Saturday, August 13, 2011

27.พระอุบาลี

พระอุบาลี


                พระอุบาลี  เกิดในวรรณะหีนชาติ (วรรณะชั้นต่ำ) ในตระกูลช่างกัลบก   และเป็นช่างกัลบกประจำพระองค์เจ้าชายศากยะทั้งหลาย  คือ พระเจ้าภัททิยศากยะ  อนุรุทธะ  อานนท์  ภัคคุ  กิมพิละ  และ เทวทัต
ได้ยินว่า ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ  ท่านพระอุบาลีบังเกิดในครอบครัวผู้มีตระกูล   กรุงหงสวดี วันหนึ่งกำลังฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทรงวินัย  จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไปด้วยปรารถนาตำแหน่งนั้น  ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์เป็นเวลาแสนนาน  ในพุทธุปบาทกาลนี้ มาถือปฏิสนธิในตระกูลกัลบก  บิดามารดาตั้งชื่อท่านว่า อุบาลีกุมาร


ระรานพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเกิดในวรรณะต่ำ


เหตุที่ท่านเกิดในวรรณะต่ำนั้น คัมภีร์อปทานแสดงไว้เป็นคำบอกเล่าของท่านเองว่า ในอดีตชาติท่านเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า จันทนะ เป็นโอรสของพระเจ้าอัญชสะ มีนิสัยแข็งกระด้างถือตัวจัด วันหนึ่งทรงช้างเสด็จไปประพาสอุทยาน ระหว่างทางได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า เทวละ ท่านได้ไสช้างให้เข้าไปทำร้ายพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยจิตใจดูถูกดูหมิ่น ผลกรรมนั้นจึงทำให้ท่านเกิดในวรรณะต่ำ


ออกบวช


                ความจริง ตั้งแต่แรกพระอุบาลีไม่ได้ตั้งใจที่จะออกบวช เพียงแต่ตามมาส่งเจ้าศากยะทั้ง ๖ พระองค์ ด้วยความจงรักภักดี   ครั้งนั้นอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา (ผู้มีหน้าที่ตัดผมและดูแลเครื่องแต่งกายของเจ้านาย) เมื่อจะกลับ คิดว่า เจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่าอุบาลีนี้ทำให้พระกุมารทั้งหลายออกบวช  ก็ศากยกุมารเหล่านี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจักบวชไม่ได้เล่า 
คิดดังนี้แล้ว ก็แก้ห่อเครื่องประดับที่เจ้าศากยะฝากให้นำกลับไปบ้านเมือง เอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้ว  ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด  แล้วย้อนกลับเข้าไปเฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น  ศากยกุมารเหล่านั้นทอดพระเนตรเห็นอุบาลีกำลังเดินมาแต่ไกล  ครั้นแล้วจึงรับสั่งถามว่า พนายอุบาลี กลับมาทำไม  อุบาลีก็ทูลถึงความคิดของตนให้ศากยกุมารเหล่านั้นทราบทุกประการ
                พวกเจ้าศากยะตรัสว่า  พนายอุบาลี ท่านได้ทำถูกต้องแล้ว เพราะท่านกลับไป เจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าท่านเสียด้วยเข้าพระทัยว่าอุบาลีนี้ทำให้พระกุมารทั้งหลายออกบวช   
                ลำดับนั้น  ศากยกุมารเหล่านั้นพาอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  ครั้นถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง   ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะ ยังมีมานะ อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน  ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีนี้บวชก่อนเถิด  พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท  การลุกรับ  อัญชลีกรรม  สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้  เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง  
                ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีบวชก่อนแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง
                ครั้นต่อมา ในระหว่างพรรษานั้นเอง ท่านพระภัททิยะได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓  ท่านพระอนุรุทธะได้ยังทิพยจักษุให้เกิด  ท่านพระอานนท์ได้ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล  พระเทวทัตได้สำเร็จฤทธิ์ชั้นปุถุชน
ท่านพระอุบาลีบรรพชาอุปสมบทแล้ว ขอให้พระศาสดาตรัสสอนกรรมฐาน กราบทูลว่า  ข้าแต่พระผู้เจริญ  ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ข้าพระองค์อยู่ป่าเถิด  
พระศาสดาตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุ เมื่อเธออยู่ป่า ก็จักเจริญแต่วิปัสสนาธุระอย่างเดียว  แต่เมื่อเธออยู่ในสำนักเรา วิปัสสนาธุระ คือการอบรม คันถธุระ คือการเล่าเรียน ก็จักบริบูรณ์   
พระเถระรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว กระทำการขวนขวายในวิปัสสนา ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต 
ครั้งนั้น พระศาสดารับสั่งให้ท่านพระอุบาลีเรียนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นด้วยพระองค์เอง  ต่อมาท่านวินิจฉัยอธิกรณ์ ๓ เรื่อง  พระศาสดาประทานสาธุการรับรองในอธิกรณ์แต่ละเรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้ว ทรงกระทำเรื่องทั้ง ๓ ที่ท่านวินิจฉัยแล้วให้เป็นอัตถุปปัตติ (เหตุเกิดเรื่อง) จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทรงวินัยว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ทรงวินัย
อุบาลีนี้เป็นเลิศ

