Saturday, August 13, 2011

13.พระอนุรุทธะ

พระอนุรุทธะ


พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นเจ้าในศากยวงศ์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ และเป็นอนุชาของเจ้ามหานามะ ภายหลังออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอานนท์ เป็นต้น เรียนกรรมฐานในสำนักของพระสารีบุตร ได้บรรลุพระอรหัตที่ป่าปาจีนวังสทายวัน ในแคว้นเจตี พระศาสดาทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางทิพยจักษุว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีทิพยจักษุ 
อนุรุทธะนี้เป็นเลิศ ดังนี้

บุพกรรมของพระอนุรุทธะ


                ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ  กุลบุตรผู้หนึ่งเห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ ในท่ามกลางบริษัท ๔  ปรารถนาจะได้ฐานะเช่นนั้นบ้าง  จึงนิมนต์พระศาสดา  ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขสิ้น    วัน  แล้วตั้งความปรารถนาว่า  พระเจ้าข้า แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
                พระศาสดาทรงตรวจดูสิ้นแสนกัป ทรงทราบความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขาแล้วจึงทรงพยากรณ์ว่า ในที่สุดแห่งแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ เธอจักเป็นผู้ชื่อว่าอนุรุทธเถระ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุในศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม 
เขาฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว สำคัญสมบัตินั้นดุจว่าอันตนจะบรรลุในวันพรุ่งนี้  เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว  จึงถามถึงวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้ทิพยจักษุกะพวกภิกษุ  แล้วให้ทำโคมต้นหลายพันต้นล้อมพระสถูปทองอันสูงใหญ่ได้ ๗ โยชน์ แล้วให้ทำการบูชาด้วยประทีป  จุติจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก  เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกสิ้นแสนกัป  ในกัปนี้เกิดในตระกูลของคนเข็ญใจในกรุงพาราณสี  อาศัย สุมนเศรษฐี  เป็นคนขนหญ้าของเศรษฐีนั้นเลี้ยงชีพแล้ว  เขาได้มีชื่อว่า อันนภาระ  สุมนเศรษฐีนั้นถวายมหาทานในพระนครนั้นตลอดกาลเป็นนิตย์
                อยู่มาวันหนึ่ง  พระปัจเจกพุทธะนามว่า อุปริฏฐะ ออกจากนิโรธสมาบัติที่เขาคันธมาทน์แล้ว คิดว่า วันนี้เราจักทำความอนุเคราะห์แก่ใครหนอแล ?  เห็นว่า วันนี้ควรที่เราทำความอนุเคราะห์แก่บุรุษชื่ออันนภาระ  ก็บัดนี้เขาขนหญ้าจากดงแล้วจักมาเรือน  ดังนี้แล้ว ท่านจึงถือบาตรและจีวรไปด้วยฤทธิ์ ปรากฏเฉพาะหน้าของนายอันนภาระ  เขาเห็นท่านมีบาตรเปล่าในมือ จึงนมัสการถามว่า ท่านขอรับ ท่านได้ภิกษาบ้างแล้วหรือ ?  เมื่อท่านตอบว่า เราจักได้ละท่านผู้มีบุญมาก  จึงนมัสการว่า  ท่านผู้เจริญ  ถ้ากระนั้นขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรอหน่อยเถิด  ดังนี้แล้ว ทิ้งหาบหญ้าไว้ ไปสู่เรือนโดยเร็ว  ถามภรรยาว่า  นางผู้เจริญ อาหารส่วนที่หล่อนเก็บไว้เพื่อฉันมีหรือไม่ ?  เมื่อนางตอบว่า  มีอยู่ นาย  จึงกลับมาโดยเร็ว  รับบาตรของพระปัจเจกพุทธะไปสู่เรือน พลางคิดว่า  เมื่อคราวที่เราอยากจะถวายทาน ไทยธรรมก็ไม่มี  เมื่อไทยธรรมมี เราก็ไม่ได้ปฏิคาหก  แต่วันนี้ปฏิคาหกเราก็พบแล้ว และไทยธรรมของเราก็มีอยู่  เป็นลาภของเราหนอ  ให้เทภัตตาหารลงในบาตรแล้วนำกลับมาถวายพระปัจเจกพุทธะ แล้วตั้งความปรารถนาว่า:-

                                อิมินา  ปน  ทาเนน      มา  เม  ทาฬิทฺทิยํ  อหุ
                   นตฺถีติ  วจนํ  นาม       มา  อโหสิ  ภวาภเว.
                   ด้วยอานุภาพแห่งทานนี้ 
ขอความยากจนเข็ญใจจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า 
ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ยินได้ฟังคำว่า ไม่มี
ทุกภพทุกชาติเทอญ
                ท่านเจ้าข้า  ขอข้าพเจ้าพึงพ้นจากการเลี้ยงชีพอันฝืดเคืองเห็นปานนี้  ไม่พึงได้ฟังคำว่า  ไม่มี เลย  
พระปัจเจกพุทธะกระทำอนุโมทนาว่า  ขอความปรารถนาของท่านจงเป็นอย่างนั้นเถิดท่านผู้มีบุญมาก  ดังนี้แล้วก็หลีกไป 

