งผาก เหงื่อไหลโชก จึงหยุดยืนตะโกนเรียกพระพุทธองค์ว่า   หยุด สมณะ! หยุดซี สมณะ!  
พระพุทธองค์ทรงพระพุทธดำเนินพลางมีพระดำรัสตอบว่า  ดูก่อนองคุลิมาล เราหยุดแล้ว เธอจงหยุดเถิด  
องคุลิมาลได้ฟังพระดำรัสเช่นนั้นก็เกิดเฉลียวใจและสงสัยขึ้นมา จึงร้องถามไปว่า  สมณะ ท่านกำลังเดินอยู่แท้ๆ ไฉนจึงบอกว่าท่านได้หยุดแล้ว  ข้าหยุดยืนอยู่แล้ว  ไฉนท่านจึงบอกให้ข้าหยุดอีกเล่า ?  
พระพุทธองค์มีพระดำรัสตอบว่า  องคุลิมาล เราหยุดแล้ว คือเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว ส่วนตัวเธอยังไม่หยุด คือยังฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่ เราจึงพูดเช่นนั้น   
องคุลิมาลได้ยินพระสุรเสียงอันแจ่มใส  พระดำรัสที่คมคายเช่นนั้น ก็ได้สติ รู้สึกสำนึกผิดได้ทันที  แล้ววางดาบ ทิ้งธนู สลัดแล่งโยนทิ้งลงเหวที่หุบเขา เข้าไปถวายอภิวาทพระบาทยุคลของพระพุทธองค์ ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วเสด็จพาองคุลิมาลภิกษุไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร  ณ  กรุงสาวัตถี
การอนุญาตให้องคุลิมาลบวช เป็นเรื่องที่ประชาชนยกขึ้นตำหนิพระสงฆ์  และพระพุทธองค์ก็ทรงบัญญัติพระวินัยห้ามมิให้บวชโจรที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกต่อไป


พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปปราบองคุลิมาล

                ช่วงเวลานั้น  ด้วยการเรียกร้องของประชาชน พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เสด็จเคลื่อนพลออกจากนครสาวัตถีเพื่อไปปราบองคุลิมาล และได้เสด็จแวะเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน  กราบทูลเล่าเรื่องที่จะเสด็จไปปราบองคุลิมาลให้ทรงทราบ  พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้รู้จักภิกษุองคุลิมาลซึ่งนั่งอยู่ท้ายหมู่ภิกษุ 
ทันใดนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตกพระทัย หวาดหวั่น  พระโลมชาติชูชัน  พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น จึงตรัสว่า  อย่าทรงกลัวเลยมหาบพิตร ภัยแต่องคุลิมาลนี้จะไม่มีแก่มหาบพิตรอีกแล้ว    
ครั้นทรงระงับความหวาดหวั่นพรั่นพรึงขนพองสยองเกล้าลงได้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเสด็จเข้าไปหาท่านพระองคุลิมาล รับสั่งว่า  นี่พระผู้เป็นเจ้าองคุลิมาลของพวกเราจริงๆ หรือ
            ท่านพระองคุลิมาลถวายพระพรว่า  อย่างนั้น มหาบพิตร                     
ตรัสถามต่อไปว่า  บิดามารดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร
           ถวายพระพรว่า ดูก่อนมหาบพิตร บิดาอาตมภาพชื่อ คัคคะ มารดาชื่อ มันตานี
           พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสว่า  ท่านผู้เจริญ ขอพระผู้เป็นเจ้าคัคคะมันตานีบุตรจงสบายใจเถิด  ข้าพเจ้าจะเป็นธุระในการอุปถัมภ์บำรุงด้วยจีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่พระผู้เป็นเจ้าเอง
           เวลานั้นท่านพระองคุลิมาลถือธุดงค์ ๔ ข้อ คือ การอยู่ในป่า (ไม่อาศัยในอาคารสถานที่) เที่ยวบิณฑบาต (ไม่รับนิมนต์ไปฉันในบ้าน) นุ่งห่มผ้าบังสุกุล (ใช้เฉพาะผ้าที่เที่ยวหาเก็บมาซักเย็บย้อมเอง ไม่รับผ้าที่มีผู้ถวาย) และใช้ผ้าไตรจีวรเพียงสามผืน ไม่มีเกินกว่านั้น   
ดังนั้น จึงได้ถวายพระพรพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า  อย่าเลยมหาบพิตร ไตรจีวรของอาตมภาพบริบูรณ์แล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา  บุคคลที่ใครๆ ปราบไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงปราบได้  บุคคลที่ใครๆ ทำให้สงบไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงทำให้สงบได้  บุคคลที่ใครๆ ทำให้ดับไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงทำให้ดับได้  ผู้ใด หม่อมฉันไม่สามารถจะปราบได้แม้ด้วยอาชญา แม้ด้วยศาสตรา   ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคทรงปราบได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา  ไม่ต้องใช้ศาสตรา


