Saturday, August 13, 2011

28.พระนันทะ(1)

พระนันทะ (1)


พระนันทะเกิดในวรรณะกษัตริย์ ในพระนครกบิลพัสดุ์  เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนาง มหาปชาบดีโคตมี  เป็นอนุชาต่างมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ (พระพุทธเจ้า)  และมีกนิษฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า นันทา  หรือ รูปนันทา ท่านมีความเป็นอยู่อย่างกษัตริย์มหาศาล   พระเจ้าสุทโธทนะหวังให้ท่านสืบราชสมบัติ  จึงทรงจัดให้อภิเษกสมรสกับนาง ชนบทกัลยาณี (หญิงงามประจำแคว้น)
                เมื่อพระศาสดาทรงยังธรรมจักรอันประเสริฐให้เป็นไป ทรงทำการอนุเคราะห์สัตว์โลก เสด็จไปพระนครกบิลพัสดุ์  ทรงกระทำฝนโปกขรพรรษให้เป็นเหตุ ตรัส เวสสันดรชาดก ในญาติสมาคมแล้ว เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในวันที่ ๒  ยังพระเจ้าสุทโทธนะพระพุทธบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว เสด็จไปสู่ราชนิเวศน์  ยังพระนางมหาปชาบดีให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล 
                รุ่งขึ้นวันหนึ่ง เสวยพระกระยาหารเช้าในพระราชนิเวศน์แล้ว  พระราชาประทับอยู่   ส่วนข้างหนึ่ง ทูลเล่าว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ในเวลาที่พระองค์ทรงทำทุกรกิริยา เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาหม่อมฉัน บอกว่า พระโอรสของพระองค์ทิวงคตแล้ว   หม่อมฉันไม่เชื่อถ้อยคำของเทวดานั้น จึงคัดค้านว่า  บุตรของข้าพเจ้ายังไม่บรรลุโพธิญาณ จะยังไม่ตาย
พระศาสดาตรัสว่า  มหาบพิตร  บัดนี้พระองค์จักเชื่อได้อย่างไร  แม้ในกาลก่อนเมื่อเขาแสดงร่างกระดูกแก่พระองค์ ทูลว่า บุตรของพระองค์ทิวงคตแล้ว  พระองค์ยังไม่ทรงเชื่อ  ครั้นแล้วจึงได้ตรัส มหาธรรมปาลชาดก  เพราะเหตุแห่งเรื่องนี้  ในเวลาจบธรรมกถา พระเจ้าสุทโทธนะดำรงอยู่ในอนาคามิผล
                ในวันที่ ๓ ของการเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่องานวิวาหมงคลของนันทกุมารกำลังดำเนินไปถึงตอนที่เชิญเสด็จเข้าตำหนัก  พระศาสดาก็เสด็จเข้าไปบิณฑบาต  ทรงประทานบาตรให้แก่นันทกุมาร  ตรัสมงคล (อวยพร) เสร็จแล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จกลับโดยหาได้ทรงรับบาตรจากคืนนันทกุมารไม่