เทพดาผู้สิงอยู่ในฉัตรของสุมนเศรษฐีกล่าวว่า:-
                                                น่าชื่นใจจริง  ทานเป็นทานเยี่ยม 
อันนภาระตั้งไว้ดีแล้วในพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ
ดังนี้แล้วก็ได้ให้สาธุการสามครั้ง
                เศรษฐีถามเทพดานั้นว่า ท่านไม่เห็นเราผู้ถวายทานอยู่สิ้นกาลประมาณเท่านี้หรือ ?
                เทพดาตอบว่า ข้าพเจ้าปรารภทานของท่านจึงให้สาธุการก็หาไม่  แต่สาธุการนี่ข้าพเจ้าให้เป็นไปแล้วก็เพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาตที่อันนภาระถวายแล้วแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ
                เศรษฐีคิดว่า  น่าอัศจรรย์จริงท่านผู้เจริญ  เราถวายทานสิ้นกาลเท่านี้ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้เทพดาให้สาธุการได้  อันนภาระอาศัยเราเป็นอยู่ยังให้เทพดาสาธุการด้วยบิณฑบาตหนเดียวเท่านั้นได้  เราจักทำสิ่งอันคู่ควรกันในทานของเขา แล้วทำบิณฑบาตนั้นให้เป็นของเราเสีย  ดังนี้แล้วจึงให้เรียกนายอันนภาระมาถามว่า  วันนี้เจ้าได้ให้อะไรแก่ใครบ้าง ?
                อันนภาระ.   นายขอรับ  วันนี้กระผมถวายภัตตาหารแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ
                เศรษฐี.         เอาเถอะพ่อ  เจ้าจงรับเอากหาปณะแล้วให้บิณฑบาตนั่นแก่ฉันเถิด
                อันนภาระ.  ให้ไม่ได้ดอกนาย
                เศรษฐีขึ้นราคาให้จนถึงพัน นายอันนภาระนี้ก็ไม่ยอมให้  เศรษฐีจึงบอกเขาว่า  พ่อคุณ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน  ถ้าเจ้าไม่ให้บิณฑบาตก็จงรับเอาทรัพย์พันหนึ่ง แล้วให้ส่วนบุญแก่ฉันเถิด
                เขากล่าวว่า  กระผมปรึกษากับพระผู้เป็นเจ้าดูแล้วจักรู้ได้  ว่าแล้วก็รีบไปทันพระปัจเจกพุทธะแล้วเรียนถามว่า  ท่านผู้เจริญ  สุมนเศรษฐีให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้วขอส่วนบุญในบิณฑบาตของท่าน  กระผมจะทำอย่างไร ?
                พระปัจเจกพุทธะนำข้อความมาเปรียบเทียบแก่เขาว่า  ท่านผู้เป็นบัณฑิต  ประทีปในเรือนหลังหนึ่งในบ้าน  ๑๐๐  ตระกูลลุกสว่างอยู่  คนทั้งหลายเอาน้ำมันของตนชุบไส้แล้วเอาไปต่อเข้าที่ประทีปดวงนั้น  จะพูดว่าแสงสว่างของประทีปดวงเดิมนั้นหมดไปหรือว่ายังมีอยู่ ?
                อันนภาระ.     แสงสว่างย่อมมีมากขึ้นขอรับ
                พระปัจเจก.   ฉันนั้นนั่นแลท่านผู้เป็นบัณฑิต  จะเป็นข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือภิกษาทัพพีหนึ่งก็ตาม  เมื่อบุคคลให้ส่วนบุญในบิณฑบาตของตนแก่ผู้อื่น  ให้ไปเท่าใด  บุญก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น  ก็ท่านได้ให้บิณฑบาตส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่เศรษฐี  บิณฑบาตชื่อว่าเป็นสองส่วน  ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน  ส่วนหนึ่งเป็นของเศรษฐี
                เขารับว่า  สาธุท่านผู้เจริญ  ไหว้พระปัจเจกพุทธะแล้วกลับไปบอกเศรษฐีว่า  นาย  ขอท่านจงรับเอาส่วนบุญเถิด
                เศรษฐี.         ถ้ากระนั้นพ่อจงรับเอากหาปณะเหล่านี้ไป
                อันนภาระ.   กระผมไม่ได้ขายบิณฑบาต  กระผมให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา
                เศรษฐีกล่าวว่า  เจ้าให้ด้วยศรัทธา  ถึงเราก็บูชาคุณของเจ้าด้วยศรัทธา  จงรับเอาไปเถิดพ่อ   จำเดิมแต่นี้ไปเจ้าไม่ต้องทำการงานด้วยตนเอง  จงปลูกเรือนอยู่ริมถนนเถิด  เจ้าต้องการอะไรบ้างก็จงมาเอาไปจากบ้านของเรา
                อันบิณฑบาตที่บุคคลถวายแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธนั้น ย่อมให้ผลในวันนั้นนั่นเอง  เพราะฉะนั้น แม้พระราชาก็ทรงทราบเรื่องราวของนายอันนภาระ จึงรับสั่งให้เรียกมาเฝ้า แล้วทรงรับส่วนบุญและพระราชทรัพย์สมบัติให้เป็นอันมาก  แล้วรับสั่งให้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีแก่เขา                                               
