Saturday, August 13, 2011

25.พระปุณณะ สุนาปรันตกะ

พระปุณณะ สุนาปรันตกะ



พระปุณณะ สุนาปรันตกะ   มีชื่อเดิมว่า ปุณณะ เกิดที่เมืองท่าสุปปารกะ ในแคว้นสุนาปรันตะ เมื่อเจริญวัยแล้วได้ประกอบการค้าขายร่วมกับน้องชาย  ผลัดกันนำกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวค้าขายตามหัวเมืองต่างๆ  
คราวหนึ่ง น้องชายอยู่เฝ้าบ้าน ปุณณะนำกองเกวียนออกค้าขายผ่านเมืองต่างๆ  มาจนถึงกรุงสาวัตถี พักกองเกวียนอยู่ใกล้พระเชตวัน  รับประทานอาหารเช้าแล้วก็นั่งพักผ่อนกันตามสบาย 
ขณะนั้นเอง ปุณณะมองเห็นชาวพระนครสาวัตถีแต่งตัวสะอาดเรียบร้อย  พากันเดินไปยังพระเชตวันเพื่อฟังธรรม  ไต่ถามทราบความก็ดีใจ จึงพาบริวารเดินตามชาวเมืองเข้าไปสู่พระวิหาร  ยืนอยู่ท้ายสุดที่ประชุม  ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส อยากจะบวช
วันรุ่งขึ้นได้ถวายมหาทานแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว  มอบหมายธุระแก่เจ้าหน้าที่คุมสินค้าให้นำสมบัติไปมอบให้แก่น้องชาย  แล้วออกบวชในสำนักพระศาสดา  ตั้งใจจำเริญพระกรรมฐาน แต่ก็ไม่สำเร็จ   คิดจะไปบำเพ็ญภาวนาที่ถิ่นเดิมของท่านเอง  จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขอพระโอวาท ดังปรากฏเนื้อความใน ปุณโณวาทสูตร    
พระผู้มีพระภาคประทานพระโอวาทแสดงวิธีปฏิบัติต่อรูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์  โดยอาการที่จะมิให้ทุกข์เกิดขึ้น  แล้วตรัสถามท่านว่าจะไปอยู่ในถิ่นไหน   ท่านทูลตอบว่า จะไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ   ตรัสถามว่า  ชาวสุนาปรันตะเป็นคนดุร้าย  ถ้าเขาด่าท่านจะวางใจต่อคนเหล่านั้นอย่างไร  
ทูลตอบว่า    จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ตบตี
ตรัสถามว่า   ถ้าเขาตบตี จะวางใจอย่างไร
ทูลตอบว่า    จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ขว้างปาด้วยก้อนดิน
ตรัสถามว่า   ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดิน จะวางใจอย่างไร
ทูลตอบว่า    จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ทุบตีด้วยท่อนไม้
ตรัสถามว่า   ถ้าเขาทุบตีด้วยท่อนไม้ จะวางใจอย่างไร
ทูลตอบว่า    จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ฟันแทงด้วยศัสตรา
ตรัสถามว่า   ถ้าเขาฟันแทงด้วยศัสตรา จะวางใจอย่างไร
ทูลตอบว่า    จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่เอาศัสตราอันคมฆ่าเสีย
ตรัสถามว่า    ถ้าเขาเอาศัสตราอันคมปลิดชีพเสีย จะวางใจอย่างไร
ทูลตอบว่า     จะคิดว่า มีสาวกบางท่านเบื่อหน่ายร่างกายและชีวิต ต้องเที่ยวหาศัสตรามาสังหารตนเอง  แต่เราไม่ต้องเที่ยวหาเลยก็ได้ศัสตราแล้ว 
             พระผู้มีพระภาคประทานสาธุการ และตรัสว่า ท่านมีทมะและอุปสมะอย่างนี้สามารถไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะได้ 
พระพุทธโอวาทและแนวคิดของพระปุณณะนี้เป็นคติอันมีค่ายิ่งสำหรับพระภิกษุผู้จะจาริกไปประกาศพระศาสนาในถิ่นไกล   
พระปุณณะกลับสู่แคว้นสุนาปรันตะแล้ว ได้ย้ายหาที่เหมาะสำหรับการทำกรรมฐานหลายแห่ง  จนมาถึงแห่งที่ ๔  คือได้เข้าจำพรรษาแรกที่วัดมกุฬการาม 
ในพรรษานั้น น้องชายของท่านกับพ่อค้า ๕๐๐ คน เอาสินค้าลงเรือจะไปค้าขายทางทะเล  ในวันลงเรือน้องชายมาลาและขอความคุ้มครองจากท่าน   ระหว่างทาง เรือไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง พากันแวะบนเกาะ พบป่าจันทน์แดงอันเป็นไม้ที่มีราคาสูง จึงล้มเลิกความคิดที่จะเดินทางต่อ  ช่วยกันตัดไม้จันทน์บรรทุกเรือจนเต็มแล้วออกเดินทางกลับถิ่นเดิม  แต่พอออกเรือมาได้ไม่นาน  พวกอมนุษย์ที่สิงในป่าจันทน์โกรธแค้น ได้ทำให้เกิดลมพายุอย่างแรงและหลอกหลอนต่างๆ   น้องชายของพระปุณณะระลึกถึงพระพี่ชาย  พระปุณณะทราบจึงเหาะมายืนอยู่ที่หน้าเรือ  พวอมนุษย์ก็พากันหนีไป  ลมพายุก็สงบ 
พวกพ่อค้าทั้ง ๕๐๐ คน  กลับถึงถิ่นเดิมโดยสวัสดีแล้ว ได้พร้อมทั้งบุตรภรรยาพากันประกาศนับถือพระปุณณะ และถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แล้วแบ่งไม้จันทน์แดงส่วนหนึ่งมาถวายท่าน   พระปุณณะตอบว่า ท่านไม่มีกิจที่จะต้องใช้ไม้เหล่านั้น และแนะให้สร้างศาลาถวายพระพุทธเจ้า  ศาลานั้นเรียกกันว่า จันทนศาลา