นันทกุมารจำใจบวช


                ฝ่ายนันทกุมารนั้นด้วยความเคารพในพระตถาคตจึงมิอาจทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืนไป  ได้แต่คิดว่า คงจักทรงรับบาตรที่หัวบันได  แต่เมื่อถึงที่นั้นพระศาสดาก็มิได้ทรงรับ  นันทกุมารก็คิดว่า  คงจักทรงรับที่เชิงบันได   ถึงเชิงบันไดแล้วก็ไม่ทรงรับอีก  นันทกุมารก็คิดต่อไปว่า จักทรงรับที่พระลานหลวง  แต่พระศาสดาก็ไม่ยังทรงรับอยู่นั่นเอง  นันทกุมารปรารถนาจะเสด็จกลับ  แต่ต้องเสด็จตามไปด้วยความไม่เต็มพระทัย  ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงไม่สามารถจะทูลให้ทรงรับบาตรคืนได้ ทรงเดินไปพลางนึกไปพลางว่า  พระศาสดาคงจักทรงรับเมื่อถึงตรงนั้น เมื่อถึงตรงโน้น  
ในขณะนั้น  นางกำนัลเห็นเหตุการณ์นั้นจึงรีบไปบอกนางชนบทกัลยาณีว่า  แม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารเสด็จไปแล้ว  คงจักพรากนันทกุมารจากแม่เจ้าเป็นแน่นอน
                ฝ่ายนางชนบทกัลยาณีได้ยินคำนั้นแล้ว  ทั้งที่ยังสรงไม่ทันเสร็จ  เกล้าเกศยังไม่ทันแล้ว  ก็รีบไปพลางร้องทูลไปว่า  ข้าแต่พระลูกเจ้า  ขอพระองค์พึงด่วนเสด็จกลับ 
               คำของนางนั้นประหนึ่งว่าเข้าไปขวางค้างคาอยู่ในหทัยของนันทกุมาร
ฝ่ายพระศาสดา มิได้ทรงรับบาตรคืนจากนันทกุมาร จนกระทั่งเสด็จถึงพระวิหาร  ตรัสถามว่า  นันทะ เธออยากจะบวชไหม ? 
นันทกุมารนั้นใจจริงแล้วไม่ปรารถนาเลยแม้แต่น้อย  แต่ด้วยความเคารพอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้า จึงไม่กล้าจะทูลปฏิเสธ  จำใจต้องทูลรับว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  บวชก็ได้พระเจ้าข้า
                พระศาสดารับสั่งว่า   ภิกษุทั้งหลาย  ถ้ากระนั้นเธอทั้งหลายจงให้นันทะบวชเถิด


พระนันทะอยากสึก


                ต่อมา เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน  ท่านพระนันทะอยากจะสึก  จึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า   ผู้มีอายุ  ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์  ไม่สามารถที่จะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้  ข้าพเจ้าจักบอกคืนสิกขาลาสึก
                พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดนั้น จึงรับสั่งให้ท่านพระนันทะมาเฝ้า  แล้วตรัสถามว่า  จริงหรือนันทะ ได้ยินว่าเธออยากจะสึกหรือ  ท่านพระนันทะทูลรับว่า  จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า   ตรัสถามว่า  เธอจะสึกไปเพื่อเหตุอะไร ?  ท่านพระนันทะกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อข้าพระองค์ออกจากวังมา  นางชนบทกัลยาณีได้ร้องสั่งว่า  ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระลูกเจ้าพึงด่วนเสด็จกลับ   ข้าพระองค์หวนระลึกถึงคำนั้นอยู่  จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์  ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้  จักขอลาสึกไปพระเจ้าข้า


พระศาสดาทรงทรมานพระนันทะ


                พระผู้มีพระภาคทรงจับแขนท่านพระนันทะแล้วทรงพาไปยังดาวดึงสเทวโลกด้วยกำลังพระฤทธิ์  ในระหว่างทางทรงชี้ให้ดูนางลิงลุ่นตัวหนึ่ง ซึ่งหูแหว่ง จมูกวิ่น และหางขาด นั่งเจ่าอยู่บนปลายตอไม้ในนาที่ไฟไหม้แห่งหนึ่ง  
เมื่อถึงดาวดึงสเทวโลก ทรงชี้ให้ดูนางอัปสร ๕๐๐  ผู้มีเท้าแดงสดดังเท้านกพิราบ  กำลังไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช  ครั้นแล้วจึงตรัสถามว่า  นันทะ เธอจะคิดอย่างไร  ระหว่างนางชนบทกัลยาณีกับนางอัปสร ๕๐๐  ผู้มีเท้าแดงสดดังเท้านกพิราบนี้ ใครจะงามน่าชื่มชมกว่ากัน ?
ท่านพระนันทะได้สดับพระพุทธดำรัสนั้นแล้วจึงทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  นางลิงลุ่นมีหูแหว่ง จมูกวิ่น และหางขาดนั้นเป็นฉันใด  นางชนบทกัลยาณีก็เหมือนกันฉันนั้น  ถ้าจะเทียบกันแล้วนางชนบทกัลยาณีสวยไม่ถึงเศษเสี้ยวของนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ด้วยซ้ำไป นางอัปสร ๕๐๐ นี้งามน่าชื่นชมกว่า พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  นันทะ ขอให้เธอจงยินดีประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปเถิด  เราจะเป็นผู้รับประกันให้เธอได้นางอัปสร ๕๐๐ นี้สมความปรารถนา
                ท่านพระนันทะกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ถ้าพระผู้มีพระภาครับประกันว่าจะให้ข้าพระองค์ได้นางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้แล้วไซร้  ข้าพระองค์ก็ยินดีที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปพระเจ้าข้า