                นายอันนภาระได้เป็นเพื่อนกับสุมนเศรษฐี ทำบุญทั้งหลายตลอดชีวิต  จุติจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก  เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกเป็นเวลานาน  ในพุทธุปบาทกาลนี้มาถือปฏิสนธิในสกุลเจ้าศากยะพระนามว่าอมิโตทนะในพระนครกบิลพัสดุ์  พระประยูรญาติทั้งหลายขนานพระนามพระกุมารนั้นว่า อนุรุทธะ  พระกุมารนั้นเป็นพระกนิษฐภาดาของเจ้ามหานามศากยะ  เป็นพระโอรสของพระเจ้าอาของพระศาสดา  ได้เป็นผู้สุขุมาลชาติอย่างยิ่ง  มีบุญมาก
                เล่ากันว่า  วันหนึ่งกษัตริย์หกพระองค์เล่นขลุบเอาขนมทำคะแนนกัน  เจ้าอนุรุทธะแพ้ จึงส่งคนไปหาพระมารดาเพื่อขอประทานขนม  พระมารดาเอาภาชนะทองคำใบใหญ่บรรจุขนมให้เต็มแล้วส่งไปประทาน  เจ้าอนุรุทธะกับพระสหายเสวยขนมแล้วทรงเล่นกันอีก  เจ้าอนุรุทธะแพ้อีกก็ส่งคนไปขอขนมอีก
                มหาดเล็กต้องไปนำขนมมาอย่างนี้ถึง ๓  ครั้ง  ในครั้งที่ ๔ พระมารดาของท่านตรัสสั่งมหาดเล็กให้ไปทูลว่า ขนมไม่มี   เจ้าอนุรุทธะทรงสดับคำที่พระมารดารับสั่งมากับมหาดเล็กแล้ว เข้าใจไปว่าพระมารดาจะประทานขนมชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ขนมไม่มี  ทั้งนี้เพราะไม่เคยได้สดับคำว่า ไม่มี  จึงรับสั่งกับมหาดเล็กว่า  เจ้าจงไปนำ ขนมไม่มี มา
                ฝ่ายพระมารดาของท่าน  เมื่อมหาดเล็กกลับมาทูลว่า  ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าจงประทานขนมไม่มี    จึงทรงดำริว่า บุตรของเราไม่เคยฟังคำว่า ไม่มี  เราจะต้องให้เขารู้เสียบ้างว่าขนมไม่มีนั้นเป็นอย่างไร   จึงทรงล้างถาดทองคำเปล่าแล้วเอาถาดทองคำอีกใบหนึ่งครอบ รับสั่งกับมหาดเล็กว่า  เอาละพ่อคุณ เจ้าจงเอาถาดทองคำนี้ไปให้แก่บุตรของเรา
                ขณะนั้น เทพดาทั้งหลายผู้รักษาพระนครคิดว่า  เจ้าอนุรุทธะผู้เป็นเจ้าของพวกเราถวายภัตตาหารอันเป็นส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธะนามว่าอุปริฏฐะ แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า  เราไม่พึงได้ฟังคำว่าไม่มี  ในชาติที่ตนเกิดเป็นคนขนหญ้าชื่ออันนภาระ  หากว่าเราทราบเหตุการณ์นี้แล้วนิ่งเฉยเสีย  ศีรษะของเราจะต้องแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง  คิดได้ดังนี้แล้วเทพดาจึงบันดาลให้ถาดเต็มด้วยขนมทิพย์  
ฝ่ายมหาดเล็กก็นำถาดไปวางไว้ให้เจ้าศากยะเหล่านั้นแล้วเปิดถาดที่ครอบออก  ทันใดนั้นกลิ่นของขนมทิพย์ก็หอมตลบอบอวลไปทั่วพระนคร  เพียงแต่เจ้าศากยะเหล่านั้นทรงหยิบขนมใส่ลงในพระโอษฐ์  รสของขนมก็แผ่ซึมซาบไปตามเส้นประสาทสำหรับรสทั้งเจ็ดพัน
                เจ้าอนุรุทธะทรงดำริว่า เมื่อก่อนนี้พระมารดาเห็นจะไม่ทรงรักเรา  เพราะไม่เคยทอดขนมไม่มีให้เรา  เมื่อเสด็จกลับวัง พระกุมารจึงทูลถามพระมารดาว่า  ข้าแต่พระมารดา  หม่อมฉันไม่เป็นที่รักของพระองค์หรือ ?
                มารดา.      พ่อคุณ  เจ้าพูดอะไรอย่างนั้น ?  เจ้าเป็นที่รักยิ่งของแม่ยิ่งกว่านัยน์ตาทั้งสอง  ยิ่งกว่าเนื้อในหทัย
                อนุรุทธะ.  ข้าแต่พระแม่เจ้า  ถ้าหม่อมฉันเป็นที่รักของพระมารดา  เพราะเหตุไรแต่ก่อนนี้จึงมิได้ประทานขนมไม่มีแก่หม่อมฉัน ?
                พระนางจึงตรัสถามมหาดเล็กว่า  มีอะไรอยู่ในถาดหรือ ?
                มหาดเล็กทูลว่า   มี พระแม่เจ้า  ถาดเต็มไปด้วยขนมทั้งหลาย  ขนมชนิดนี้ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น
                พระนางได้ฟังดังนั้นก็รู้ว่า  บุตรของเราได้ทำบุญไว้แล้ว  ขนมทิพย์จักเป็นของอันเทพดาทั้งหลายเนรมิตให้บุตรของเรา
                ฝ่ายเจ้าอนุรุทธะก็ทูลพระมารดาว่า  ข้าแต่พระแม่เจ้า ขนมชนิดนี้หม่อมฉันไม่เคยกินเลย  ตั้งแต่นี้ไป พระมารดาต้องทำแต่ขนมไม่มีเท่านั้นให้แก่หม่อมฉัน
                จำเดิมแต่นั้น เมื่อเจ้าอนุรุทธะทูลว่า  หม่อมฉันมีประสงค์จะบริโภคขนมไม่มี   พระนางก็ทรงล้างถาดทองคำแล้วเอาถาดอีกใบหนึ่งครอบ  เทพดาทั้งหลายก็บันดาลให้ถาดเต็มด้วยขนมทิพย์ทุกคราวไป 
เจ้าอนุรุทธะนั้นเมื่อครองฆราวาสวิสัยอยู่ในวัง  มิได้ทราบความหมายของคำว่า ไม่มี  เสวยแต่ขนมทิพย์ทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้