ผลงานและจริยาวัตร


                อธิกรณ์    เรื่องใหญ่ ที่ท่านพระอุบาลีวินิจฉัยเทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณ  คือ เรื่องพระชาวเมืองภารุกัจฉะ  เรื่องพระอัชชุกะ และ เรื่องท่านพระกุมารกัสสปะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทรงวินัย            
เรื่องที่ท่านวินิจฉัยกรณีพระชาวเมืองภารุกัจฉะมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาวิภังค์ พระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๗๑) ดังนี้                                                               
                ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะรูปหนึ่ง ฝันว่าได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่า  จึงเข้าใจว่า เราไม่เป็นสมณะแล้ว จักสึกละ  แล้วเดินทางไปสู่เมืองภารุกัจฉะ พบท่านพระอุบาลีในระหว่างทาง จึงกราบเรียนเรื่องนั้นให้ทราบ ท่านพระอุบาลีกล่าวอย่างนี้ว่า  อาวุโส  อาบัติไม่มีเพราะความฝัน

                เรื่องที่ท่านวินิจฉัยอธิกรณ์พระอัชชุกะมีรายละเอียดในคัมภีร์มหาวิภังค์ พระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๗๒) ดังนี้
ก็โดยสมัยนั้นแล คหบดีอุปัฏฐากของท่านพระอัชชุกะในเมืองเวสาลี มีเด็กชาย ๒ คน คือ บุตรชายคนหนึ่ง หลานชายคนหนึ่ง  ครั้งนั้นท่านคหบดีได้สั่งไว้กะท่านพระอัชชุกะว่า  พระคุณเจ้าข้า บรรดาเด็ก ๒ คนนี้ เด็กคนใดมีศรัทธาเลื่อมใส  พระคุณเจ้าพึงบอกสถานที่ฝังทรัพย์นี้แก่เด็กคนนั้น  ดังนี้แล้วได้ถึงแก่กรรม  
ครั้นสมัยต่อมา หลานชายของคหบดีนั้นเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส จึงท่านพระอัชชุกะได้บอกสถานที่ฝังทรัพย์นั้นแก่เด็กหลานชาย  เด็กหลานชายนั้นได้รวบรวมทรัพย์ และเริ่มบำเพ็ญทานด้วยทรัพย์สมบัตินั้น
          ภายหลัง บุตรชายคหบดีนั้นได้เรียนถามเรื่องนี้กะท่านพระอานนท์ว่า  ข้าแต่ท่านพระอานนท์  ใครหนอเป็นทายาทของบิดา  บุตรชายหรือหลานชาย ?
          ท่านพระอานนท์ตอบว่า  ธรรมดาบุตรชายเป็นทายาทของบิดา
          บุตรชายคหบดีจึงเรียนให้ทราบว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าอัชชุกะนี้ได้บอกทรัพย์สมบัติของกระผมให้แก่คู่แข่งขันของกระผม  
พระอานนท์กล่าวว่า  ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านพระอัชชุกะก็ไม่เป็นสมณะ
          ลำดับนั้น ท่านพระอัชชุกะได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า  อาวุโสอานนท์ ขอท่านได้โปรดให้การวินิจฉัยแก่กระผมด้วยเถิด
          ก็ครั้งนั้นท่านพระอุบาลีเป็นฝักฝ่ายของท่านพระอัชชุกะ ท่านจึงถามท่านพระอานนท์ว่า  อาวุโสอานนท์ ภิกษุใดอันเจ้าของทรัพย์สั่งไว้ว่า ขอท่านได้โปรดบอกสถานที่ฝังทรัพย์นี้แก่บุคคลนั้น  ภิกษุนั้นจะต้องอาบัติด้วยหรือ ?
          อานนท.   ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติสักน้อย โดยที่สุดแม้เพียงอาบัติทุกกฏ
          อุบาลี.     อาวุโส  ท่านพระอัชชุกะนี้อันเจ้าของทรัพย์สั่งไว้ว่า ขอท่านได้โปรดบอกสถานที่ฝังทรัพย์นี้แก่บุคคลชื่อนี้ จึงได้บอกแก่บุคคลนั้น ท่านพระอัชชุกะไม่ต้องอาบัติ

                ส่วนเรื่องที่ท่านวินิจฉัยอธิกรณ์เรื่องพระกุมารกัสสปะ โปรดดูรายละเอียดในเรื่องพระกุมารกัสสปะ