พระนันทะสำเร็จอรหัตผล


                เรื่องที่ท่านพระนันทะเปลี่ยนใจไม่สึกเพราะอยากได้นางอัปสร ๕๐๐ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงรับประกันว่าจะทรงช่วยให้ได้สมปรารถนานั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่พระภิกษุ
                ครั้งนั้นแล  พวกภิกษุผู้สหายของท่านพระนันทะพากันกระเซ้าเย้าแหย่ท่านพระนันทะว่า เป็นคนรับจ้างบ้าง  เป็นคนที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่ไว้บ้าง  ได้พากันพูดเย้าว่า  พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางอัปสร ๕๐๐  พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพราะพระผู้มีพระภาคทรงรับประกันว่าจะช่วยให้ได้นางอัปสร  ๕๐๐  ผู้มีเท้าแดงสดดังเท้านกพิราบ
                ฝ่ายท่านพระนันทะ เมื่อถูกมิตรสหายเย้าแหย่อยู่เช่นนั้น ก็เกิดความละอายใจ  จึงปลีกตัวออกไปอยู่ผู้เดียว เพียรพยายามบำเพ็ญสมณธรรมด้วยความตั้งใจไม่ประมาท  ไม่นานนักก็บรรลุอรหัตผล  ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในโลก 
                ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งยังพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวในส่วนแห่งราตรี เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า โอรสพระน้านาง ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ พ้นจากกิเลสด้วยอำนาจใจ  ทำให้แจ้งซึ่งปัญญาวิมุตติ พ้นจากกิเลสด้วยอำนาจปัญญา อันหาอาสวะมิได้เพราะสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม  
แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบเช่นนั้นแล้วเช่นกัน

                ฝ่ายท่านพระนันทะ ครั้นรุ่งสว่างก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วได้กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้รับประกันให้ข้าพระองค์ได้นางอัปสร ๕๐๐ ด้วยการรับรองอันใด  ข้าพระองค์เปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการรับรองอันนั้นแล้ว พระเจ้าข้า    
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  นันทะ แม้เราก็กำหนดใจของเธอด้วยใจของเรา ทราบแล้วว่าเธอทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม  แม้เทวดาก็บอกความข้อนี้แก่เรา               
พระนันทะทูลว่า  ข้าพระองค์ขอเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการเป็นผู้รับรองนั้น  
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูก่อนนันทะ  การรับรองใดแลเป็นเหตุให้จิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น  ในเวลานั้นเราตถาคตก็พ้นจากการเป็นผู้รับรองนั้นแล้ว


เหตุที่ได้รับเอตทัคคะทางคุ้มครองทวาร


                ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าพระนันทะเป็นผู้มีทวารอันตนคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุคุณพิเศษของท่าน  เมื่อจะทรงประกาศคุณพิเศษนั้น จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งของภิกษุผู้เลิศโดยความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์  โดยพระดำรัสว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย  นันทะนี้เป็นเลิศ ดังนี้