พระองคุลิมาลบรรลุพระอรหัตผล

           ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลหลีกออกจากหมู่ อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร  มีใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว 
อันว่าที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ซึ่งเป็นธรรมที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตมุ่งหมาย อันใด
ไม่นานนัก ท่านพระองคุลิมาลก็กระทำให้แจ้งได้เองซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง เข้าถึงคุณธรรมนั้นอยู่ในภพปัจจุบันนี่แล 
ได้รู้ชัดว่า การถือกำเนิดอีกเป็นอันสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี ดังนี้ 
ท่านพระองคุลิมาลได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายในโลก


ผลกรรมและผลงาน

ครั้งหนึ่ง ท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี  ชาวพระนครเห็นเข้าตกใจกลัว  พากันวิ่งหนีเป็นอลหม่าน  บ้างก็ปิดประตูบ้านประตูเรือน ที่หนีไม่ทันก็หันหลังให้  ท่านไม่ได้อาหารเลยแม้แต่ทัพพีเดียว 
บ่อยครั้งที่ท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ถูกประชาชนขว้างปาด้วยก้อนอิฐ  ก้อนหิน และท่อนไม้  ก้อนดินหรืออะไรก็ตามที่เขาขว้างปาไล่สุนัขและสุกรเป็นต้นไม่ให้เข้าไปในที่กันไว้ ไม่ว่าจะเหวี่ยงไปทางไหนๆ ถ้าท่านพระองคุลิมาลไปอยู่แถวนั้น เป็นต้องไพล่ไปโดนตัวท่านทุกทีไป  แม้แต่บ่วงแร้วที่เขาดักสัตว์ไว้ตามสุมทุมพุ่มไม้ ท่านกลับจากบิณฑบาตจะเข้าไปหาที่วิเวกในดง ท่านก็มักจะเดินไปเหยียบติดบ่วงอยู่เสมอ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกรรมที่ทำลงไปแล้ว ถ้ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตราบใด ก็ยังต้องรับผลอยู่ตราบนั้น ที่จะกลายเป็นอโหสิกรรมไปนั้นย่อมไม่มี  อันพระอรหัตมรรคย่อมตัดได้เฉพาะอุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมที่จะให้ผลในชาติหน้า และอปราปริยเวทนียกรรม คือกรรมที่จะให้ผลในชาติต่อๆ ไป เพราะพระอรหันต์ไม่มีภพชาติที่จะต้องไปเกิดอีก  แต่ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือกรรมที่จะต้องให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ก็ยังคงให้ผลได้อยู่แม้จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม
วันหนึ่งท่านถูกขว้างปาจนศีรษะแตก เลือดไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ขาด  ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วตั้งใจปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทที่ทรงแนะนำให้เป็นผู้รู้จักอดทน และให้ถือว่าเป็นการใช้กรรมชั่วที่เคยทำไว้
วันหนึ่ง ท่านเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เห็นหญิงท้องแก่คนหนึ่งคลอดลูกไม่ออก เกิดความสงสารใคร่จะช่วย  เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์  กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ  พระพุทธองค์จึงตรัสบอกมนต์คลอดลูกง่ายให้บทหนึ่ง  ท่านเรียนมนต์นั้นแล้วกลับเข้าไปช่วยหญิงคนนั้นทำให้คลอดลูกง่ายเหมือนเทน้ำจากกระบอกกรองน้ำ 
มนต์บทนั้นภายหลังเรียกกันว่า  อังคุลิมาลปริตร  มีข้อความว่า

ยโตหํ  ภคินิ  อริยาย  ชาติยา  ชาโต,   
นาภิชนามิ   สญฺจิจฺจ  ปาณํ  ชีวิตา  โวโรเปตา,  
เตน  สจฺเจน   โสตฺถิ  เต  โหตุ  โสตฺถิ  คพฺภสฺส. 
แปลว่า   
ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดโดยอริยชาติ 
เราไม่เคยรู้จักที่จะจงใจปลงชีวิตสัตว์เลย 
ด้วยสัจวาจานั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ
ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอ

พระปริตรบทนี้ท่านว่าศักดิ์สิทธิ์นัก สามารถกำจัดอันตรายได้  และว่ากันว่า ที่ที่ท่านนั่งตั้งสัจจะอธิษฐานสวดพระปริตรที่บ้านหญิงคนนั้น คนได้ทำตั่งไว้เป็นอนุสาวรีย์   ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน  หญิงใดหรือสัตว์ตัวใดจะคลอด ถ้าพาไปเคารพที่นั้นแล้วก็คลอดง่ายทุกราย  แม้แต่น้ำล้างตั่งนั้นก็ขลังเป็นพิเศษ นำไปรดศีรษะหญิงใด ก็คลอดง่าย ทั้งสามารถบำบัดโรคภัยได้ด้วย  
นับแต่วันที่ท่านช่วยให้หญิงคนนั้นคลอดลูกได้ง่าย  ความหวาดกลัวของประชาชนที่มีต่อท่านก็ค่อยสงบลง 

                ในอรรถกถาเถรคาถา เล่าว่า  พระองคุลิมาลเมื่อยังเป็นอหิงสกะหนุ่มอยู่นั้นมีกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก  บุพกรรมที่ทำให้อหิงสกะทรงกำลังเช่นนั้นมีอยู่ว่า ในอดีตกาล ยุคที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า  อหิงสกะเกิดเป็นชาวนา ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปียกฝน จีวรชุ่มโชก ถูกความหนาวเบียดเบียน นึกดีใจว่า บุญเขตปรากฏแก่เราแล้ว  จึงนิมนต์ท่านเข้าไปในโรงนาของตนแล้วก่อไฟถวาย  
ด้วยกำลังแห่งบุญกรรมนั้น เขาจึงเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยกำลังแรงและกำลังเร็วทุกๆ ชาติที่เกิดมา และในชาติสุดท้ายนี้จึงทรงกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก
ในอรรถกถาธรรมบท เล่าว่า ในคราวพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงบำเพ็ญอสทิสทานนั้น พระนางมัลลิกาเทวีกราบทูลแนะนำให้จัดช้างพยศเชือกหนึ่งสำหรับถือร่มกันแดดให้พระองคุลิมาล  ปรากฏว่าช้างเชือกนั้นได้ยืนหลับตา หูตก สอดหางเข้าระหว่างขาทันที  ตามนัยนี้แสดงว่าพระองคุลิมาลเถระมีรูปร่างกำยำ ท่าทางผึ่งผาย น่าเกรงขามอยู่ไม่น้อย
ในอรรถกถาธรรมบท กล่าวว่า  หลังจากอุปสมบทและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วไม่นานนัก ท่านก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อรรถกถามหาสุตตโสมชาดก กล่าวว่า ท่านพระองคุลิมาลเป็นพระอสีติมหาสาวกองค์หนึ่ง