ตำนานรอยพระพุทธบาท


เมื่อศาลาเสร็จแล้ว  พระปุณณะได้ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จมายังแคว้นสุนาปรันตะพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมาก   ระหว่างทาง พระผู้มีพระภาคทรงแวะหยุดประทับโปรดสัจจพันธดาบสที่ภูเขาสัจจพันธ์ก่อน  แล้วนำพระสัจจพันธ์ซึ่งบรรลุอรหัตผลแล้วมายังสุนาปรันตะด้วย  ทรงแสดงธรรมโปรดชาวสุนาปรันตะ  และประทับที่จันทนศาลาในมกุฬการาม ๒-๓ วัน  เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านแล้วเสด็จกลับ 
ระหว่างทาง เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำนัมมทา  ได้แสดงธรรมโปรดนัมมทานาคราช  นาคราชขอของที่ระลึกไว้บูชา จึงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานั้น จากนั้นเสด็จต่อไปถึงภูเขาสัจจพันธ์  ตรัสสั่งพระสัจจพันธ์ให้อยู่สั่งสอนประชาชน  ณ  ที่นั้น  พระสัจจพันธ์ทูลขอสิ่งที่ระลึกไว้บูชา จึงประทับรอยพระบาทไว้ที่ภูเขานั้นด้วย อันนับว่าเป็นประวัติการเกิดขึ้นของรอยพระพุทธบาท  

เหตุการณ์ที่เล่านี้เกิดขึ้นในพรรษาแรกที่พระปุณณะกลับมาอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ  และท่านเองก็ได้บรรลุอรหัตผลในพรรษาแรกนั้นเช่นกัน 
ท่านพระปุณณเถระบำเพ็ญจริยาเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบมาจนถึงปรินิพพาน  ณ  แคว้นสุนาปรันตะนั้นก่อนพุทธปรินิพพาน

No comments:

Post a Comment