ความจริง พระสาวกทั้งหลายของพระศาสดาที่จะไม่คุ้มครองทวารนั้นไม่มี แต่ท่านพระนันทะนี้เมื่อจะเหลือบแลไปในที่ใดๆ ในทิศทั้ง ๑๐ ก็มิใช่มองสิ่งนั้นๆ อย่างปราศจากสติสัมปชัญญะ  เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
                เหตุผลที่ทำให้ท่านพระนันทะเป็นผู้เลิศในทางนี้ก็คือ ท่านมานึกสลดใจว่า  การที่ท่านถูกเพื่อนภิกษุเย้าแหย่ล้อเลียนเรื่องที่เปลี่ยนใจไม่สึกเพราะอยากจะได้นางอัปสรนั้น  ก็เพราะอาศัยความไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลายนั่นเอง ท่านได้ตั้งใจว่าจะกำราบความไม่สำรวมนั้นให้ราบคาบให้จงได้  จึงเกิดความอุตสาหะ เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ และสติสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า อบรมบ่มบารมีในอินทรียสังวรอย่างอุกฤษฏ์ ทั้งนี้ก็ประกอบกับการที่ท่านได้สร้างบารมีไว้แล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระนั้นด้วย
ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ท่านพระนันทะถือปฏิสนธิในครอบครัวผู้มีสกุลในกรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว ไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์  ในชาติสุดท้ายนี้มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหาปชาบดีโคตมี  ในวันขนานนาม ท่านทำหมู่พระประยูรญาติให้ร่าเริงยินดี เพราะเหตุนั้น เหล่าพระประยูรญาติ จึงขนานพระนามของท่านว่า นันทกุมาร

                เมื่อท่านพระนันทะบรรลุอรหัตผลนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานว่า

ยสฺส ติณฺโณ กามปงฺโก  มทฺทิโต กามกณฺฏโก
                   โมหกฺขย อนุปฺปตฺโต     สุขทุกฺเขสุ น เวธติ.

                                                เปือกตมคือกามอันผู้ใดข้ามได้แล้ว 
หนามคือกามอันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว 
ผู้นั้น  บรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ 
ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์
(อุทาน พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๗๐)

พระนันทะถูกฟ้อง


                ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายถามท่านพระนันทะว่า  ท่านนันทะ เมื่อก่อนท่านบอกว่าอยากจะสึก  ตอนนี้จิตใจของท่านเป็นอย่างไรบ้าง ?  ท่านพระนันทะตอบว่า   ท่านผู้มีอายุ  ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของข้าพเจ้าไม่มีแล้ว    
พวกภิกษุได้ฟังดังนั้น ก็บอกกันว่า ท่านนันทะพูดไม่จริง  พูดอย่างกับเป็นพระอรหันต์  วันที่แล้วๆ มาบอกว่าอยากจะสึก แต่ตอนนี้กลับพูดว่าไม่ห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์แล้ว  ว่าแล้วภิกษุเหล่านั้นก็ไปกราบทูลเป็นเชิงฟ้องแด่พระผู้มีพระภาค
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  ในวันที่แล้วๆ มา อัตภาพของนันทะเหมือนกับเรือนที่เขามุงไม่ดี  แต่บัดนี้เป็นเรือนที่เขามุงดีแล้ว  เพราะว่านันทะนี้นับตั้งแต่ได้เห็นนางเทพอัปสรแล้ว ก็เพียรพยายามเพื่อบรรลุที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตอยู่  บัดนี้ได้บรรลุกิจนั้นแล้ว   ครั้นแล้วได้ตรัสพุทธภาษิตว่า
ยถา  อคาร  ทุจฺฉนฺน    วุฏฺี  สมติวิชฺฌติ
                             เอว  อภาวิต  จิตฺต       ราโค  สมติวิชฺฌติ.
                             ยถา  อคาร  สุจฺฉนฺน    วุฏฺี   สมติวิชฺฌติ
                   เอว  สุภาวิต  จิตฺต       ราโค   สมติวิชฺฌติ.

                                                ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ ฉันนั้น
                ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด 
ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น

ยมกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑
ราธเถระ เถรคาถา พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ ข้อ ๒๖๔