                เมื่อโอรสของเจ้าศากยะพากันผนวชตามลำดับตระกูลเพื่อเป็นบริวารของพระศาสดา  เจ้ามหานามศากยะตรัสแก่เจ้าอนุรุทธะว่า  ในตระกูลของเราไม่มีใครออกบวชเลย  เธอหรือฉันควรจะบวชคนหนึ่ง   เจ้าอนุรุทธะตรัสว่า  หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง  ไม่สามารถจะบวชได้
                เจ้ามหานาม.   ถ้ากระนั้นเธอจงเรียนเรื่องการทำงานเสีย  ฉันจักบวช
                เจ้าอนุรุทธะ.   ชื่อว่าการทำงานนี้เป็นอย่างไร ?
                อันที่จริง เจ้าอนุรุทธะนั้นย่อมไม่ทราบแม้แต่ที่เกิดของข้าวสุก แล้วจะทราบการทำงานได้อย่างไร  เพราะฉะนั้นจึงตรัสถามอย่างนั้น  
เหตุที่เจ้าอนุรุทธะไม่ทราบแม้แต่ที่เกิดของข้าวสุกนั้น มีเรื่องเล่ากันดังนี้
                วันหนึ่ง  เจ้าศากยะ ๓ พระองค์  คือ  อนุรุทธะ  ภัททิยะ  กิมพิละ นั่งสนทนากันว่า  อันว่าข้าวสุกนั้นเกิดในที่ไหน ? เจ้ากิมพิละตรัสว่า ข้าวสุกเกิดในฉาง 
เรื่องก็คือ วันหนึ่งเจ้ากิมพิละได้เห็นเขากำลังขนข้าวเปลือกออกมาจากฉาง  เพราะฉะนั้น จึงสำคัญว่าข้าวสุกเกิดขึ้นในฉาง
                เจ้าภัททิยะได้ฟังดังนั้นจึงตรัสกะเจ้ากิมพิละว่า  ท่านยังไม่รู้จริง  ธรรมดาข้าวสุกย่อมเกิดในหม้อข้าว 
เรื่องของเรื่องก็คือ วันหนึ่งเจ้าภัททิยะเห็นเขาคดข้าวสุกออกจากหม้อข้าว  ดังนั้นจึงสำคัญว่าข้าวสุกเกิดในหม้อข้าวนี่เอง
                ข้างฝ่ายเจ้าอนุรุทธะได้ฟังดังนั้นจึงตรัสขึ้นว่า  แม้ท่านทั้งสองก็ยังไม่รู้จริง  ข้าวสุกนั้นเกิดขึ้นในถาดทองคำใบใหญ่สูงขนาดศอกกำมา 
ว่ากันว่าเจ้าอนุรุทธะนั้นไม่เคยเห็นเขาตำข้าวเปลือก  ไม่เคยเห็นเขาหุงข้าว  ท่านเห็นแต่ข้าวที่เขาคดออกไว้ในถาดทองคำแล้วตั้งไว้ข้างหน้าเท่านั้น  เพราะฉะนั้น  ท่านจึงสำคัญว่า ข้าวสุกเกิดขึ้นในถาดนั่นเอง  
กุลบุตรผู้มีบุญมากเมื่อไม่รู้แม้แต่ที่เกิดของข้าวสุกอย่างนั้น  จะรู้จักการทำงานทั้งหลายอย่างไรได้
                เจ้ามหานามจึงตรัสบอกโดยนัยเป็นต้นว่า  อนุรุทธะจงฟังเถิด  ฉันจักสอนเรื่องการอยู่ครองเรือนแก่เธอ  อันผู้อยู่ครองเรือนจำต้องไถนาก่อน  
เจ้าอนุรุทธะได้สดับเรื่องที่การงานทั้งหลายเป็นของไม่มีที่สิ้นสุด  จึงทูลลาพระมารดาว่า  หม่อมฉันไม่มีความต้องการด้วยการอยู่ครองเรือน  มารดาของท่านบอกว่า ถ้าเจ้าภัททิยะออกบวชด้วย แม่จึงจะอนุญาตให้เจ้าบวช  เจ้าอนุรุทธะจึงไปชักชวนเจ้าภัททิยะให้ออกบวช แล้วเสด็จออกไปพร้อมกับพระโอรสของเจ้าศากยะ ๕ พระองค์ มีเจ้าภัททิยะเป็นหัวหน้า  เข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท 
ครั้นบวชแล้ว พระอนุรุทธะเป็นผู้ปฏิบัติชอบ  ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ โดยลำดับ  เป็นผู้นั่งบนอาสนะเดียว (ฉันมื้อเดียว)  สามารถเล็งดูโลกธาตุพันหนึ่งได้ด้วยทิพยจักษุ  ดุจผลมะขามป้อมที่บุคคลวางไว้บนฝ่ามือฉะนั้น  จึงเปล่งอุทานขึ้นว่า:-