ในคัมภีร์ภิกขุนีวิภังค์ พระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎกเล่ม ๓ ข้อ ๓๓๔) กล่าวว่า พระอุบาลีมีพระอุปัชฌาย์ ชื่อพระกัปปิตกะ  มีเรื่องราวตอนหนึ่งว่า
              โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่   กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี  ครั้งนั้นท่านพระกัปปิตกะอุปัชฌายะของท่านพระอุบาลีพำนักอยู่ในป่าช้า  ครั้งนั้น มีภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นที่เคารพของพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถึงมรณภาพลง  ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ช่วยกันนำศพออกไปเผาแล้วก่อสถูปไว้ใกล้ๆ ที่อยู่ของท่านพระกัปปิตกะ แล้วพากันไปร้องไห้   สถูปนั้น  ท่านพระกัปปิตกะรำคาญเสียงร้องไห้นั้น จึงได้ทำลายสถูปนั้นพังกระจาย  
ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ปรึกษากันเป็นความลับว่า พระกัปปิตกะนี้ทำลายสถูปแม่เจ้าของพวกเรา พวกเรามาช่วยกันฆ่าท่านเสียเถิด  
ภิกษุณีรูปหนึ่งได้แจ้งข้อปรึกษากันนั้นแก่ท่านพระอุบาลี  พระอุบาลีได้กราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านพระกัปปิตกะทราบ ท่านพระกัปปิตกะจึงออกจากที่พักของท่านไปหลบอยู่ที่อื่น
              ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ได้เข้าไปที่พำนักของท่านพระกัปปิตกะแล้วช่วยกันขนก้อนหินและก้อนดินทับถมที่อยู่ของท่าน แล้วหลบไปด้วยเข้าใจว่าท่านถึงมรณภาพแล้ว
วันรุ่งขึ้น ท่านพระกัปปิตกะเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีแต่เช้า  ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ได้เห็นท่านยังเดินเที่ยวบิณฑบาตอยู่จึงได้พูดกันว่า พระกัปปิตกะนี้ยังมีชีวิตอยู่  ใครหนอนำเอาความลับของเราไปบอก  
ครั้นได้ทราบว่าพระอุบาลีเป็นผู้บอก จึงพากันด่าท่านพระอุบาลีว่า ท่านนี้เป็นคนสำหรับคอยรับใช้เมื่อเวลาอาบน้ำ เป็นคนคอยชำระของเปรอะเปื้อน เป็นคนมีสกุลต่ำ  ไฉนจึงได้ลอบนำความลับของเราไปเที่ยวบอกเขาเล่า
เรื่องที่ภิกษุณีด่าพระอุบาลีนี้เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุณีด่าก็ดี กล่าวขู่ก็ดี ซึ่งภิกษุ

ความจริงพระอุบาลีได้รับอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ คือพระพุทธองค์ทรงประทานอนุญาตให้เป็นภิกษุโดยเพียงแต่ตรัสว่า  เอหิ  ภิกฺขุ” (จงเป็นภิกษุมาเถิด) แต่เนื่องจากในระยะต้นพุทธกาลพระภิกษุที่บวชแล้วยังไม่มีอุปัชฌาย์ พระพุทธองค์จึงตรัสให้ถืออุปัชฌาย์ คือให้มีพระผู้ทำหน้าที่ดูแลฝึกอบรมพระใหม่ในการศึกษาเบื้องต้น ต่อมาจึงทรงบัญญัติให้ผู้จะอุปสมบทต้องมีอุปัชฌาย์ไว้พร้อมแล้ว

                ท่านพระอุบาลีได้เป็นกำลังสำคัญในการวิสัชนาพระวินัยในคราวปฐมสังคายนา   เพราะที่ประชุมได้มีมติคัดเลือกให้ท่านทำหน้าที่วิสัชนาวินัย  ท่านพระอุบาลีรับหน้าที่ชี้แจงเหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นที่มาแห่งการทรงบัญญัติพระวินัย  มาจัดให้เป็นหมวดหมู่ดังปรากฏในพระวินัยปิฎก    
พระเถระที่ได้เรียนพระวินัยสืบต่อมาจากท่านพระอุบาลีจนถึงสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓  มีหลักฐานปรากฏดังนี้
                                พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นศิษย์ของพระสิคควะ 
                                พระสิคควะเป็นศิษย์ของพระโสณกะ
                                พระโสณกะเป็นศิษย์ของพระทาสกะ
                                พระทาสกะเป็นศิษย์ของพระอุบาลี


ช่วงปลายชีวิต


                ในช่วงปลายของชีวิต ท่านพระอุบาลีมีผลงานมากและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเฉพาะบทบาทของท่านในการทำปฐมสังคายนา  แต่ไม่พบหลักฐานว่าท่านนิพพานที่ไหน เมื่อไร  ได้แต่สันนิษฐานว่าขณะนั้นท่านคงมีอายุใกล้เคียงกับพระอนุรุทธะและพระอานนท์  และคงนิพพานในเวลาใกล้เคียงกัน

No comments:

Post a Comment