พระนันทะเคยถูกล่อด้วยมาตุคาม


                วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า  ท่านผู้มีอายุ อันว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอัจฉริยบุคคล  ท่านพระนันทะอยากจะสึกเพราะนางชนบทกัลยาณี  พระศาสดาทรงใช้เหล่านางเทพอัปสรเป็นเครื่องล่อสามารถทำให้บรรลุอรหัตผลได้
                พระศาสดามีพระพุทธดำรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนเราก็เคยใช้มาตุคามล่อนันทะนี้แล้วเหมือนกัน  แล้วตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของท่านพระนันทะมีใจความว่า
                ในอดีตกาล  ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี  มีพ่อค้าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อ กัปปกะ  เขามีลาตัวผู้อยู่ตัวหนึ่ง บรรทุกสินค้าได้หนึ่งกุมภะ (กุมภะ เป็นมาตราตวงแบบโบราณ คำนวณตามที่ปรากฏในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (คาถาที่ ๔๘๓) ได้เท่ากับน้ำหนักข้าวเปลือกประมาณห้าถัง [?]) เดินทางไกลได้วันละ ๗ โยชน์ (๑๑๒ กิโลเมตร) คราวหนึ่งเขาไปค้าขายที่เมืองตักกสิลา  ระหว่างที่รอจำหน่ายสินค้าอยู่นั้นก็ปล่อยลาให้ไปหากินตามสบาย
                ลาของเขาเที่ยวหากินไปบนสันคู พบนางลาตัวหนึ่งจึงเข้าไปหา  นางลาปฏิสันถารว่า  ท่านมาแต่ไหน ?
                ลาผู้.      มาแต่เมืองพาราณสี
                นางลา.  ท่านมาด้วยงานอะไร ?
                ลาผู้.      บรรทุกสินค้าของพ่อค้า
                นางลา.  ท่านบรรทุกสินค้าไปได้เท่าไร ?
                ลาผู้.      ประมาณกุมภะหนึ่ง
                นางลา.  ไปได้วันละกี่โยชน์
                ลาผู้.          โยชน์
                นางลา.    เมืองที่ท่านไปถึงนั้นมีนางลามาคอยปรนนิบัติดูแลท่านบ้างไหม ?
                ลาผู้.       หามีไม่ นางผู้เจริญ
                นางลา.    เมื่อเป็นเช่นนั้น  ท่านคงลำบากมากนะ 
                เพียงเท่านี้ ลาหนุ่มก็ตกหลุมรักนางลาอย่างถอนตัวไม่ขึ้นทันที
                ฝ่ายนายพาณิชกัปปกะขายสินค้าหมดแล้วก็ไปตามหาลา พบแล้วก็บอกว่า  มาเถิดพ่อ เราจะกลับกันแล้ว  ลาผู้ตอบว่า  ท่านไปเถิด ข้าพเจ้าไม่ไปด้วยแล้ว    
นายกัปปกะจะอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่เป็นผล  ในที่สุดจึงต้องขู่ โดยกล่าวว่า

                เราจักทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้วแก่เจ้า
                เราจักทิ่มแทงกายของเจ้า
 แน่ะเจ้าลา เจ้าจงรู้อย่างนี้

                ลาได้ฟังดังนั้น แทนที่จะกลัว กลับย้อนว่า

ท่านจักทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้วแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักยันข้างหน้า ยกข้างหลังขึ้น 
ทำสินค้าของท่านให้ตกไป
กัปปกะ ท่านจงรู้อย่างนี้

พ่อค้าได้ฟังดังนั้นก็ฉงนใจว่า  ไฉนหนอเจ้าลาตัวนี้จึงพูดจาโอหังกะเราอย่างนี้  เมื่อมองไปรอบๆ ก็เห็นนางลาตัวนั้น  พอจะเดาได้ทันทีว่า เจ้านี่คงจะถูกนางลาตัวนี้หลอกล่ออะไรเข้าสักอย่างเป็นแน่  เราจะต้องเอานางตัวเมียนี่แหละล่อมัน   คิดแล้วจึงเอ่ยขึ้นว่า

พ่อลาเอย ขอให้เจ้าจงรับทราบเถิดว่า
                เราจักหาสัตว์สี่เท้า เป็นลาสาว มีหน้างามดุจสังข์
มีสรรพางค์กายงาม มาเป็นคู่ชีวิตของเจ้า

ลาหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ จึงกล่าวว่า

ท่านจักหาสัตว์สี่เท้า เป็นลาสาว มีหน้างามดุจสังข์
มีสรรพางค์กายงาม มาเป็นคู่ชีวิตของข้าพเจ้า 
ข้าแต่กัปปกะ  ข้าพเจ้าจักไปให้เร็วขึ้นถึง ๑๔ โยชน์
ท่านจงรู้อย่างนี้เถิดนะท่านกัปปกะ