                                                เราย่อมระลึกได้ซึ่งบุพเพนิวาส 
ทิพยจักษุเราก็ชำระแล้ว 
เราเป็นผู้ได้วิชชา ๓  เป็นผู้ถึงฤทธิ์
                                คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทำสำเร็จแล้ว

ท่านพิจารณาดูว่า  เราทำกรรมอะไรหนอจึงได้สมบัตินี้  ทราบได้ว่า เราได้ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ  เราเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ  ในกาลก่อนมีชื่อว่าอันนภาระ ได้อาศัยสุมนเศรษฐีในกรุงพาราณสีเลี้ยงชีพ 

พระเถระไปโปรดสหายเก่า

                ครั้งนั้น ท่านได้มีความปริวิตกฉะนี้ว่า  สุมนเศรษฐีผู้เป็นสหายของเราให้กหาปณะแล้วรับเอาส่วนบุญจากบิณฑบาตซึ่งเราถวายแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะในกาลนั้น  บัดนี้เกิดในที่ไหนหนอ ?   ครั้นแล้วท่านได้เล็งเห็นเศรษฐีนั้นว่า  บ้านชื่อว่ามุณฑนิคมมีอยู่ที่เชิงเขาใกล้ดงไฟไหม้  อุบาสกชื่อมหามุณฑะในมุณฑนิคมนั้นมีบุตรสองคน  คือมหาสุมนะ และจุลสุมนะ  สุมนเศรษฐีไปเกิดเป็นจุลสุมนะ  
ครั้นเห็นดังนั้นแล้ว ท่านจึงคิดต่อไปว่า เมื่อเราไปในที่นั้นจะเกิดประโยชน์หรือไม่หนอ ?  ท่านใคร่ครวญอยู่ ได้เห็นเหตุนี้ว่า  เมื่อเราไปในที่นั้น จุลสุมนะนั้นมีอายุ ๗  ขวบเท่านั้นจักออกบวช  และจักบรรลุพระอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง 
ครั้นเห็นเหตุดังนี้แล้ว  เมื่อใกล้ถึงหน้าฝนท่านจึงไปทางอากาศ ลงที่ประตูบ้าน  ฝ่ายมหามุณฑอุบาสกก็เป็นผู้คุ้นเคยกับพระเถระมาก่อนเหมือนกัน  เขาเห็นพระเถระครองจีวรในเวลาบิณฑบาต จึงกล่าวกะมหาสุมนะผู้บุตรว่า  ลูกเอ๋ย พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธเถระของเรามาแล้ว  เจ้าจงไปรับบาตรของท่านให้ทันเวลาที่ใครๆ คนอื่นยังไม่รับบาตรของท่านไป  พ่อจักให้เขาปูอาสนะไว้  
มหาสุมนะได้ทำอย่างที่บิดาสั่ง  อุบาสกอังคาสพระเถระภายในเรือนโดยเคารพแล้ว อาราธนาให้พระเถระอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส  พระเถระก็รับนิมนต์
                อุบาสกปฏิบัติพระเถระตลอดไตรมาสด้วยความรู้สึกเหมือนกับปฏิบัติได้เพียงวันเดียว  ในวันมหาปวารณาจึงนำไตรจีวรและอาหารวัตถุมีน้ำอ้อย น้ำมัน และข้าวสารเป็นต้นมาวางไว้ใกล้เท้าของพระเถระ เรียนว่า  ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับเถิดขอรับ
                พระเถระ.   อย่าเลยอุบาสก  ความต้องการด้วยวัตถุนี้ของฉันไม่มี          
อุบาสก.      ท่านผู้เจริญ  นี่ชื่อว่าวัสสาวาสิกลาภ  (คือลาภอันเกิดแก่ผู้อยู่จำพรรษา)  ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับวัตถุนั้นไว้เถิด
                พระเถระ.   ช่างเถิดอุบาสก
                อุบาสก.     ท่านไม่รับเพราะอะไรขอรับ
                พระเถระ.   คือว่าสามเณรผู้เป็นกัปปิยการกในสำนักของฉันไม่มี
                อุบาสก.     ท่านผู้เจริญ  ถ้าอย่างนั้นมหาสุมนะผู้เป็นบุตรของกระผมจักเป็นสามเณร
                พระเถระ.   อุบาสก  ความต้องการด้วยมหาสุมนะของฉันก็ไม่มี
                อุบาสก.      ท่านผู้เจริญ  ถ้าอย่างนั้นพระผู้เป็นเจ้าจงให้จุลสุมนะบวชเถิด
                พระเถระรับว่า ดีละ แล้วให้จุลสุมนะบวช  จุลสุมนะบรรลุอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง
                พระเถระอยู่ในที่นั้นกับจุลสุมนสามเณรประมาณกึ่งเดือนก็ลาไป