อดีตชาติ

ใน สุตนชาดก สัตตกนิบาต ท่านพระองคุลิมาลเกิดเป็นยักษ์ชื่อ มฆเทพ สิงอยู่ที่ต้นไทร ได้พรจากท้าวเวสสุวันให้จับคนที่เข้าไปใต้ต้นไทรนั้นกินได้  พระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จไปล่าเนื้อพลัดหลงเข้าไปที่ต้นไทรนั้นจึงถูกยักษ์จับ แต่ได้ต่อรองว่าจะส่งคนมาให้ยักษ์กินทุกวัน ยักษ์จึงปล่อยตัวไป พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคหบดีตกยาก ชื่อ สุตนะ รับอาสานำอาหารไปให้ยักษ์และสามารถเกลี้ยกล่อมยักษ์ให้กลับใจเลิกกินคน แล้วพามาให้อยู่ที่ประตูเมืองพาราณสี
ใน ชยทิสชาดก ติงสตินิบาต ท่านพระองคุลิมาลเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าอุตตรปัญจาลราช ในกปิลรัฐ  ถูกนางยักษณีจับไปเลี้ยง จึงมีนิสัยเป็นยักษ์ กินเนื้อมนุษย์ ภายหลังกลับตัวได้แล้วบวชเป็นฤๅษี
                การโปรดโจรองคุลิมาลนับเป็นการทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากและเป็นข้อที่น่าอัศจรรย์ยิ่งของพระพุทธองค์  เช่นใน มหาสุตโสมชาดก พระสงฆ์ก็สนทนากันปรารภถึงเรื่องนี้ 
ในมหาสุตตโสมชาดก อสีตินิบาต ท่านพระองคุลิมาลเกิดเป็นพรหมทัตตกุมาร โอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้วติดใจเนื้อมนุษย์ ได้เสวยเนื้อมนุษย์จนชาวเมืองเนรเทศออกจากราชสมบัติ ภายหลังได้พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสหายกัน ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุตตโสม แห่งกรุงอินทปัตถ์ อบรมสั่งสอนจนกลับตัวได้และได้กลับมาครองกรุงพาราณสีดังเดิม
และในมหาสุตตโสมชาดกนี้เองมีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ตอนที่องคุลิมาลพบพระพุทธเจ้าครั้งแรก
เรื่องก็คือ ตอนที่พระเจ้ากรุงพาราณสี (คือองคุลิมาลในชาตินั้น) ถูกชาวเมืองเนรเทศไปอยู่ป่า ก็เที่ยวดักจับคนไปกิน จนได้นามว่า โปริสาท ซึ่งหมายถึงมนุษย์กินคน คราวหนึ่งรุกขเทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ต้นไทรที่พระเจ้าโปริสาทอาศัยอยู่ในป่าแปลงเพศเป็นบรรพชิตไปปรากฏตัวอยู่ใกล้ๆ พระเจ้าโปริสาทคว้าดาบวิ่งไล่ติดตามไปถึง ๓ โยชน์ ก็ไม่อาจจะไล่ทันได้ เหงื่อไหลจนโซมตัว คิดว่า  เมื่อก่อนช้างก็ดี ม้าก็ดี รถก็ดี วิ่งแล่นไปอยู่ เรายังวิ่งไล่ตามจับมาได้ทั้งนั้น  วันนี้แม้เราวิ่งอยู่จนสุดกำลังก็ยังไม่อาจจะจับบรรพชิตผู้เดินไปอยู่โดยปกติได้  มีเหตุอะไรหนอ  คิดต่อไปว่า ธรรมดาบรรพชิตมักจะกระทำตามคำขอร้อง จึงร้องบอกไปว่า  หยุดก่อน สมณะ 
รุกขเทวดาตอบว่า  เราหยุดอยู่ก่อนแล้ว  ท่านนั่นแหละจงพยายามหยุดบ้างเถิด  โดยอธิบายว่า  อาตมภาพเป็นผู้หยุดทำชั่วแล้ว ด้วยการประพฤติอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ  แต่ท่านแม้อุบัติในขัตติยสกุลก็ยังกินเนื้อมนุษย์ซึ่งเป็นของไม่สมควรกิน  ท่านไม่ประพฤติตนอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ  ตายจากโลกนี้แล้วต้องไปเกิดในนรกแน่
จะเห็นได้ว่า  คำพูดที่ว่า “เราหยุดแล้ว เธอจงหยุดเถิด” นั้นเป็นคำที่ท่านพระองคุลิมาลเคยได้ฟังมาแล้วในอดีตชาติ เมื่อได้มาฟังในชาตินี้อีกจึงสะดุดใจและฉุกคิดได้เร็ว

ชีวิตของพระองคุลิมาลเถระนับเป็นตัวอย่างของคนที่เคยทำชั่วในเบื้องต้น แต่กลับตัวได้ในภายหลัง อย่างที่เรียกว่า ต้นคดปลายตรง ดังคำอุทานของท่านที่ว่า

                โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา  ปจฺฉา  โส  นปฺปมชฺชติ
          โสมํ   โลกํ  ปภาเสติ     อพฺภา  มุตฺโต ว  จนฺทิมา.
                   ผู้ใดประมาทแล้วในเบื้องต้น
                   ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท
                   เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว
                   เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอกฉะนั้น

และสมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในคัมภีร์ ธรรมบท ว่า

                ยสฺส  ปาปํ  กตํ  กมฺมํ   กุสเลน  ปิถียติ
          โสมํ   โลกํ  ปภาเสติ     อพฺภา  มุตฺโต ว  จนฺทิมา.
                   ผู้ใดเคยทำความชั่วไว้
                   แต่มาแก้ตัวได้ด้วยความดี
                   ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว
                   เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอกฉะนั้น

- มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์  พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๕๓๔
- ธรรมบท  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๓
- เถรคาถา  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๒


----------------------

องคุลิมาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์  พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๕๒๑-๕๓๔
ปปัญจสูทนี
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๒๑ หน้า ๑๕๔ - ๑๖๙

No comments:

Post a Comment