                ครั้นแล้ว นายพาณิชกัปปกะจึงกล่าวว่า  ถ้ากระนั้นเราก็ไปกันเถิด  ดังนี้แล้วก็จูงลากลับบ้านได้อย่างสบาย 
ครั้นล่วงไปสองสามวัน เจ้าลาจึงทวงนายพาณิชกัปปกะว่า  ท่านบอกว่าจะหาคู่ชีวิตมาให้ข้าพเจ้ามิใช่หรือ ? นายพาณิชตอบว่า  ใช่ เราพูดอย่างนั้น เราไม่เสียคำพูดหรอก  กำลังคิดจะหาเมียมาให้เจ้าอยู่  แต่ว่าเราจะให้อาหารเฉพาะเจ้าตัวเดียว  อาหารนั้นจะเพียงพอแก่เจ้ากับเมียของเจ้าด้วยหรือไม่พอ ก็เป็นเรื่องของเจ้าเอง  ต่อไปเมื่อเจ้าอยู่ด้วยกันมีลูกเต้าเกิดขึ้นมาอีก ข้าก็จะให้อาหารเท่าเดิมนั่นแหละ จะพอกินกันหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเจ้าก็แล้วกัน
เมื่อนายพาณิชกัปปกะยืนยันเช่นนั้น  เจ้าลาหนุ่มก็เลยสิ้นหวัง

                ตามเรื่องที่เล่ามานี้ ท่านว่าลาหนุ่มตัวนั้นมาเกิดเป็นพระนันทะ นางลาสาวมาเกิดเป็นนางชนบทกัลยาณี  ส่วนนายพาณิชกัปปกะ ก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแล


ถูกฝึกมาแล้วในอดีตชาติ


เรื่องที่ท่านพระนันทะได้รับคำตรัสสอนเป็นอุบายจากพระผู้มีพระภาคนั้น ภิกษุทั้งหลายนำไปเป็นหัวข้อสนทนากันในธรรมสภาว่า  ดูก่อนอาวุโส  ท่านพระนันทะนี้อดทนต่อคำสอน  ตั้งหิริและโอตัปปะไว้มั่นด้วยโอวาทครั้งเดียวเท่านั้น  แล้วบำเพ็ญสมณธรรมบรรลุพระอรหัตผลได้ 
พระศาสดามีพระพุทธดำรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นันทะอดทนต่อคำสอนมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น  แม้แต่ก่อนก็อดทนต่อคำสอนเหมือนกัน  แล้วตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของท่านพระนันทะอีกเรื่องหนึ่งว่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลคนฝึกช้าง  ครั้นเจริญวัยสำเร็จศิลปะฝึกช้างแล้วรับราชการกับพระราชาผู้เป็นศัตรูของพระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่ง  พระโพธิสัตว์ฝึกหัดช้างมงคลของพระราชานั้นไว้เป็นอย่างดี  
พระราชาพระองค์นั้นทรงดำริว่า จักยึดราชสมบัติในกรุงพาราณสี  จึงยกกองทัพไปล้อมกรุงพาราณสีไว้แล้วยื่นคำขาดถึงพระเจ้าพรหมทัตว่า  จะยกราชสมบัติให้ดีๆ หรือจะรบ  พระเจ้าพรหมทัตตอบว่า  รบ  แล้วรับสั่งให้พลนิกายเข้าประจำที่ประตูกำแพงและป้อมค่ายเตรียมรบ 
พระราชาผู้เป็นอริเอาเกราะหนังสวมช้างมงคล  แม้พระองค์เองก็สวมเกราะหนังเสด็จขึ้นคอช้าง ทรงพระแสงขอคมกริบ ไสช้างซึ่งมีพระโพธิสัตว์เป็นท้ายช้างมุ่งสู่พระนครด้วยทรงหมายพระทัยว่า  จักทำลายล้างพระนครปราบปัจจามิตรให้ถึงสิ้นซาก  และยึดเอาราชสมบัติให้จงได้ 
ช้างมงคลเห็นทหารซัดกรวดทรายอันร้อน และอาวุธอีกนานาชนิดเข้าใส่ ก็หวาดกลัวต่อความตาย ไม่อาจเข้าใกล้ได้จึงถอยออกมา   
พระโพธิสัตว์ผู้เป็นนายหัตถาจารย์เห็นเช่นนั้นจึงพูดปลุกใจช้างมงคลว่า 