พระอนุรุทธเถระเป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท
ห้ามภิกษุนอนร่วมกับสตรี

คัมภีร์พระวินัยปิฎก (มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๖ มหาวิภังค์  ภาคที่ ๒  พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๒๙๔) เล่าเรื่องไว้ดังนี้ 

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่    พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี  ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเดินทางไปพระนครสาวัตถีในโกศลชนบท  ได้ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง    เวลาเย็น  ก็แลสมัยนั้นในหมู่บ้านนั้นมีสตรีผู้หนึ่งจัดเรือนพักสำหรับอาคันตุกะไว้    
จึงท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วได้กล่าวคำนี้กะสตรีนั้นว่า ดูก่อนน้องหญิง ถ้าเธอไม่หนักใจ อาตมาขอพักแรมในเรือนพักสักคืนหนึ่ง  สตรีนั้นเรียนว่า  นิมนต์พักแรมเถิดเจ้าข้า
พวกคนเดินทางแม้เหล่าอื่นก็เข้าไปหาสตรีนั้น แล้วได้กล่าวคำนี้กะสตรีนั้นว่า  คุณนายขอรับ ถ้าคุณนายไม่หนักใจ พวกข้าพเจ้าขอพักแรมในเรือนพักสักคืนหนึ่ง
นางกล่าวว่า  พระคุณเจ้าสมณะนั่นเข้าไปพักแรมอยู่ก่อนแล้ว ถ้าท่านอนุญาตก็เชิญพักแรมได้
จึงคนเดินทางพวกนั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอนุรุทธะว่า  ท่านขอรับ ถ้าท่านไม่หนักใจ พวกกระผมขอพักแรมในเรือนพักสักคืนหนึ่ง  ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า  เชิญพักตามสบายเถิด
อันที่จริง สตรีนั้นได้มีจิตปฏิพัทธ์ในท่านพระอนุรุทธะพร้อมกับขณะที่ได้เห็น  ดังนั้น นางจึงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะ แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า  ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้าปะปนกับคนพวกนี้จักพักผ่อนไม่สบาย  ทางที่ดีดิฉันควรจัดเตียงที่มีอยู่ข้างในถวายพระคุณเจ้า 
ท่านพระอนุรุทธะรับด้วยดุษณีภาพ 
ครั้งนั้น นางได้จัดเตียงที่มีอยู่ข้างในด้วยตนเองถวายท่านพระอนุรุทธะ แล้วประดับตกแต่งร่างกายมีกลิ่นแห่งเครื่องหอม เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะ แล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านว่า  ท่านเจ้าข้า  พระคุณเจ้ามีรูปงามนัก น่าดู น่าชม  ส่วนดิฉันก็มีรูปงามยิ่ง น่าดู น่าชม ทางที่ดีดิฉันควรจะเป็นภรรยาของพระคุณเจ้า 
เมื่อนางพูดอย่างนี้ ท่านพระอนุรุทธะได้นิ่งเสีย 
แม้ครั้งที่ ๒  …. (นางกล่าวเหมือนเดิม ท่านพระอนุรุทธะก็นิ่งเหมือนเดิม)
แม้ครั้งที่ ๓  นางก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอนุรุทธะว่า  ท่านเจ้าข้า  พระคุณเจ้ามีรูปงามนัก น่าดู น่าชม  ส่วนดิฉันก็มีรูปงามยิ่ง น่าดู น่าชม ทางที่เหมาะ ขอพระคุณเจ้าจงรับปกครองดิฉันและทรัพย์สมบัติทั้งหมด
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอนุรุทธะก็ได้นิ่งเสีย
ลำดับนั้น นางได้เปลื้องผ้าออกแล้ว เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง เบื้องหน้าท่านพระอนุรุทธะ  ฝ่ายท่านพระอนุรุทธะสำรวมอินทรีย์ ไม่แลดู ไม่ปราศรัยกับนาง 
ดังนั้นนางจึงอุทานว่า  น่าอัศจรรย์นัก พ่อเอ๋ย ไม่น่าจะมีเลยหนอพ่อผู้จำเริญ  คนเป็นอันมากย่อมส่งทรัพย์มาให้เรา ๑๐๐ กษาปณ์บ้าง ๑,๐๐๐ กษาปณ์บ้าง ส่วนพระสมณะรูปนี้ เราวิงวอนด้วยตนเอง ยังไม่ปรารถนาจะรับปกครองเราและสมบัติทั้งหมด  
ครั้นแล้วจึงนุ่งผ้า  ซบศีรษะลงที่เท้าของท่านพระอนุรุทธะ แล้วได้กล่าวคำขอขมาต่อท่านดังนี้ว่า  ท่านเจ้าข้า โทษผิดนี้ตกเป็นของดิฉัน เพราะความโง่ เพราะความหลง เพราะความไม่ฉลาด  ดิฉันได้ทำความผิดเห็นปานนั้นไปแล้ว ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษให้ดิฉัน เพื่อจะสำรวมระวังต่อไปเถิดเจ้าข้า