                                          สงฺคามาวจโร  สูโร       พลวา  อิติ  วิสฺสุโต
                                          กินฺนุ  โตรณมาสชฺช     ปฏิกฺกมสิ  กฺุชร.
ดูก่อนกุญชร  เจ้าก็ลือชื่อว่าเคยเข้าสงคราม 
มีความแกล้วกล้า  ทรงมหาพลัง 
เข้ามาใกล้เสาค่ายแล้วไฉนจึงถอยกลับเสียเล่า

                                                โอมทฺท  ขิปฺป ปลีฆ           เอสิกานิ   อุพฺพห
                                          โตรณานิ   มทฺทิตฺวา     ขิปฺป ปวิส  กฺุชร.
ดูก่อนกุญชร  เจ้าจงหักลิ่มกลอน ถอนเสาระเนียด
และทำลายเขื่อนคู เข้าประตูให้ได้โดยเร็วเถิด
               
                ช้างมงคลได้ฟังดังนั้นก็หันกลับ เพราะคำสอนของพระโพธิสัตว์เพียงคำเดียวเท่านั้น ใช้งวงพันเสาระเนียดถอนขึ้นเหมือนดังถอนเห็ด แล้วทำลายเสาค่าย  หักกลอน  พังประตูเมือง  เข้าพระนครยึดราชสมบัติถวายพระราชาได้สำเร็จ
                พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า  ช้างมงคลในครั้งนั้นมาเกิดเป็นนันทะในครั้งนี้  พระราชามาเกิดเป็นพระอานนท์  ส่วนนายหัตถาจารย์คือเราตถาคตนี้แล  (สังคามาวจรชาดก ทุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๑๓ ๒๑๔)


พระนันทะเป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท


                คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่   พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี   ครั้งนั้น ท่านพระนันทะโอรสพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงโฉม เป็นที่ต้องตาต้องใจ รูปร่างของท่านต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค ๔ องคุลี  ท่านทรงจีวรเท่าจีวรพระสุคต  ภิกษุเถระได้เห็นท่านพระนันทะมาแต่ไกล สำคัญว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมา จึงลุกจากอาสนะ  ครั้นท่านพระนันทะเข้ามาใกล้จึงจำได้ 
ภิกษุเถระจึงเพ่งโทษ  ติเตียน  โพนทะนาว่า  ไฉนท่านพระนันทะจึงได้ทรงจีวรเท่าจีวรของพระสุคตเล่า  แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
                พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า  ภิกษุทำจีวรให้เท่าจีวรพระสุคตก็ดี เกินกว่านั้นก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์  (ปาจิตตีย์ รัตนวรรค สิกขาบทที่ ๑๐)


เคยถวายผ้าและเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

ในคัมภีร์อปทาน  (อปทาน ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๑๕)  มีประวัติที่เป็นคำของท่านพระนันทะเล่าไว้เองว่า

เราได้ถวายผ้าทอด้วยเปลือกไม้ แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
เชษฐบุรุษของโลก ผู้มั่นคง ตรัสรู้เอง แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงพยากรณ์เรานั้นว่า
ด้วยการถวายผ้านี้ ท่านจักเป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
ได้เสวยสมบัติทั้งสอง (คือมนุษย์และสวรรค์) แล้ว อันกุศลมูลตักเตือน
จักได้เป็นพระอนุชาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า โคดม
ท่านอันราคะย้อมแล้ว มีปกติสุข ประกอบด้วยความกำหนัดในกาม
เป็นผู้อันพระพุทธเจ้าตักเตือนแล้ว แต่นั้นจักบวช
ครั้นบวชในพระศาสนาของพระโคดมนั้นแล้ว อันกุศลมูลตักเตือน
จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง ไม่มีอาสวะ  นิพพาน
ในแสนกัป เราเกิดเป็นคนชื่อ เจละ  ๔ ชาติ  ใน ๖ หมื่นกัป เราเกิดเป็นคน
ชื่อ อุปเจละ  ๔ ชาติ
ใน ๕ หมื่นกัป เราเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ นามว่า เจละ เหมือนกัน  สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖
เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.

No comments:

Post a Comment