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า  เชิญเถิดน้องหญิง  โทษผิดนี้ตกเป็นของเธอ เพราะความโง่ เพราะความหลง เพราะความไม่ฉลาด  เธอได้ทำอย่างนี้แล้ว เพราะเล็งเห็นโทษว่าเป็นความผิดจริงแล้วทำคืนตามธรรม เรายกโทษให้เธอ  ดูก่อนน้องหญิง ข้อที่บุคคลเล็งเห็นโทษว่าเป็นความผิดจริงแล้วทำคืนตามธรรม เพื่อความสำรวมระวังต่อไป นี่แหละเป็นความเจริญในอริยวินัย
ครั้นราตรีนั้นผ่านพ้นไป นางได้อังคาสท่านพระอนุรุทธะด้วยขาทนียโภชียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนท่านฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  นางก็กราบไหว้ท่านพระอนุรุทธะแล้ว ได้นั่ง    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ท่านพระอนุรุทธะได้ชี้แจงให้สตรีผู้นั้นเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา  ครั้นแล้วนางได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอนุรุทธะว่า  ท่านเจ้าข้า ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก  ภาษิตของท่านไพเราะนัก  พระคุณเจ้าอนุรุทธะได้ประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่คนหลงทาง  หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยประสงค์ว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้  ดิฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าจงจำดิฉันว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
ท่านพระอนุรุทธะเดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้แจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอนุรุทธะจึงได้สำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคามเล่า
ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นก็ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ….
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอนุรุทธะว่า   ดูก่อนอนุรุทธะ ข่าวว่าเธอสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม จริงหรือ ?  ท่านพระอนุรุทธะทูลรับว่า  จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า  ดูก่อนอนุรุทธะ  ไฉนเธอจึงได้สำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคามเล่า  การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ….
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้ :-
อนึ่ง  ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม  เป็นปาจิตตีย์

 พระเถระปรารภความเพียรเสมอ

                ตามปกติพระอนุรุทธเถระเป็นผู้ปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวด ในคัมภีร์เถรคาถามีคำที่ท่านกล่าวไว้เองว่า  เราถือการไม่นอนเป็นวัตรมาเป็นเวลา  ๕๕  ปี    เรากำจัดความง่วงเหงาหาวนอนมาแล้วเป็นเวลา  ๒๕  ปี
อรรถกถาขยายความว่า  เมื่อท่านบวชแล้วร่างกายยังแข็งแรง ท่านจึงสละความสุขในการนอนและการเอนหลัง เพราะความเป็นผู้ไม่ห่วงในร่างกายและความเป็นผู้ปรารภความเพียร  โดยท่านเห็นประโยชน์ของการไม่นอนว่า เป็นการเกื้อกูลแก่การประกอบความเพียร  เป็นความประพฤติของสัปบุรุษอันเกี่ยวเนื่องด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน และเป็นความประพฤติขัดเกลากิเลส  ท่านจึงถือการนั่งเป็นวัตรเป็นเวลา ๕๕ ปี   อรรถกถากล่าวว่า ระยะแรกประมาณ ๒๕ ปี ท่านไม่เคยนอนและไม่เคยหลับเลย ต่อจากนั้นมาอีก ๓๐ ปี ท่านก็ไม่นอน แต่ต้องหลับบ้างในช่วงเวลาปัจฉิมยาม คือตั้งแต่ประมาณตี ๒ ถึงย่ำรุ่ง เพราะร่างกายอ่อนเปลี้ย

บทบาทของพระอนุรุทธะ
ในกาลเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

                ในมหาปรินิพพานสูตร (คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๔ -) มีกล่าวไว้ว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วทรงเข้าทุติยฌาน
ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน
ออกจากตติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน
ออกจากจตุตถฌานแล้วทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ
ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ
ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ
ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
              ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามท่านพระอนุรุทธะว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้วหรือ  ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า อานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่
              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ  
ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ  
ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ  
ออกจากวิญญานัญจายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ  
ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน  
ออกจากจตุตถฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน  
ออกจากตติยฌานแล้วทรงเข้าทุติยฌาน  
ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าปฐมฌาน  
ออกจากปฐมฌานแล้วทรงเข้าทุติยฌาน  
ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน  
ออกจากตติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน  
พระผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับ (แห่งการพิจารณาองค์จตุตถฌานนั้น)
              เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมกับการเสด็จปรินิพพาน ท่านพระอนุรุทธะได้กล่าวคาถานี้ว่า
                       
นาหุ  อสฺสาสปสฺสาโส        ิตจิตฺตสฺส  ตาทิโน
                                อเนชฺโช  สนฺติมารพฺภ           กาลมกรี  มุนิ
                               
ลมอัสสาสะปัสสาสะมิได้มีแล้ว
พระมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น คงที่  
ไม่หวั่นไหว ปรารภสันติเป็นอารมณ์
เสด็จปรินิพพานแล้ว

อสลฺลีเนน  จิตฺเตน             เวทน อชฺฌวาสยิ
                                ปชฺโชตสฺเสว  นิพฺพาน        วิโมกฺโข  เจตโส  อหุ

                                                พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่  
ทรงอดกลั้นเวทนาได้แล้ว  
ความพ้นแห่งจิตได้มีแล้ว 
เหมือนดวงประทีปดับไปฉะนี้
        
         เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุที่ยังไม่หมดกิเลสพากันคร่ำครวญล้มกลิ้งเกลือกไปมาเหมือนเท้าขาด รำพันว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานเร็วนัก  พระสุคตปรินิพพานเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลกอันตรธานเร็วนัก   
         ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเตือนภิกษุทั้งหลายว่า  อย่าเลยผู้มีอายุทั้งหลาย  พวกท่านอย่าเศร้าโศกอย่าร่ำไรไปเลย  เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสบอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า  ความเป็นต่างๆ  ความพลัดพราก  ความเป็นอย่างอื่น จากสิ่งและบุคคลอันเป็นที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้นต้องมี  จะมิให้เป็นเช่นนั้นในสิ่งและบุคคลอันเป็นที่รักที่ชอบใจนี้ได้ที่ไหน  สิ่งใดเกิดแล้วมีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา  ความปรารถนาว่าขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้  ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ 
         ลำดับนั้น ท่านอนุรุทธะและท่านพระอานนท์ยังราตรีที่เหลือนั้นให้ล่วงไปด้วยธรรมีกถา ท่านพระอนุรุทธะสั่งท่านพระอานนท์ว่า ไปเถิดอานนท์ ท่านจงเข้าไปเมืองกุสินารา บอกแก่พวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว  ขอพวกท่านจงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด     
ท่านพระอานนท์รับคำท่านพระอนุรุทธะแล้ว เวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว

บั้นปลายชีวิต


ในคัมภีร์เถรคาถามีคำที่ท่านพระอนุรุทธะกล่าวไว้เองว่า

เราได้เคยเป็นท้าวสักกรินทร์เทวราช  อยู่ดาวดึงส์เทพพิภพมาแล้ว  เราได้ปราบปรามไพรีพ่ายแพ้แล้วขึ้นผ่านสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์นิกรในชมพูทวีป  มีสมุทรสาครทั้ง    เป็นขอบเขต    ครั้ง   ได้ปกครองปวงประชานิกรโดยธรรมด้วยไม่ต้องใช้อาชญาหรือศาสตราใดๆ 
เราระลึกชาติหนหลังในคราวที่อยู่ในมนุษยโลกได้ ดังนี้ คือ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ    ชาติ  เป็นพระอินทร์    ชาติ  รวมการท่องเที่ยวอยู่เป็น  ๑๔  ชาติด้วยกัน   ...
เราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว  ปลงภาระอันหนักลงได้แล้ว  ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว  เป็นผู้ไม่มีอาสวะ  จักนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภายใต้พุ่มกอไผ่ ใกล้บ้านเวฬุวคาม  แคว้นวัชชี

No comments:

Post a Comment